เทรนด์ไทย-เทรนด์โลก และความน่าจะเป็นของวงการหนังสือ

เปิดศักราชใหม่แล้ว ปีนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย ล้วนให้สัมภาษณ์ในทิศทางที่เป็นห่วงสภาวะเศรษฐกิจไทยกันทั้งนั้น

สังคมไทยกำลังเผชิญกับอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจ ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้อีกแล้ว

แต่นั่นล่ะ ไม่ว่าจะมีอะไรที่รออยู่ สิ่งที่ทำได้คงมีเพียงการสู้ต่อด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นและเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ทุกสิ่งที่ทำต้องชวดเหมือนชื่อปี

แวดวงธุรกิจหนังสือก็เช่นกัน ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจหนังสือโลกวิเคราะห์กันว่าน่าจะเจอการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย ทั้งจากเรื่องของเทคโนโลยีที่มาดิสรัปต์วงการ และความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้อ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาราว 2 ปีแล้ว แต่ปี 2020 นี้จะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

Advertisement

https://linchpinseo.com ได้สรุป 9 ข้อที่สำนักพิมพ์ควรรู้เกี่ยวกับเทรนด์หนังสือในปีนี้ หลายเรื่องน่าสนใจและเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของไทยไม่น้อย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง SEO (Search Engine Optimization) หนึ่งในกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Search Engine ซึ่งจะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเข้าถึงคนอ่านได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย linchpinseo ฟันธงว่าทุกสำนักพิมพ์ควรทำการตลาดออนไลน์แบบ SEO ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต สร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ไม่หว่านแหไปทั่วอย่างอดีต นอกจากนี้ ยังมองว่าการใช้ประโยชน์จาก Podcast คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ปีที่ผ่านมาผู้ฟังพอดคาสต์ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 44 ของประชากรทั้งหมด

ในไทยเอง Podcast ก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านหนังสือออนไลน์อย่าง Readery ร่วมทำ Podcast Season1 กับสื่อออนไลน์อย่าง The Standard โดยมีคอนเซ็ปต์คือการแนะนำหนังสือใหม่ๆ ตามธีมในแต่ละช่วง ทั้งปีคือ 62 ep. ยอด Plays ทุกช่องทางรวม 1,729,834 plays และกลายเป็นส่วนที่ทำให้หนังสือหลายเล่มได้รับการโฟกัส จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการรับฟัง podcast ของคนไทย

Advertisement

ในวงการหนังสือโลก การพิมพ์หนังสือด้วยตัวนักเขียนเอง โดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเผยแพร่ผลงานในรูปแบบของอีบุ๊ก ซึ่งในคินเดิลนั้น 100 อันดับแรกของหนังสือขายดี 17 เรื่อง เป็นผลงานที่นักเขียนทำเป็นอีบุ๊กเอง

ในไทยก็ไม่แพ้กัน ลองเข้าไปดูในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง MEB จะเห็นชัดเจนเลยว่า อีบุ๊กนิยายยอดนิยมทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นผลงานของนักเขียนเอง ซึ่งตรงนี้ต้องให้เครดิตระบบการทำงานของ MEB ที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้นักเขียนสามารถสร้างอีบุ๊กด้วยตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น และตัดคนกลางอย่างสำนักพิมพ์ไปได้โดยสิ้นเชิง นักเขียนดังๆ ใน MEB ส่วนใหญ่จะเขียนงานแนวรักวัยรุ่น ทั้งรักชาย-หญิง ยูริ วาย และจีนโบราณ https://linchpinseo.com ยังกล่าวอีกด้วยว่า สำนักพิมพ์ต่างๆ ทั่วโลกมองว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาในปี 2020 คือ การสร้างเนื้อหาที่ไม่ซ้ำใคร เป็นเนื้อหาที่ผู้อ่านต้องการ ดังนั้น 23.3% จึงเกาะติดการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมของ Google และสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์งานแบบนิช มาร์เก็ต ก็เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในโลกของดิจิทัล

ในเมืองไทยตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มีกลุ่มผู้อ่านชัดเจน เติบโตอย่างเห็นได้ชัด แนว Brainy Books หรือหนังสือที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ แบบจริงจัง ข้อมูลแน่นปึ้ก แต่เล่าด้วยวิธีที่น่าอ่าน อ่านแล้วสนุก สนพ. Bookscape, SALT, Illuminations Editions, ชัชพลบุ๊คส์, สนพ.บิงโก มีกลุ่มคนอ่านที่เหนียวแน่น, นิยายไทยร่วมสมัย คิดถึง P.S. Publishing ที่ปีนี้ประกาศออกมาแล้วว่า ออกผลงานจากนักเขียนฮิปๆ กันเดือนละเล่ม พลังล้นเหลือมาก ดำดิ่งในโลกของ P.S. ให้สุดกันไปเลย นิยายแปลนี่สนุกมาก สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เพิ่งทำกันได้ไม่นาน คว้าลิขสิทธิ์หนังสือเจ๋งๆ ระดับโลกมาเพียบ ทั้งบทจร, Merry-Go-Round, Legend Books, Earnest, Solis, Words Wonder, Sandwich Publishing

ขณะที่ marketingchristianbooks มองเทรนด์ธุรกิจหนังสือโลกที่สอดคล้องไปกับข้างต้นอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่ของการที่นักเขียน ตีพิมพ์หนังสือตัวเองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ซึ่งมีสถิติชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2016-2018 มีอัตราพิมพ์หนังสือเอง หรือการทำอีบุ๊กด้วยตัวเองผ่าน Kindle Direct Publishing ของ Amazon เพิ่มขึ้นปีละกว่า 400,000 เรื่อง

ที่น่าสนใจคือ Audiobooks หรือหนังสือเสียง ซึ่งมองว่าจะยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีสัญญาณของการชะลอตัว ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา Audiobook Publishers Association (APA) เปิดเผยสถิติการเติบโตของรายได้เป็นเลขสองหลักในทุกปี ยอดขายหนังสือเสียงในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้น 24.5% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันมากๆ ทั้งเทรนด์ไทย-เทรนด์โลก คืออุปสรรคของการอ่านและคู่แข่งสำคัญ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหนังสือด้วยกันอีกต่อไป ซึ่งปีนี้จะเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

Marketingchristianbooks บอกว่า การอ่านหนังสือเล่ม อ่านอีบุ๊ก หรือฟังหนังสือเสียง ต้องแข่งขันกับกิจกรรมความบันเทิงอื่นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค จากข้อมูลของ NPD Group พบว่า เกือบสามในสี่ที่สหรัฐอเมริกา อ่านหรือฟังน้อยลงกว่าปีที่แล้วถึง 9%

ส่วนแนวของหนังสือที่น่าจะนิยมนั้น แนว Brainy Books ในสารพัดหมวดทั้งธุรกิจ, pop science, นวัตกรรม, เทคโนโลยียังคงนำเทรนด์ คอนเทนต์หนังสือส่วนใหญ่เน้นไปที่ความเปลี่ยนแปลงและการตั้งรับกับ Digital Transformation, AI, Social Disruption และประเด็นของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ www.zzardink.com ยังวิเคราะห์ว่านอกจากหนังสือเสียงแล้ว นิยายก็ยังคงไปทาง ไซ-ไฟ, แฟนตาซี, อิงประวัติศาสตร์, สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมแบบ “cozy mysteries” ที่จะเบาๆ หน่อย ไม่เลือดสาดให้เครียดหนักมาก

เป็นเทรนด์ไทย-เทรนด์โลก ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าจับตา

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image