ตู้หนังสือ : ชื่อของเธอคือ…ชีวิตไม่ใช่เรื่องสมัครเล่น

ตู้หนังสือ : ชื่อของเธอคือ…ชีวิตไม่ใช่เรื่องสมัครเล่น

นักเขียนหญิงซึ่งมีผลงานโด่งดังในไทยจากเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 กลับมาอีกครั้ง ด้วยเนื้อหาสุดสะเทือนใจจากสังคมที่ชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน Her Name is ชื่อของเธอคือ… บันทึกความขมขื่นของหญิง 28 คนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเจ็บลึก ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญยิ่งยวด เผชิญชีวิตอันปวดร้าวหนักหน่วง เพื่ออยู่ให้ได้ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม

โชนัมจู ผู้เขียนกล่าวว่า “ฉันได้ฟังเรื่องของผู้หญิงกว่า 60 คน ตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 19 ถึงคุณยายวัย 60 ปี ฉันเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้จากเสียงเหล่านั้น ฉันขอบคุณจากใจจริง แม้ทุกคนจะมีใบหน้าแดงก่ำ น้ำเสียงขาดห้วงอยู่เป็นระยะ แต่ฉันไม่ลืมว่า ที่สุดแล้ว น้ำตาของพวกเธอก็ไม่หลั่งออกมาแม้แต่หยดเดียว…

“ถึงแม้ตอนฟังฉันจะเพลิดเพลิน เศร้าใจ และทุกข์ทนกว่าตอนนำมาเขียนอย่างมาก แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือ ผู้หญิงมากมายเริ่มต้นเรื่องอย่างเรียบเฉยว่า “ไม่มีเรื่องอะไรพิเศษ” หรือ “เรื่องที่ฉันเจอไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่” ที่แม้จะเป็นเรื่องราวอันเกิดเป็นปกติ แต่แน่นอนว่าเป็นเรื่องพิเศษ และแต่ละครั้งยังมีเหตุให้ต้องใช้ความกล้าหาญ การเตรียมใจ การต่อสู้ที่หาได้ยาก ซึ่งแม้หากไม่ถึงนาดนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องซึ่งมีความหมายในตัวเองอยู่ดี…

“ฉันเชื่อว่าเมื่อเปิดหนังสือ เรื่องของพวกคุณเองก็ได้เริ่มขึ้นเช่นเดียวกัน…”

Advertisement

เรื่องสั้นหรือบันทึกชีวิตชีวิตที่ร้อยเรียงติดตามกันนี้ จะสะท้อนภาพสตรีในสภาพที่คาดไม่ถึงออกมาได้อย่างน่าติดตาม น่าสะเทือนใจ อันควรเปรียบเทียบความแตกต่างของผู้คนแต่ละมุมโลกให้เห็น ว่าผิดแผกกันสาหัสขนาดไหน

นิภารัตน์ รุ่งรังษี แปลให้อ่านอย่างซาบซึ้ง

๐ บริษัทที่โลกรู้จักซึ่งสหรัฐกีดกันโดยถือเป็นปฏิปักษ์ ที่สมควรรู้จักให้ถ่องแท้ขึ้น เริ่นเจิ้งเฟย มังกรทะยานฟ้าหัวเว่ย จากชีวิตชายที่เกิดในมณฑลกุ้ยโจวอันยากจนข้นแค้นที่สุด ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองจีน แต่หลังจากจบมัธยมและเข้าเรียนต่อสถาบันวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมฉงชิ่งในปี 2508 และได้ร่วมกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในฐานะทหารนักเทคโนโลยี กลายเป็นช่วงสั่งสมเรียนรู้

จนปี 2530 หลังมีประสบการณ์จากการทำงานในเสิ่นเจิ้น ก็ตั้งบริษัท “หัวเว่ย” ขึ้นด้วยเงินทุนเพียงแสนกว่าบาท และไม่สามารถเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ธุรกิจ แต่ด้วยการบริหารที่เป็นเอกลักษณ์ เริ่มจากการขอให้พนักงานทำงานล่วงเวลา การเติบโตจึงค่อยๆแสดงภาพให้เห็นอย่างชัดเจนไปสู่เป้าหมายของการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่

หลี่หงเหวิน เขียนอย่างละเอียดลออและ ธัญปวีณ์ อธิเลิศรัตนชัย แปลอย่างเร้าใจ

๐ การเกิดมามีชีวิต คนส่วนมากอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังดำเนินชีวิตในหนทางมือสมัครเล่น หรือเป็นมืออาชีพที่รู้จักตั้งเป้าหมายและวางแผนหรือไม่ จนแม้ปัญหาประดังเข้ามาตั้งแต่ต้นจนชีวิตอวสานก็ยังไม่อาจบอกตัวเองได้ว่า เกิดมาทำอะไร

มือสมัครเล่น (Beginners) ของผู้เขียน เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ที่เกิดในรัฐวอชิงตัน แต่งงานอายุ 19 มีลูกสองคนอายุ 20 ชีวิตไม่เคยชักหน้าถึงหลัง ติดเหล้าและมีปัญหานอกใจ งานของคาร์เวอร์จึงสะท้อนความไม่สมบูรณ์แบบของผู้คนเช่นเดียวกับตัว และแม้จะเลิกเหล้าได้ในที่สุดก็กลับเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดหลังแต่งงานใหม่ 6 สัปดาห์

17 เรื่องสั้นของคนเดินดินที่กะพร่องกะแพร่ง บอกเล่าด้วยภาษาซึ่งไร้การปรุงแต่ง จากต้นฉบับที่ถูกปรับแก้มากมาย ภรรยาม่ายจึงได้นำต้นฉบับเดิมออกมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 2552 อันเป็นแรงบันดาลใจให้ยอดผู้กำกับ อเลฆานโดร อินาร์ริตู นำไปสร้างภาพยตร์เรื่อง เบิร์ดแมน เข้าชิงออสการ์ทั้งหนังทั้งดารานำในปี 2557

ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช แปลอย่างเข้าอกเข้าใจให้อ่านได้เพลิดเพลิน

๐ นิยายสำคัญอีกเรื่องซึ่งนักอ่านไทยไม่สมควรพลาด เมื่อ ปราบดา หยุ่น พากย์ไทยให้เรียบร้อย พนิน นวนิยายซึ่งเป็นอีกหลักหมายของ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ ผู้รังสรรค์ โลลิตา (2498) ออกมาลั่นโลก จนคนรู้จักไม่ว่าจากวรรณกรรมหรือภาพยนตร์

ชีวิตศาสตราจารย์พลัดถิ่นชาวรัสเซีย ผู้มีบุคลิกลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “พนินเนี่ยน” คนชายขอบซึ่งสถานะไม่อาจอยู่ในรัสเซีย ขณะเดียวกันก็มิใช่ส่วนหนึ่งของอเมริกา ทำให้เกิดเรื่องที่สุดเศร้า โดดเดี่ยว ขมขื่น และการโหยหาอดีตอันคุ้นเคยที่ไม่อาจหวนคืน

สำหรับนักอ่านแล้ว ความสนุกสนานของงานชิ้นนี้อยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่อง แบบบุรุษที่หนึ่งซึ่งไม่มีตัวตน เล่นกลกับภาษาอย่างสลับซับซ้อนหลายภาษา การพรรณนาให้ภาพอย่างมหัศจรรย์ กับการใช้สัญลักษณ์ที่ลึกซึ้ง บางครั้งก็นำเสนอความจริงกับความฝันผ่านช่วงเวลาที่ไร้เส้นแบ่ง ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับประสบการณ์คนพลัดถิ่น ที่พยายามสร้างอัตลักษณ์อันแหว่งวิ่นของตนผ่านเรื่องเล่า

ซึ่งนี่เอง ที่ทำให้งานชิ้นนี้เป็นอีกหลักหมายสำคัญดังกล่าว

หาอ่านให้ได้นะเจ้าประคุณ

๐ โรคไบโพลาร์หรือความสุดโต่งของอารมณ์สองขั้วที่แตกต่าง เป็นโรคที่เริ่มรู้จักกันมากขึ้น จะเป็นอย่างไรหากนักเขียนไบโพลาร์เขียนถึงไบโพาร์อย่างเปี่ยมด้วยความรู้สึกและวรรณศิลป์

หลายคนพบว่า นั่นกลายเป็นงานเขียนสร้างสรรค์ และ(อาจจะ)งดงามอย่างยากจะบรรยาย

ในโลกอันแปรปรวน บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ของ ธอมัส เมลล์

“สำหรับผมเอง ไบโพลาร์ไม่ใช่แค่ความเจ็บไข้ เมื่ออดีตที่มันปรากฏตัวมาทำความรู้จักกับผมครั้งแรก มันพาผมดำดิ่งสู่โลกอีกฝั่งอันมืดมิด สีสันที่เคยมีหายไปหมดเหลือแต่สีขาวดำ ใจที่เคยแข็งแรงฟูฟ่องเปลี่ยนเป็นเหี่ยวเฉา เรี่ยวแรงที่เคยบวกเต็มร้อยกลายเป็นติดลบ พูดก็พูดเถอะ ผมได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า หมดอาลัยตายอยาก ครั้งแรกก็วันนั้น..

“อยู่ดีๆ ความอยากทำอยากมีในใจก็ถมไม่เต็ม ผมพูดไม่หยุด พูดจนไม่มีคนฟัง พูดจนเริ่มพูดกับตัวเอง เงินซึ่งมีอยู่เต็มบัญชีถูกกดออกมาเกือบครึ่งเพือจับจ่ายความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ปริมาณอาหารที่เคยกินแล้วอิ่มไม่พออีกต่อไป ความง่วงนอนไม่เคยเกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นไปราวกับไม่มีอะไรเลยที่ตอบสนองความต้องการของผมได้ ซ้ำร้ายเมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มกลับรู้สึกผิดกับความเยอะเกินที่ตัวเองทำ และเริ่มเศร้าอีกครั้ง วัฏจักรเดิมๆก็เริ่มวนกลับมาอีก…

“วนเป็นวงกลมแบบนี้เรื่อยๆอยู่แรมปี ก่อนที่ผมจะไปพบหมอ…”

การเล่าเรื่องอันชวนพิศวง ซึ่งอาจเจือปนด้วยความกลัวของผู้อ่าน แต่นี่เป็นการทำความเข้าใจกับไบโพลาร์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยงานวรรณกรรมที่มนุษย์จะเข้าใจมนุษย์อันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์โดยแท้จริง

อัญชลี โตพึ่งพงศ์ แปลให้อ่านอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยเห็นภาพกระจ่าง

๐ สัปดาห์ก่อนโน้นนำเรื่องพิศดารของ ชายร้อยปีผู้ปีนออกทางหน้าต่างแล้วหายตัวไป ซึ่งสนุกสนานครื้นเครงและมีจุดหมายที่จะป่วนความคิดนักอ่าน วันนี้กลับมาอีกหนด้วย การผจญภัยโดยบังเอิญอีกครั้งของชายร้อยปี+1 ของ โจนาส โจนาสสัน

เรื่องที่เกิดขึ้นบนบอลลูกลูกหนึ่ง ซึ่งมีผู้โดยสารคือชายร้อยปีกับเพื่อนรัก พร้อมแชมเปญสามขวด ทั้งสองไม่ได้ตั้งใจจะร่อนลงทะเล หรือคิดว่าจะมีเรือเกาหลีเหนือมากู้ชีพ แถมบนเรือยังมีกระเป๋าบรรจุยูเรเนียมเถื่อนสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ของคิมจองอืน

จากนั้น ความปั่นป่วนในวงการเมืองระหว่างประเทศจึงเริ่มขึ้น และลุกลามไปทั่ว คั้งแต่รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน จนถึงนางแองเกลา แมร์เคิล, วลาดิเมียร์ ปูติน, ประธานาธิบดีทรัมป์ ฯลฯ คงไม่ต้องบอกว่าเรื่องจะยุ่งเหยิงขนาดไหน และจะบันเทิงปานใด

คนได้อ่านแล้วเตือนให้บอกคนรอบข้างไว้ก่อนที่จะเห็นคนหัวเราะกิ๊กกั๊กอยู่คนเดียว


๐ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับพากย์อังกฤษว่า How you like that อ่านโควิดกับโครงการขนาดใหญ่, สถานะดำรงอยู่ของนิว นอร์มอล ความเป็นจริงทางการปฏิบัติ, โคโรนาเทวี เมื่อความกลัวกลายเป็นศรัทธา หากโควิดเกิดยุคพระเวท

อ่านวิสาขะเสมือนจริง, ข้าวตราไก่แจ้ช่วยผู้ประกอบการโคม่าพ้นโควิด, สะพานดำเมืองลำพูน

เมื่อคลี่คลายการจำกัดการใช้ชีวิตที่เข้มงวด เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายที่อยากปลดปล่อย

ก็อย่าประมาทจนลืมไปว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโรคร้ายไปแล้วถึง ๑๐ ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้วกว่า ๕ แสนคน และอย่าประมาทว่าเรายังอยู่ท่ามกลางการรุมล้อมของโรคอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น

ขอให้ทุกคนแคล้วคลาด ปลอดภัย.

—————————————–

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image