ตู้หนังสือ : โลกรู้จักอาหารไทย ไทยรู้จักอาหารไทยไหม

ครึ่งศตวรรษหลังที่ผ่านมา อาหารไทยเปลี่ยนรสชาติไปไม่น้อย ที่แน่ๆ คือ ความหวานของอาหารมากขึ้น แกงเผ็ดหลายชนิดกลายเป็นแกงหวานไปเป็นส่วนมาก จนทำให้หลายร้านต้องติดป้ายโฆษณาว่า เป็นร้านโบราณ หรือเป็นร้านที่มีรสชาติอาหารดั้งเดิมแบบโบราณขึ้นมา

แต่ที่จริงแล้ว คนชอบอาหารรสชาติเดิมที่ตัวเองคุ้นเคยมา อย่างน้อยก็ต้องมีอายุมากพอจะรู้จักรสชาติโบราณที่ว่านั้น จนโหยหารสชาติเดิมที่ปัจจุบันหาได้ยาก ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาวก็ย่อมชินรสชาติใหม่ไปแล้ว

ดังนั้น ที่ว่าโบราณนั้นต้องรู้ว่าโบราณอย่างไร หรืออาหารไทยแท้นั้น จริงๆ แล้วแท้แบบไหนต้องให้ผู้รู้บอก

เพราะอาหารก็เหมือนวัฒนธรรมทั่วไปในโลก ที่ล้วนเปลี่ยนแปรไปได้ตามกาลเวลา แม้จะสัมพันธ์สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเงื่อนไขของผู้คนชุมชนนั้นๆ หรืออาจถูกนิยามใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ที่ชวนให้น่าค้นหา ติดตามก็คือ วัฒนธรรมอาหารไม่มีผู้ใดถือสิทธิกำหนดหน้าตา รูปร่าง หรือความจริงแท้ของอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

Advertisement

“ต้นสาย ปลายจวัก” ของ กฤช เหลือลมัย จะนำผู้อ่านไปพบเรื่องราวไม่รู้จบของวัฒนธรรมอาหาร ผ่านสำรับที่คุ้นเคยหน้าตากันดี ถึงสำรับที่ประหลาดชื่อแปลกหน้าตา ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ทั้งรู้ลึกเข้าไปถึงอิทธิพลระหว่างวัฒนธรรม ความซับซ้อน ยอกย้อน ของเบื้องหลังชื่ออาหารสุดฉงน

และสารพันสูตรอาหารกับรูปแบบการปรุง ที่ผสมผสานเปลี่ยนแปลงผ่านการปะทะสังสรรค์กันของผู้คน

หนังสือเล่มนี้จึงเอร็ดอร่อย เหมือนบทสนทนาข้ามวัฒนธรรม ที่มีอาหารเป็นตัวนำทางไปอย่างโอชะ

Advertisement

จนอาจสังเกตได้ว่า วัฒนธรรมส่วนใหญ่ล้วนแตกดอกออกกอจากกันและกัน จนไม่อาจยึดความเป็นต้นสายไว้กับรากเหง้าใดรากเหง้าหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศแท้จริง

สามสิบสามสำรับหลักในหนังสือเล่มนี้ ล้วนชวนน้ำลายสอ อ่านไปท้องร้องจ๊อกๆ ไปด้วยกันแทบทั้งสิ้น

ตั้งแต่ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง ต้มยำเขมร แกงนอกหม้อ, ข้าวมัน ส้มตำไทย มาจากไหน, ผัดพริกขิง ใส่หรือไม่ใส่ขิง, ปลาเห็ด ปรอเฮ็ด และทอดมัน, ขนมจีนซาวน้ำ นามและรสอันเป็นปริศนา

แกง(หมู)เทโพบอกร่องรอยอะไร, ขนมจีน(ยี่)ปุ่นหรือเมี่ยงข้าวปุ้น, อะไรคือแกงบวน, ก๋วยเตี๋ยวเลียง

ส้มตำปลาทูย่าง อร่อยอย่างคนแม่กลอง, แกงแคไม่ใช่แกงดอกแค, ปลาร้าบอง ความหมายที่แปรเปลี่ยน

ยังมีอีกสารพัดสำรับ ก้อย มีหลายแบบ, คั่วกลิ้ง_ดากิง, ผัดฉ่า_ผัดข่า, ฉู่ฉี่, ผัดพริกใบกะเพรา ฯลฯ

แค่อ่านเอาเรื่องก็เพลินแล้ว ยิ่งมีภาพมีกลิ่นรวยรินมา ยิ่ง, อืมม___ อ่านอร่อยจนอยากเข้าครัว

…พอพูดถึงเข้าครัวก็ต้องเล่มนี้ “ครัวอิ่มอร่อย by คุณตุ๊ก” หนังสือ “โฮม คุกกิ้ง” ของ พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ สารพันเมนูฟิวชั่น คาว หวาน ทำตามได้ง่ายเพราะบอกวิธีละเอียด ประกอบภาพงดงาม

ประเภทอาหารก็ทั้งไทย นานาชาติ ฟิวชั่น อาหารเด็ก ของหวาน ให้เลือกได้ตามลิ้นและรสนิยมมากมาย

กุ้งเผายำมะยงชิด, กุ้งผัดไข่เค็ม, ทอดมันกุ้งหมึก, ยำใบชะคราม. ยำมังคุด, เห็ดหอมสอดไส้, ปูจ๋า

ฟูชิลลี่ทะเลอบชีส, ซี่โครงหมูบาร์บีคิว, อีหมี่ไก่แฮม, ผักโขมอบชีส

ยังมียำทูน่าสตรอเบอรี่, ไก่ฝรั่งแซ่บหลาย, เฟตตูชินี่สันคอหมูย่างน้ำตก, แองเจิลแฮร์ไส้อั่ว

แต่ละรายการอ่านแล้วอยากกินเดี๋ยวนั้น ยังมีของเด็ก ข้าวผัดสับปะรด, เยลลี่ผลไม้ในแตงโม, โครเกตแซลมอน, ทงคัตสึใส่กระเป๋า ของหวานก็แอปเปิลครัมเบิลเค้ก, เค้กมอคค่าคาลัวร์, เค้กมะตูมเป็นต้น

แค่อ่านก็เจริญอาหารแล้ว

…หลายคนอาจต้องการแรงใจในการเข้าครัว แม้จะชอบกิน ใฝ่ฝันว่าจะทำอาหารเป็นไม่ว่าหญิงหรือชาย ดังนั้น จึงต้องการแรงผลักดันสักเล็กน้อยจาก “ครัวสุดเก๋ากับศิษย์เก่า เลอ กอร์ดง เบลอ”

ผู้สร้างแรงผลักดันก็คือ แคทลีน ฟลินน์ นักเล่าเรื่องอาหารซึ่งนำผู้อ่านเยือนครัวชื่อก้องโลกนี้มาแล้ว

เมื่อเธอกลับสหรัฐจึงเห็นความแตกต่างในการบริโภคอาหารระหว่างอเมริกันกับฝรั่งเศสชัดเจนขึ้น จึงเปิดครัวอาสาสมัครระยะสั้น ฝึกผู้อาสา 9 รายที่ไร้ทักษะการทำครัวอย่างสิ้นเชิง ว่าจะฝึกได้สำเร็จหรือไม่

ตั้งแต่ให้ความรู้ความเข้าใจในการครัว ทักษะการใช้มีด ทำซุป ขนมปัง ปรุงอาหารจากของเหลือในตู้เย็น จนเกิดบทเรียนแสนสนุกนานาในห้องครัว ทัศนคติที่ดีต่อการปรุงอาหารกินเองจะเปลี่ยนแปลงเธอทั้ง 9 อย่างไร ผู้อ่านจะเพลิดเพลินกับสูตรเด็ดต่างๆ และอาหารอร่อยซึ่งทำกินเองได้อย่างไม่เดือดร้อนกระเป๋าตังค์

วิลาสินี เดอเบส แปลอย่างสนุกสนาน เห็นภาพอลเวงในครัวได้ชนิดน้ำลายสอ อ่านเพลินทีเดียว

…เมื่อรู้จักกิน ทำกินเองเป็น ก็ย่อมมีโอกาสออกไปกินนอกบ้านบ้างเป็นธรรมดา หนังสือที่ควรมีติดรถ ติดมือ ติดกระเป๋าเดินทางเล่มหนึ่งก็คือ “เปิดครัวร้านข้าวทั่วไทย” โดย กองบรรณาธิการข่าวสด เล่มอร่อย แนะนำร้าน จานเด็ด เมนูเด่น พร้อมทำเลที่ตั้งชัดเจนทั่วประเทศ ซึ่งสำรวจมาให้ประจักษ์ฝีมือถึงก้นครัว

ยังไม่ต้องไปไหนไกล แค่ตัวอย่างใกล้บ้าน ขาหมูนายอุ๊ พลับพลาไชย, จกโต๊ะเดียว เมืองทอง, เจ๊จรูญ ย้านโป่ง, อินทราพงษ์ เพชรบุรี, ต้นมะยม ประจวบ, เรือนริมธาร ประจวบ, ข้าวแกง 19 อย่าง เมืองกาญจน์

ก็จินตนาการล่วงหน้า ฝันหวานไปแล้ว

…แต่ถ้าจะกินมากไป หรือตามใจปากแล้วยังต้องห่วงสุขภาพ ก็นี่เลย “กินยังไงให้ดูเด็กกว่าอายุจริง” โดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพ ที่มีหนังสือดังมาแล้ว “กฎแห่งการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน” คราวนี้มากับความรู้ทางโภชนาการที่ยิ่งกินยิ่งอ่อนเยาว์ มายุโกะ คิคุจิ ซึ่งทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี

1.แค่เปลี่ยนวิธีกิน ร่างกายกับผิวพรรณก็กลับมาอ่อนเยาว์ 2.เมนูแสนง่าย ยิ่งกินหุ่นยิ่งเพรียว 3.เมนูลดจุดด่างดำ ริ้วรอย และความหย่อนคล้อย 4.เมนูขจัดปัญหาผิวพรรณและใบหน้า 5.เมนูคืนความอ่อนเยาว์ให้เส้นผมและรูปร่าง เพียง 5 บทนี้ อาหารก็แทบจะกลายเป็นยาอายุวัฒนะไปเสียแล้ว

อนิษา เกมเผ่าพันธุ์ แปลให้อ่านเข้าใจง่ายๆ ได้ประโยชน์ชัดเจน เพียง 45 เมนูง่ายๆก็กลายพันธุ์ทันที

…เมื่อทำอาหารกินได้ รู้จักประเภทอาหารที่ดี ถึงจะมีคำแนะนำรอบด้านมากสักหน่อย รู้จักของดีมีประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกหน่อย ก็ใช่ว่าจะใส่บ่าแบกหาม เพราะฉะนั้นจึงเสนอ “ลำไส้ดีชีวียืนยาว” เล่ม 2 อีกเล่มของ ไช่อิงเจี๋ย ศาสตราจารย์ทางชีวเคมีและอณูชีววิทยาแห่งไต้หวัน

เพื่อรู้จัก เข้าใจ สามารถเลือกและใช้ โพรไบโอติคส์ อย่างถูกต้อง

ไม่น้อยคนคงเคยได้ยินคำว่าโพรไบโอติคส์ แต่ยังอาจไม่เข้าใจ โพรไบโอติคส์คือจุลินทรีย์และยีสต์ ในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน เช่นที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตซึ่งวางขายกันในท้องตลาด

หนังสือเล่มนี้ชี้แจงเกี่ยวกับโพรไบโอติคส์กระจ่าง เพื่อจะรู้จักรักษาลำไส้ให้ชีวิตยืนยาวได้ไม่ยาก

ชาญ ธนประกอบ แปลให้อ่านง่าย ซึ่งหากพอใจ ก็ยังหาเล่มแรกมาอ่านเพื่อให้ชีวียิ่งยืนยาวขึ้นอีกได้

…พลาดไม่ได้ก็คือฉบับนี้ เนชั่นแนล จีโอกราฟิค ฉบับ “ปวด” เรื่องสำคัญของคนส่วนมาก เพื่อติดตามการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามไขความลับของความเจ็บปวด และค้นหาทางเยียวยา ทั้งเป็นฉบับว่าด้วยสุขภาพและนวัตกรรมการแพทย์แห่งอนาคต หาอ่านเองและเผื่อลูกหลานได้ด้วย

…สุดท้ายคือนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วยการระวังไวรัสตู่ฮั่น

ฮาไม่ออกเอานะสิ ติดเข้าไปแล้วจะรักษายังไง จะเข้าโรงพยาบาลไหน หรือต้องปรับทัศนคติไวรัสก่อน

————————————————-

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image