14 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเล่มที่อยากชวนทบทวน ความซ้ำซากของการเมืองไทย

14 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเล่มที่อยากชวนทบทวน ความซ้ำซากของการเมืองไทย

วันนี้ 19 กันยายน 2563 หลายๆ คนคงไปร่วม #ทวงคืนอำนาจราษฎร ที่แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังคงยืนยันใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดการชุมนุมใหญ่ถึง 2 วัน คือ 19-20 กันยายน

ย้อนกลับไปในอดีต วันนี้เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเกิดเหตุการณ์ที่แทบไม่น่าเชื่อในวันนั้นเลยว่าจะเกิดขึ้น หลังจากห่างหายไปเป็น 2 ทศวรรษ หลังพลังอำมาตยาธิปไตยแทบจะหมดพลังไปโดยสิ้นเชิงหลังพฤษภาคม 2535 แต่ใช่ กลับมา และพลังเหล่านี้ยังเป็นความหวังของสังคมวันนั้นในการฝ่าวิกฤต

การกลับมาวันนั้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ กลายเป็นใบเบิกทางของการคิดว่า รัฐประหารคือการปลดล็อกทางการเมือง ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และเมื่อมีปัญหาที่ยากจะแก้ รัฐประหาร 2557 จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

เราจะไม่มีทางเข้าใจปัจจุบันได้เลย ถ้าหากเราไม่ศึกษาอดีต ว่าเหตุแห่งการตัดสินใจวิธีคิดต่างๆในอีกโลกหนึ่งซึ่งเชื่อมั่นว่า รัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้ และยังคงใช้อยู่อย่างซ้ำซาก ทั้งที่ทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนั้น มีวิธีคิด มีความเชื่อเดิมเช่นไร

Advertisement

และนี่คือหนังสือเกี่ยวกับ 19 กันยา 2549-รัฐประหารครั้งที่ 12 ที่เราอยากชวนอ่าน

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย(A History of Thailand) โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร จาก สนพ.มติชน คือเอนไซโคลปีเดียการเมืองไทยร่วมสมัยแบบสุดๆ เป็นเล่มที่เบิกเนตรหลายคนมาแล้ว อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกว่า ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย คือหนังสือที่อ่านแล้ว ทำให้เราอาจกลายเป็นคนใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เล่มนี้จะพิมพ์ซ้ำอยู่บ่อย พิมพ์ซ้ำแทบทุกปี ล่าสุดปีนี้ก็เพิ่งพิมพ์ปกใหม่

Advertisement

การรัฐประหารครั้งที่ 12 นั้น เกิดขึ้นหลังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2549 ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร กำลังกล่าวคำปราศรัยในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้อธิบายไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (A History of Thailand) ว่าแม้ว่าในการเลือกตั้งสมัยแรกพรรคไทยรักไทยและหัวหน้าพรรคคือ ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ แต่สมัยที่ 2 กลับแตกต่างออกไป การเลือกตั้งสมัยแรกทักษิณได้รับแรงหนุนจากชนชั้นนำ ในสมัยที่ 2 มีความแตกต่าง ผู้นิยมเจ้าจัดๆ มองว่าความนิยมทักษิณที่พุ่งสูงเด่นท้าทายสถาบันอีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เป้าหมายหลักของรัฐประหารครั้งนี้นั้นคือ เพื่อปรับดุลอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ โดยมีตัวแบบโครงการคือสมัยหลัง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

เป้าหมายหลักของรัฐบาลรัฐประหาร ก็เพื่อปรับดุลอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ด้วยการกำจัดอำนาจของทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง (ส.ส.) และนำอำนาจกลับคืนให้กับฝ่ายข้าราชการและทหาร ตัวแบบของโครงการนี้คือ 6 ตุลา 19 เมื่อครั้งที่ผู้ก่อการรัฐประหารหลายคนมีบทบาทในการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ เอกสารลับของคณะผู้ก่อการฯ แสดงว่ากลุ่มของพล.อ.สนธิมีจินตภาพว่า นักเคลื่อนไหวสมัยทศวรรษ 2510 ที่อยู่ในพรรคไทยรักไทยเป็นหัวหอกของแผนการคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาฝังตัวอยู่ในการเมืองเลือกตั้ง …..

รัฐบาลรัฐประหารเอาอย่างกองกำลังติดอาวุธแบบไม่เป็นทางการที่เคยทำในอดีตสมัยปราบคอมมิวนิสต์ โดยจัดตั้งหน่วยทหารพิเศษส่งไปที่หมู่บ้านภาคเหนือและอีสาน เพื่อชักชวนให้ชาวบ้านเลิกสนับสนุนทักษิณและพรรคไทยรักไทย

ในหนังสือเล่มนี้ศึกษาภาพรวมและวิเคราะห์ปัจจัยและผลการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเมืองไทยในรอบสองศตวรรษครึ่งจนถึงปลายทศวรรษ 2550 ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากๆ ควรเป็นหนังสือประจำบ้านอย่างยิ่ง สนพ.มติชนพิมพ์ซ้ำมาอีกเมื่อกลางๆ ปีนี้

อีกเล่มเป็นของ สนพ.ฟ้าเดียวกัน สำนักพิมพ์ขวัญใจนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ในวันนี้ น่าจะยังพอมีเหลืออยู่บ้างกับ รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รวมบทความของนักวิชาการชื่อดังมากมาย อาทิ ข้ามไม่พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา: ประชาธิปไตยแบบใสสะอาดของอภิชนกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย ธงชัย วินิจจะกูล, การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการทำให้พลเมืองกลายเป็นไพร่ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, การเมืองน้ำเชี่ยว: รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง โดย เกษม เพ็ญภินันท์, หลักนิติรัฐประหาร โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล และฐานะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นต้น

อีกเล่มที่ไม่อยากให้พลาดคือ เผด็จการวิทยา โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จาก สนพ.มติชน หนังสือที่สะท้อนภาพความจริงของระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย นับแต่ทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดพื้นฐาน วัฒนธรรมและอำนาจนิยม กองทัพและความมั่นคง การสื่อสารในยุคสมัยเผด็จการและการเคลื่อนไหวทางสังคม รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและบทเรียนจากต่างประเทศ รวมถึงความปรองดองสมานฉันท์และสังคมยุคหลังเผด็จการ

แม้จะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง แต่แนะนำให้อ่าน เพื่อความเข้าใจการเมืองของไทยได้ดียิ่งขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งคำถามว่าทำไมประชาธิปไตยของไทยถึงช่างง่อนแง่นเหลือเกิน แต่ทำความเข้าใจกับเผด็จการที่คนไทยคุ้นเคย อย่าง ระบอบเผด็จการแบบทหาร

ไปม็อบอยากชวนอ่าน ยิ่งไม่ไปม็อบ ยิ่งอยากชวนอ่าน

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image