เปิดมุมคิดในวันที่ความดีไม่ผูกขาดในรูปแบบเดียว กับนักเขียนสุดฮอต ‘ปราปต์’

เปิดมุมคิดในวันที่ความดีไม่ผูกขาดในรูปแบบเดียว กับนักเขียนสุดฮอต “ปราปต์”

“เป็นนักเขียนที่เขียนนวนิยายได้หลากหลายแนวมาก และทำได้ดี มีชั้นเชิงอย่างไม่ธรรมดา ในทุกเล่มที่เขียน”

นี่คือความคิดแวบแรกของเรา เมื่อนึกถึงชื่อของ ‘ปราปต์’ หรือ ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราบต์

คอนิยายทั้งหลายคงคุ้นชื่อของเขาอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนิยายสายไหน เพราะจุดเด่นหนึ่งที่ปราปต์มี คือสามารถเขียนนิยายได้อย่างหลากหลาย และหลายเรื่องก็กลายเป็นละครชื่อดัง อาทิแนวสืบสวนพีเรียดอย่าง ‘กาหลมหรทึก’ หรือที่กำลังฉายอย่าง ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ ซึ่งเป็นแนวโรแมนติกคอเมดี้ และกำลังสร้างคือ ‘คุณหมีปาฎิหาริย์’ ที่กลายเป็นละครวายเรื่องแรกของช่อง 3

Advertisement

ในงาน ABC Book Fest 2020 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ได้ชวนปราปต์มาร่วมพูดคุย ถึงเคล็ดลับปลดล็อค การสร้างความหลากหลายในงานเขียนที่แตกต่าง และหลายประเด็นน่าสนใจมาก

ปราปต์เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเขียนงานที่หลากหลายแนวของเขา เกิดจากความเป็นคนขี้เบื่อ เขียนอะไรซ้ำ แล้วจะรู้สึกเบื่อ และเกิดอาการตัน ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร การเปลี่ยนแนวจะทให้ตัวเองได้รีเฟรชสิ่งใหม่ๆ และออกไปค้นหาเรื่องราวใหม่ๆ ด้วย

“ด้วยความที่เราชอบงานหลายๆ แบบ อาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่เราก็พยายามตั้งโจทย์แล้วไปให้ถึงตรงนั้น ตอนนี้เราแบ่งหมวดงานตามสำนักพิมพ์ การที่เราจะขายงานได้สักชิ้นหนึ่งเราก็ต้องไปดูตลาด ดูว่าสำนักพิมพ์นั้นพิมพ์งานแนวไหน และเราอยากทำไหม

Advertisement

จะมีคำที่ว่า ‘รู้อะไร ให้กระจ่าง แต่อย่างเดียว’ แต่ตัวเราเองเราไม่สามารถเดินไปทางเดียวได้ตลอดเวลา อย่างที่บอกว่าเราเบื่อง่าย เวลาเขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง ไม่ได้ใช้เวลาวันเดียวจบหรืออาทิตย์เดียวเสร็จ ต้องใช้เวลายาวนาน เวลาสั้นที่สุดคือที่ใช้คือ 1 เดือน แต่โดยเฉลี่ยคือ 3 เดือน 90 วัน ที่ต้องนั่งจมกับงาน สมมุติเขียนเรื่องสืบสวนอยู่ ก็ต้องจมอยู่กับเลือด ความตาย กลายเป็นว่าตื่นมาปุ๊บ วันนี้ต้องคิดอีกแล้วว่าต้องฆ่าใคร ด้วยวิธีการไหน ทำไมจะต้องฆ่า ซึ่งแบบนี้เหนื่อย ขณะเดียวกันถ้าเขียนเรื่องตลก วันนี้จะต้องตลกอีกแล้ว หามุข ยิ่งพอคิดว่าวันนี้จะต้องตลก ก็จะไม่ตลกเลย เลยกลายเป็นว่าเราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ พอจบเรื่องนี้ก็เว้นไปทำงานอื่นก่อน รีเฟรชตัวเองใหม่ การที่ได้ไปขยับทำงานอื่นสำหรับเรา คือการได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ วิธีการใช้คำแบบใหม่ วิธีการดำเนินเรื่อง การดำเนินตัวละคร กลายเป็นว่าถึงแม้จะเขียนเรื่องสืบสวนแต่เราก็ใส่โมเม้นต์ตลกเข้าไปได้ เหมือนได้อาวุธไปเรื่อยๆ”

ถึงจะเขียนได้หลากหลายแนว แต่สำหรับแฟนๆ ของปราปต์ น่าจะเห็นถึงจุดร่วมหนึ่งในงานทุกแนวของเขา คือความร่วมสมัยและการเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่เสมอ ท่ามกลางความคาดหวังแรกของเขาที่อยากให้คนอ่านมี คือการอ่านแล้วสนุกที่ความร่วมสมัยของปัญหา ในความละเอียดของข้อมูล ที่เคลือบด้วยความสนุก ปราปต์บอกว่าเขาน่าจะเป็นนักเขียนที่ใช้โปรแกรมเอ็กเซลเยอะมาก

“เราเรียนสายบริหารมา ก่อนที่เราจะเขียนได้ต้องมีข้อมูลสนับสนุนเยอะมาก และไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ไปหาจากที่ต่างๆ มานะ แต่รวมถึงตัวละคร เขียนไปด้วยและก็ทำข้อมูลส่วนนี้ไปด้วย เป็นข้อมูลประวัติเลย เราน่าจะเป็นนักเขียนที่ใช้โปรแกรมเอ็กเซลเยอะมาก

เพราะอย่างเวลาเขียนแนวสืบสอบสวน บางทีละเอียดถึงขั้นนาที วินาที ขณะที่ตัวละครนี้กำลังจะตาย ตัวละครนี้เข้ามา สมมุติฆ่าอยู่แล้วอีกคนมาเห็น ทุกตัวจะมีเส้นเรื่องของตัวเอง ถ้าเรานั่งมโนหรือจด ๆ บางทีเรานึกไม่ออก บางทีอาจคลาดเคลื่อนได้ เราก็ใช้เอ็กเซลแบบบรรทัดนี้ เวลาเท่านี้ วันที่เท่านี้ ตัวนี้กำลังทำอย่างนี้อยู่ แล้วเราจะใช้ปีจริง แบบปีนี้อายุเท่านี้ กำลังเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเขา เทียบๆ กัน ก็จะทำให้ได้ดาต้าเบสง่ายขึ้น ที่จะเอาไปเขียนเป็นเนื้อเรื่องจริงๆ”

ปราปต์ยังบอกด้วยว่า ระหว่างเขากับการเขียน เป็นความสัมพันธ์แบบ Hate Love ถึงจะสนุกแค่ไหน แต่ตื่นมาปุ๊บก็ต้องนั่งเก้าอี้เดิมเพื่อเขียนด้วยตัวเอง

“การเขียนหนังสือไม่เหมือนงานที่มีทีมงาน เราต้องสู้กับความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ความขี้เกียจ ทุกอย่างของเราเอง เหมือนเราต้องจิกหัวเราเอง เราตั้งเป้าเขียนให้ได้วันละ 3 หน้า แต่บางทีก็เหนื่อย ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ 3 หน้าพอจบ หรือตอนไหนเขียนแล้วสนุกจริง ๆ เช่น ฉากเขียนเฉลยคนร้ายจะเขียนได้ยาว ก็ปล่อยไปเลย มันเป็นงานที่ต้องต่อสู้กับตัวเองสูง เราต้องสร้างวินัยของตัวเองได้ และด้วยเราเป็นนักเขียนยากจน เรามีงานมาก็รับไว้ก่อน แล้วเอาโจทย์นั้นมาแปลงให้เข้ากับตัวเอง ปีนี้ต้องเขียนเรื่องนี้กี่เดือน เรื่องนี้กี่เดือน หนังสือจะต้องออกตอนไหน จะเซ็ทไว้หมดแล้ว ถ้าแหกเดทไลน์เรื่องหนึ่งก็จะกระทบต่อ ๆ ไป พยายามเซ็ทให้ตัวเองมีวินัยที่สุด” ปราปต์เอ่ยด้วยรอยยิ้ม

4 เรื่องฮอตที่ออกมาไล่เลี่ยกันในตอนนี้ ทั้งนิยายและละคร หนีไม่พ้น ‘คุณหมีปาฏิหาริย์’ ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตลอดเวลา ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ ที่กำลังฉาย รวมถึง ‘เรื่องลับริมบังกะโล’ และ ‘สุสานสยาม’ ที่เพิ่งพิมพ์ออกมา

โดยเฉพาะ ‘คุณหมีปาฏิหาริย์’ ที่พิมพ์โดยสถาพรบุ๊คส์นี่ฮอตจริงจัง และกลายเป็นละครแนววายเรื่องแรกของฟรีทีวีช่องใหญ่อย่างช่อง 3 ด้วย

“เราตั้งโจทย์กับตัวเองไว้ว่า จะต้องเป็นนิยายวายที่อ่านได้หลายระดับ คือคนที่เป็นเด็กอ่านวายเลยก็อ่านได้ ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ สายตีความวรรณกรรมก็อ่านได้ เลยมีการพูดถึงซีนมุ้งมิ้ง ถึงปัญหาชีวิต สังคม บ้านเมือง แล้วแต่คนจะตีความอย่างไร เรามองว่าการกดทับไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว เหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำ อยู่ในสังคมเดียวกัน ยังไงก็ต้องสร้างวงกระเพื่อมต่อไปแน่นอน จุดนี้ทำให้เห็นว่าพ่อแม่ที่กดทับลูกเป็นยังไง แล้วทำไมแม่ที่รักลูกมาก ๆ ทำไมถึงยอมรับไม่ได้ หรือจริง ๆ เขายอมรับได้ แต่มีบางสิ่งก็กดทับเขาเหมือนกัน

การอ่านวรรณกรรมทำให้เรากว้างขึ้น เช่นเดียวกับการเขียนที่ทำให้เราคิดและตั้งคำถามว่าทำไม แต่ไม่ว่าเขียนจากจุดไหน ก็จะเขียนถึงระบบสังคม เพราะเราอยู่ในสังคม อันนี้ก็ตอบได้ว่าทุกอย่างเกี่ยวกับการเมือง เพราะการเมืองทำให้เกิดระบบสังคม” ปราปต์อธิบาย

ปราปต์วิเคราะห์ด้วยว่า การพยายามเขียนงานที่หลากหลายของเขา เชื่อมโยงกับการไม่ผูกขาดความดีในรูปแบบเดียว ซึ่งก็สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบันเช่นกัน

“สังคมไทยตอนนี้ ไม่ใช่มีความดีในรูปแบบเดียวที่ทุกคนจะต้องเป็นแบบนั้น อย่างในยุคเรา คนที่จะอยู่รอดได้ต้องเป็นคนที่ทำงานมั่งคง ต้องเรียนวิศวะ ต้องเรียนบัญชี แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ที่เขียนหนังสือถูกมองเป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว เฮ้ย! เขาสร้างสรรค์ เขามีเงินตั้งแต่เด็ก ๆ จากแค่ 10-20 ปี ที่เราโตขึ้นมา ซึ่งดีนะ เพราะทำให้เด็กมีชีวิตที่อยากจะมี ส่วนปัญหาเรื่องอื่น ๆ ก็เป็นสับเซ็ทในเรื่องนั้น ๆ ทั้งนั้นเลย เช่น เรื่องเพศ เรื่องนับถือศาสนา ชอบการเมืองแบบไหน แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือบรรทัดฐานของสังคม กฎหมาย

ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน มีระบบสังคมที่ทุกคนพึ่งได้ คือในความแตกต่างจะต้องมีบางอย่างที่เท่าเทียมกันแบบอยู่ร่วมกันได้ และทุกคนต้องมีเมตตาต่อกัน บางทีตอนนี้เราอาจอยู่ในสังคมที่กดดันหรือเบียดขับจนเกินไป ทำให้เกิดความโกรธ ความที่ฉันไม่ยอมแล้ว จริง ๆ เรื่องพวกนี้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูเหตุผลฝั่งรุ่นใหม่ ส่วนอีกฝั่งเราจะมาสตั๊ฟให้มีความสุขสบายแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น

แค่ 10 ปีงานนักเขียนมันเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว แล้วหลังจากนี้อาจจะมองว่านี่คืองานที่มั่นคง คือทุกคนที่เกิดมาต้องมีหนังสือเป็นของตัวเองหนึ่งเล่มก็เป็นได้ เพราะเดี๋ยวนี้มีเว็บที่ลงนิยายหรือทำอีบุ๊ค หรือตีพิมพ์เป็นเล่มก็ง่ายขึ้น ตอนนี้ใครทำอะไรก็ได้ เรื่องนี้ทำให้เกิดกระจายอำนาจ ไม่มีการผูกขาดกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง และจะค่อย ๆ ดีขึ้น

เราเติบโตไปกับความเปลี่ยนแปลงนั้น และปรับตัวพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image