นศ.ป.เอก เฉลยรหัสลับ ‘สุนทรภู่’ ซ่อนใน ‘พระอภัยมณี’ เชื่ออยาก ‘เอาคืน’ ฝรั่ง

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงสุนทรภู่ กวีเอกของโลก นายปติสร เพ็ญสุต นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาปริญญาเอกคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยบทวิเคราะห์ในหัวข้อ “บาทหลวงในแฟนตาซีของสุนทรภู่” โดยยกย่องว่าสุนทรภู่มีการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับคริสตศาสนาไว้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นายปติสรยังอธิบายอย่างละเอียดถึงประเด็นการเป็นวรรณคดี ‘ต่อต้านการล่าอาณานิคม’ จากเรื่อง ‘พระอภัยมณี’

ดังนี้

ครึ่งเรื่องของพระอภัยมณี เป็นบทบาทของ ’สังฆราชบาทหลวงผู้ไร้นาม’

นายปติสร เพ็ญสุต

อย่างที่เราทราบกันดีว่านิยายเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เป็นวรรณกรรมต่อต้านอาณานิคม สุนทรภู่นั้นมองลัทธิจักรวรรดินิยมอย่างไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาของฝรั่งเจ้าอาณานิคม ก็ถูกมองอย่างเคลือบแคลงสงสัยไปด้วย ดังนั้นวรรณคดีเรื่องสุนทรภู่เกือบครึ่งเรื่องจึงอุทิศหน้ากระดาษไปให้กับสงครามระหว่างกรุงรัตนาของฝ่ายไทยกับเกาะลังกาของฝรั่งข้างนางละเวงวัณฬา โดยมีผู้นำสำคัญคือมังคลาลูกครึ่งไทยฝรั่งโอรสของพระอภัยมณีกับนางละเวง และมีสังฆราชบาทหลวงเป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นวรรณกรรมเรื่องเดียวในสังคมไทยยุคจารีต ที่แสดงบทบาทของศาสนาคริสต์ในสายตาของปัญญาชนชาวสยามอย่างละเอียดละออ

Advertisement

ต้องน่าชื่นชมว่าสุนทรภู่เองก็ Research เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ไว้มากพอสมควร ดังปรากฏนามคริสต์ๆหลายครั้ง เช่น โมเสส ดาวิด เยวาโห เรื่องการไถ่บาปก็รู้จัก คงจะเป็นเพราะว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีบรรดาบาทหลวงเข้าๆออกราชสำนักอยู่พอประมาณ ทั้งศาสนาจารย์โปรแตสแตนท์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในกรุงรัตนโกสินทร์แล้วเช่นกัน

ในวรรณกรรมเรื่องสุนทรภู่นี้ท่านใช้พล็อตเรื่องที่เป็น Paradox กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทวีปเอเชียในยุคสมัยของท่านเกือบทั้งหมดตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส โดยเฉพาะเกาะลังกาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พลเมืองจำนวนมากก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ สุนทรภู่สร้างบทบาทที่กลับกันก็คือให้ชาวสยามอย่างพระอภัยมณีไปตีลังกาได้โดยใช้กลวิธีโบราณ คือการแต่งงานเชื่อมสัมพันธไมตรี และในที่สุดก็ยึดครองเกาะลังกาได้ ซึ่งคงจะเป็นความปรารถนาลึก ๆ ในใจของสุนทรภู่เองที่อยากจะให้สยามเอาคืนฝรั่งบ้าง

เมื่อนางละเวงวัณฬาถูกเสน่ห์ของความเป็นนักดนตรีของพระอภัยมณีเข้าไป เธอก็แต่งงานและเปลี่ยนศาสนาตามสามี เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางก็ตามไปบวชเป็นดาบสินีด้วย นี่ก็คงจะเป็นความปรารถนาลึก ๆของสุนทรภู่อีกเช่นกัน ที่อยากจะให้ฝรั่งมาเข้ารีตนับถือศาสนาพุทธบ้าง เหมือนที่ท่านเห็นบรรดาบาทหลวงออกเทศนาในสยาม เห็นกันจนเจนตาในกรุงรัตนโกสินทร์ สังฆราชบาทหลวงเมื่อรู้ว่านางละเวงเปลี่ยนศาสนาตามสามีก็ตามไปด่าว่า

Advertisement

“พวกอีกคนทุจริตเข้ารีตไทย มาทำให้ศาสนาเป็นสาธารณ์
ก็เพราะมึงชั่วช้าอีบ้าผัว ชะไว้ตัวร้อยอย่างเจียวนางหงส์”

ทั้งยังสาปแช่งว่าถ้าเปลี่ยนศาสนาจะตกนรก

“มึงจะไปตกนรกสักหกหลุม ที่ไฟรุมร้อนเร่าจะเผาผลาญ
พระเยซูจะลงโทษไม่โปรดปราน จะทรมานตัวมึงอย่าพึงแคลง ”

ในตอนนี้สินสมุทรออกรับแทน ด่าพระบาทหลวงกลับไป เพราะนางละเวงวัณฬากำลังบวชอยู่ด่าไม่ได้ น่าสนใจว่าการด่าของสินสมุทรเน้นฐานันดรในสังคมไทยพอสมควร คือมองบาทหลวงเป็นไพร่ แม้ว่าจะเป็นนักบวชหรือเป็นผู้มีความรู้ ก็ไม่ควรจะมาตีฝีปากกับสมาชิกใน “ราชวงศ์”

“แล้วร้องว่าฮ้าเฮ้ยตาบาทหลวง เอ็งจาบจ้วงร้อยท่าด่าฤาษี
คนเช่นมึงก็ไพร่ใช่ผู้ดี มาข่มขี่ในตระกูลประยูรวงศ์
เอ็งถือตัวว่าเป็นขรัวข้างฝรั่ง จะมาตั้งคนด่าพญาหงส์”

“นิ่งเสียช่างเถิดหวาระอาใจ เก็บเอาไว้หลอกเด็กเจ๊กคนโซ
อยากอวดอ้างศาสนาข้างฝาหรั่ง เขาไม่นั่งคอยหาเยวาโห”

ทั้งยังวิจารณ์ว่าบาทหลวงย่อมชักศึกเข้าบ้าน ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ทำความเดือดร้อนรำคาญด้วยการก่อกวนชวนโต้วาที หรือมิฉะนั้นก็ไปยุแยงให้เกิดสงคราม

“นิสัยชาติบาทหลวงย่อมยั่วศึก ยังหาญฮึกยักลำคนซ้ำสาม
เข้าที่ไหนพาให้เขาเกิดความ จนลุกลามไม่รู้สิ้นเพราะดิ้นรน”

สังฆราชบาทหลวงเองยอมไม่ได้ที่เมืองลังกาจะตกไปเป็นของกรุงรัตน (โกสินทร์) จึงพยายามยุแยงมังคลาให้รบราฆ่าฟันกับพี่น้อง แม้ว่าพระอภัยมณีจะเสนอให้ครองลังการ่วมกันครึ่งหนึ่ง บาทหลวงก็ไม่ยอม เพราะถือสิทธิ์ว่าลังกาเป็นเมืองของฝรั่งนับถือศาสนาคริสต์กันมาหลายชั่วคน นางละเวงเปลี่ยนศาสนาก็เท่ากับทำลายศาสนาเก่าให้มัวหมองไป

ตรงนี้ก็น่าเห็นใจสังฆราชบาทหลวงอยู่หรอก เพราะฝ่ายเมืองลังกาไม่ได้รุกรานกรุงรัตนาก่อน จึงก่อให้เกิดสงครามยืดเยื้อขึ้นระหว่างญาติพี่น้องลูกครึ่ง ไทยสยาม – ฝรั่งอังกฤษ

“แต่เดิมทีเป็นที่ตั้งสอนศาสนา พวกไทยมาแย่งชิงเอาสิงหล
เพราะนางละเวงทำชั่วจึงมัวมน เอาสิงหลยกให้ไทยไล่วัดวา
จนเริดร้างห่างไปไกลสถาน เสียวงศ์วานเสียชาติศาสนา”

คงจะสะท้อนภาพว่า ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมายาวนานจริง ๆ ช่วงสุนทรภู่มีชีวิต ท่านยังคิดว่าลังกาเป็นเมืองฝรั่งไปแล้ว

สงครามทวงลังกาคืนของสังฆราชบาทหลวงยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงตอนสุดท้าย ฝ่ายพระอภัยมณีแม้ว่าจะได้เปรียบหลายครั้ง (ชนะตลอดเวลา) ก็ไม่เคยสังหารบาทหลวงทิ้ง เข้าใจว่าคงจะนับถืออยู่ด้วยเคยเป็นอาจารย์ของนางละเวงวัณฬาและมังคลา ทั้งเป็นคนดีมีวิชาเช่นกัน

จนในบทสุดท้าย เมื่อเรื่องพระอภัยมณียาวยืดขึ้นเรื่อย ๆ สุนทรภู่ก็จำเป็นต้องจัดตัดจบ โดยการให้บาทหลวงพ่ายศึก และแก่ชราเกินไปที่จะทำสงครามแล้ว

ฝ่ายสังฆราชบาทหลวงลงง่วงเหงา ให้โศกเศร้าร้อนใจดังไฟสุม
ละอ่อนถอนใจใหญ่ให้ประชุม เรือชุมนุมกองทัพกลับนคร
มีความรู้สู้เขาก็ไม่ได้ แก้แค้นใจเราก็ถูกซึ่งลูกศร
ทั้งตัวแก่เกินการราญรอน สิ้นอาวรณ์เวียงวังเกาะลังกา

จะเห็นว่าแม้ว่าพระอภัยมณีจะเป็นนิยายแฟนตาซีมากเพียงใด บทสรุปของเรื่องนั้น สงครามระหว่างสยามกับอังกฤษในจินตนาการของสุนทรภู่ก็ฟาดฟันกันด้วย “ความรู้” เหมือนที่สุนทรภู่เน้นหนักหนาตามจารีตสยามมาตลอดเรื่องว่า “คนดีมีวิชา” เป็นสิ่งสำคัญในการเมืองการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเพลงปี่ของพระอภัยมณีหรือเวทมนต์คาถาของสังฆราชบาทหลวง แล้วจึงเกิดเป็น Paradox สุดท้ายว่า ฝรั่งอังกฤษนั้นมีความรู้มากมายก็จริง แต่ก็ยังสู้ฝ่ายสยามไม่ได้อยู่ดีจนต้องล่าถอยทัพกลับไปเอง

อย่างไรก็ตาม บาทหลวงในมุมมองของสุนทรภู่ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ตัวร้าย สุนทรภู่ยังมีแง่มุมดีๆ เกี่ยวกับบาทหลวงปีโป อาจารย์อีกคนหนึ่งของวายุพัฒน์ หัสกัน เป็นผู้มีปัญญาแห่งบ้านสิกคารนำ ไม่ได้เล่นการเมือง แต่ดำรงชีพสอนชาวบ้านอยู่เป็นพระบ้านนอก ทำนองพระป่าในหมู่บ้านเล็ก ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image