‘ชมนาด’ ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ชนะ จ่อดึงเงินรางวัล พัฒนาวงการนักเขียนหญิง

‘ชมนาด’ ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ชนะ จ่อดึงเงินรางวัล พัฒนาวงการนักเขียนหญิง

​เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลตัดสิน รางวัลชมนาด ครั้งที่ 8 โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในนามธนาคารกรุงเทพ มีส่วนร่วมกับการประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาดมาหลายปี และครั้งนี้เป็นปีที่ 8 ซึ่งทุกปีได้สะท้อนถึงพัฒนาการและความน่าสนใจอันหลากหลาย ประการแรก ในยุคนี้หลายวงการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น โครงการชมนาดได้ให้บทบาทกับสตรี และให้การสนับสนุนสตรีในวงการนักเขียนและศิลปินมาหลายปีก่อนหน้าที่การรับรู้ในสังคมจะแพร่หลาย ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ประเด็นต่อมา วงการนักเขียนและศิลปินมีการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากสื่อสมัยใหม่ทำให้ความสนใจและการติดตามของคนมีทิศทางเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์และรางวัลชมนาดได้ทำเรื่องแนวคิดการเขียนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายให้ฝังรากลงไปในสังคมไทยและยังยั่งยืนอยู่ได้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ที่คนเสพสื่อเร็วขึ้น ตัดสินใจอะไรเร็วขึ้น ความพิถีพิถันและความละเอียดอ่อนในการรังสรรค์งานจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้เกิด

“ในนามของธนาคารกรุงเทพ เรามีบทบาทในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสังคมและอีกหลากหลายแง่มุม การได้มีโอกาสสนับสนุนงานของประพันธ์สาสน์ โดยเฉพาะเรื่องรางวัลชมนาดสร้างความภูมิใจที่ทำให้รากเหง้าความเป็นไทยหรือความพิถีพิถันในงานเขียนได้รังสรรค์สืบเนื่องต่อไป” ดร.ทวีลาภกล่าว

นางนรีภพ จิระโพธิ์ บรรณาธิการอดีตนิยสารสกุลไทย และประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด เปิดถึงภาพรวมของนวนิยายที่ส่งเข้ามาประกวดในปีนี้ว่า ผลงานทั้ง 31 เรื่อง มีหลากหลายแนว แบ่งได้ 9 แนว ประกอบด้วย แนวชีวิตและครอบครัวมากที่สุด มีผู้ส่งมาประกวดกว่า 10 เรื่อง นวนิยายแนวสังคมกว่า 10 เรื่อง และที่น่าดีใจคือปีนี้มีนวนิยายแนวโหราศาสตร์ สืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเยาวชน วิทยาศาสตร์ รวมทั้งนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Advertisement

นางนรีภพกล่าวว่า ภาพรวมของทั้ง 31 เรื่อง มีเรื่องที่มีความเป็นนวนิยายอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ มีครบทั้ง พล็อตเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร มีการดำเนินเรื่อง บทสนทนา และการบรรยาย ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะมีความเป็นสมัยใหม่ ใช้เทคนิคในการดำเนินเรื่องจนเนื้อเรื่องขาดอรรถรส บางเรื่องมีเพียงบทสนทนา ซึ่งบทสนทนานั้นก็จะต้องบอกได้ครบทั้งเนื้อเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ ซึ่งบางเรื่องก็ทำได้ดีพอสมควร อีกทั้งยังมีนวนิยายแนวแฟนตาซี และมีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ฉากต่างประเทศ​ ใช้ฉากสมมุติ ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาผสมผสานทำให้นวนยายมีความทันสมัยมากขึ้น ยังมีนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องความหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม และจำนวนหนึ่งมีแก่นเรื่องคล้ายกัน เช่น เรื่องความอยากได้ อยากมี อยากเป็น กิเลสตัณหา ส่วนเรื่องแนวประวัติศาสตร์ก็มีการค้นหาข้อมูลต่างๆ มาคัดกรอง ย่อย ลดทอนทำให้นวนิยาย มีอรรถรสมากขึ้น

นางนรีภพยังกล่าวอีกว่า ผลงานส่วนใหญ่มีโครงเรื่องที่ดี แต่บางส่วนเน้นเทคนิคการนำเสนอ แต่ขาดอรรถรสและไม่น่าติดตามเท่าที่ควร ซึ่งนวนิยายที่ดีควรมีวรรณศิลป์หรือภาษาที่บ่งบอกถึงความคมคายของผู้เขียน จึงทำให้บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์ บางเรื่องมีการเสนอมิติตัวละครที่ดีผ่านบทสนทนา แต่ตอนจบคลี่คลายอย่างง่ายดาย หรือเฉลยก่อน นวนิยายประวัติศาสตร์ก็ยังไม่มีความกลมกลืนหรือสมจริงเพียงพอ

“ผลงานที่เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย ได้แก่ 1.ก่อนนรกจะรามือ 2.เมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาบรรจบกัน 3.ฝัน..จรจัด 4.หลงกลิ่นบุนนาค 5.คนสุดท้าย..คลองแสนแสบ และ 6.ผู้พิทักษ์อัคมันราห์ แต่ละเรื่องมีข้อดีและมีจุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆ แต่น่าเสียดายที่ผลงานยังไปไม่ถึงจุดที่จะได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการขอเป็นกำลังใจให้นักเขียนที่สร้างผลงานทั้ง 6 เรื่องที่เข้ารอบสุดท้าย” นางนรีภพกล่าว

จากนั้น ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน และคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวคำประกาศผลโครงการรางวัลชมนาด ครั้งที่ 8 ผลงานประเภทนวนิยาย ว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลชมนาด ประจำปี 2562 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 เรื่อง ไม่มีนวนิยายเรื่องใดที่มีคุณภาพด้านวรรณศิลป์ สมควรได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจผู้ส่งผลงานทุกท่านที่มุ่งหวังจะเป็นนักเขียน ให้ฝึกฝน สร้างสรรค์ผลงานต่อไป และอ่านผลงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพเพื่อศึกษากลวิธีทางวรรณศิลป์ และพัฒนาการนำเสนอเนื้อหา และท่วงทำนองเขียนที่เป็นของตนเองต่อไป

“เมื่อผลการตัดสินว่าไม่มีท่านใดได้รับรางวัล ทางคณะกรรมการจึงมีความเห็นตรงกันว่า เงินรางวัลในปีนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาวงการวรรณกรรมไทย ด้วยการสนับสนุนการอ่าน การเขียน ผ่านการจัดโครงการค่ายอบรมเสวนา เกี่ยวกับการพัฒนางานเขียนของนักเขียนหญิงให้แก่ผู้ที่สนใจต่อไป” ดร.ถนอมวงศ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image