ตู้หนังสือ : นามานุกรมวรรณคดีไทย คนไทยไม่รู้ ไม่สนใจ ลืมไปแล้ว

ตู้หนังสือ : นามานุกรมวรรณคดีไทย คนไทยไม่รู้ ไม่สนใจ ลืมไปแล้ว

มีคำถามอยู่ว่า โลกยุคสารสนเทศที่วิทยาการสื่อสารก้าวหน้ารวดเร็ว จนพลิกวิถีชีวิตเดิมไปฉับพลัน รูปการทำมาหากินต้องสอดคล้องกับเครื่องมือวิทยาการ ต้องรู้จักและใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงชีพได้

มนุษย์ต้องทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมไปเลยหรือไม่ ทิ้งตัวตนและรากเหง้าไปหมดเลยหรือไม่

เพราะดูท่าสิ่งนั้นๆ จะไม่ยังประโยชน์อะไรได้ในปัจจุบัน หรือเป็นสิ่งรกเรื้อล้าสมัยไปแล้ว ดูเหมือนบางประเทศอย่างเมืองไทยไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือไม่เห็นเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ

แต่ทำไมบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งคนทั่วโลกยังเห็นอัตลักษณ์เห็นภาพ “ความเป็นญี่ปุ่น” ทั้งที่ความรู้ทางวิทยาการก้าวหน้าอย่างยิ่งประเทศหนึ่งในโลก จึงยังมีรากเดิมที่หยั่งลึกและเข้มแข็ง จากคติความคิดที่กำหนดการดำเนินชีวิต เช่น การใช้สอยพื้นที่ประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาหารธรรมชาติพอดีคำ เครื่องแต่งกายที่สืบเนื่องรูปแบบแยกจากสมัยใหม่ชัดเจน วิธีการต่อสู้ป้องกันตัวที่โลกเรียนรู้

Advertisement

จนถึงภาษาที่แปลงคำสากลเป็นเสียงของตนเองโดยไม่ละทิ้งภาษาของตัวไป ฯลฯ

กลายเป็น “โอเอซิส” แห่งชีวิตและวัฒนธรรมจุดหนึ่งในโลกที่ผู้คนรู้จัก ท่ามกลางทะเลทรายสากลแห่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของใครๆ ไปเป็นตะวันตก

เปรียบเทียบกันแล้ว กระทั่งเรื่องของ 47 โรนิน พฤติการณ์ของกลุ่มซามูไรไร้นาย อันเป็นเหตุการณ์สำคัญของวิถีบูชิโดที่เกิดในเอโดะ คริสตศตวรรษที่ 18 และเป็นความทรงจำลึกล้ำเรื่องหนึ่งของคนญี่ปุ่น ที่ทุกวันนี้ ละครคาบูกิยังแสดงเป็นประจำ ทั้งให้คนญี่ปุ่นติดตามดูอย่างซาบซึ้ง ไม่ลืมเลือน และนักท่องเที่ยวได้ช่วยแพร่เรื่องราวต่อๆ ไป

Advertisement

วันนี้ ในปี 2556 ฮอลลีวู้ดยังทำเป็นหนังให้ คีนู รีฟส์ แสดง นอกเหนือจาก เดอะ ลาสท์ ซามูไร หนังระดับออสการ์ ซึ่งจำลองการเปลี่ยนผ่านจากระบอบโบราณสู่สมัยใหม่ ให้ ทอม ครูส แสดงในปี 2546 ล้วนยืนยัน “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่แตกต่างได้ในการอยู่ร่วมโลก

ชาวตะวันตกและชาวโลกต่างเข้าหาญี่ปุ่น แล้วนำแทบจะทุกเรื่องราวออกไปเผยแพร่

เมืองไทยเล่า

นอกจากอาหารไทยที่ผุดโผล่ขึ้นเป็นที่รู้จักในสากล (จากการมาค้นพบของชาวต่างชาติ จนแพร่หลายไปโดยสื่อต่างชาติ มากกว่าจะเป็นการผลักดันแสดงตัวออกมาให้เห็นเอง ของร้านอาหารไทยในต่างประเทศตอนแรกๆ ที่ครึ่งๆ เป็นของคนเวียดนามมากกว่าคนไทยเอง และมิใช่ด้วยสื่อที่ไทยเองเป็นผู้ผลิต) หรือภาษาไทยที่ถูกกร่อนหายไปกับภาษาอังกฤษวันละคำสองคำ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนบนจอโทรทัศน์ จากรายการต่างๆ โดยเฉพาะรายการกีฬาถ่ายทอดสด

และนอกจากวัดกับวังซึ่งบรรพบุรุษสั่งสมไว้เป็นอีกอัตลักษณ์ อะไรคือ “ความเป็นไทย” ในปัจจุบัน ที่ชาวต่างชาติจะเห็นได้เอง มิใช่ “ความเป็นไทย” ที่รัฐบาลหรือข้าราชการกำหนด

ซึ่งคนไทยเองยังท้องอืด ไม่ย่อย บดละเอียดให้เหลือแต่กากไม่ได้

ดังนั้น เมื่อพูดถึงหนังสือชุด นามานุกรมวรรณคดีไทย หนังสือชุดนี้จะอยู่ตรงองคาพยพส่วนไหนของกายภาพหรือชีวภาพไทย ที่ชาวไทยยังอาจรู้จัก

วรรณคดีไทย นอกจากนักเรียนที่ต้องสอบให้ผ่านแล้ว วันนี้ยังมีคนไทยกี่คนนึกถึง

อย่ามัวแต่ตัดพ้อต่อว่าเลย หากไม่มีผู้ใดสนใจ ก็ไม่มีใครสนใจ บอกว่ายุคสมัยไม่สนใจ

แต่ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เคยกล่าวเมื่อตอนเปิดตัวหนังสือชุดนี้ว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยมาโดยตลอด”

คุณหญิงได้กล่าวถึงที่มาและการจัดทำนามานุกรม และวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นให้คนไทยได้เรียนรู้วรรณคดีไทย อันเป็นงานที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ ทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะหลากหลาย เพื่อใช้เป็นฐานการศึกษาและอ้างอิงได้

นามานุกรมวรรณคดีไทยทั้ง 4 ชุด รวบรวมวรรณคดีไทยตั้งแต่สุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ทั้งวรรณคดีราชสำนักและวรรณคดีท้องถิ่น ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี (2550) จำนวน 203 เรื่อง ชุดที่ 2 ชื่อผู้แต่ง (2553) และชุดที่ 3 (2556) ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ และชื่อปกิณกะ เรียงจาก ก ถึง ฮ จำนวน 4 เล่ม กับชุดที่ 4 วรรณคดีไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2462) จำนวน 2 เล่ม

ล้วนพิมพ์ปกแข็ง บรรจุกล่องงดงาม

ทั้งหมดเรียบเรียงคำอธิบายที่มาของเรื่อง ความสำคัญ รูปคำประพันธ์ ผู้แต่ง เรื่องย่อ ตัวอย่างประกอบ ฯลฯ โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา 34 นาม ใช้เวลานาน 9 ปีจึงสำเร็จ

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รวบรวมรังสรรค์ไว้แล้ว รอรับการใช้งานสร้างคุณค่าต่อไปไว้แล้ว แต่คนบริหารสติปัญญาสังคมและสถานศึกษาจะเห็นประโยชน์ใช้สอยอย่างไร รอดูได้ไม่ยาก

๐ หนังสือขายดี 2 เล่มโดยผู้เขียนคนเดียวกัน นำชัย ชีววิวรรธน์ ซึ่งอ่านสนุก เพลิดเพลิน ได้ความคิด ลบล้างมายาคติมากมายที่ต่างจดจำเชื่อถือมายาวนาน จนอ่านแล้วอยากให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย

อยากชวนเธอไปอำผี วัคซีนป้องกันการกลัวผี กลัวสิ่งลึกลับ ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการนำผู้อ่านเข้าสู่มิติของโลกภูต ปีศาจ สัตว์ประหลาด กับความเชื่อเหนือธรรมชาติทั้งมวล เพื่อสยบสิ่งเหล่านั้นด้วยงานวิจัย โดยผู้เขียนย่อยมาให้เห็นด้วยวิธีฟิสิกส์ตรวจจับผีแบบวิทย์ๆ

เช่น ปรากฏการณ์ที่ต้องอึ้ง โทรจิต โทรจลย์ ถอดจิต ญาณหยั่งรู้อนาคต ช่างเป็นไปได้ หรือความเชื่อชวนตะลึง ฤกษ์ตกฟาก หมอดูแม่นๆ รักแรกพบ และเมื่อพบเจอตัวประหลาด ไก่ไร้หัว ซอมบี้ ผีดิบ ยักษ์ อสูร ฯลฯ สนุกพิศดารอย่างนี้ไม่อ่านไม่ได้แล้ว

อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก วิทยาศาสตร์สุดเก๋ เผยพฤติกรรมแปลกๆ เบื้องหลังอารมณ์รัก โลภ โกรธ กลัว เช่น สูดหาคู่ ไม่ใช่สูตรหาคู่นะจ๊ะ กลิ่นตัวหญิงสาวนี่แหละ หาคู่ได้ดีนัก

และทำไมต้องอย่าชวนเธอไปดูหนังรัก เพื่อเชื่อมความรักหรือประสานรอยรัก แต่หากต้องการได้ผลแน่แท้กว่า ต้องเป็นหนังแนวไหน มีใครไม่อยากรู้บ้าง

พบปัญหารักของการสับขาหลอก การลวง การมีกิ๊ก คำตอบต่อพฤติกรรมนานาทั้งหมด โดยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ตลอดถึงการอยากลืมแต่กลับจำ อยากจำกลับลืม ทำไม ต่อด้วยพฤติกรรมชวนอึ้งของการติดเน็ต โรคสมาธิสั้น โรคดิจิทัล ล้วนมีอยู่ในเล่มแล้ว อย่าได้พลาดอีกทีเดียวเชียว

๐ หนังสือที่ลูกหลานต้องชวนพ่อแม่อ่านเพื่อร่วมใคร่ครวญพิจารณา ว่าด้วยทรราชย์ : 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 ของ ทิโมธี สไนเดอร์ ซึ่งอาจารย์ เกษียร เตชะพีระ กล่าวไว้ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ว่า ทิโมธี สไนเดอร์ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ ผู้ค้นคว้าวิจัยเรื่องสงครามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร์ยุโรปมาหลายสิบปี ได้ประมวลประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วสรุปขึ้นเป็นบทเรียน 20 บท ซึ่งอาจช่วยให้สังคมอเมริกันและประเทศอื่นในโลก หลีกเลี่ยงการเสื่อมถอยจากระบอบเสรีประชาธิปไคยไปเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้Ž

20 บทของประวัติศาสตร์กับทรราชย์ และประวัติศาสตร์กับเสรีภาพที่ต้องทำความเข้าใจ
พิมพ์ครั้งที่ 2 เดือนที่แล้วนี้เอง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับ ชยางกูร ธรรมอัน แปล


๐ นิยายหรือบทละครการเมืองอันสนุกสนาน ฝีมือแปลอีกเล่มของ เนติวิทย์ เรื่อง เมื่อมาร์กซ์คืนชีพ (มาร์กซ์ อิน โซโห) ของ เฮาเวิร์ด ซินน์ ซึ่งอาจารย์ กัลยา เจริญยิ่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พูดถึงว่า บทละครนี้เขียนให้ดูร่วมสมัย ด้วยการให้มาร์กซ์ไม่ได้กลับไปโซโห กรุงลอนดอน ที่มาร์กซ์เคยใช้ชีวิต แต่ชะตากลับเล่นตลกให้มาร์กซ์กลับไปโซโห นครนิวยอร์คแทน เพราะ ระบบราชการที่อีรุงตุงนังŽ ในสวรรค์


“พระเจ้าจึงส่งมาร์กซ์ไปแถวย่านร้านค้าหรูหรา มีสินค้ายี่ห้อดังๆแทน ดังนั้น บทละครนี้จะช่วยให้ สหายŽ ทั้งหลาย เข้าใจโลกทุนนิยมที่เราอยู่ในขณะนี้ได้อย่างสนุกสนานŽ”

สนุกแค่ไหน ไม่อ่านไม่รู้แน่นอน


๐ หนังสือซึ่งเหมาะกับยุค แผนที่โรค (ดิ แอทลาส ออฟ ดีซีส – The Atlas of Disease) ของ แซนดรา แฮมเพิล แปลโดย จิรชาตา เอี่ยมรัศมี ตามรอยการเดินทางของโรคมรณะในประวัติศาสตร์ กาฬโรค ซิกา ไวรัสโคโรนา ที่น่าสะพรึงกลัว

การแกะรอยแพร่กระจายของโรคระบาด พร้อมแผนที่การเดินทาง ตั้งแต่จุดกำเนิด การแพร่ระบาด พาหะ และอิทธิพลของโรคร้ายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออารยธรรมมนุษย์

พร้อมแผนที่การเดินทางของแต่ละโรค เราจะเข้าใจ 4 เรื่องสำคัญของ อากาศพาหะ อุทกพาหะ สัตวพาหะ และมนุษยพาหะ ที่มีฤทธิ์ทำลายล้างยิ่งกว่าสงครามโลก

มาเลเรียอาจเป็นเหตุการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน หัดกับฝีดาษอาจเป็นเหตุให้ชาวอินคาที่ยิ่งใหญ่พ่ายแพ้ผู้รุกรานกลุ่มเล็กๆ กาฬโรคคร่าชีวิตคนยุโรปเกือบหมดทวีปกับชาวโลกอีก 200 ล้านคน ฯลฯ พบเส้นทางแพร่ระบาดของ 20 โรคร้ายแรงที่สร้างความสูญเสียใหญ่หลวงแก่มนุษย์ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา

พร้อมแผนที่ที่จะช่วยให้เห็นภาพในอีกมิติที่ไม่เคยเห็น กับแบบแผนอันลึกลับที่ซ่อนอยู่ในแผนที่การเดินทางกับพาหะอันหลากหลายเหล่านั้น

จะทำให้เราตระหนักว่ากำลังอยู่ในช่วงสำคัญแห่งหายนะช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก

มิใช่วิกฤติเช่นวิกฤติอื่นๆ แต่เป็นมหาวิกฤติ


๐ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว เพื่อการถกเถียงในบ้านอัันครื้นเครง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับรุกในถอย อ่านคดีบอสเขย่าตำรวจ อัยการ ภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำกับ 3 หมายจับหวังฟื้นศรัทธา อ่านเกมม๊อบปลดแอก ปลายทางรัฐประหารฮ่องกงโมเดล อ่าน 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ โอลด์ เควสชั่น แต่ไม่เอาท์ ออฟ เดท อ่านหนุ่มเมืองจันท์ เหมือนที่แตกต่าง ที่ช่วยให้เห็นความไม่จริงจากความจริง

อ่านโค้งแรกก็ถอยเสียแล้ว รัฐมนตรีฯคลังไขก๊อก คนนอกพ่ายคนการเมือง กรณีการบริหารแบบประยุทธ์ บริหารโดยไม่บริหาร อ่านขัดแย้งด้วยวัยหรือความเชื่อ

อ่านทำไมจีนถูกกล่าวหาเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ อ่านกลุ่มไทยภักดี กันชนรัฐบาล ฯลฯ

ขอให้แคล้วคลาดจากโรคระบาดทุกๆระลอก ไหนๆไม่อาจแคล้วคลาดจากโรคระบาดการเมืองแล้ว.

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image