เดินไปในเงาฝัน : เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม : โดยสาโรจน์ มณีรัตน์

แม้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2562 จะผ่านไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในแง่ของคนขายหนังสือ และคนทำหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนคงต้องดำเนินต่อไป เพราะยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่อยากแนะนำให้ผู้อ่านลองไปหาซื้อมาอ่านดู
โดยเฉพาะกับหนังสือเรื่องแรกคือ “รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์สยาม-เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ” ที่มี สุเจน กรรพฤทธิ์ เป็นผู้เขียน

และมี ศ.ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ เขียนคำนิยม

หนังสือเล่มนี้ “ศ.ดร.สุเนตร” เขียนคำนิยมบางส่วนน่าสนใจว่า…หนังสือเล่มนี้เป็นงานค้นคว้าเชิงลึกที่ช่วยขยายกระบวนการรับรู้ประวัติศาสตร์การเมือง สงครามสมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักมองข้าม

“ผู้เขียนตีแผ่ให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1 มิได้ต่างจากกษัตริย์อยุธยาผู้เรืองอำนาจคือทรงให้ความสำคัญกับบ้านเมืองฝั่งบุรพทิศเป็นปฐม ทั้งผู้เขียนยังเพิ่มความสลับซับซ้อน เมื่อทำให้เห็นว่าสงครามสู่ซีกตะวันออกมีตัวละครสำคัญเพิ่มขึ้นมาคือบันทายมาศ หรือฮาเตียน”

Advertisement

“อันที่จริงฮาเตียนเป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางการขยายอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินนับย้อนไปตั้งแต่ช่วงเสด็จออกไปตั้งหลักอยู่ในพื้นที่หัวเมืองตะวันออก หลังออกจากอยุธยา ฮาเตียนนับว่าเป็นแหล่งเสบียง เป็นเมืองท่าที่มั่งคั่ง เป็นเมืองที่หลบภัยของเจ้านายอยุธยาที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ทั้งยังเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยยุแยงจักรพรรดิจีนให้เป็นอริกับพระองค์อีกด้วย”

ดังนั้น ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ จึงมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการเปิดโลกทัศน์ว่าด้วยประวัติศาสตร์สงคราม และการเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และต้นรัตนโกสินทร์ในซีกบุรพทิศเท่านั้น

หากยังอยู่ที่กระบวนการนำเสนอด้วย

Advertisement

อันไปสอดรับกับความคิดของ “สุเจน” ที่บอกว่า…โจทย์หลักของหนังสือเล่มนี้คือการเปิดพรมแดนใหม่ การมองประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ต่างออกไปจากเดิมๆ คือผมต้องการมองประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ผมตั้งใจให้งานชิ้นนี้ปราศจากแนวคิดชาตินิยม เพื่อมุ่งหมายค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้วางว่าตัวเองเป็นคนไทย คนเวียดนาม คนกัมพูชา หรือคนลาว ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้มุ่งหาผู้ร้ายที่เข้ามาทำลายกรุงศรีอยุธยา หรือมองหาศัตรูในอดีตของรัฐชาติไทย แต่ผมพยายามอ่านอดีตจากหลักฐานหลายแหล่ง เพื่อปรับตัวอยู่กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างสันติ”

ไม่ทราบว่าอ่านถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกอยากอ่านฉบับเต็มหรือยังครับ

ถ้าสนใจลองแวะร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้เลย

ส่วนอีกเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำคือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” ซึ่งมี วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นผู้เขียน กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเป็นการเปิดเส้นทางชีวิตของ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ผู้อยู่เบื้องหลังโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง หากยังพูดถึงกลยุทธ์การสร้างสรรค์อาณาจักรโรงเบียร์จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

ทุกวันที่ผ่านเรื่องราวมาถึง 2 ทศวรรษ

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ รุ่นพี่ที่ “สุพจน์” ให้ความเคารพนับถือเล่าความบางส่วนในคำนิยมอย่างเห็นภาพว่า…โรงเบียร์แห่งนี้ไม่ใช่ดอกเห็ด พอฝนตกก็งอกเอง แต่เป็นธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคน ผู้เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนผู้ก่อตั้งคือนายสุพจน์ ธีระวัฒนชัย

“คุณสมบัติ และบุคลิกของสุพจน์เหมือนต้มจับฉ่ายหม้อใหญ่ ถ้าจะสาธยายให้ครบเครื่อง เห็นทีต้องเขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่ม แต่ก็พอขมวดให้หดเหลือคำสองคำคือคำว่าวางใจ และเกรงใจ”

“จึงไม่น่าเป็นที่สงสัย เมื่อเขาลุกขึ้นมาทำการใหญ่ ต้องการเงินทุนก้อนโต บากหน้าไปกู้ยืม เหตุการณ์ตื้นลึกหนาบางพวกเราไม่กระจ่าง รู้แต่ว่าสำเร็จในที่สุด ซึ่งพวกเราปักใจเชื่อลึกๆ ว่าเขาเป็นที่เชื่อใจของนายเงิน เขาถึงยอมให้ยืม”

“สุพจน์ทำงานด้วยใจ ซึ่งไม่มีสอนในห้องเรียน ลอกเลียนปลูกถ่ายให้กันไม่ได้ จะบรรจงประดิษฐ์ก็ไม่ออกมาแบบนี้ มันอยู่ในสายลม หยาดฝน มันเป็นธรรมชาติในตัวเขา ใครเคยร่วมงานกับสุพจน์จะสัมผัสได้เอง อย่างใจแตะใจ”

ขณะที่ “วันชัย” ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เขียนถึง “สุพจน์” ในคำนิยมบางส่วนบอกว่า…ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าการลงทุนเปิดโรงเบียร์มูลค่า 40 ล้านบาท หลังภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2542 จะประสบความสำเร็จได้

“สุพจน์บอกว่าตอนนั้นอยากเอาชนะ เพราะพ่ายแพ้มาเยอะแล้ว และเชื่อว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาน่าจะเข้าใจตลาด และจับจุดตลาดได้ดี โดยมีเงินเก็บส่วนตัว และเงินที่กู้ยืมจากครอบครัวรวมถึงเพื่อนฝูงเป็นเดิมพัน”

20 ปี ผ่านไป

“สุพจน์” ยังทำงานอยู่ที่โรงเบียร์แห่งเดิม พร้อมขยายกิจการเป็น 3 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ 1,000 ที่นั่งจะมีอายุยาวนานได้เพียงนี้

ครั้งหนึ่ง “สุพจน์” เคยบอกว่า…ความสำเร็จของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงไม่ใช่เรื่องของดวง แต่มาจากประสบการณ์ตลอดชีวิตของเขา

นักสู้ที่ไม่เคยยอมจำนวนต่อความพ่ายแพ้

ผมว่าใครที่ชอบอ่านงานอัตชีวประวัติเชิงฮาวทู หนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม” จึงมิควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

เพราะนอกจากจะทำให้เราๆ ท่านๆ เกิดแรงบันดาลใจ

ยังทำให้เราพร้อมลุกขึ้นมาทำมาหากินทันที

ลองไปหาซื้ออ่านดูนะครับ

ส่วนอีกเล่มหนึ่ง แม้จะเป็นงานเขียนของนวัตกร และนักเขียนรุ่นใหม่ที่เคยใช้ชีวิตสตาร์ตอัพมาก่อนในหลายบริษัท หากเขายังเคยทำงานในบริษัทสตาร์ตอัพแห่งหนึ่งที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์อีกด้วย

ดังนั้น เขาจึงมีความเข้าใจในวิธีคิดของเหล่าบรรดาสตาร์ตอัพต่างๆ มากไปกว่านั้น เขายังนำสิ่งที่พบเห็นในธุรกิจสตาร์ตอัพกว่า 20 ธุรกิจมาบอกเล่าในหนังสือเล่มนี้ เล่มที่ชื่อว่า “Winning with Idea จากหนึ่ง ถึงพันล้าน” ซึ่งมี มาโนช พฤฒิสถาพร เป็นผู้เขียน

เบื้องต้นในคำนำผู้เขียน “มาโนช” เขียนเล่าบอกว่า…Elevator Pitch คือด่านสำคัญที่คนทำสตาร์ตอัพต้องเผชิญ มันคือการนำเสนอธุรกิจภายในเวลา 30 วินาที เพื่อสรุป และชักจูงนักลงทุน ด้วยการให้คำตอบกับเขาว่าทำไมเขาจึงควรลงทุนกับคุณ

“หากสำเร็จ ก็เหมือนกับคุณขึ้นลิฟต์มาแล้วโชคดีที่เจอกับนักลงทุนที่เห็นเป้าหมายร่วมกัน แต่ในทางกลับกัน 90 เปอร์เซ็นต์ของไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จะตายภายใน 1 ปี”

สิ่งเหล่านี้คือคุณประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้

ที่ไม่เพียงจะสรุปไอเดียจากเหล่าบรรดาสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา หากยังนำเบื้องลึก เบื้องหลัง และมุมมองจากผู้ใช้งานจริงมาเล่าอย่างเห็นภาพ

ที่สำคัญ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีบทวิเคราะห์ว่าทำไมหลายๆ ไอเดีย และแพลตฟอร์มของสตาร์ตอัพเหล่านี้ ถึงสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ทั้งยังสร้างเน็ตเวิร์กเอฟเฟ็กต์ให้กับผู้ใช้งานในวงกว้าง

ซึ่งมีทั้งหมด 20 ไอเดียด้วยกัน

ฉะนั้น ใครที่ชื่นชอบหนังสือสไตล์นี้ ก็มิควรพลาดอีกเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ยังทำให้เราเรียนลัดในการก้าวไปสู่โลกของสตาร์ตอัพในอนาคตอีกด้วย

ลองไปหาซื้ออ่านดูนะครับ

รับรองคุณจะต้องชอบอย่างแน่นอน ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image