เพียงความเคลื่อนไหวของ “ความทรงจำ 6 ตุลา 2519” ในนิยายไทยร่วมสมัย

เพียงความเคลื่อนไหวของ “ความทรงจำ 6 ตุลา 2519” ในนิยายไทยร่วมสมัย

จากกระแสความตื่นตัวของเด็กและเยาวชน ที่หันมาสนใจหนังสือแนวประวัติศาสตร์และการเมืองมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้หนังสือแนวนี้ได้รับการพูดถึงมากขึ้นอย่างเป็นปรากฏการณ์

แต่ไม่ใช่มีเพียงผลงานเชิง Non Fiction เท่านั้น ที่เรียกความทรงจำในอดีตออกมาหาปัจจุบัน ในสายงานเชิงวรรณกรรม ยังมีอีกมากมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนวนิยาย เพราะสิ่งที่งานวรรณกรรมสามารถทำได้มากกว่างานสารคดีคือ การใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์มาถ่ายทอดสิ่งที่ไม่สามารถ หรือไม่ต้องการที่จะพูดออกมาโดยตรง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่แม้แต่หนังสือเรียนยังเขียนไว้เพียงไม่กี่บรรทัด และมีบางส่วนของเหตุการณ์ที่ทาบทับกับการเมืองไทยปัจจุบันอย่าง (ไม่) น่าประหลาดใจ

หลังจากเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุมกลางเดือนพฤษภาคมปี 2553 นวนิยายไทยหลายเรื่องได้ใช้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นส่วนหนึ่งของนวนิยาย โดยเชื่อมโยงกับบริบททางการเมืองไทยร่วมสมัย  การสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคมปี 2553 เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นวนิยายจำนวนหนึ่ง เขียนขึ้นโดยเลือกใช้ความทรงจำต่างๆในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในการเมืองไทยร่วมสมัย โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะความทรงจำบางส่วนที่สังคมมีต่อ 6 ตุลาคม 2519 มีลักษณะที่ชวนให้นักเขียนกลับไปเทียบความเหมือนของเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 2553 อาทิ ความคลุมเครือของข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และความขัดแย้งในการตีความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวของสังคม

นิยายหลายเรื่อง อาทิ  ประวัติศาสตร์ของความเงียบ โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล ตีพิมพ์เดือนมีนาคมปี 2555 โปรดจงโอบกอดฉันไว้ โดย ปรีดี หงษ์สต้น ตีพิมพ์เดือนมีนาคมปี 2555 อนุสรณ์สถาน โดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตรวัฒน์ ตีพิมพ์เดือนมีนาคมปี 2556  เนรเทศ โดย ภู กระดาษ ตีพิมพ์เดือนตุลาคมปี 2557 หลงลบลืมสูญ โดย วิภาส ศรีทอง ตีพิมพ์เดือนมีนาคมปี 2558  ดังนั้นจึงสิ้นสลาย ของ นิธิ นิธิวีรกุล ตีพิมพ์เดือนมีนาคมปี 2558  มีจุดเน้นและความเชื่อมโยงสัมพันธ์ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวชีวิตของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคมไทย ซึ่งเป็นไปใน 2 ด้าน ได้แก่ การผูกโยงเรื่องราวทั้งก่อนที่และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมาถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงในปี 2553

Advertisement

การปรากฏของนวนิยายดังกล่าวมีเงื่อนไขจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเชี่อมโยงกับประเด็นเรื่องความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชน ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความยุติธรรมกับศีลธรรม หากมองวรรณกรรมกลุ่มนี้ผ่านแว่นของความทรงจำวัฒนธรรม จะทำให้เห็นอัตลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความทรงจำร่วมกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสามารถตีความได้ถึงบางบริบททางการเมืองหลังปี 2553 และแสดงให้เห็นถึงการตีความอดีตที่คัดง้างกับประวัติศาสตร์ฉบับทางการ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมในฐานะสื่อความทรงจำ

นวนิยายกลุ่มนี้ล้วนท้าทายและตั้งคำถามอัตลักษณ์ประวัติศาสตร์ชาติที่แข็งตัวแบบเดียวที่ครอบงำวิธีอธิบายแบบอื่นคือทำให้เห็นความหลากหลาย รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าอุดมการณ์ที่กดทับความแตกต่างจะส่งผลกระทบต่อปัจจุบันและอนาคต

Advertisement

ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความแตกต่างกัน กล่าวคือในขณะที่ฝ่ายรัฐตีความว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถตีความว่าเป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน เมื่อนวนิยายที่เขียนขึ้นหลังเดือนพฤษภาคมปี 2553 นำเสนอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นความทรงจำที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองจากจุดยืนปัจจุบัน อาทิ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  เป็นความรุนแรงซึ่งเป็นอาชญากรรมที่รัฐกระทำกับประชาชน และความรุนแรงนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างสุดขั้ว เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์ชาติ ดังการวิเคราะห์ของธงชัย วินิจจะกูล ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์กระแสหลัก หลังเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่จากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง แล้วติดตามมาด้วยการบิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ ซึ่งมีนัยหมายถึงการลบล้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีส่วนทำให้นวนิยายกลุ่มนี้ย้อนทบทวนถึงการทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกหลงลืม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านวนิยายกลุ่มนี้จะเชื่อมโยงความรุนแรงทางการเมืองในอดีตเข้ากับกับความรุนแรงทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ก็เห็นถึงการนำเสนอความทรงจำที่แตกต่างกันในหลายประเด็น อาทิ ความคลุมเครือของเหตุการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การหลงลืมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผล ที่มีความพยายามทำให้เกิดการหลงลืม ตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  ยังไม่มีการไต่สวนเพื่อสืบหาผู้กระทำผิด นอกจากนี้ นวนิยายกลุ่มนี้ยังนำเสนอปัญหาทางโครงสร้างของสังคม ที่ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม โดยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาและมีลักษณะของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีบางส่วนที่คาบเกี่ยวและซ้อนทับกันอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นของสาเหตุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย และวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของอำนาจรัฐในแต่ละยุค

นี่คือสิ่งที่นวนิยายไทยร่วมสมัยทำได้ และทำได้ดีอย่างน่าภาคภูมิ ในวันที่สังคมไทยตั้งคำถามถึงอดีต ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน

……….

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image