อ่านเพิ่มความเชื่อมั่น จองได้แล้ว ‘ไดอารี่ล็อคดาวน์อู่ฮั่น’

อ่านเพิ่มความเชื่อมั่น จองได้แล้ว ‘ไดอารี่ล็อคดาวน์อู่ฮั่น’

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีคลิปจากสหรัฐที่ชาวเมืองแถบตะวันตกกลางของประเทศ ให้การในที่ประชุมเมือง ปะทุความเห็นรุนแรงค้านการสวมหน้ากากป้องกันโรคระบาดอันตราย ซึ่งกำลังจู่โจมทำร้ายคนอเมริกันไปทั่วประเทศ ว่าเป็นการทำร้ายสิทธิมนุษยชน บังคับฝืนใจพลเมือง พวกตนจะไม่ยอมทำตามเด็ดขาดหากมีคำสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นออกมา

ผลปรากฏเป็นที่รู้อยู่ดีแล้วว่า เมืองแถบพื้นที่เหล่านั้น ถูกโรคระบาดลุกลามอย่างกว้างขวาง ทั้งติดเชื้อทั้งล้มตายเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที

นอกจากนี้ ความคิดของบรรดาผู้คนที่แสดงความเห็นจากคลิปดังกล่าว ยังเป็นที่คลายสงสัยว่า ทำไมประชาชนเหล่านั้นจึงเป็นเสียงสำคัญที่ช่วยให้นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี จากการหาเสียงแบบถูกใจชาวบ้านไกลปืนเที่ยงเมื่อเกือบสี่ปีก่อน

ครองตำแหน่งซึ่งเห็นพ้องต้องกันเป็นส่วนมาก ทั้งคนในสหรัฐและคนนอกประเทศในวันนี้ว่า เป็นประธานาธิบดีซึ่ง “แย่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์

Advertisement

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งยังติฉินและกังขากันถึงการใช้อำนาจทหารผ่านรัฐบาลพลเรือน ได้รับคำนิยมยกย่องไปทั่วโลก จากการควบคุมจำกัดการแพร่กระจายของโรค และป้องกันผู้ป่วย ได้ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศที่ยังติดเชื้อระบาดอยู่ทั่วไป

วันนี้ มีหนังสือซึ่งอ่านเพื่อสร้างและเสริมความเชื่อมั่น ในการเรียนรู้เพื่อรับมือกับโรคร้าย ที่ยังคิดหาวัคซีนป้องกันอันปลอดภัยไม่แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมตัวจากการรู้จักโรคให้เข้าใจยิ่งขึ้น

นั่นคือ ไดอารี่ล็อคดาวน์อู่ฮั่น ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าได้ถึง 3 สิงหาคม ก่อนจะเริ่มส่งหนังสือในวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยราคาซึ่งลดจากราคาปก 395 ลงเหลือ 316 บาท

Advertisement

พลาดไม่ได้ นี่คือบันทึกประจำวันจาก “เสียงจริง” ของผู้ที่ติดอยู่ในเมืองซึ่งโรคร้ายรุมล้อม

จากวันแรกที่เมืองอู่ฮั่นถูกสั่ง “ล็อคดาวน์” กะทันหัน 23 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ทำให้คนเจ็บและตายจำนวนมาก เกิดภาวะสับสน และสร้างความหดหู่จากสถานการณ์ ชาวอู่ฮั่นซึ่งไม่ได้รับข้อมูลชัดเจนจากทางการ ทั้งยังต้องหากินต้องหาใช้ประจำวัน แต่สิ่งจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ อาหารสด อาหารแห้ง ซึ่งวางขายตามบ้าน ร้าน ตลาด กลับร่อยหรอและหายากยิ่งขึ้นทุกที

กัวะจิง วัย 29 ปี หญิงนักสังคมสงเคราะห์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ที่ติดอยู่ในเมืองซึ่งถูกสั่งปิด ได้ตระหนักขึ้นทันทีว่า เรื่องที่น่ากลัวกว่าอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นก็คือ การถูกปิดหู ปิดตา และปิดปาก กระทั่งเสียงร้องทุกข์เล่าความเป็นจริงล้วนถูกปิดกั้น

เธอจึงเริ่มเขียนไดอารี่ ออน ไลน์ หวังเป็นจุดเชื่อมเพื่อแบ่งปันทุกข์สุขทั้งของคนร่วมชาติ  และเป็นกระบอกเสียงสู่โลกภายนอก

หนังสือเล่มนี้นอกจากจะบอกความเป็นไปในเมืองอู่ฮั่นช่วงนั้น ผู้เขียนยังตั้งคำถามต่อระบบคิดกับค่านิยมของคนในชาติ จึงให้ภาพที่สะท้อนคุณค่าชีวิตของผู้คนอย่างหลากหลายจากสารพัดสาขาอาชีพ ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

บันทึกประจำวันของเธอจึงกลายเป็นเครื่องมือทลายการปิดกั้นพื้นที่ ทั้งช่วยสลายอคติ ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนร่วมสังคมหรือต่างสังคม และแม้บันทึกของเธอจะจบลง (1 มีนาคม) ก่อนการคลายล็อคนานนับเดือน แต่หนังสือเล่มนี้สามารถเปิดหู เปิดตา ผู้อ่าน ซึ่งกำลังประสบภัยโรคระบาดไม่ว่าที่ไหนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งชาวไทยที่ยังยกการ์ดสูงอยู่ด้วย

เรืองชัย รักศรีอักษร นักแปลลือนามเป็นผู้ถ่ายทอดความคิดความรู้สึกทั้งมวลของผู้เขียน

๐ หนังสือสำหรับผู้เรียนรู้และผู้ห่วงใยบ้านเมือง โดยเฉพาะอนาคตของประเทศ ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย ที่คนไทยไร้คำตอบ

เนื่องจากปีที่ผ่านมาเป็นวาระครบ 70 ปีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดังนั้น ด้วยหน้าที่หลักของสถานศึกษาที่ต้องสอน ถ่ายทอดความรู้ โดยเฉพาะจากคณะที่เกี่ยวด้วยคำ “ประชาธิปไตย” เป็นสำคัญ และด้วยระบอบซึ่งถือกันเป็นสากลนี้ยังระหกระเหินอยู่ในบ้านเมือง ดำรงให้แน่นอนยังไม่ได้ คณะรัฐศาสตร์จึงถือโอกาสรวบรวมงานของคณาจารย์ในคณะ ว่าด้วยมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย เผยแพร่ต่อสาธารณะให้กว้างขวางออกไป

แค่อ่านหัวเรื่องของแต่ละอาจารย์แล้ว คนสนใจบ้านเมืองต้องอดไม่ได้ที่จะอยากรู้ทุกประเด็นให้แจ้งไปเดี๋ยวนั้น

อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เขียน “ประชาธิปไตยไทย-เรียบง่ายและงดงาม?” ,   อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียน พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปล เรื่อง “ประชาธิปไตยไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับบทบาทของคณะรัฐศาสตร์ของเรา” , อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียน “เค้าโครงความคิดพินิจประชาธิปไตยไทย” , อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียน “รัฐอากาศยาน”

โห แต่ละเรื่อง ฟังดูน่าจะเจ็บๆกระดองใจกระดองกายทั้งสิ้น

ยังมีอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียน “ประชาธิปไตยสยามยุทธ : แง่คิดเกี่ยวกับความขัดแย้งและพัฒนาการของระบบการเมืองในประเทศไทย”

อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียนเรื่อง “การสืบทอด” อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เขียน “พินิจ “ประชาธิปไตย” จาก Equality & Liberty ของแฮรี่ วี. จัฟฟา” และอาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เขียน “อารมณ์กับประชาธิปไตยไทย” สุดท้ายอาจารย์เกษียร เตชะพีระ เขียน “Pessimism of the intellect, Optimism of the will : Reflections on Thailand’s 2019 General Elections”

น่าอ่านทุกเรื่อง

๐ เรื่องความเชื่อซึ่งทุกวันนี้ที่พูดกันประจำอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ความเป็นพุทธของคนไทย ว่าเข้าใจพุทธศาสนาที่เรานึกถือเอาว่าเป็นศาสนาประจำชาติมากน้อยแค่ไหน เข้าใจธรรมหรือไม่ หรือเป็นแต่เข้าใจไหว้พระ จุดธูปเทียน หยอดเงินบริจาคหวังบุญภายนี้ภายหน้าเท่านั้น หากมิได้สนใจนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาถือปฏิบัติเป็นปฏิบัติบูชากันสักเท่าใด

พูดกันไปก็สองไพเบี้ย เห็นแต่ฝรั่งตะวันตกที่เอาจริงเอาจังกับการฝึกฝนตนเองตามพุทธธรรม

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นความรู้ในพุทธศาสนาที่บางเรื่องต้องเอาเยี่ยง แต่บางเรื่องก็ไม่ควรเอาอย่าง แค่รู้ไว้ใช่ว่า ส่วนบางเรื่องก็ดูเหมือนว่าเกิดในพุทธกาล แต่ปรากฏว่าแต่งขึ้นภายหลัง แม้จะอยู่ในพระไตรปิฎก

ดังนั้น สำหรับชาวพุทธ เป็นความรู้ที่รู้ไว้ไม่เสียหลาย แถมยังอาจเกิดประโยชน์ต่อความคิด เช่น เรื่องการทำน้ำพุทธมนต์ เพราะเราใกล้ชิดกับเรื่องนี้ ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ดังพระอานนท์ประพรมน้ำพุทธมนต์ตามพุทธบัญชา หรือพระเจ้าพิมพิสารกรวดน้ำตามพุทธบัญชา เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่กำลังปฏิบัติเป็นวิถีอยู่นั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุใด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องบุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด, คำพูดคำแรกของเจ้าชายสิทธัตถุะ, อุบาสกอุบาสิกาคู่แรก, บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้, สิ่งแรกที่ทรงทำหลังเสด็จออกผนวช, พระอุทานคำแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้, พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก, สาวกรูปแรก ฯลฯ

เรื่องที่เราชาวพุทธ “น่าจะ” รู้ทั้งสิ้น

๐ ในสังคมนักอ่านบ้านเรา ชื่อของ ฮะรุกะ มุระคะมิ นักเขียนญี่ปุ่นมีนักอ่านติดตามไม่น้อย ที่ปวารณาตัวเป็นสาวกอย่างชัดเจนก็มาก ดังนั้น งานแปลของนักเขียนนามนี้ในบ้านเราจึงมีไม่น้อย

Jazz Murakami แจ๊ซมูราคามิ มิใช่หนังสือที่มุระคะมิเขียน แต่ผู้เขียนล้วงลึกลงในงานของนักเขียนนามนี้ นำสิ่งที่มุระคะมิรักชอบออกมาให้นักอ่านด้วยกันชม

มุระคะมิเป็นผู้สนใจดนตรีสากลอย่างยิ่ง งานแทบทุกเรื่องมักสอดแทรกดนตรีผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละคร บทบรรยาย บรรยากาศของฉาก อาชีพของตัวละคร โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ซมักปรากฏในเนื้อหาทุกเรื่อง

นักนิยมดนตรีและเพลงระดับบรมบ้านเรานามหนึ่งคือ สิเหร่ ผู้มีงานเกี่ยวกับดนตรีมาแล้วหลายเล่ม จึงทะลวงเข้าในหัวใจประเด็นนี้อย่างรื่นเริงตรงไปตรงมา

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นงานรวบรวมบทเพลงแจ๊ซที่ปรากฏในหนังสือของมุระคะมิ ไม่ว่านิยายหรือเรื่องสั้น มาวิเคราะห์ผ่านแก่นของดนตรี เบื้องหลังของเพลง ที่มาที่ไปของเพลง เพื่อเชื่อมเพลงเข้ากับหนังสือที่ขานนามเพลงนั้นๆออกมา ซึ่งแน่นอน สาวกมุระคะมิต้องไม่พลาด

โดยฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ได้เพิ่มเนื้อหาใหม่สองเรื่องจากงานล่าสุดของมุระคะมิเข้าไปด้วย

ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลื้มมม___ ไหนว่า ไม่ลืม___ เอ๊ะ, มาได้ไง

๐ นิตยสารซึ่งอ่านแล้วเป็นสุข นั่งลุกสบาย นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ฉบับทรงพระเจริญ อ่านรถตรวจโควิดติดเชื้อชีวนิรภัย พระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง” รัชกาลที่ 10 ค้นหาไวรัสโควิด 19 เชิงรุก

อ่านการฟื้นคืนชีพ ปรากฏการณ์ แฟลชม๊อบ การพัฒนาและเติบใหญ่, เยาวชนปลดแอก นิว นอร์มอลสู่อนาคตใหม่ของประเทศ,​ การเปลี่ยนแปลงใหญ่มาแล้ว รออยู่นอกสภา,

อ่านมรดกบาป บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ, ธนินท์ เจียรวนนท์แห่งซีพี ร้านเจริญโภคภัณฑ์

อ่านฮ่องกงเมื่อวันวาน, บราซิลติดไวรัสเป็นอันดับสองของโลก ตั้งแต่ประธานาธิบดีถึงชาวป่า

อย่าพลาด.

บรรณาลักษณ์ 

    

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image