ที่เห็นและเป็นไป วงการหนังสือไทย 2019

สิ้นปีกำลังจะผ่านพ้นไป ปีนี้เป็นปีที่แวดวงหนังสือไทยมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจยิ่ง และเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่สามารถฉายภาพไปยังอนาคตบางส่วนด้วยได้ซ้ำ

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาการเติบโตของบางสิ่ง และการถดถอยของบางอย่าง ที่เกิดในวงการหนังสือไทย ทั้งในแง่ของธุรกิจและคอนเทนท์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Picodi ได้สำรวจแนวโน้มการซื้อหนังสือจาก 41 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งผลจากสำรวจของไทยพบว่า หนังสือ 5 ประเภทแรกที่คนไทยนิยมอ่าน อันดับ 1 คือ นิยาย 49%  2. หนังสือเกี่ยวกับงานอดิเรก 40% 3. หนังสือเรื่องธุรกิจ 34% 4. สารคดี 26% และ 5. วิทยาศาสตร์ 21%

สถิติดังกล่าวเชื่อมโยงกับการเติบโตอย่างพุ่งพรวดของ หนังสือแนว Yaoi  หรือ นิยายวาย ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีผลสำรวจว่า 49% ของความนิยมในงานเขียนแนวนิยายนี้ แบ่งย่อยเป็นแนวไหนบ้าง แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า นิยายวายน่าจะเป็นอันดับแรก โดยพิสูจน์จากจำนวนงานที่จัด ความนิยมของผลงานทั้งแบบรูปเล่ม อีบุ๊ค และ UGC รวมถึงการต่อยอดไปสู่สื่ออื่นๆ

Advertisement

มีหนังสือประเภทเดียวในไทยตอนนี้ ที่สามารถจัดบุ๊กแฟร์ของตัวเองได้แบบสบายๆ และงานหนังสือใหญ่ๆ ที่ สนพ.ทั้งหลายต่างรอคอยและคาดหวังว่าจะช่วยนำเงินสดมาเพิ่มสภาพคล่องให้สนพ. ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้เท่านั้น ตอนนี้งานหนังสือที่ว่าด้วยนิยาย Y มีตลอดทั้งปี ทั้งจากนักเขียนรวมตัวกันเอง และ สนพ.ใหญ่มาเป็นโต้โผจัด ทุกงานเก็บค่าเข้า หลักสิบปลายๆ ถึงหลักร้อยต้นๆ

ความนิยมวายในบ้านเราขยายไปสู่สื่ออื่นมากมาย ที่จีนดาราไทยยอดนิยมมาจากซีรีส์ละครวาย แอพพลิเคชั่นการ์ตูนต่างๆ ตอนนี้แยกงานวายออกมาเป็นเซ็กชั่นต่างหาก ไม่ต้องพูดถึงแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์เลย เพราะนั่นคือส่วนสำคัญสุดสุดที่ทำให้งานวายในบ้านเราโตแบบพุ่งพรวด ส่วยรายได้ของนักเขียนนั้น เคยคุยกับเบอร์ต้นๆ ของนักเขียนสายวายไทย ที่เน้นการลงในแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง UGC รวมถึงอีบุ๊ค และพิมพ์งานขายเองแบบพรีออเดอร์ อยู่ที่หลักหลายแสนบาทต่อเดือน… นี่คือรายได้ของนักเขียน 1 คน

แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ หนึ่งในความรุ่งโรจน์ของวงการหนังสือปีนี้ โดยมีทาร์เก็ทหลักๆ คือตลาดวัยรุ่น แอพพลิเคชั่นการ์ตูนและนิยายในหลายประเทศโดยเฉพาะเกาหลีและจีน มีการลงทุนในไทย

Advertisement

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ แอพพลิเคชั่นเว็บคอมมิก อย่าง โคมิโค่ (comico)  โคมิโค่ทำงานของตัวเองเงียบๆ ไม่ค่อยออกสื่อมากนัก แต่การเติบโตกลับสวนทางกับความเงียบในสื่อ ปีที่ผ่านมาโคมิโค่มียอดดาวน์โหลดทั้ง Android และ ios รวมกันอยู่ที่ 5.8 ล้าน ผลประกอบการรวม 85 ล้านบาท และปีนี้ ปาร์ก จงกึน ซีอีโอใหญ่ของโคมิโค่ ประเทศไทย บอกกับเราว่าตั้งเป้าผลประกอบการรวมอย่างน้อย 200 เปอร์เซ็นต์ !!

“ในญี่ปุ่น เกาหลี การเติบโตของเว็บ คอมมิกอยู่ที่ 30-50 เท่า ถ้าเทียบกันแล้ว เราอาจอยู่ที่ 2-3% ของเขาด้วยซ้ำ ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรไทย ซึ่งยังขยายได้อีกเยอะมาก” ปาร์ก จงกึน ให้สัมภาษณ์เราไว้

ไม่ใช่แค่นิยายวาย หรือคอมมิคในแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้นที่เติบโตอย่างน่าสนใจ นิยายแปลจากจีน ญี่ปุ่น และงานสารคดีเชิงความรู้ เชิงแนวคิด ก็มีการเติบโต ที่ถึงจะไม่พุ่งพรวดแบบสองประเภทข้างต้น แต่ก็น่าจับตามองไม่น้อย

ปีนี้นอกจากนิยายจีนจะได้รับความนิยมเช่นเดิมแล้ว ยังเป็นปีของงานแปลจากญี่ปุ่น หลายเล่มที่แปลมีความเชื่อมโยงกับสื่ออื่น เช่น มังงะ แอนิเมชั่น ซีรีส์ เหมือนคนอ่านหวนกลับไปสู่งานเขียนที่สร้างความอบอุ่นให้หัวใจ มีนิยายหลายเล่มจากญี่ปุ่นที่ดังมาก และพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในปีนี้ อาทิ “ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ” ผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ และล่าสุดที่เพิ่งออกมาได้ราวเดือนกว่า คือ “วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว” ของสนพ.น้องใหม่ ที่ชื่อว่า Sandwich Publishing เพิ่งทำเล่มนี้เล่มแรก แต่จับตลาดถูกมาก ขนาดว่ามีวิธีการวางขายแบบอินดี้สุดๆ ซื้อได้จากร้านออนไลน์ ร้านหนังสือเล็กๆ ร้านใหญ่ก็มีแค่ที่คิโนะคุนิยะ ยังพิมพ์ครั้งที่ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว

สารคดีก็ไม่น้อยหน้า ทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงธุรกิจ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งผู้เขียนคือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพิมพ์โดย สนพ.มติชน คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนมากของงานคุณภาพเชิงสารคดี ที่สามารถครองใจผู้อ่านได้อย่างง่ายดาย พิสูจน์ได้จากยอดพิมพ์ยอดจำหน่าย ที่เกินครึ่งแสนเล่มเข้าไปแล้ว ภายในระยะเวลาเพียงแค่สามเดือน ในวันเปิดตัวหนังสือที่มีกิจกรรมพิเศษ Exclusive Talk มีผู้เข้าร่วมงานถึง 800 คน!!… เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์วงการหนังสือปีนี้อย่างงดงาม

ยังมีอีกหลายเล่มและหลายสนพ.ที่สร้างปรากฏการณ์ได้อย่างน่าทึ่ง อาทิ “เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind)” โดย ยูวาล โนอาห์ ฮารารี จาก สนพ.ยิปซี และผลงานจากสนพ.เล็กๆ ซึ่งมุ่งหน้าทำงานวิชาการทั้งไทยและเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในสนพ.สายวิชาการที่แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่สร้างผลงานคุณภาพได้อย่างน่าจับตาคือ Illuminations Editions

ถ้าสังเกตจากที่เขียนมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในแง่ของคอนเทนท์และแพลตฟอร์มของธุรกิจหนังสือ ที่ไม่ใช่หนังสือแบบเป็นเล่มๆ อีกต่อไป ซึ่งมาจากการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และมุ่งไปยังสิ่งใหม่โดยไม่ย่ำอยู่กับที่

ถ้าจะมีอะไรที่แทบจะไม่ปรับตัวเลย ก็คงเป็นการจัดงานหนังสือใหญ่ๆ ที่ปีนี้ต้องย้ายสถานที่ไปยังเมืองทองธานี และปีหน้าก็ยังคงอยู่ที่เดิม ซึ่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดและข้อจำกัดในหลายประการ งานหนังสือระดับชาติย้อนกลับไปสู่ความเป็นบุ๊คแฟร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการซื้อมาขายไปอย่างสมบูรณ์ สนพ.ต่างๆ พยายามช่วยเหลือตัวเองขั้นสุด ถ้าจำกันได้ โปรโมชั่นออนไลน์เหมือนโปรโมชั่นในงานเป๊ะ บางทีถ้าเราซื้อออนไลน์ได้ราคาเท่ากับไปงาน ผู้จัดอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบงานหนังสือ ให้พ้นจากความเป็นงานขายเท่านั้น

ความสำเร็จอย่างล้นเหลือของงาน Lit Fest เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่สามารถสร้างพื้นที่ของงานหนังสือให้ไปไกลกว่าการขาย เป็นโมเดลงานหนังสือที่น่าสนใจมากๆ และเหมาะกับความเปลี่ยนแปลงของวงการหนังสือในตอนนี้จริงๆ อ้อ , ต้นปีหน้า Lit Fest จะกลับมาอีกครั้งนะ น่าจะช่วงเดือนกุมภาพันธ์

แม้กระทั่งร้านหนังสือเชนสโตร์ทั้งหลายยังเปลี่ยนโมเดล ให้ก้าวไปพ้นจากความเป็นร้านหนังสือเท่านั้น ทั้งบีทูเอสและนายอินทร์ศึกษาการปรับตัวของธุรกิจหนังสือในหลายประเทศ และพบว่าไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยน ร้านหนังสือจึงต้องไม่ใช่แค่ร้านขายของ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มอบแรงบันดาลใจใหม่ๆ นายอินทร์ประกาศเลยว่าจะมุ่งสู่ “Content Experience” ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้กับคนอ่านในพื้นที่ของตัวเอง

บีทูเอส

ปีนี้ปรับตัวกันแรงมาก และการปรับเปลี่ยนนี้ น่าจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจหนังสือที่น่าสนใจต่อไป

…………..

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image