ตู้หนังสือ : ลิงหิน มาแปลกและน่าสนุก

ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ รวมเรื่องสั้นของนักเขียนวรรณกรรมและบทความเชิงสารคดี ภาณุ ตรัยเวช ที่ชวนอ่านเกินห้ามใจ เพราะได้นำเรื่องสั้น 11 เรื่องมาร้อยกันภายใต้ความคิด “ชีวิตกับงาน” ของนักเขียนและตัวละครสากล อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

เช่นเรื่อง “นาวาคนเขลา” ตัวละครชื่อ เฟอร์ดินันด์ มิรันดา นำมาจากบทละคร “เดอะ เทมเปสท์” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ส่วนเรื่องสั้น “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” นายอุทิศเป็นตัวละครประจำเรื่องผี ของครู เหม เวชกร และเรื่องสั้น “เรื่องที่ 11” คือนิทานเวตาล ที่เพิ่มขึ้นมาจากบทประพันธ์แปลทั้งสิบ ของ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำบุคลิกจากบุคคลจริงในแวดวงวรรณกรรม มาโลดแล่นในงานเล่มนี้ด้วย เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชวนอ่านไม่น้อยหรือ

หนังสืออีกเล่มของผู้เขียนคนเดียวกัน ซึ่งอาจพลาดสายตาไป อยากแนะนำให้อ่านคือ America First รบเถิดอรชุน คำขวัญซึ่งอยู่คู่สหรัฐมาหลายยุคหลายสมัยนับแต่ก่อตั้งประเทศ บรรพบุรุษอเมริกัน สั่งสอนลูกหลานให้มุ่งมั่นรักษาประเทศให้เป็น “อาศรมบนยอดภู” โดดเดี่ยวตัวเองจากความขัดแย้ง ของประเทศอื่นโดยเฉพาะยุโรป ทว่าความคิดนี้กลับนำมาซึ่งความแตกร้าวของคนในสังคมอเมริกันเอง

Advertisement

งานชิ้นนี้เล่าการปะทะแนวคิดของคนอเมริกันสองคน ซึ่งความคิดแตกต่างกันสิ้นเชิง หนึ่งคือนักบิน ผู้บินข้ามมหาสมุทรเป็นคนแรก ผู้สนับสนุนให้ยึดคำสอนบรรพบุรุษ ให้ความสำคัญกับการรักษาตนก่อน ส่วนอีกคนคือยอดนักเขียนบทละครเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ที่เชื่อมั่นในความเชื่อมโยงของมนุษยชาติ ว่าอเมริกันควรช่วยเหลือชาติอื่นเท่าที่สามารถ แม้ว่าจะแลกด้วยการส่งลูกหลานสู่สงครามก็ตาม

เรื่องของเครื่องจักรกลลอยฟ้า สงครามอันโหดเหี้ยม การเมืองบ้าอำนาจ มายาภาพเคลื่อนไหวได้ หญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อย วีรบุรุษขี่ม้าขาว และนักเขียนผู้ใช้ปากกาต่างอาวุธ

เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่าน

Advertisement


จากงานของนักเขียนขายดีขายได้กว่า 5 แสนเล่มในไต้หวัน ศูนย์รับฝากความเสียใ” โดย ซื่ออี แปลโดย รักสิริ ศูนย์ซึ่งไม่มีทางหาพบ หากศูนย์เองไม่ยอมให้เจอ

ความเสียใจมีไว้เพื่อให้เราถนอมปัจจุบัน การข้ามเวลาไปยังจุดเริ่มต้น ส่งความคิดกลับสู่อดีต

ณ จุดเชื่อมต่อระหว่างบนดินกับใต้ดิน มุมหนึ่งของศูนย์การค้าใต้ดินแห่งสถานีรถไฟใต้ดินไทเป อันคดเคี้ยวเหมือนเขาวงกต ความมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นเพื่อแปรน้ำตาให้เป็นความหวังอันเรืองรองขึ้นมา

จินตนาการที่จะนำผู้อ่านกลับไปสู่ความอบอุ่นของความคิดอันทรงพลัง


อีกเล่มที่น่าลิ้มลอง ไม่เป็นไรนะถ้าตอนนี้ยัง.. จากเกาหลีโดย คิมตัน แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส เพื่อผู้หลงทางในโลกความจริงอันแสนอลหม่าน สายตาที่มองเรื่องเดียวกันของเด็กกับผู้ใหญ่

หนังสือเล่มนี้จะนำเราย้อนไปในวัยที่เคยพบกับอลิซ, สโนไวท์, ฮันเซลกับเกรเทล, เจ้าชายน้อย และตัวละครอื่นๆ ในวัยฝันที่เคยเป็นเพื่อนคำนึงในความทรงจำ แต่คราวนี้เมื่อย้อนกลับไป แม้จะพบว่า ตอนจบยังเหมือนเดิม แต่ความคิดซึ่งหวนกลับไปอาจไม่พบความรู้สึกเดิมอีกแล้ว เราเห็นอะไรเพิ่มขึ้น

น่าอ่านทีเดียวเชียว

ที่จริง หากเรามีเวลาพอใคร่ครวญไตร่ตรองความคิดที่ได้จากหนังสือประเภท “คโนว์ ฮาว” เพื่อการฝึกฝนทบทวนตัวเองให้สามารถขึ้น หรือฝึกจิตให้เข้มแข็งเปี่ยมพลัง เราอาจพบว่าวิธีการเหล่านั้น เราเรียนรู้ได้จากพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง แม้แต่จะมีความคิดทางวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย

ลองดูเล่มนี้จากญี่ปุ่น ฝึกสมองไม่ให้ทุกข์ โดย โทชิโนริ คะโตะ แปลโดย กานต์มณี

ที่บอกให้เรารู้ว่า นอกเหนือเรื่องภายนอกซึ่งทำให้เรากังวลแล้ว สมองซึ่งทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ก็มีกลไกเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทุกข์ใจโดยตรง เราสามารถฝึกสมองให้เป็นทุกข์น้อยลงได้ด้วยสี่วิธีง่ายๆ

สร้างสมดุลให้สมอง, เปลี่ยนรหัสสมองที่อ่อนแอให้แข็งแรง, ย้ายความทุกข์ใจไปที่รหัสสมอง, สร้างสวิตช์ตัดความรู้สึก น่าสนใจดีไหม ลองติดตามรายละเอียดแต่ละเรื่องราวดู

อย่างแรกต้องรู้ว่า การคิดมากและความทุกข์ใจเป็นเรื่องเดียวกัน เริ่มด้วย ทุกข์ใจหายได้ถ้าเข้าใจสมอง, กลไกสมองที่เป็นบ่อเกิดความทุกข์ใจ, ใช้สมองกำจัดความทุกข์ใจ, การฝึกสมองไม่ให้ทุกข์ใจ

ลองดูว่าแนวทางวิทยาศาสตร์นี้ หากผสานกับพุทธธรรมได้จะเยี่ยมยอดแค่ไหน

เมื่อพูดกันเรื่องสมองแล้ว น่าจะแถมอีกเล่มคือ ฝึกสมองลูก 5 ปีได้ดีตลอดชีวิต จากญี่ปุ่นโดย เคน โมะงิ แปลโดย วิธารณี จงสถิตย์วัฒนา ให้รู้ว่าช่วงไหนคือเวลาสร้างรากฐานสมองให้แข็งแรง

เพราะสมองมนุษย์พัฒนาไปได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 ขวบ พ้นช่วงนี้แล้ว ร่างกายจะสร้างวงจร การหลั่งสารโดปามีนซึ่งทำให้สมองพัฒนาไม่ได้อีก หนังสือเล่มนี้จึงให้วิธีการเลี้ยงลูกเพื่อพัฒนาสมอง

ทั้งวิธีสอน วิธีเล่น ที่พ่อแม่กับลูกๆ ทำกันเองได้ง่ายๆ ทุกวัน น่าเอาใจใส่อย่างยิ่ง

นิตยสารการเมืองน่าสนุกประจำบ้าน มติชนสุดสัปดาห์ เข้มข้นด้วยแนวที่ 2 รหัสลับพินอคคิโอ อ่านกระแสคัดค้านยุบพรรคอนาคตใหม่ เสียงสะท้อนปัญญาชนชั้นนำ เปิดหน้าชน, บทบาทธนาธร การปักธงทางความคิด, เปิด 3 แนวคดียุบพรรค ออกทางไหนก็หนัก หากโดนยุบจริงเจอคดีอาญาซ้ำ

กับการปะทะกันสนั่นเว็บ ยุบไม่ยุบอนาคตใหม่ อีกสนามสันทนาการความคิดการเมืองไทยแบบไทยๆ

โค้งสุดท้ายอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใครตัวจริงตัวประกอบ กับชะตากรรม คสช. ปัญหาไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบทั่วประเทศ ไปเกาหลีดูการจัดการเขตพิเศษของการสู้ไวรัส

และพลาดไม่ได้คือบทสนทนากับกฤษณา อโศกสิน นักเขียนข้ามยุค กาแฟดำ

เป็นอีกสัปดาห์สำหรับการอ่านและนักอ่านทั้งหลาย

—————————————————————————–

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image