ตู้หนังสือ : พระเสด็จโดยแดนชล สยาม เวียดนาม ก่อนอานาม

หากจะนับพระราชพิธีเกี่ยวข้องทางน้ำในโลกนี้ ที่ยังไม่รู้คงมีอยู่อีก แต่ที่เหลือร่องรอยพอจับได้ น่าจะเป็นอังกฤษซึ่งมีการใช้เส้นทางน้ำเสด็จพระราชดำเนินอยู่เสมอแต่โบราณ เท่าที่ยังเป็นความทรงจำมาถึงวันนี้ คือ เดอะ วอเตอร์ มิวสิค ซึ่งพระเจ้าจอร์จ ที่ 1 (2260 ร่วมสมัยพระเจ้าท้ายสระ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 สี่รัชกาล) โปรดให้ จอร์จ ฟรีเดอริค แฮนเดิล เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นคอนเสิร์ตแสดง ระหว่างทรงประพาสแม่น้ำเธมส์

แต่การเสด็จฯทางน้ำหรือทางชลมารคในกษัตริย์แถบอุษาคเนย์ เห็นจะเหลืออยู่เพียงดินแดนก่อนอยุธยา อยุธยา ซึ่งสืบสายยาวนานมาจนรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน ที่กองเรือพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ยังทรงโปรดฯใช้งานอยู่

บรรดาผู้นำโลกซึ่งเคยมาประชุมในไทย และเคยได้ชมกองเรือพระราชพิธีนี้ ล้วนเอ่ยปากตื่นตาประทับใจทั้งสิ้น แม้แต่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช จูเนียร์ ยังออกปากว่า “ฉันรักประเทศนี้จริงๆ”

กองเรือพระราชพิธีหรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ จึงเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของไทยอย่างยิ่งยวด อีกประการ ซึ่งอาจถือเป็นสมบัติของโลกได้

Advertisement

เป็นสมบัติ มรดกวัฒนธรรม จากภูมิปัญญาที่คนไทยแต่ละรุ่นควรสนใจเรียนรู้ ศึกษา และชื่นชม

พระเสด็จโดยแดนชล หนังสือสำคัญอีกเล่ม ที่อาจารย์ ศานติ ภักดีคำ ค้นคว้า เรียบเรียง ความเป็นมาซึ่ง มีพัฒนาการมาจากเรือในพิธีกรรมโบราณ ที่ปรากฏภาพอยู่บนกลองมโหระทึก ก่อนจะคลี่คลายเป็นเรือศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น กับความเชื่อทางศาสนาพุทธและพราหมณ์ ขณะเดียวกัน การจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อาจมีที่มาจากการจัดขบวนเรือรบในสมัยโบราณอีกโสดหนึ่ง

ครั้งอยุธยา เรือพระราชพิธีใช้ประกอบพิธีสำคัญในราชสำนัก เช่น พระราชพิธีเดือน 11 ในพระมหากษัตริย์

Advertisement

แต่พอเข้าสมัยใหม่ ความเชื่อและพิธีกรรมค่อยคลายบทบาทลงไป แต่กองเรือพระราชพิธี และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็ยังคงเป็นเครื่องแสดงสำคัญถึงพระเกียรติยศและพระบารมีในสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่

ผู้เขียนพยายามสืบหาข้อมูลเรื่องราวของกองเรือศักดิ์สิทธิ์นี้ ตั้งแต่ก่อนอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อคนไทย จะได้รู้จักกับสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินอันยิ่งใหญ่งดงามตระการตา ซึ่งถือเป็นความอลังการทางวัฒนธรรมของโลกได้

เห็นลำดับการค้นคว้าของผู้เขียนก็อยากรู้แล้ว ก่อนมาเป็นเรือพระราชพิธี เรือศักดิ์สิทธิ์ในกลองมโหระทึก เรือพระราชพิธีและเรือรบในภาพสลักเขมรโบราณ จากนั้นเข้าสมัยอยุธยา เรือพระราชพิธีในกฎหมายตราสามดวง เรือพระราชพิธีในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรือพระราชพิธีในสายตาชาวตะวันตก เรือพระราชพิธีในคำให้การ ชาวกรุงเก่า ประเภทของเรือพระราชพิธี สัญลักษณ์เทพเจ้าศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ในโขนเรือพระราชพิธี

ยังมีเรื่องการเห่เรือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยอยุธยา ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสายตาชาวตะวันตก ขบวนพยุหยาตราในบทเห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ ก่อนจะถึงขบวนเรือสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง 4 และรู้จักลิลิตขบวนพยุหยาตราเพชรพวง

แล้วต่อด้วยขบวนเรือสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 7 ต่อเนื่องมาอย่างน่ารู้ยิ่ง สุดท้ายจึงถึงขบวนเรือสมัยรัชกาลที่ 9

เป็นหนังสือที่ควรให้ลูกหลานได้ศึกษา เก็บไว้เป็นงานล้ำค่าคู่บ้านไปตลอดกาล


…ความบกพร่องประการหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่เพียงผู้คนในละแวกภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ไม่ตั้งใจ รู้จักเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่รั้วติดกัน แต่ไปรับความช่วยเหลือทางวัตถุจากคนบ้านไกล เพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนแม้ผู้นำการต่อสู้ของเวียดนามเพื่อปลดแอกการข่มเหง เคยมาพำนักในไทย ก็ยังไม่สืบสานความเป็นมิตรให้ต่อเนื่อง

การเรียนความสัมพันธ์ไม่ว่าด้านบวกหรือลบซึ่งมีต่อกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพื่ออนาคตอย่างมาก

รุกตะวันออก ความสัมพันธ์สยาม เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ งานของ สุเจน กรรพฤทธิ์ หนังสือที่ จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามในช่วงกรุงธนบุรีต่อต้นรัตนโกสินทร์ อันเป็นช่วงก่อนเกิดสงคราม อานามสยามยุทธ ซึ่งจะแสดงให้เห็นรูปความสัมพันธ์และที่มาที่ไปของสงครามสยาม เวียดนาม โดยใช้หลักฐานชั้นต้น ของเวียดนาม เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ อีกด้านของประวัติศาสตร์ ที่ไม่เคยได้นำมาพิจารณา ให้พิจารณากันรอบด้าน

หลักของงานชิ้นนี้ ไม่เพียงต้องการจะแจงรายละเอียดความสัมพันธ์ก่อนสงครามระหว่างสยาม เวียดนาม แต่ต้องการปรับมุมมองทางประวัติศาสตร์ของไทยใหม่ จากเดิมที่ประวัติศาสตร์ช่วงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ มักเน้น อธิบายไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับพม่าเป็นหลัก ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ สยามไม่ได้ให้ความสำคัญกับพม่ามาก เช่นหนังสือ ไทยรบพม่า ว่าไว้

แต่สยามให้ความสำคัญกับดินแดนด้านตะวันออกคือกัมพูชากับลาวมากกว่า เนื่องจากดินแดนเหล่านี้คือปริมณฑลอำนาจของกษัตริย์สยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังนั้น การเข้าควบคุมรัฐต่างๆ ในดินแดนดังกล่าว จึงเป็นภาระหน้าที่สำคัญของกษัตริย์สยามตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งกษัตริย์ถือพระองค์ว่าเป็นผู้สืบทอดสถานะความเป็นอยุธยามา

เพียงความเข้าใจนี้ก็ทำให้เราได้เห็นความคิดที่เรามิได้พิจารณาเข้าใจมาก่อน

ขณะเดียวกับระยะเวลาดังกล่าว เป็นสภาวะว่างระเบียบ เนื่องจากอำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่จักรพรรดิราชวงศ์ เล แต่ตกอยู่ในอุ้งหัตถ์เจ้าตระกูล จิ่ง กับเจ้าตระกูล เหงวียน โดยเฉพาะตระกูลเหงวียนที่ปกครองเวียดนามทางใต้ ได้พยายามขยายอำนาจเข้าสู่กัมพูชา และพยายามสถาปนาเจ้านายกัมพูชาที่ตนสนับสนุน

จึงเมื่อนโยบายรุกตะวันออกปะทะกับการขยายอิทธิพลลงใต้ของเจ้าตระกูลเหงวียน จึงกลายเป็นที่มาของความสัมพันธ์อันสลับซ้บซ้อนของสยามกับเวียดนาม ก่อนสงครามอานามสยามยุทธ โดยตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนความเป็น ไปของประวัติศาสตร์คือ พระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 และองเชียงสือ

นี่คือภาพประวัติศาสตร์ใหม่ที่เรามิได้เจาะจงมองมาก่อน 5 ภาคของหนังสือเล่มนี้ จึงช่วยให้เราได้มองและเข้าใจ ความสัมพันธ์ด้านตะวันออกได้ดียิ่ง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่หายไป, ศึกชิงกัมพูชาและฮาเตียน, สายสัมพันธ์ระหว่าง รัชกาลที่ 1 กับองเชียงสือ, ความสัมพันธ์สยาม เวียดนาม สมัยรัชกาลที่ 2, สยาม เวียดนาม ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

5 ภาคนี้จะช่วยให้เราได้เห็นภาพที่เราไม่เคยได้เห็นและเข้าใจมาก่อนเลย จึงน่าศึกษาอย่างยิ่ง


…โลกจะเป็นอย่างไรต่อไปในวันข้างหน้า ที่เมื่อเทคโนโลยีวิทยาการนำชีวิตของคนจำนวนมาก แทนที่คนจำนวน มากจะใช้เทคโนโลยีวิทยาการให้เกิดประโยชน์ต่ออนาคต เลือกทางไม่ได้ หรือเจ้าวิทยาการเป็นผู้กำหนดกันแน่

นี่คือหนังสือซึ่งให้แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งผู้แปล ไพรัตน์ พงษ์พานิชย์ นำหนังสือน่ารู้ของ มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ออกแบบธนาคารเพื่อคนจนอันลือลั่น ได้เขียนบอก แนวทาง โลกสามศูนย์ หรือ A World of Three Zeros ไว้ มาให้เราได้รู้จัก

เนื่องจากปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และมลภาวะ เป็นโจทย์ท้าทายที่สุดของมนุษยชาติศตวรรษที่ 21 ซึ่ง อาจเป็นศตวรรษสุดท้ายของเราก็ได้!!! หากมิได้ช่วยกันคิดหาทางแก้ไขกันอย่างทันท่วงที แม้ปัญหายากเย็นแสนเข็ญ ขนาดไหน ก็ละเลยไม่ได้ เพราะนี่เป็นโลกใบเดียวที่ทุกคนร่วมกันอาศัย

แต่การใช้กำลังเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ และการแก้ไขปัญหาระบบนิเวศก็ไม่ใช่ทางออก หรือจะรอให้ระบบ ทุนนิยม เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือล่มสลาย ก็จะช้ามากไปแน่นอน

ผู้เขียนซึ่งเป็นนายธนาคารคนจน และสร้างโลกไร้จน เจ้าของรางวัลโนเบลเพื่อสันติภาพ ได้เสนอทางออกใหม่

ทางออกแบบไหน ย่อมมีผู้ใคร่รู้ เมื่อคำว่าธุรกิจเชิงสังคมถูกเสนอ ธุรกิจนี้มีลักษณะเช่นไร ช่วยโลกได้จริงหรือไม่

โปรดติดตามด้วยความระทึกในหทัยพลัน อย่าได้ช้า

โลกอยู่ในกำมือเราแล้ว จะลงมือช่วยกันหรือไม่


บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image