เล่มเด็ดจาก “broccoli” หนังสืออร่อยดี มีประโยชน์

เวลาพูดถึงผักสีเขียวสดอย่าง ‘บร็อคโคลี’ แล้วละก็ สำหรับเราเป็นผักที่น่าสนใจมากๆ เพราะคนรอบข้างหลายคนที่ไม่ชอบกินผักเลย กลับกินบร็อคโคลีได้แบบไม่ยากเย็น แถมยังชอบมากด้วย

แต่ก็ไม่น่าแปลกใจหรอก เพราะรสชาติและกลิ่นของบร็อคโคลี ไม่ขม ไม่เหม็นเขียวเหมือนผักอีกหลายชนิด แต่กลับทั้งหวานทั้งกรอบ กินแบบสดก็อร่อย ปรุงอาหารก็เลิศ แถมคุณประโยชน์ยังเพียบ ตั้งแต่บำรุงผิวพรรณ ยันเรื่องของหลอดเลือดสมองและความดันโลหิต

ในงานหนังสือที่กำลังจัดอยู่ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ – 13 ตุลาคม มีสนพ.น้องใหม่ที่มาพร้อมแนวคิด “อ่านอร่อย” (Read Tastily) อย่าง broccoli (บร็อคโคลี) ซึ่งร่วม Go Further กับสนพ. มติชน อยู่ที่บูธ T06 เป็นครั้งแรก!

broccoli เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่สนใจในเรื่อง Urban Lifestyle โดยมุ่งหวังให้ทุกคนได้ “อ่านอร่อย” (Read Tastily) กับรสชาติเข้มข้นที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ ไม่จำเจ

Advertisement

2 เล่มแรกที่มาเปิดตัวปังๆ ในบูธสนพ.มติชน T06 ก็จัดจ้านสมกับคอนเซ็ปต์ทีเดียว เพราะทั้ง “Happy City” และ “Japonisme” อ่านสนุกแถมยังได้ประโยชน์แบบสุดๆ

เล่มแรก “Happy City” เป็นผลงานของ Charles Montgomery แปลโดย พินดา พิสิฐบุตร ที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับ “เมือง” ที่เราอาศัยอยู่ว่า เป็น “พื้นที่แห่งความสุข” ของพวกเราอย่างแท้จริงหรือไม่
เมืองที่มีคุณภาพควรมอบอิสรภาพที่แท้จริงในการอยู่อาศัย การเคลื่อนที่ และการสร้างชีวิตตามที่เราต้องการ ทว่าเมืองทุกวันนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และหากเราสามารถเชื่อมโยงการออกแบบเมืองเข้ากับแผนที่ความสุขได้ เราจะสร้างเมืองและใช้ชีวิตต่างจากเดิมได้อย่างไร

Happy City ช่วยจุดประกายความคิดได้ ด้วยกรณีศึกษาจากเมืองต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเด็นเรื่องเมือง-ชานเมือง, คนเดินเท้า-รถยนต์, สวนสาธารณะ-ทางหลวง, ขนส่งสาธารณะ-รถส่วนตัว บ้านเดี่ยวบนที่ดินแปลงใหญ่-ชุมชนผสมผสานการใช้งาน เมืองแนวราบ-เมืองแนวตั้ง หรือแม้กระทั่งคนเมือง-รัฐ

เวาบาน ชุมชนสีเขียวเชิงทดลองที่เยอรมนี ออกกฏให้ผู้อาศัยต้องจ่ายค่าที่จอดรถในโรงรถส่วนรวมรอบนอกชุมชน แต่ถ้าไม่มีรถ ก็แปลงค่าใช้จ่ายส่วนนั้น เป็นหุ้นในพื้นที่สีเขียวที่หลายครอบครัวใช้พื้นที่นี้ร่วมกันได้

เมืองโบโกตา จากดินแดนที่มีอาชญากรรมสูงลิ่ว ยาเสพติดระบาดไปทั่ว ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนของเขาพยายามปรับเมือง จนมีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นนับร้อยแห่ง ถนนปลอดภัยมากขึ้น ขนส่งธาธารณะคุณภาพดีช่วยยกระดับชีวิตผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสร้างห้องสมุดกลางสลัม

เอาจริงๆ อ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกว่ากรุงเทพยังพอเยียวยาได้นะ ถ้ามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงลักษระทางกายภาพของเมือง ซึ่งสัมพันธ์กับความอยู่ดีมีสุขทั้งกายและจิตของคนในเมืองด้วย

เหมือนที่ เอนริเก้ เปญาโลซ่า อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา โคลอมเบีย เคยบอกไว้ว่า “เราสามารถออกแบบเมืองที่จะทำให้คนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เมืองที่ทำให้คนรู้สึกร่ำรวย เมืองที่ทำให้คนมีความสุขขึ้น” ได้ นั่นล่ะ แค่ลงมือทำ

ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย Happy City ช่วยถอดบทเรียนมาให้แล้ว


อีกเล่มคือ “Japonisme” อิคิไก การอาบป่า วะบิซะบิ และอื่นๆ เขียนโดย Erin Niimi Longhurst แปลโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล คำนี้เป็นนิยามภาษาฝรั่งเศส เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หมายถึง “ความคลั่งไคล้” ในศิลปะ วัฒนธรรม และสุนทรียะแบบญี่ปุ่น ที่มีอิทธิพลต่อวงการศิลปะตะวันตก หนังสือ Japonisme นำเสนอความสุขจากวิถีปรัชญาและศิลปะที่เรียบง่ายของการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น อาทิ การทำข้าวกล่อง การดื่มชา การเดินอาบป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้จริง แม้ไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่นก็ตาม

เป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกใจสงบมาก ผู้เขียนเลือกวิถีปรัชญาและศิลปะที่เรียบง่ายมานำเสนอ ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความหมายและมีความงามในตัวเอง เป็นความงามที่ซ่อนอยู่ในปรัชญาญี่ปุ่น และสามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นความละเมียดละไมที่สัมผัสได้จากรายละเอียดเล็กๆ ในการใช้ชีวิต อาทิ ข้าวกล่องแสนอบอุ่นฝีมือคุณแม่ ขนมญี่ปุ่นกับชาร้อนในถ้วยกระเบื้องบิ่นๆ แจกันดอกไม้พลิ้วไหว การเดินเล่นเพื่อใกล้ชิดพื้นที่สีเขียว บ้านที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ หรือแม้แต่ประโยคสั้นๆ ที่ทำให้ผู้อื่นรับรู้ว่า เรารู้ความเหน็ดเหนื่อยของเขาและชื่นชมเขา

ช่างเรียบง่าย ทว่างดงาม

broccoli X Matichon ร่วม Go Further ไปด้วยกันที่บูธ T06 ชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี ยังมีอีกหลายเล่มที่ไม่น่าพลาด

รีบไปกันเลย

……………

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image