เจอถาม มีประโยชน์อะไรที่จะแปลหนังสืออาเซียน ขณะเกิดโรคระบาด ฟังคำตอบจากมกุฏ อรฤดี

จากข่าวกระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการแปลหนังสือ วรรณคดีและวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียนเป็นภาษาไทย โดยจะคัดต้นฉบับจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 50 เล่มมาแปล การนี้มี มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นประธานโครงการฯ ก็ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่ามีประโยชน์อะไรในการที่จะแปลหนังสืออาเซียน ขณะที่เกิดโรคระบาด

และนี่คือข้อความที่ประธานโครงการ มกุฏ อรฤดี ตอบไว้ใน Makut Onrudee

‘มีคนส่งข้อความสั้นๆ มาว่า
“ขอถามแรงๆ – มีประโยชน์อะไรที่คุณคิด
กับกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องแปลหนังสือ
ของชาติอาเซียน ขณะที่เกิดโรคระบาด”

Advertisement

แม้จะถามแรงๆ แต่ผมขอตอบเบาๆ ว่า
เมื่อคนหิวข้าว อดข้าว ไม่มีข้าวกิน
อาจนึก และคิดได้หลายวิธี เช่น
นึกถึงข้าวสักจาน สักห่อ สำเร็จรูป ได้กินทันที
ลางคนอาจนึกถึงครัว เข้าไปหา ไปหุง
ลางคนนึกถึงข้าวสาร อ้าว! ข้าวสารก็ไม่มี
แต่ลางคนคิดว่าจะปลูกข้าวให้คนอื่นได้กินด้วย
อย่างทั่วถึงและยาวนาน มิใช่เฉพาะหน้า

ที่จริงโครงการแปลวรรณกรรมอาเซียน
คิดมาก่อนจะเกิดโรคระบาดนานนับปี
เพียงติดต่อทาบทามผู้รู้ที่จะมาช่วยกันทำงาน
ให้ได้ความสมัครใจก็นานเกือบครึ่งปี
กระทั่งเมื่อเดือนมกราคม โครงการจึงเรียบร้อย
จะแถลงข่าวในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
ก็ต้องงดไป ด้วยไม่อยากมีปัญหาระบาดโรค

คำตอบเบาๆ ของคำถามแรงๆ ก็คือว่า
เมื่อโครงการนี้ดำเนินไปในระหว่างโรคระบาด
ครั้นสิ้นโรคระบาดก็คงพอดีกับเวลาสำคัญ
คือ ได้ต้นฉบับแจกจ่ายแก่สำนักพิมพ์ทั้งหลาย
ที่ประสงค์จะพิมพ์หนังสือในโครงการนี้
โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ไม่ต้องจ่ายค่าแปล
ไม่ต้องเสียค่าบรรณาธิการต้นฉบับแปล
กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น
ไม่ต้องรอไปอีกเป็นปีสองปี หรือไม่มีเลย
โครงการนี้มีรายชื่อหนังสือมากกว่า ๔๕๐ เล่ม
ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศเป็นผู้คัดสรร
และเพิ่มเติมได้อีกตามความเห็นของคนไทย
ถ้ามีประโยชน์และใช้ประโยชน์เป็น
ก็คงอยู่ไปได้หลายชั่วอายุคน

Advertisement

และเมื่อสำนักพิมพ์ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่
ราคาหนังสือก็ย่อมถูกลง ร้านหนังสือก็ขายง่าย
คนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้
นับตั้งแต่ขณะมีไวรัสโคโรนาระบาด คือ
นักแปล บรรณาธิการต้นฉบับแปล ฝ่ายลิขสิทธิ์
และถัดไปคือ สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านขายหนังสือ
นี่ไม่พูดถึงอาชีพที่เกี่ยวข้อง ห้องสมุดและคนอ่าน
รวมทั้งประโยชน์อื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะมี

เมื่อเราหิวข้าว เราอาจถามหาข้าวทั้งจาน
ถามหาข้าวและกับข้าว หรือถามหาข้าวสาร
แต่คนบางพวก ต้องคิดปลูกข้าว
เพื่อให้ทุกคนได้แบ่งกันกินตามจำเป็น ต้องการ
การปลูกข้าวในภาวะคับขันที่คนถามหาจานข้าว
เราอาจเรียกว่า ‘วิสัยทัศน์’ ก็ได้ มิใช่ ‘ทัศนคติ’’

 

 

ขอบคุณ Makut Onrudee

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image