เสวนา ‘พระเสด็จโดยแดนชล’ ย้อนความเป็นมาเรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่เวทีกลาง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้ง ที่ 24 อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนาเรื่อง “พระเสด็จโดยแดนชล : เรือพระราชพิธี และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” โดยวิทยากร ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ บรรณาธิการหนังสือ “ดวงใจในทรงจำ” และ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เขียนหนังสือ “พระเสด็จโดยแดนชล” ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร โดยมีนักอ่านร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์พิเศษทองกล่าวว่า สมัยอยุธยา มีกระบวนเรือชัดเจน ตามกฎมณเทียรบาล โดยใช้กันมาอย่างเคร่งครัด ในบางวาระก็ใช้สำหรับศึกสงครามด้วย บางลำสำหรับประทับไปในงานพระราชสงคราม เรือที่ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค นอกจากเรือหลวงแล้ว ยังมีเรือขุนนางเจ้านายอื่นๆ ตามเสด็จด้วย จึงมโหฬารมาก โดยอาศัยตามธรรมเนียมอยุธยา

“หลักฐานเก่าสุด ของกระบวนเรือตั้งแต่อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นขบวนเรือเอนกประสงค์ โดยกระบวนเรือที่นำมาใช้เพื่อเลียบพระนคร เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4  เวลาเสด็จฯ จะกินระยะห่างกับชาวบ้านมาก คนอยู่บ้านริมแม่น้ำต้องปิดประตูหน้าต่าง แต่พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริเรื่องความสัมพันธ์กับราษฎรที่ไม่เหมือนเดิม ทรงมีพระราชดำรัสว่า ที่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เพราะราษฎร เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงเห็นว่า ความใกล้ชิดราษฎรกลับจะเป็นการเกื้อกูลความสัมพันธ์กับมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อกัน”

ศาสตราจารย์พิเศษทองกล่าว่า  มีคนถามว่าเหตุใด รัชกาลที่ 9 ไม่เสด็จเลียบพระนคร เพราะ 1.เวลานั้นเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่ได้ซ่อมแซม กว่าจะมีพยุหยาตรา ก็ฟื้นขึ้นมาภายหลังในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นเติมมาเรื่อยๆ จนทำกระบวนใหญ่ได้ในภายหลัง เพื่อให้ประชาชนได้รับชมพระบารมี

Advertisement

ส่วนรายละเอียดนั้น ถ้าเป็นในบางโอกาสต้องปรับให้เหมาะ เช่น ทอดผ้าพระกฐิน ต้องมีเรือทรงพระราชกฐิน จะมีเรืออนันตนาคราช เป็นเรือลำต้น ทรงพระพุทธรูป จากนั้นเป็น เรือสุพรรณหงษ์ และเรือพระที่นั่งรอง แต่เรือประกอบจะไม่มีความแตกต่าง

“ครั้งสุดท้ายที่มีการเสด็จเลียบพระนคร คือปี พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เป็นระยะทางที่สั้นมาก แค่ในครั้งนี้ระยะทางไกลกว่า และอยู่บนแม่น้ำสายหลัก โดยจะเริ่มเวลา 15.30 น. จะมีการซ้อมเหมือนจริงในวันที่ 17 และ 21 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคอีกครั้งในรอบเกือบร้อยปี” ศาสตราจารย์พิเศษทองกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ศานติกล่าวว่า แนวคิดจัดกระบวนเรือเหมือนกันทุกครั้ง มีบันทึกไว้ในกฎมณเทียรบาล ระบุเรือชนิดต่างๆ อย่างชัดเจน นอกจากเรือพระราชพิธี ยังมีพิธีแข่งเรือ และพิธีไล่น้ำ โดยจะพายแข่งกัน เสร็จพิธีแข่งเรือจะเป็นพีธีไล่น้ำที่ลานเท อยุธยา เป็นพระราชกรณียกิจ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิธีฟันน้ำ เพื่อไล่น้ำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไล่ให้น้ำท่วม แต่ไล่ให้น้ำไหลลงไปเร็วขึ้น เนื่องจากเดือน 11 น้ำเจิ่งนอง และจะเข้าฤดูเก็บเกี่ยว

Advertisement

“เรือพระที่นั่งจะใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ อยู่ที่ว่าพระมหากษัตริย์โปรดลำใด เวลามีพระราชการสงครามก็ใช้ สมัยอยุธยาก็ใช้เรือพระที่นั่งอยู่ตลอด”รศ.ดร.ศานติกล่าว และว่าตั้งแต่อดีต จะจัดประเภทเรือพระที่นั่ง ได้แก่

1.เรือพระที่นั่งกิ่ง คือชั้นสูงสุด

2.เรือไชย ชื่อจะลงท้ายด้วยไชย หัวเรือเหมือนเรือเอกไชย แต่มีหัวแกะสลักประดับกระจก ซึ่งของโบราณ จะมี 2 ลำ เหลือแต่โขนเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือทรงใช้ตั้งแต่ รัชกาลที่ 1-3 และรัชกาลที่ 5

3.เรือพระที่นั่งศรี คือเรือพระที่นั่งสำรอง ในกระบวนจะต้องมีพระที่นั่งรองอยู่ด้วย ส่วนเรือพระที่นั่งกิ่ง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้สร้างขึ้น ที่ยังมีอยู่คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ถัดมาคือเรือไชย มีหลายลำ” รศ.ดร.ศานติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image