ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น…ความมุ่งมั่นในสังคมชายเป็นใหญ่

ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น…ความมุ่งมั่นในสังคมชายเป็นใหญ่

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะสามารถแทรกผู้ชายขึ้นมาสู่สถานะของผู้นำได้ในสังคมญี่ปุ่น

โครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย เป็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในหลายสังคมของเอเชียมาอย่างยาวนาน แม้แต่ในสังคมไทยเองก็ยังเห็นเป็นเงาอยู่ในหลายส่วน รากฐานแนวคิดของสังคมในเอเชียบางส่วน มาจากแนวคิดขงจื๊อที่ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ สังคมญี่ปุ่นก็เช่นกัน ตั้งแต่โบราณหน้าที่ของผู้หญิงคือต้องดูแล ปรนนิบัติสามีและครอบครัว ต้องมีลูกชายสืบทอดสกุล หากมีลูกสาวถือเป็นความผิดของผู้หญิง แม้เวลาล่วงผ่านมาหลายร้อยปี แต่รากฐานแนวคิดที่ผู้หญิงต้องถูกกดทับแบบนี้ก็ยังคงอยู่

หลายครั้งที่เราเห็นข่าวเกี่ยวกับการถูกกดทับทางเพศ แม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นภายใต้ธรรมเนียมอนุรักษ์นิยม ยูจิ โอตาเบะ ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ญี่ปุ่น มองว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมปิตาธิปไตย ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ผู้หญิงถูกกดดันให้มีพระประสูติกาลพระโอรส
หรือแม้แต่ในการ์ตูนเรื่องโปรดของเราอย่าง “อั๊กเกรทซูโกะ” (Aggretsuko) ที่สร้างโดย ซานริโอ และฉายใน Netflix คาแรคเตอร์ของตัวละครคือแพนด้าสุดน่ารัก เรตซูโกะ ที่ถูกวางไว้เป็นสาวออฟฟิศวัยทำงานที่ต้องเจอกับสภาวะกดดันต่างๆ

หลังเลิกงาน งานอดิเรกหลังเลิกงานของเรตสึโกะ คือการร้องเพลงเมทัลสุดโหดที่ร้านคาราโอเกะ เพื่อระบายความเหนื่อยล้าที่นอกจากทางกายแล้ว ความเหนื่อยล้าทางใจก็มาคู่กัน และหนึ่งในความเหนื่อยล้าของสาวแพนด้าผู้สงบเสงี่ยมเรียบร้อยในเวลาทำงาน คือการถูกโขกสับจากหัวหน้างานที่เป็นผู้ชายที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่มาก และการเหยียดเพศ

Advertisement

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจะสามารถแหวกม่านขนบธรรมเนีบมประเพณีที่ถูกกดทับทางเพศไว้ ไม่ว่าเธอจะเก่งมากแค่ไหนก็ตาม

“ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น” โดย พิชชารัศมิ์ คือหนังสือเล่มที่เปิดมุมมองของเรา ให้เห็นถึงวิถีของผู้หญิงญี่ปุ่นที่พยายามและมุ่งมั่นทั้งในแง่ของธุรกิจและวิถีชีวิตจนก้าวสู่ความสำเร็จในที่สุด

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้หญิง ที่สามารถก้าวข้ามกรอบทางสังคม ที่วางบทบาทเพียงให้แม่และเป็นภรรยาที่ดี จนประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจที่มีการแข่งขันลำดับต้นๆของโลก จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา และต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายนอกภายใน โดยเฉพาะจิตใจที่เข้มแข็ง

Advertisement

จากการสำรวจของ World Economic Forum ปี 2019 ญี่ปุ่นติดอันดับท้ายๆ ในเรื่องของความเสมอภาค โดยได้อันดับที่ 121 จาก 153 ประเทศทั่วโลก ถือว่าต่ำที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว และอัตราค่าจ้างระหว่างผู้ชายผู้หญิงก็ต่างกันถึง 24.5%

“ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น” เลือกกรณีศึกษาของผู้หญิง 14 คนที่แบ่งบทบาทในรูปแบบต่างๆกันไป ทั้งสร้างธุรกิจพันล้านด้วยสองมือ, ใช้ใจและไฟในการทำงาน, สร้างโอกาสด้วยสายตาผู้หญิง, พิลกฟื้นกิจการครอบครัว, ฝ่ากระแสสังคม, อายุไม่ใช่อุปสรรค ซึ่งทุกคนมีวิธีคิด วิธีทำงานที่น่าสนใจมากๆ

โยชิโกะ ชิโนฮาระ คือผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางาน Temp Holdings เธอคือสาวออฟฟิศธรรมดาที่กลายเป็นนักธุรกิจพันล้าน เธอเริ่มงานด้วยแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงน่าจะทำงานและเลี้ยงลูกควบคู่กันไปได้ ซึ่งปัจจัยให้สำเร็จเพราะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมญี่ปุ่นในสมัยนั้น และปรับตัวหลายครั้งเพื่อให้ธุรกิจเติบโต โดยมีเคล็ดลับความสำเร็จหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งกล้าที่จะเสี่ยง ไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นอันดับแรก และการยึดหลัก “ทฤษฎีปูเสฉวน” คือ “การเกิดแบบเล็กๆ” กระดองปูมีขนาดเหมาะสมกับช่วงชีวิตของปูเสมอ ปูเสฉวนจะเลือกเปลือกหอยขนาดที่พอดีกับตัวเมื่อโตขึ้นจนคับเปลือกหอยที่อาศัยอยู่ ก็จะสละเปลือกหอยเดิมและเปลี่ยนไปหาอันใหม่ที่ขนาดพอดี

ชิกะ สึโนดะ นำหลักเศรษฐกิจแบ่งปันสู่การสร้างงานสร้างคน ด้วยแอพพลิเคชั่น Anytimes จ้างผู้ช่วยทำงานชั่วคราว ข้อเตือนใจหนึ่งที่เธอมีคือ “วิตกกังวลให้น้อยลง ลงมือทำให้มากขึ้น” การเริ่มทำธุรกิจเป็นสิ่งยากมาก ยิ่งกับคนไม่มีประสบการณ์ยิ่งยาก เธอบอกว่า “ถ้าทุกคนเห็นด้วยและสนับสนุนทุกๆไอเดียทางธุรกิจของคุณ โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย นั่นสิถึงจะน่าวิตกกังวล แต่ถ้าคนอื่นๆท้าทายไอเดียของคุณ นั่นอาจหมายความว่า ธุรกิจของคุณอาจมีแนวคิดที่ยอดเยี่ยม”

ส่วนตัวแล้วคิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกคนที่กำลังเริ่มต้นทำ หรือกำลังทำสิ่งใหม่ๆ ในโลกใหม่ๆ ที่ตัวเองแทบไม่เคยทำมาก่อน ไม่ใช่แค่ผู้หญิง

ความคิดที่ตกผลึกจากประสบการณ์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตของแต่ละคน กลายเป็นสิ่งล้ำค่า
และทำให้ “ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น” กลายเป็นเล่มที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือไม่ก็ตาม

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image