อู่ฮั่นสู้สู้ อย่าประมาทให้มีระลอกที่ 2

อู่ฮั่นสู้สู้ อย่าประมาทให้มีระลอกที่ 2

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ประกาศเป็นทางการ และผู้เสียชีวิต จะลดปริมาณลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เนื่องจากข่าวสารการคลายมาตรการของประเทศต่างๆ แสดงชัดเจนแล้วว่า การติดเชื้อระลอกที่สองเกิดขึ้นได้ทันที และดูจะแผ่ขยายกว้างขวางพอๆกัน หรือยิ่งกว่าระลอกแรก ตัวอย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้าน และหลายประเทศในยุโรป

อีกประการ เราไม่ได้ตรวจปูพรมอย่างไม่จำกัดอาณาบริเวณ เช่นเยอรมัน ซึ่งพบผู้ป่วยมากแต่ต้น แต่ใช้มาตรการจำกัดพื้นที่ รักษาระยะห่าง และห้ามการชุมนุม ซึ่งได้ผลน่าพอใจกระนั้นยังแน่ใจไม่ได้เต็มที่ จึงยังต้องคงข้อจำกัดไว้เป็นระยะ ขณะเดียวก็นับเวลาไปคราวละ 14 วัน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้นานา

ดังนั้น แม้จะผ่อนคลายสถานการณ์ไปบ้าง ทุกคนจึงต้องคำนึงถึง นิว นอร์มอล (New Normal) ความปรกติใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิต ที่วางเป็นบรรทัดฐานในช่วงแรก ของการกลับสู่สังคมอีกครั้ง

นั่นคือ ช่วงต้นนี้ ยังต้องระวังกับการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างระหว่างคนกับคน และเลี่ยงชุมนุมชน การล้างมือและทำความสะอาดร่างกายยังจำเป็นยิ่งยวด อย่าเผอเรอไป นี่คือส่วนหนึ่งของนิว นอร์มอลที่ว่า

Advertisement

ส่วนการปรับแปลงอื่นๆ เช่น รูปแบบการทำงาน การจับจ่าย การพบปะ ฯลฯ ก็อาจเปลี่ยนรูปไป

ระวัง อย่าประมาทให้เกิดระลอกที่ 2 ขึ้นได้ก็แล้วกัน

เพราะตอนนี้ยังมีข้อสังเกตุว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคปอดช่วงนี้ ที่ไม่ได้กักตัวหรือไม่ได้กำลังรักษาโรคโควิด มีอยู่มากน้อยแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ผ่านการตรวหรือเปล่า

Advertisement

ดังนั้น เพื่อทันเหตุการณ์ข่าวสารวันนี้ อยู่บ้านอ่านหนังสือจึงเสนอหนังสือจากเมืองจีนซึ่งทันกาลที่สุด

อู่ฮั่นสู้สู้ : บันทึกวิกฤตปิดเมืองต้านโควิด19 แปลโดย นรา สุภัคโรจน์

นี่คือบันทึกของชาวเมือง แพทย์ พยาบาล คนงานก่อสร้าง นักออกแบบ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร คนขับรถ คนกวาดถนน พนักงานส่งของ ผู้ป่วย ญาติพี่น้องผู้ป่วย สื่อมวลชน เพื่อนชาวต่างชาติ ผู้นำต่างๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจขยับทุกองคาพยพของสังคมไปพร้อมเพรียงกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

ก่อให้เกิดพลังอันไร้ขีดจำกัด นำพาสังคมบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จโดยไม่มีแบบอย่างใดมาเสมอเหมือน เพราะไวรัสโควิดเพิ่งระบาดเป็นครั้งแรก และมีความรุนแรงมากกว่าการระบาดครั้งใดๆ

เนื่องจากมีแต่ยอมรับความจริง ตัดสินใจเฉียบขาด และพร้อมใจกัน จึงจะรอดและหยุดโรคร้ายนี้ได้

เพียงเดือนเศษหลังประกาศปิดเมือง บัดนี้ อู่ฮั่นที่เป้นต้นตอโรคระบาดใหญ่กลับมาเปิดอีกครั้ง ผู้คนเปิดผ้าปิดปาก ถอดแว่น กลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ขณะที่ทุกหัวระแหงในโลกยังเผชิญภัยคุกคามนี้อย่างน่าหวาดวิตก เช่นเดียวกับบ้านเราที่ยังตรึงสถานการณ์

หนังสือเล่มนี้เปี่ยมข้อมูลการต่อสู้จากทุกส่วนของสังคม มากไปด้วยทางออก แสงสว่าง กำลังใจ และสามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้กำลังผจญโรคร้ายนี้ ให้ก้าวผ่านและรอดไปด้วยกัน

นอกจากเนื้อหาทันเหตุการณ์แล้ว ผู้อ่านยังได้ชมภาพ 4 สีจุใจทั้งเล่ม ตรงตามต้นฉบับทุกประการ

หาอ่านเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่ให้ความคิดตอนนี้ได้ เยี่ยมจริงๆ

อู่ฮั่นสู้สู้

๐ นิตยสารฉบับพิเศษ ชีวจิต โควิด19 ชีวิตต้องรอด เราจะรอดไปด้วยกัน ตรวจเส้นทางระบาดของโควิด, อ่านวิธีเพื่มภูมิชีวิตแบบชีวจิต, หน้ากาก เจลล้างมือ ทำได้ง่ายด้วยตัวเอง สบายกระเป๋า, จิบ 10 ชาสมุนไพร เสริมสุขภาพ กับสมุนไพรมีฤทธิ์สยบไวรัสที่ต้องปลูก, ออกกำลังล้างพิษปอดสู้โควิด ท้ายสุดคำถามต้องรู้สู้โควิด จากแพทย์ชั้นนำของประเทศ

ยามนี้ รู้เรื่องที่เป็นประโยชน์ไว้ไม่เสียหลาย

25 เรื่องเล่าก่อนตายของบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์โลก End of the road ฉากสุดท้ายของชีวิต ความเรียงคัดสรรจากเว๊บเดอะ แมทเทอร์ (The Matter) โดย โตมร ศุขปรีชา นักเล่าเรื่องและบรรณาธิการ ที่ชวนสำรวจชีวิตยามสุดท้ายของบรรดาผู้จากไป หากเรื่องราวยังควรค่ารับรู้

ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จอบส์, นีล อาร์มสตรอง, ชาร์ลี แชปลิน, แอนดี้ วอร์ฮอล, นิโคลา เทสลา, ชาร์ลส์ แมนสัน, ดอริส เดย์, ฮีธ เลดเจอร์ และย้อนกลับไปถึง เพลโต

ยังมี คริส เบนวา เรื่องเศร้าของนักมวยปล้ำ, คิม อิล ซอง มนุษย์ผู้ตายสองครั้ง, คาร์โล เออร์บานี หมอผู้ยอมตายกับโรคร้าย, ซาโตรุ อิวาดะ ความสนุกในชีวิตของเกมเมอร์ กับกรัมปี้แคท แมวหน้าบึ้ง

น่ารู้ และอ่านเพลิน

๐ ยุคสมัยที่มนุษย์กลายพันธุ์อยู่ร่วมสังคม นักรบต่างดาวแปลงร่างเป็นรถ และผู้คนต้งอาศัยซูเปอร์ ฮีโร่ช่วยปกป้องโลก หากชวนคุยเรื่องวรรณคดีไทย ดูจะผิดวิกผิดจอไปหรือเปล่า มิใช่แน่นอน เพราะยังมี “ยูทูบเบอร์” ที่ทำให้คนไทยสนใจติดตามเรื่องราวในวรรณตดีอยู่ได้ น้อยเสียเมื่อไหร่

วรรณคดีไทยไดเจสท์ ช่วยย่อยโดย ชนัญญา เตชจักรเสมา ซึ่งมีผู้รอคอยชมหน้าจอมากมาย นำวรรณคดีมาย่อยเอาเรื่องแสบๆแซ่บๆมาเล่าให้คาดไม่ถึง ว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่ด้วยหรือ น้อยไปล่ะสิ

ใครเคยได้ยินเรื่องสุดสยองในวรรณคดีบ้าง, รู้จักตัวละครที่เกิดอย่างสุดอนาถ, 5 อันดับนางในวรรณคดีที่สุดปากจัด, 4 เหตุผลที่ทำให้หนุ่มๆในวรรณคดีหันมาแต่งหญิง ฮะฮ้า, ทศกัณฐ์รักนางสีดามากกว่าจริงหรือ, พระลักษณ์อ่อนจริงหรือคิดกันไปเอง ฯลฯ

ใครอยากเห็นการเรียกร้องหาผัวจากนางในวรรณคดีที่เรียบร้อยอย่างกับผ้าพับ หรืออยากได้ยินการด่าพ่อล่อแม่กันอย่างสาดเสียเทเสียของตัวละครในวรรณคดี ที่คนเดี๋ยวนี้ยังหน้าชา ต้องหาอ่านให้ได้แล้ว เจ้าประคุณ

ครั้งพระเจ้าบุเรงนองยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปี 2112 ได้นำพระมหินทราธิราช ผู้สู้ศึกอย่างแข็งขันจนพม่าต้องใช้กลไส้ศึกเอาชนะ และพระบรมวงศานุวงศ์ กับขุนนางน้อยใหญ่ กลับหงสาวดีด้วย แต่พระมหินทร์ทรงประชวรและสวรรคตระหว่างทาง

ครั้นพระเจ้ามังระยกทัมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ได้อัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หรือพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงดอกมะเดื่อ หรือขุนหลวงประดู่ทรงธรรม หรือขุนหลวงหาวัด ไปยังรัตนปุระอังวะ และอมรปุระเมืองหลวงใหม่ที่ย้ายมาจากอังว และประทับที่นั่นถึงกว่า 30 พรรษา จนสิ้นพระชนม์ พระราชประวัติหลังเสียกรุงนี้ มิได้เป็นที่รู้ที่เรียนกันสักเท่าใด

อาจารย์ ศานติ ภักดีคำ จึงได้ค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นเพื่อการศึกษา ด้วยหลักฐานที่ปรากฏและหลักฐานฝ่ายพม่า เพื่อเห็นภาพพระองค์ที่ทรงอยู่ในสมณเพศแม้ในต่างแดน กระทั่งสวรรคตและถวายพระเพลิงพระศพ จนวันนี้ ได้กลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไทยไปเยี่ยมเยือน

พระมหากษัตริย์ก่อนพระองค์สุดท้ายแห่งอยุธยา ที่สึกหาลาเพศมาขัดตาทัพพม่าแทนพระเชษฐา แต่ท้ายที่สุดยังต้องภัยสงครามไปตกระกำไกลบ้าน เป็นชีวิตที่ต้องศึกษาทำความรู้จักและเข้าใจ

หนังสือการ์ตูนชุด “เอาชีวิตรอด” จากนั่นจากนี่ ของ กอมโดริ คัมปานี (Gomdori co.) เกาหลี ถูกนำมาแปลไทยเป็นที่รู้จักมายาวนานหลายชุด ให้เหมาะกับยุคตอนนี้ที่เด็กๆต้องเรียนรู้อย่างชำนาญก็คือ

เอาชีวิตรอดในโลก AIเล่ม 1 แปลโดย นันทพัทธ์ อานันท์ธจักร์ ดูมนุษย์ต่อสู้ปัญญาประดิษฐ์ เมื่อเด็กน้อยไปเที่ยวสวนสนุกปัญญาประดิษฐ์เปิดใหม่ ก็ได้พบเด็กหญิงผู้ชื่นชอบหุ่นยนต์กับเด็กชายอัจฉริยะ เด็กทั้งสามตื่นตาตื่นใจกับวิทยาการล้ำยุค กระจกอัจฉริยะ บ้านอัจฉริยะ รถไร้คนขับ อินเตอร์เนทของทุกสิ่ง จนเข้าไปในห้องทดสอบลับและถูกกักขังโดยหุ่นยนต์ปริศนา จะออกมาได้ต้องเอาชนะหุ่นยนต์ตนนั้น

การ์ตูนจะสอดแทรกเรื่องปัญญาประดิษฐ์ตลอดเรื่อง ส่วนหน้าความรู้ก็จะอธิบายเนื้อหาอย่างละเอียด

ไม่เพียงเด็กๆสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็อ่านเอาเรื่องเข้าใจด้วยได้

นิตยสารเลื่องชื่อของโลกฉบับภาษาไทย เนชั่นแนล จีออกราฟิก ฉบับพิเศษ 50 ปีวันคุ้มครองโลกอ่าน 2 ความเป็นไปได้ของโลกในปี 2070 ว่า เราสูญสียโลกไปได้อย่างไร หรือเรารักษาโลกไว้ได้อย่างไร และกว่าจะมาเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เราสูญเสียอะไรไปและต้องรักษาอะไรไว้ กับเรื่องเมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคต

นิตยสารที่ภาพงดงาม แต่เนื้อหาเข้มข้น ลำดับภาพและเรื่องแต่ละทศวรรษกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิด ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (2513) ที่ยังมีประชากรโลกเพียง 3,700 ล้านคน ผ่านทศวรรษ 1990 (2533) ที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น 5,300 ล้านคน จนปี 2000 (2543)​ ซึ่งประชากรโลกล้นหลามถึง 6,100ล้านคน

โลกใบนี้จะบ่ายโฉมไปทางไหน ใครจะช่วยโลกมิให้วินาศหายนะได้ ถ้ามิใช่พลโลกด้วยกันเอง อ่านดู

๐ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ECO วิด ปัจจัยเศรษฐกิจชี้ขาดรัฐบาลตู่ เดือนพฤษภาคมโกลาหล โควิดยืดเยื้อ คลายล็อคทำสับสน ชาวบ้านแบกรับ

อ่านผ่าแผนอุ้มครั้งสุดท้าย ฟื้นฟูการบินไทย คลังลดถือหุ้น ยุบสหภาพ, คุยกับประธาน สนท. นิสิตนักศึกษาทำอะไรได้มากกว่าตั้งใจเรียนหนังสือ, ตะเพิดรัฐมนตรีสายตรง ปิดจ๊อบ พปชร. ร้าว, รายงานพิเศษ “กองทุนสุขภาพตำบล” เครื่องมือกระจายอำนาจสำคัญที่ทำให้ระบบสาธารณสุขแข็งแกร่ง

วิกฤตินิเวศ สงครามกับการระงับสงคราม, บทบาทของปรัชญาและศาสนาต่อโรคโควิด ฯลฯ

อยู่บ้านอ่านหนังสือ ออกนอกบ้านอย่าลืม “นิว นอร์มอล” อย่าเผลอ อย่าประมาท

———————

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image