เดินไปในเงาฝัน : ประวัติศาสตร์ซ่อนเร้น : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

หากนับจากวันพุธที่ 25 มีนาคม จนถึงวันนี้คือวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2563 การเดินทางของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 ในรูปแบบของเมืองหนังสือออนไลน์ก็ได้ผ่านมาถึง 5 วันแล้ว
เป็น 5 วันที่ผมไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ว่ากว่า 200 สำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือผ่านเว็บไซต์นั้น ยอดขายเป็นอย่างไรกันบ้าง
ขายดีหรือไม่

หรือขายไม่ได้เลย

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี ตอนนี้ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำให้ทุกๆ อุตสาหกรรมพังพินาศ หากทุกๆ หน่วยย่อยของธุรกิจชุมชนก็ต่างเจ๊งไม่แพ้กัน

ยิ่งเมื่อมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาควบคุมอีก ก็ยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบชะงักงันมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้น ทุกคนก็เข้าใจ และพร้อมจะทำตามข้อกฎหมาย เพื่อรอให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น

Advertisement

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

แต่ในฐานะของคนทำงานหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าว งานพิมพ์ต่างๆ คงต้องดำเนินกันต่อไป ทั้งในรูปแบบของสื่อกระดาษ และสื่อออนไลน์

พูดง่ายๆ เราทำงานขนานคู่ขนานกันไปทั้งสองส่วน

Advertisement

ขณะที่สำนักพิมพ์มติชนเองก็จะผลิตสื่อในรูปแบบของพ็อคเก็ตบุ๊ก ซึ่งปีนี้เราร่วมหัวจมท้ายกับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 200 สำนักพิมพ์

เพื่อนำพ็อคเก็ตบุ๊กของตัวเองมาขายผ่านโลกออนไลน์

สำหรับปีนี้สำนักพิมพ์มติชนใช้ธีมคอนเซ็ปต์ว่า…Book Wonder # อยู่บ้านอ่านหนังสือ

ด้วยการเชิญชวนแฟนานุแฟนมาช้อปหนังสือที่ www.matichonbook.com ในราคาส่วนลดสูงสุดถึง 25% ทั้งในส่วนของหนังสือใหม่ และหนังสือในเครือทั้งหมด

ซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยปก

และหลากหลายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์,สังคมการเมือง,ธุรกิจ,วิทยาศาสตร์,ฮาวทู และอื่นๆ อีกมากมาย ดังที่เคยแนะนำไปเมื่อฉบับที่แล้ว

สำหรับฉบับนี้ผมจึงอยากแนะนำหนังสือใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือไฮไลต์เพิ่มเติมอีก 2 เล่มด้วยกันคือ

หนึ่ง สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม ซึ่งมี ไกรฤกษ์ นานา เป็นผู้เขียน

หนึ่ง สยามเยนเติลแมน ซึ่งมี สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ เป็นผู้เขียน

กล่าวสำหรับหนังสือเรื่อง “สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม” โดยอ้างถึงคำนำบางส่วนของ ไกรฤกษ์ ซึ่งเขาเขียนถึงหัวใจของหนังสือเล่มนี้ว่า…การเข้ามาของชาติตะวันตก ทำให้สยามรัฐเริ่มตื่นตัวที่จะปกป้องดินแดนของตนเอง เหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นก่อนมีแผนที่ฉบับแรก ทำให้สยามต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการตลอดรัชกาลที่ 5

“เพราะความรู้น้อย ชาวสยามจึงตกเป็นเบี้ยล่างของชาวตะวันตกเรื่อยมา แต่รัฐบาลสยามก็ขวนขวายที่จะรักษาเอกราช และอธิปไตยเอาไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด แม้จะต้องเสียดินแดนไปบ้างก็จำต้องยอม

“ตำแหน่งแสดงที่ตั้งของสยามรัฐถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนบนแผนที่ในรูปแบบต่างๆ โดยชาวตะวันตก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

“แผนที่เหล่านี้ปรากฏอยู่บนสิ่งพิมพ์อันงดงามที่คนทั่วไปเก็บไว้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งแฝงมากับเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ของชาวยุโรป มีทั้งหนังสือพิมพ์ ไปรษณียบัตร สื่อโฆษณา หรือแม้แต่บัตรที่ระลึกแถมมาในกล่องบุหรี่ หรือช็อกโกแลต แต่แผนที่เหล่านี้กลับถูกนักวิชาการมองข้าม”

นอกจากนั้น ไกรฤกษ์ ยังเขียนถึงฝรั่งเศสเชิงตั้งคำถามว่าได้ใช้แผนที่อ้างแผ่นดินของใครเมื่อ ร.ศ.112 โดยมีความตอนหนึ่งบอกว่า…แผนที่โบราณที่ชาวยุโรปอุปมาขึ้น สนับสนุนด้วยความรู้จากนักวิชาการฝรั่งเศสค้นคว้าสืบค้นมาได้กลายเป็นดาบสองคม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ และสร้างกระแสให้ดูน่าเชื่อถือกว่าสัญญาใจอันเลื่อนลอยที่มิอาจพิสูจน์ความชอบธรรมใดๆ ได้

“แผนที่จึงนับเป็นไม้ตายในสงครามแย่งชิงมวลชนที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว และเป็นสิ่งกดดันให้ฝ่ายไทยจำต้องเร่งรัดจัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นเองบ้าง ตามหลักวิชาการสมัยใหม่ อันเป็นการยืนยันว่าเรายังเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามอยู่อีกมาก และเป็นอุทาหรณ์ทางประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่เรามิอาจลืมเลือนได้”

รายละเอียดของหนังสือเล่มนี้มีอีกมาก

ต้องลองไปหาอ่านดู

ส่วนอีกเรื่อง “สยามเยนเติลแมน” หนังสือเล่มนี้เดิมทีเคยเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดี และวรรณคดีเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง “สุภาพบุรุษ” ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวรรณกรรมศรีบูรพา

ซึ่งมี “สหะโรจน์” เป็นผู้เขียน ทั้งเขายังบอกกล่าวถึงภูมิหลังของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า…ภูมิหลังที่ต้องอธิบายคือหัวข้อวิทยานิพนธ์เกิดขึ้นมาจากความสงสัยใคร่รู้ว่าความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษเป็นอย่างไร

“เพราะในวรรณคดีไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการนำเสนอภาพแทนความเป็นชายที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นความเป็นชายแบบเก่า แล้วความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษในสังคมไทยเริ่มต้นเมื่อใด”

กระทั่งเขาค้นพบคำตอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่บอกว่า…ความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษถูกนำเสนอจากชนชั้นสูง ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์ของพระองค์ที่นำเสนอให้เห็นถึงความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษไว้ และมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านคือสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับช่วงที่ชนชั้นกลางมีบทบาท โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนคณะสุภาพบุรุษ ซึ่งมีกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพาเป็นผู้นำ”

กล่าวกันว่าความสงสัยของ สหะโรจน์ จึงทำให้เกิดความสนใจ กระทั่งผันแปรมาเป็นวิทยานิพนธ์ และมาเป็นหนังสือเล่มในที่สุด

ดังนั้น ถ้าจะมองภาพของ “สยามเยนเติลแมน” ในมุมของการเปรียบเทียบเรื่องการเป็น “สุภาพบุรุษ” ให้ชัดมากยิ่งขึ้น สหะโรจน์ จึงอธิบายว่า…ขณะที่พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมุ่งนำเสนอภาพความเป็นสุภาพบุรุษที่เป็นผู้นำในบทบาทของผู้บังคับบัญชา

“แต่วรรณกรรมของศรีบูรพากลับไม่กล่าวถึงการแสดงลักษณะความเป็นสุภาพบุรุษในบทบาทดังกล่าวเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะศรีบูรพาให้ความสำคัญต่อความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษที่ออกมาจากพฤติกรรมของผู้ชายที่ไม่ใช้ขุนนางหรือผู้ที่มีอำนาจ

“อันไปสอดรับกับแนวคิดในวรรณกรรมของศรีบูรพาที่มุ่งให้ความสำคัญต่อสามัญชน และวิพากษ์ชนชั้นสูง และชนชั้นขุนนาง ดังนั้น บทบาทผู้นำที่แสดงถึงความเป็นสุภาพบุรุษในวรรณกรรมของศรีบูรพา จึงมักปรากฏในบทบาทของสามี,คู่รัก,เพื่อน และคู่แข่งเท่านั้น”

อันเป็นตัวละครหลายคนในงานวรรณกรรมของเขา

พูดง่ายๆ เรื่องนี้ก็สนุกไปอีกแบบ

ผมจึงอยากเชิญชวนแฟนานุแฟนลองเข้าเลือกซื้อหนังสือทั้งสองเล่มมาอ่านดู รับรองคุณจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนเร้นอย่างน่าสนใจทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image