ตู้หนังสือ : ซอฟท์ พาวเวอร์ เฌอปราง อารีย์กุล

ตู้หนังสือ : ซอฟท์ พาวเวอร์ เฌอปราง อารีย์กุล

นักร้อง กัปตันวง BNK48 นักแสดง หญิงสาวซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมชมชื่น เฌอปราง อารีย์กุล เด็กสาวผู้มาดมั่น เข้มแข็ง เป็นต้นแบบของบรรดาวัยรุ่นที่มีความคิดอ่าน แต่ยังมีอีกหลายมุมหลายมิติชีวิตที่มิได้เป็นอย่างที่ใครคาดหมาย

จะน่าสนใจขนาดไหน หากนักเขียนเรื่อง “ฟีล กู๊ด” ชื่อดังเช่น นิ้วกลม นั่งคุย ถามตอบ ชวนคิดกับเฌอปราง ทั้งในฐานะแฟนคลับและคนทั่วไป ถอดบทเรียนที่น้อยคนจะรู้เห็นของหญิงวัย 24 ซึ่งผ่านประสบการณ์ที่ยากจะหาและลอกเลียน มาให้ผู้อ่านได้เห็นการเลือกเฟ้นและการตัดสินใจของเธอ

ในโลกซึ่งหลายพื้นที่เป็นสีขาว หลายพื้นที่เป็นสีดำ และอีกหลายพื้นที่เป็นสีเทา เราจะได้เห็นสีสันอันหลากหลายของเฌอปราง ซึ่งแต่งแต้มโลกของเธอด้วยความเด็ดเดี่ยว จนแม้แต่คนรอบข้างต่างพลอยมีสีสันเพิ่มขึ้นด้วย

ซอฟท์ พาวเวอร์ คือที่มาแห่งพลังของเฌอปาง อารีย์กุล และ ซอฟท์ พาวเวอร์ คือพลังที่เฌอปรางจะส่งมอบต่อทุกผู้คน

Advertisement

สั่งจองหนังสืองดงามเล่มนี้ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 13 กันยายน ที่สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม พร้อมภาพประกอบ ภาพถ่ายพิเศษ สไลด์ จากการออกแบบรูปเล่มพิเศษน่าจับต้องแปลกหูแปลกตา พร้อมโปสเตอร์ขนาด 260 คูณ 372 มม. พิมพ์ข้อความ go go together ลายมือเฌอปราง 1 ใบ บรรจุปลอกกระดาษอย่างดี กับโปสเตอร์ขนาด 100 คูณ 150 มม. 5 ใบ บรรจุซองจดหมายพิมพ์ข้อความเดียวกันด้านหน้า และปลอกกระดาษสวมหนังสือ พิมพ์ข้อความเช่นเดียวกันจำนวน 1 ชิ้น ให้หลับตาเห็นใบหน้าอันคมคายหมดจด กับดวงตาแป๋วแหววของเฌอปราง ไม่ว่ายามหลับหรือตื่นทั้งวันทั้งคืนไปเลย

๐ แปดเรื่องสั้นว่าด้วยความสัมพันธ์หลากรูปแบบ ไม่ว่าระหว่างพ่อแม่ คนรัก เพื่อน ครอบครัว การงาน สัตว์เลี้ยง และตัวตนที่เต็มไปด้วยรอยร้าว กระทั่งแตกหักและการเกิดใหม่หลังจากนั้น ของชีวิตที่ยอมหักไม่ยอมงอ

Advertisement

แตกเป็นแตก ของ อุรุดา โควินท์ ตอบคำถามว่า เราจะแตกหัก แหลกลาญ พลัดพราก ฉีกขาดได้สักกี่ครั้ง คำตอบคือ นับไม่ถ้วน

ในความหมายหนึ่ง แตกหักคือการทำลาย แต่ในอีกความหมาย แตกหักคือการได้สิ่งใหม่ ขอให้ส้องเสพกับการแตกหักและการได้รับสิ่งใหม่ อย่างเพลิดเพลิน

๐ นิยายยอดเยี่ยมรางวัล “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ครั้งที่ 17 เลือดข้นคนจาง ของ ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ จากบทละครโทรทัศน์ ซึ่งกลายเป็นละครชุดยอดนิยมในปี 2561 ที่มีผู้ติดตามเกรียวกราวจนคว้ารางวัลนาฏราช จากความเข้มข้นและแปลกใหม่ รวมนักแสดงแถวหน้าในวงการบันเทิงไทยไว้คับคั่ง มาเป็นหนังสือที่ละเอียดยอกย้อนและลึกซึ้งยิ่งกว่า สืบสวน สอบสวน และชวนฉงนยิ่งกว่า แน่นอน น่าอ่านและติดตรึงใจไปอีกแบบต่างจากละครในจอ

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคณะผลิตบทละคร ที่มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวลึกลับ ชวนตระหนก และน่าค้นหาในครอบครัวหนึ่ง ผ่านสายตาและความคิดของบรรดาตัวละครทั้งหลายเอง ซึ่งจะนำผู้อ่านไปพบความรัก ความเจ็บปวด ความแค้น และความสับสนภายในจิตใจ ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน โดยมี อุรุดา โควินท์ มาร่วมบรรณาธิการ และแต่งเติมหนังสือเล่มนี้ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น แม้แต่ชมละครโทรทัศน์ไปแล้วยังพลาดไม่ได้

๐ บันทึกการสนทนาที่ยาวนานกว่า 25 ปี ผู้ใดสนทนากับผู้ใดได้ยาวนานขนาดนั้น สนทนากับองค์ทะไล ลามะ ว่าด้วยชีวิต การดำเนินชีวิต และความสุข ระหว่าง ราชีพ เมโรตระ ศิษย์ชาวอินเดียรุ่นแรกๆ ขององค์ทะไล ลามะเอง กับผู้นำทางจิตวิญญาณของคนนับล้านในโลกอันคับแคบและวุ่นวายใบนี้

การสัมภาษณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2551 จนต่อมาได้เรียบเรียงขึ้นเป็นหมวดหมู่ให้เข้ากับหัวข้อหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การบรรลุนิพพาน การกลับชาติมาเกิดใหม่ สุญญตาหรือความว่าง การฝึกสมาธิภาวนา กฎแห่งกรรม และประเด็นอื่นๆ อีกมาก ให้เห็นศักยภาพอันสามารถในตัวมนุษย์เอง

ที่จะเข้าถึงความเป้นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันประสบสุขได้โดยไม่พึ่งพาวัตถุมากนัก

แต่ละบทเช่น ศาสนาในโลกใหม่, พุทธศาสนา, บทบาทของคุรุ, ความกรุณาและความสุข, ความทุกข์, กรรม, จิตสำนึกรู้, นิพพาน โมกษะ, เจตนาบนเส้นทางแห่งจิตวิญญาณ ฯลฯ ล้วนนำผู้อ่านไปสู่วิถีอันสงบสงัดของจิตใจได้

สุมนัสสา ภิญโญวัฒนชีพ แปลให้เข้าใจได้ลึกซึ้ง ผู้อ่านย่อมตระหนักได้ว่า 25 ปีนั้น สั่งสมคุณค่าของประสบการณ์ทางชีวิต จิตใจ และวิญญาณ ลึกล้ำขนาดไหน

๐ จากการประชุมวิชาการระดับชาติที่ไม่อาจละเลยของ “เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 9” ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อสิงหาคม 2558 กลายเป็นหนังสือสำคัญที่ไม่น่าพลาด ปัญญาชน ศีลธรรม และสภาวะสมัยใหม่ : เสียงของมนุษยศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยบทความจากการสำรวจ ทบทวน และตั้งคำถามต่อประสบการณ์ ความคิด ของบรรดานักคิด ปัญญาชน ในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมจารีตไปสู่สังคมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตลอดจนการถกเถียงเรื่องระบบคุณค่าเชิงศีลธรรมในบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อสะท้อนให้คิดถึงสังคมไทยเอง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจต่อกัน และเป็นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีสำนึกของการเป็นพลเมืองประชาคมอาเซียนร่วมกันในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย หรือจากแม่ศรีเรือนถึงแม่บ้านทันสมัยของ ชาติชาย มุกสง ท่านรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเซ็กส์ของ ณภัค เสรีรักษ์ นักบุญคนบาปและศีลธรรมบนท้องถนนในมะนิลาของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ตำนานของชัยเยด ฮุสเซน กับมายาคติความเกียจคร้านของชาวมะลายูของ ทรรศนะ นวลสมศรี กับ พุทธพล มงคลวรรณ เป็นต้น
อ่านเพื่อรู้จักตัวเองและเพื่อนร่วมภูมิภาคมากขึ้น

๐ นิตยสารเล่มหนึ่งซึ่งไม่น่าพลาด เนชั่นแนล จีออกราฟิก พากย์ไทยปีที่ 20? ฉบับ 229 เดือนสิงหาคม ว่าด้วยการหยุดยั้งการระบาดใหญ่ จากไข้ทรพิษถึงโควิด-19 เราเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

ตั้งแต่พบกาฬโรคในจีนทศวรรษ 1855 น่าตกใจที่ทศวรรษ 1990 ได้รู้ว่ายังมีกาฬโรคสายพันธุ์ใหม่อยู่ในมาดากัสการ์ ยังมีโปลิโอที่ระบาดในทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คนเป็นอัมพาตกว่าปีละ ๑๕,๐๐๐ คน ก็ยังพบเห็นเชื้อไวรัสได้อีก

เป็นนิตยสารความรู้ที่เสนอด้วยเนื้อหาทันยุคทันเวลา และภาพซึ่งชมที่ไหนได้ยาก

๐ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับแจวเรือไปซื้อเรือดำน้ำ เอ้า,องค์กรนักเรียนเลวลุกขึ้นมาแจว

มีแต่เรื่องน่าอ่านต้องอ่านทั้งนั้น บอส โควิด ประยุทธ์, เทคโนโลยีกำลังสร้างช่องว่าง ระหว่างคนคิดเก่ากับคนคิดใหม่, อาจารย์เรียนรู้ศิษย์ เจาะลึกม๊อบมัธยม, ชำระประวัติศาสตร์ม๊อบ, ประยุทธ์อุ้ม ๗ สายการบิน ให้ ๒.๔ หมื่นล้าน ต้องไม่ปลดคน,

จีนกร้าว สหรัฐใช้ตรรกะเผด็จการ คว่ำบาตร ๒๔ บริษัทจีน, ทัพบกรับรถบรรทุกทหารจากอินเดีย ๖๐๐ คัน ๑,๓๓๘ ล้านบาท, ลดหย่อนภาษีประกันคุณภาพ ขยับวงเงินจูงใจคนซื้อ, ไขปริศนาเผด็จการ ทำไมเจ้าเล่ห์,
และภาพจากเพลงสู่ดวงใจ รพินทรนาถ ฐากูร ฯลฯ

น่าอ่านทั้งนั้นจริงๆ.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image