When We Vote ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร

When We Vote ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร

ขณะการเมืองการเลือกตั้งของไทยก้าวถอยหลังและชะงักงัน เพราะการครองอำนาจของเผด็จการ การเมืองการเลือกตั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สามประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในอุษาคเนย์ กลับเปลี่ยนแปลงอย่างสูงในเงื่อนไขที่ต่างกัน ราวกับจะยืนยันให้เห็นความเป็นไปได้และคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้หยุดนิ่งและถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มเดิมจำนวนน้อยอีกต่อไป

ปราศจากการเรียนรู้จากสังคมอื่น ก็ยากที่เราจะเข้าใจประเทศของตัวเองอย่างถ่องแท้ และหากปราศจากการย้อนกลับไปมองที่มาที่ไปในอดีต ก็ยากที่เราจะเข้าใจสภาพปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน

มาร่วมวงสนทนากันถึงแนวทางการศึกษาแบบสถาบันนิยม ทฤษฎีการสร้างประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยเข้าไปสำรวจความเป็นจริงในพื้นที่ ฟังข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ดูตัวเลขสถิติ และร่วมถกเถียงถึงโอกาส ความหวัง ความฝัน

กับความจริงจากการศึกษาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ย้อนกลับมาเปรียบเทียบและทบทวนสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งของไทย ซึ่งตั้งไข่และล้มลุกคลุกคลานมากว่า 88 ปี เพื่อสร้างกระบวนการเลือกตั้งคุณภาพ กับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

Advertisement

อ่าน When We Vote : พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน งานของนักค้นคว้าวิเคราะห์วิจัย ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งทำหน้าที่ฉายภาพที่ควรเห็นให้เราเห็น


๐ และท่ามกลางบรรยากาศของการทุบ รื้อ ยื้อ ถอน ทำลายศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรซึ่งกระทำติดต่อกันมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้การเก็บ เคลื่อนย้าย ทำลาย เกิดขึ้นโดยมิต้องไตร่ตรองและปราศจากผู้คัดค้าน ก็เนื่องด้วยความรู้ความเข้าใจต่อศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยในช่วงทศวรรษ 2475-2490 ถูกอธิบายหรือทำให้เข้าใจว่าเป็นเพียง “ศิลปะนอกขนบ” เป็นศิลปะที่ตรงข้ามกับ “ความเป็นไทย”

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2552 จากความพยายามของ ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการซึ่งละเอียดอ่อนต่อการนำเสนอเนื้อหา ได้รวบรวมบทความอันเกี่ยวกับศิลปะการเมือง คือศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยในทศวรรษ 2475-2490 จำนวน 6 เรื่องเข้าเป็นเล่มครั้งแรก เพื่ออธิบายและนิยามรูปแบบศิลปะกับสถาปัตยกรรมที่ถูกทำให้หลงลืม และละเลยในวงการศิลปะไทยว่าเป็น “ศิลปะ สถาปัตยกรรมคณะราษฎร”

Advertisement

อันเป็นศิลปะที่แนบแน่นกับอุดมการณ์และศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเดือนมิถุนายนปี 2563 นี้ เป็นเดือนครบรอบ 88 ปีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หนังสือ ศิลปะ สถาปัตยกรรมคณะราษฎร เล่มนี้จึงกลับมาอีกครั้งกับโฉมฉบับปรับปรุง ในรูปปกแข็งด้วยขนาดที่หนาขึ้น เพราะนอกจากบทความ 6 เรื่องซึ่งพิมพ์ครั้งแรกแล้ว ยังมีอีก 4 เรื่องใหม่เพิ่มเติม ซึ่งผู้สนใจประวัติศาสตร์ ผู้สนใจเรื่องราวบ้านเมืองตัวเอง และนักอ่านพลาดไม่ได้

๐ อ่านสองเล่มข้างต้นไปแล้ว ควรต่อด้วยเล่มนี้ กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ ประเทศไทยเกิดมาได้เพราะเผด็จการหรือเผด็จการให้กำเนิดประเทศไทยได้อย่างไร

ทศวรรษ 2500-2510 สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มอำนาจทหารนำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการปกครองแบบเผด็จการระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ ชูคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” นำบ้านเมืองสู่ยุคพัฒนา ตัดถนนหนทางจากเมืองสู่ชนบท พร้อมสิ่งอำนายความสะดวกทุกด้าน

สร้างความรู้สึกร่วมกับคนในประเทศ ถึงความเป็นคนไทยและประเทศไทย ว่าเป็น “ไทยจริง” จนรู้สึกหรือเชื่อไปได้ว่า ความเป็นไทยยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “ไทยปลอม”

แต่จะมีกี่คนรู้ว่า การพัฒนาดังกล่าวต้องแลกมาด้วย “นัยซ่อนเร้น” นานา ด้านการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนยากที่ใครจะรู้ถึงการแทรกซึมโดยเจตนานี้

หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงฉายภาพประวัติศาสตร์ให้ผู้อ่านรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในอดีตเท่านั้น แต่ผู้เขียน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ยังให้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลอีกหลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ขึ้น จนสร้างความเข้าใจอย่างชัดเจนต่อการเกิดขึ้นของ “พื้นที่ประเทศไทยในยุคพัฒนา”

อ่านเล่มนี้จบก็จะเห็นภาพเมืองไทยทะลุจากวันนั้นถึงวันนี้


๐ ไหนๆ ก็ไหนๆ ตั้งใจอ่านกันมาถึงสามเล่มนี้แล้ว ก็ควรต่ออีกสักเล่มที่จะช่วยให้ความเข้าใจสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กับบ้านเกิดเมืองนอนที่จนเดี๋ยวนี้ประชาธิปไตยยังรุ่งริ่ง ถึงที่มาที่ไปและเหตุปัจจัยต่างๆ

เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย โดยอาจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข ที่พูดเรื่องการเมือง การทหาร สงคราม อาวุธ มายาวนานร่วม 40 ปี อย่างไม่ยอมย่อท้อถดถอย

เนื่องจากกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมและขับเคลื่อนให้ระบอบ “เสนาธิปไตย” เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ต้องการ “รักษาเสถียรภาพ” ของประเทศ การรัฐประหารจึงต้องเผชิญกับการท้าทายอย่างมาก ต่อปัญหาความชอบธรรม และมูลค่าทางการเมืองที่ต้องสูญเสีย

ดังนั้น แม้การพัฒนาประชาธิปไตยต้องอาศัยเครื่องมือหลายอยาง แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งผู้เขียนต้องการนำเสนอ ก็คือการพัฒนากองทัพ และความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองพลเรือนกับทหาร โดยยกเอาทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มาอธิบายประกอบ ทั้งเสนอทางออกใน “ความเป็นทหารอาชีพ” กับการปฏิรูปกองทัพ และชี้กรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ ที่สามารถผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยให้ดู

ประเด็นเหล่านี้ ย่อมถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และทหาร ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจรัฐประหารกับการเมืองไทยได้ดียิ่งขึ้น

๐ อ่านเอาเรื่องกันมาถึง 4 เล่ม คราวนี้มาพบกับยอดนักเขียนเรื่องเขย่าขวัญ ซึ่งยืนยงมาหลายทศวรรษ และมีนิยายจำนวนมากกลายเป็นภาพยนตร์ แต่วันนี้ สตีเวน คิง ผู้มีนามระบือมาในโฉมใหม่ บอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานของตัวเอง แต่มิใช่การแนะให้เขียนนิยาย

เวทมนตร์ฉบับพกพา : ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง หรือ On Writing : A Memoir of the Craft (ออน ไรท์ติ้ง อะ เมมมัวร์ ออฟ เดอะ คราฟท์) ซึ่งคิงจะ “เล่าว่าผมมานั่งเขียนหนังสือได้อย่างไร ตอนนี้ผมได้รู้อะไรบ้าง และผมทำอย่างไร นี่คือหนังสือเกี่ยวกับงานที่ผมใช้หาเลี้ยงชีพ และเป็นงานเกี่ยวกับภาษา”

ดังนั้น หากใครก็ตามที่กำลังมองหาสูตรสำเร็จสำหรับการเป็นนักเขียน คงไม่พบเค้าเงื่อน แต่หากต้องการแรงบันดาลใจกับกำลังใจ แสวงความรู้สึกว่า “เอ๋, เราก็เขียนได้นี่”

หนังสือเล่มนี้มีให้ท่วมท้น โดย นรา สุภัคโรจน์ แปลให้ซาบซึ้งถึงใจผู้เขียน

๐ อีกเล่มที่คนรุ่นกำลังเผชิญหน้ากับโควิดเห็นปกหนังสือเป็นต้องหยิบดู ทำไม netflix ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง โดย เพตตี้ แมคคอร์ด หนังสือซึ่งเล่าถึงวัฒนธรรมของคนในองค์กรอันเลื่องชื่อ แต่ไม่เคยปรากฏเป็นตัวอักษร ที่ติดหนึ่งในหนังสือดีที่สุดของปี 2561 โดยบลูมเบิร์ก

เรื่องของร้านเช่าวิดีโอทางไปรษณีย์ที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจฉายตรงทางออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าแสนล้านเหรียญ มีลูกค้ามากกว่า 150 ล้านคน ในกว่า 190 ประเทศ

เนทฟลิกซ์โด่งดังด้านการสร้างทีมเก่ง ไร้กฎเกณฑ์ บริหารคนอย่างเฉียบขาด แหวกแนว และสุดโต่ง พบความจริงของมืออาชีพที่เนทฟลิกซ์ล่วงรู้ ปฏิบัติต่อกันแบบคน “โตๆกันแล้ว” รู้จักคนเกรด เอ ที่ตอบแทนอิสรภาพด้วยความรับผิดชอบ การถกเถียงกันอย่างดุเดือดซึ่งๆหน้า ด้วยข้อมูลและเพื่องานเท่านั้น ความคิดยอดเยี่ยมก็จะบังเกิด

นอกจากนี้ยังต้องตระหนักว่า ที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว แต่อยู่ร่วมกันโดยเป้าหมาย จากกันไปอย่างเคารพกันและกัน ส่วนโบนัสก้อนโตและผลประโยชน์ยิบย่อย มิใช่ประเด็น ฯลฯ

ผู้เขียนเป็นอดีตผู้บริหารฝ่ายคัดสรรคนเก่ง ที่ร่วมปลุกปั้นทีมและวัฒนธรรมองค์กรสุดแกร่งแก่เนทฟลิกซ์มายาวนานถึง 14 ปี เป็นผู้ร่วมเขียน “บทสรุปวัฒนธรรมเนทฟลิกซ์ (Netflix Culture Deck)” อันโด่งดัง ซึ่งมีผู้กดเข้าไปอ่านมากกว่า 18 ล้านครั้ง และเป็นที่ปรึกษาด้านการคัดสรรกับบริหารคนชั้นยอดให้กับองค์กรทั่วโลก
ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า “ความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา ต้องการความกล้าบ้าบิ่นมิใช่น้อย”

วิกันดา จันทร์ทองสุข แปลให้อ่านอย่างเพลิดเพลิน อย่าพลาดเชียวล่ะ

๐ นิตยสารการเมืองประจำใจฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับโอ้โฮ – รวมไทยสร้างชาติ อ่านเรื่องเอาแนวคิด ธรรมาจารย์ เรจินัลด์ เรย์ กับพุทธธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ อ่านจากกองทัพบกถึง “ศรีบูรพา” มุมมองต่อกรณีกบฏบวรเดช และไม่มีระบบวันสิ้นโลกในปฏิทินชาวมายาอย่างที่เคยเชื่อๆกัน

อ่าน 83 ปีรวงทอง ทองลั่นทมกับบั้นปลายชีวิต “สอนร้องเพลง”

และอ่าน รักษาอำนาจไว้ได้อย่าง “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” หือออ… เป็นไปได้แล้วหรือ…

————————————————

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image