เดินไปในเงาฝัน : พรุ่งนี้ทำงานต่อ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

วันอาทิตย์ตอนบ่ายๆ ของวันที่ 6 ตุลาคม 2562 บริเวณห้อง The Portal Ballroom อิมแพค เมืองทองธานี จะมี “Exclusive Talk” กับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บริหารระดับสูงของซีพี กรุ๊ป โดยมี “หนุ่มเมืองจันท์” เป็นผู้ดำเนินรายการ
ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าคงน่าจะมีผู้คนจากทุกๆ วงการ รวมถึงผู้สื่อข่าวอีกหลายสำนักมาทำข่าวกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนั้นเพราะก่อนหน้าที่จะมีการเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ที่มี “คริสมาส ศุภทนต์”
เป็นบรรณาธิการ และมี สุธาสินี เตชะรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้เรียบเรียง

หนังสือเล่มเดียวกันนี้ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ และโลกออนไลน์ต่างๆ เพราะใครจะเชื่อล่ะว่า “ธนินท์” จะมาร่วมเปิดตัวหนังสือเป็นครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

ยิ่งเมื่อมาจัดงานที่อิมแพค เมืองทองธานีเป็นครั้งแรกด้วย

ก็เชื่อแน่ว่าวันนั้นก็คือวันนี้น่าจะมีผู้คนมาร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

Advertisement

ถามว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจเพียงใด ?

คำตอบคือ “คริสมาส” ทำงานใกล้ชิดกับ “ธนินท์”
มาตลอดระยะเวลาหลายปี ทั้งในบทบาทของลูกน้อง และผู้บริหารคนหนึ่งในเครือซีพี

ที่สำคัญ เธอยังติดตาม “ธนินท์” ไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ รวมถึงการประชุมในวาระอื่นๆอีกหลายครั้ง เธอจึงมองเห็น “วิธีคิด” ของ “ธนินท์” ในทุกมิติที่เขาแสดงวิสัยทัศน์ หรือพูดคุยกับผู้คนจากที่ต่างๆ

Advertisement

โดยเฉพาะเรื่องมุมมองทางธุรกิจ

การสร้างคนรุ่นใหม่

และธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ครั้งหนึ่ง “คริสมาส” เคยนำเรื่องราวเหล่านี้มาเขียนในคอลัมน์หนึ่งคนคิด หนึ่งคนเขียนในเซ็กชั่น HR หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ด้วยการนำสิ่งที่ “ธนินท์” คิดมาถ่ายทอดเป็นงานเขียนในคอลัมน์ด้วยตัวเธอเอง

แต่กระนั้น ก็คนละรสชาติกับหนังสือเล่มนี้

เพราะหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นในวัยเด็กไปจนถึงสิ้นสุดในวัยที่เลข 8 มาเยือน ดังนั้น ทุกเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมา บางคนอาจได้ยินมาก่อนบ้าง

บางคนอาจพึ่งจะได้ยิน

หรือบางคนก็อาจถูกไขข้อข้องใจว่าทำไม “ธนินท์” ถึงคิดทำธุรกิจแบบนั้น แบบนี้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่หนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ถึงใช้เวลารวบรวมข้อมูลนานกว่า 8 ปี เพื่อส่งมอบให้กับผู้เรียบเรียงทำการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

เพราะสิ่งที่ “ธนินท์” เล่าผ่าน จะถูก “คริสมาส” บันทึกทุกครั้ง

และก็เชื่อว่าสิ่งที่เล่าผ่าน กระทั่งเรียบเรียงขึ้นมาจนกลายเป็นเล่มในที่สุด “คริสมาส” คงทำหน้าที่แก้ไข เพิ่มเติม ขัดเกลา ตรวจสอบความถูกต้องทั้งในฐานะบรรณาธิการเล่ม และในฐานะลูกน้องที่มีความ “ศรัทธา” ผู้บริหารระดับสูงเช่นนี้เป็นทุนเดิมทุกครั้ง

จนทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย
เข้าใจง่าย
คล้ายๆ กับเขาเล่าให้เราฟังไปเรื่อยๆ

ทั้งยังเห็นที่มาที่ไปบนเส้นทางความสำเร็จของชายปัจฉิมวัยคนนี้อีกด้วย

แต่ในฐานะส่วนตัว ผมกลับชอบบทส่งท้ายในชื่อเรื่องว่า “วันพรุ่งนี้ของผม” มากที่สุด เพราะมีคำพูดหลายๆ ประโยคที่ทำให้ผมเห็นการเดินทางของผู้ชายคนนี้

ความกตัญญูรู้คุณ
และการทำงานต่อไปในวันข้างหน้า
ผมจะคัดลอกมาให้อ่านเล่นๆ สัก 2-3 เรื่อง อาทิ
“คุณเคยพูดว่าจะวางมือตอนอายุ 5 ปี”

นักข่าวจากนิตยสารต่างประเทศแห่งหนึ่งเอ่ยถามผมขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์ เมื่อช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ได้ไม่นาน

“ผมตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ ผมส่งต่องานในธุรกิจทั้งหมดออกไปแล้ว เหลือไว้เพียงธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยเท่านั้นคือโทรศัพท์ และค้าส่งค้าปลีก แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ขึ้นมา แม้ว่าเครือซีพีจะผ่านวิกฤตหนักครั้งนี้มาได้ แต่ก็เสียหายมหาศาล”

“ผมจะวางมือได้อย่างไร เมื่อธุรกิจยังมีปัญหา ไปไม่ได้ ผมต้องอยู่ ครั้งนั้น ผมจึงตอบเขาไปแบบนี้”

ส่วนความอีกท่อนหนึ่ง “ธนินท์” พูดถึง “ครู” ในชีวิตของเขา

“ท่านแรกอาจารย์ใหญ่ของผม (อธิบดีชำนาญ ยุวบูรณ์) ท่านเป็นอดีตอธิบดีกรมการปกครอง ผมได้มีโอกาสทำงานกับท่าน ที่ท่านดูแลบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ท่านเป็นคนกล้าหาญ ท่านกล้าใช้คนอายุน้อยอย่างตัวผมเอง ขณะนั้น มีอายุเพียง 21 ปี แต่ท่านก็มอบหมายให้ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายสัตว์ปีก”

“ท่านที่ 2 ทหารท่านแรกที่ผมรู้จักคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผมรู้จักท่านในขณะที่ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบก ท่านที่ 3 เจ้านายที่สำคัญอีกท่านคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นผู้นำประเทศที่เข้าใจเรื่องเกษตรเป็นอย่างมาก”

“ท่านที่ 4 พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านทำให้ผมได้รู้จัก และเรียนรู้จากคนเก่งหลายท่าน โดยเฉพาะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านสิทธิเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ท่านเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญ”

“ดังนั้น ในห้วงเวลาที่ไทยเริ่มเปิดความสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง ท่านจึงสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งเวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าท่านมองไว้ไม่ผิดจริงๆ ท่านที่ 5 นายชิน โสภณพนิช นายธนาคารที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติ ท่านใช้ชีวิตในฮ่องกง และทำธุรกิจในต่างประเทศมานาน ท่านจึงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ท่านเมตตาให้ผมเข้าไปพบเสมอ และเวลา 11 โมงเช้าเป็นเวลาประจำที่ผมจะได้พบท่าน”

นอกจากนั้น ในเรื่องเดียวกัน “ธนินท์” ยังเล่าบอกอีกว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ยิ่งโตขึ้น ยิ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้น ถ้าลงทุนไปแล้วล้มเหลว จะทำให้เครือซีพีล้มละลายไหม เวลาจะลงทุนอะไร ผมคิดแล้วคิดอีก

“คิดจนมั่นใจว่า จะไม่ทำให้เครือซีพีล้มละลาย ถ้าธุรกิจนั้นไม่สำเร็จ แล้วทำให้เครือซีพีล้มละลาย ผมจะไม่ทำ หากเรามีปัญหาแล้วพนักงาน และครอบครัวของเขาจะเป็นอย่างไร”

“ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ยังล้มหายตายจากไปได้ วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง ใครจะรู้ วันข้างหน้า เราอาจล้มเหลวก็ได้ ฉะนั้น มันยังไม่จบ แบบนี้จะให้ผมไปฉลองได้อย่างไร”

“ความสำเร็จ…ดีใจได้วันเดียว”

“พรุ่งนี้ทำงานต่อ”

อันเป็นคำพูดประโยคสุดท้ายของเขาในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image