ส่งท้ายสนพ.เครือโมโน กรุ๊ป กับเล่มเจ๋งๆ ในความทรงจำ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในแวดวงสื่อไทย คือการปลดพนักงานราว 200 คนในเครือโมโน กรุ๊ป ซึ่งเป็นการปลดพนักงานแบบฟ้าผ่าครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเลยทีเดียว และได้มีการยุบหน่วยธุรกิจหลายๆ หน่วยใน โมโน กรุ๊ป เพื่อลดความซ้ำซ้อนในโครงสร้างการทำงาน

มีการยืนยันจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ผ่านจดหมายชี้แจงถึง กรณีการเลิกจ้างพนักงานเครือ โมโน กรุ๊ป ในเดือนมกราคม 2563 และหนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหนอนหนังสือโดยตรงก็คือ “และสุดท้าย หยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือ ธุรกิจที่สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป ได้แก่ สิ่งพิมพ์ ธุรกิจจองห้องพักออนไลน์ และ mobile value added services (MVAS)”  

เน้นคำว่าสิ่งพิมพ์ และใช่แล้ว หนึ่งในธุรกิจไม่ทำกำไรหรือธุรกิจที่สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป คือ “สำนักพิมพ์”

โมโน กรุ๊ป มีสำนักพิมพ์ในเครือทั้งหมด 4 สำนักพิมพ์ คือ Her Publishing , Maxx Publishing , Move Publishing และ Geek Book ที่แต่ละสำนักพิมพ์ ก็มีสไตล์ของตัวเองอย่างชัดเจนตลอดระยะเวลาเกือบ 6

Advertisement

ปีที่ผ่านมา หนังสือจากสำนักพิมพ์ในเครือ โมโน กรุ๊ป สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้กับวงการหนังสือไทย เป็นสาระที่มาคู่กับความบันเทิงอย่างมีคุณภาพ หลายเล่มกลายเป็นตำนานที่ขายดีแบบพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายเล่มช่วยเปิดความนิยมใหม่ๆ ให้วงการหนังสือบ้านเรา งานส่วนใหญ่ของเครือนี้ เป็นงานแปลที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ และเป็นงานแปลระดับคุณภาพที่นักอ่านยอมรับ โดยเฉพาะงานแปลจากประเทศญี่ปุ่น

หลังจาก สนพ.บลิส ปิดตัวไป ความนิยมในงานแปลญี่ปุ่นซาลง ทั้งงานแนววรรณกรรม และสารคดี แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอ่านอยู่ไม่น้อย และหลายคนก็รอคอยที่จะอ่านงานแปลของญี่ปุ่นที่มีสไตล์เฉพาะตัว เป็นสไตล์ที่แตกต่างจากงานแปลฝั่งตะวันตก หรือแม้แต่เอเชียด้วยกันอย่างไต้หวัน เกาหลีก็ตาม วรรณกรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน จะมีความอบอุ่น ความนุ่มนวล ความเรียบง่ายบางอย่างแฝงอยู่เสมอ สิ่งที่ Move Publishing และ Maxx Publishing ในเครือโมโน กรุ๊ปทำได้ คือการฟื้นความนิยมในงานแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้เห็นถึงกลุ่มนักอ่านที่ชัดเจนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ Move Publishing และ Maxx Publishing ทำได้ หลายสำนักพิมพ์ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากญี่ปุ่น ทั้งวรรณกรรม และสารคดีมาแปล และช่วยทำให้ตลาดตรงนี้เติบโตขึ้นกว่าที่เคย

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ‘อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ The Little Book of Ikigai ผลงานของ Ken Mogi นักเขียนและนักประสาทวิทยาชาวญี่ปุ่น และแปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

อิคิไกเป็นแนวคิดของชาวญี่ปุ่นที่เกิดจากคำสองคำ “อิคิ” (มีชีวิตอยู่) และ “ไก” (คุณค่าหรือความหมาย) คือการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ อิคิไกกำลังฮิตมากๆ และมองว่าอิคิไกเป็นเหตุผลของการตื่นนอนในตอนเช้า และเป็นสิ่งที่รักษาความกระตือรือร้นของชีวิตไว้ ด้วยเสาหลักห้าประการของอิคิไก คือ 1. เริ่มเล็กๆ 2. ปลดปล่อยตัวเอง 3. สอดคล้องและยั่งยืน 4. ความสุขกับสิ่งเล็กๆ และ 5. การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้

หนังสือเล่มนี้จึงว่าด้วยปรัชญาญี่ปุ่น ที่จะช่วยให้คนเราบรรลุเป้าหมาย พบความสุข สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส และมีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่น เพราะคนเราต่างมีอิคิไกได้โดยไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ถึงจะจริงที่ว่าการมีอิคิไกสามารถส่งผลให้เกิดความสำเร็จ แต่ความสำเร็จก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการมีอิคิไก เพราะมันเปิดกว้างสำหรับทุกคน รวมถึงอยู่ในสิ่งเล็กๆ รอบตัว เพียงเราต้องค่อยๆ ค้นหามันด้วยตัวเอง

“อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่” ประสบความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ ไม่ใช่ในแง่ยอดขายที่พิมพ์ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น เพราะแม้ว่าจะผ่านมา 2 ปีแล้ว ก็ยังฮิตติดชาร์ตอันดับหนังสือขายดี 10 อันดับแรกอยู่อย่างสม่ำเสมอ แถมจนถึงวันนี้ก็ยังคงมีรีวิวหนังสือ การสัมภาษณ์ผู้แปลอย่างสม่ำเสมอ แถมยังทำให้หลายสำนักพิมพ์สนใจปรัชญาชีวิตแบบญี่ปุ่น และซื้อลิขสิทธิ์มาแปลทั้งในมุมของอิคิไกเอง และแนวคิดอื่นๆ

วรรณกรรมแปลจากญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อาทิ ‘ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ’ โดย Yoru Sumino , ‘เธอและแมวตัวนั้น’ โดย Makoto Shinkai กับ Naruki Nagakawa , ‘อยากกู่ร้องบอกรักให้ก้องโลก’ โดย Kyoichi Katayama , ‘ผม แมว และการเดินทางของเรา’ โดย Hiro Arikawa , ‘โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ’ โดย Durian Sukegawa และ ‘พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน’ โดย Takafumi Nanatsuki นิยายและเรื่องสั้นเหล่านี้ อาจไม่ได้มียอดขายที่หวือหวาขนาดอิคิไก แต่ส่วนใหญ่ล้วนกลายเป็นซีรีส์และหนังดังของญี่ปุ่น ที่มีค่ายหนังไนไทยซื้อลิขสิทธิ์มาฉายเช่นกัน และเป็นฐานสำคัญที่ช่วยขยายความนิยมในงานวรรณกรรมญี่ปุ่นออกไปด้วย

นวนิยาย Young Adult ที่ซ่อนปมปริศนาดำมืดในฉากฆาตกรรมกลางโรงเรียนมัธยมอย่าง ‘บอกแล้วไงว่าไม่ได้ฆ่า’ One of Us is Lying เขียนโดย Karen M. McManus สร้างกระแส #อรอุ๋งอ่าน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก อร- พัศชนันท์ เจียจิรโชติ หรือ อร BNK48 มางานสัปดาห์หนังสือแบบส่วนตัว และก็มีแฟนคลับตาดีเห็นก่อนส่องถุงหนังสือที่อรถือ ซึ่งที่เห็นชัดๆ เลย ก็เล่มนี้ล่ะ จนเกิดแฮชแท็ก #อรอุ๋งอ่าน ขึ้นมาในงานสัปดาห์หนังสือ หลังจากนั้นก็ยาวเลย และไม่ใช่แค่โอตะเท่านั้นที่ตามอ่านด้วย

ยังมีหนังสืออีกมากมายหลายเล่ม ที่สำนักพิมพ์ทั้ง 4 ในเครือโมโน กรุ๊ป ร่วมกันสร้างขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเป็นปรากฏการณ์ของวงการหนังสือไทย ก็คือการที่หนังสือเหล่านี้ สามารถสร้างความสุขให้กับนักอ่านได้มากมาย

น่าเสียดายมาก ที่วันนี้การเดินทางของพวกเขาต้องสิ้นสุดลง เพราะถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ แล้ว หนังสือก็คงไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรได้มากมายนักในยุคนี้แต่ก็คงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านไปอีกนาน

………….

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

ขอบคุณภาพจากเพจสำนักพิมพ์ Maxx Publishing

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image