‘No Hurry No Worry ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ’

ขออภัย

‘No Hurry No Worry ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ’ คำถามที่ไร้คำตอบ แต่ชวนให้ฉุกใจคิด

ไม่รู้ว่ากระบวนเลือกสรรคำโปรยปกหลังของหนังสือที่กำลังจะพูดถึงเล่มนี้เป็นอย่างไร แต่อยากชื่นชมว่าดีมาก

มากแบบก.ไก่ล้านตัว

เพราะกระแทกใจแบบปังๆ จนต้องหยิบหนังสือมาอ่านทั้งเล่ม และเชื่อมากว่าโดนใจใครอีกหลายๆ คนแน่นอน โดยเฉพาะ Gen Y Gen Z ชนชั้นกลางทั้งหลาย ที่กำลังรู้สึกหวั่นไหวกับปัจจุบันและอนาคตของตัวเอง ท่ามกลางสภาวะสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้ต้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งกับตัวเองและเรื่องราวรอบข้าง

“ทำไมยิ่งพยายามมีความสุข เราถึงยิ่งทุกข์ลงทุกวัน?”

Advertisement

“ทำไมอดทนและขยันแทบตาย แต่ยังไม่สุขสบายอีกล่ะ?”

“แล้วจะเป็นไรไหม ถ้าเราไม่ได้เดินตามแพสชั่น?”

แค่ 3 คำถามนี้บนโปรยปกหลังนี่ล่ะ ที่ตั้งคำถามกับผู้คนซึ่งกำลังใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่ต้องวิ่ง ต้องเร็ว ต้องไว เป็นโลกของอุดมคติของการเติบโตและก้าวไปอย่างหยุดยั้ง โลกที่เราหมกมุ่นว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ให้ต้องหยุดชะงักชั่วคราว แล้วเปิดอ่าน “No Hurry No Worry ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ” … และใช่ รวมถึงเราด้วย
ทั้งที่ปกติ แทบไม่อ่านหนังสือแนวนี้เลยด้วยซ้ำ

Advertisement

พิชญา โชนะโต ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ บอกไว้ว่า “นี่ไม่ใช่หนังสือฮาว ทู ขอให้ผู้อ่านไม่ต้องรีบร้อน ฉันไม่มีเคล็ดลับและความลับของจักรวาลมาบอก เพราะฉันเองก็ไม่รู้ ยังงุนงง สับสน และสงสัยอยู่เหมือนกัน” ….

เป็นคำพูดที่ตีโจทย์คนอ่านแตกมาก และสำหรับเราแล้ว เราคิดว่านี่คือหนังสือแนวจิตวิทยา ที่ดีต่อใจมากๆ เล่มหนึ่ง

หนังสือจากสนพ.broccoli เล่มนี้ เขียนออกมาในลักษณะของความเรียง ที่แม้แต่ละบทจะมีเป้าหมายของการตั้งคำถามที่แตกต่างกันไป แต่ก็จะอยู่บนพื้นฐานของ “ความสงสัย” ในโลกที่เรา (อาจ) เคยเชื่อ ในชีวิตที่ไม่สามารถสรุปเส้นทาง หรือถอดสูตรสมการได้อย่างง่ายดาย

จากคำถามที่หลากหลาย เชื่อมั่นว่าต้องมีสักบทที่โดนใจผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกแบบนี้ โดยเฉพาะมนุษย์วัยทำงานทั้งหลาย โลกที่เราต้องแปลงตัวเองให้เป็นทรัพย์สินที่ต้องเติมมูลค่าเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวน กลัวที่จะเป็นคนไร้ค่า ไร้ความหมาย เป็นซอฟต์แวร์ที่ต้องอัพเดทสม่ำเสมอ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ถึงจะยังไม่มั่นใจก็ตาม ว่ากำลังจะไปที่ไหน และไปทำไม แต่ก็ต้องไป และกวดขันตัวเองให้ประส

ความสำเร็จสูงสุด และการหยุดนิ่งอยู่กับที่ กลายเป็นอาชญากรรมของชีวิต … รู้สึกถึงตัวเองบ้างไหม

พิชญา โชนะโต

หลายๆ เรื่องในชีวิต ความสำเร็จหรือความล้มเหลว ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราทุ่มเทให้ขนาดไหน แต่อยู่ที่โครงสร้างของสังคมที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย การแนะนำให้สู้ ให้พยายาม ให้อดทน โดยไม่ได้สนใจความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจและสังคม สถาพการเมืองและเศรษฐกิจแย่ๆ สถานการณ์บีบบังคับต่างๆ มันเป็นภาระที่หนักอึ้งกับความเชื่อที่ว่า ถ้าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน How To ที่คอยพร่ำบอกแบบนั้นใจร้ายมาก มันมากกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่คือระบบโครงสร้างของสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ ถ้าไม่อยากเหนื่อยมากกว่าที่ควรจะเป็น

มีบทหนึ่งที่เราชอบมาก เกี่ยวกับ To-Do List และสิ่งที่อ่านไปก็ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเอง กับความบ้า To-Do List ที่มีมา และเป็น To-Do List ระยะยาวแบบไม่เคยจบสิ้น (ของเราเอง)

Bradley Staats ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตผล (productivity) ของผู้คน และพบว่าเมื่อมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้น ผู้คนก็จะทำงานเร็วขึ้นไปด้วย แต่! พวกเขาจะเลือกทำงานที่เสร็จเร็วก่อน เช่น หมอจะเลือกคนไข้ที่รักษาง่ายก่อน ทำให้ผลิตผลในระยะยาวลดลง

การเสพติดการอยากทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ เพื่อความรู้สึกดี เรียกว่า “Task Completion Bias” หรือ “อคติของการอยากทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น” เพราะเราเสพติดวัฒนธรรมของความสำเร็จ เราชอบความรู้สึกว่า “เราทำเสร็จ” ซึ่งมักวัดผลในระยะสั้น และไม่ยอมเลือกงานที่อาจล้มเหลว แต่ได้เรียนรู้และเติบโต ซึ่งส่งผลถึงการเลือกแก้ปัญหา ที่แก้ปัญหาไม่ยากไว้ก่อนเพื่อเลี่ยงความเฟล ไม่ต้องโดนตัดสิน แต่ปัญหาซับซ้อนที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข และไม่มีความสำเร็จรายวันให้ชื่นใจ กลับนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยสักวัน แต่มันอาจสำคัญในระยะยาว

ยังมีอีกเยอะมากในหนังสือเล่มนี้ที่อยากให้อ่าน ทั้งประเด็น passion, เวลา, การมองชีวิตในระยะยาว, ความมุ่งมั่นต่างๆ ซึ่งการไม่มีคำตอบใดๆ ในคำถามเหล่านี้เลย คือสิ่งที่ดีที่สุด

ถ้าถามว่าเล่มนี้เหมาะกับใคร เราอยากบอกว่าเหมาะกับวัยทำงานทั้งหลายที่กำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้า เพราะหลายอย่างในเล่มนี้ทำให้เราฉุกใจคิดกับบางอย่างได้จริงๆ แม้ว่าจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น แต่สิ่งที่ดีมาก คือทำให้หยุดคิด

โลกมันซับซ้อนเกินกว่าจะมีสมการสูตรสำเร็จใน How To ใดๆ

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image