‘ราษฎรธิปไตย’ การเมือง อำนาจ และความทรงจำฯ ควบ ‘สยามมหกรรมฯ’ 2 เล่มออกใหม่ คอ ‘ประชาธิปไตย’ ต้องอ่าน

ออกใหม่ๆ สดๆร้อนๆ 2 เล่มล่าสุดของ สำนักพิมพ์มติชน

ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์

หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในสยามประเทศ เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยสู่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง แต่ทว่า ช่วงเวลาหลังการปฏิวัติ การเมืองไทยผันผวน คณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตยถูกโจมตี ถูกบั่นทอนจากฝ่ายอนุรักษนิยม จนทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในมือราษฎรค่อยๆ หายไป พร้อมๆ กับความทรงจำของสังคมที่ถูกตัดต่อ ลดทอน และทำลาย

กระทั่งผ่านมา เกือบ 90 ปี ไม่มีใครจำได้อีกแล้ว ว่าสังคมยุคหลังการปฏิวัติ 2475 ที่เป็นประชาธิปไตยหน้าตาเป็นอย่างไร

Advertisement

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ #อยากลืมกลับจำ – สารคดีชีวประวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ใช้เวลาอยู่กับบันทึก หนังสือ เอกสาร และรูปภาพเก่า เขาค่อยๆ เรียงร้อยความทรงจำยุคประชาธิปไตย ออกมาเป็นหนังสือรวมบทความเล่มนี้ ที่จะรื้อฟื้นความทรงจำ ปะติดปะต่อภาพที่ขาดวิ่นของอดีต และส่งมอบหน้าประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าให้แก่สังคม ผ่าน 6 บทความในเล่ม

สยามมหกรรม : การเมืองวัฒนธรรม กับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ โดย ปรีดี หงษ์สต้น

มหกรรมสาธารณะของสยาม มีความสำคัญอย่างไรในยุคเปลี่ยนผ่านของชาติ?

Advertisement

พ.ศ.2562 ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่เท่าเทียมที่สุดในโลก ไม่ว่าจะใช้ข้อแย้งในทางตัวเลขหรือทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ ก็ตามเพื่อหักล้าง คงจะไม่มีผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์คนไหนในสังคมจะสามารถเชื่อได้ว่า #ประเทศไทยเป็นประเทศที่เท่าเทียม อยู่ดี

ความไม่เท่าเทียมมากมายเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมผ่านวัฒนธรรมมหกรรมสาธารณะที่มักจะถูกมองข้ามไป เพราะมหกรรมเหล่านี้ถูกจัดกันเป็นวาระ อาจไม่ได้มีความสลักสำคัญ หากเปรียบกับสถาบันทางการเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกระบบราชการ

เมื่อพิจารณาแล้ว มหกรรมสาธารณะแสดงให้เห็นสถานะของสังคมหนึ่งๆ เป็นเหมือนบทสรุปรวมชั่วขณะของสังคมนั้นๆ เป็นแว่นขยายที่อาจจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมหนึ่งๆ ชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกัน

ยุคสมัยที่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงที่หนังสือเล่มนี้อภิปรายถึงนั้นเป็น ยุคสมัยที่อาจจะเรียกได้รวมๆ ว่า #ยุคสมัยแห่งภาพถ่าย (Age of Photography) นั่นจึงทำให้ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่ยังมีรูปถ่ายจำนวนหนึ่งตกทอดหลงเหลือเป็นหลักฐานถึงสภาวะความเปลี่ยนแปลงระหว่างความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสาธารณ์นี้ชัดเจนกว่าหลักฐานที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร

หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งหมายให้ภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์มิใช่เป็นภาพประกอบดังที่ภาพถ่ายมักถูกใช้ เพราะภาพถ่ายคือหนึ่งในหลักฐานทาง “ประวัติศาสตร์”

ท่ามกลางประเด็นจำนวนมาก อันเกี่ยวเนื่องกับการก่อตัวของโครงการทางการเมืองยุคสมัยก่อนและหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังมีประเด็นอีกจำนวนมากที่ควรจะต้องถูกศึกษาเพื่อพัฒนาข้อถกเถียงเรื่ององค์ประธาน (Subject) ในแวดวงวิชาการไทยศึกษา หรือในอีกความหมายหนึ่งคือการศึกษาประชาชนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image