ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ : เปิดมุมมองใหม่ของทุกชีวิตในอยุธยา

ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ : เปิดมุมมองใหม่ของทุกชีวิตในอยุธยา

“ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” เป็นผลงานล่าสุดของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

จริงอยู่ ที่มีหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาอยู่มากมายในบรรณพิภพ แต่เล่มนี้ที่กำลังเป็นไฮไลต์สุดฮอตของบูธสนพ. มติชน H26 ในงานมหกรรมหนังสือที่เมืองทองธานี มีความแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ในหลายมุม

หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นที่ของการกล่าวถึง “พัฒนาการของมนุษย์ทุกชีวิต” ในกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่ สามารถดำรงอยู่ยาวนานได้ถึง 5 ศตวรรษ หรือ 500 ปี ซึ่งแม้จะล่มสลายไปแล้วในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่อยุธยายังคงส่งต่อวัฒนธรรม ศิลปกรรม การเมืองการปกครองไปสู่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกด้วย

“ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” คือการเขียนประวัติศาสตร์ตามลูกศรของเวลาที่จะมุ่งสู่อดีตไปหาปัจจุบันเสมอ ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพของอยุธยาตั้งแต่ก่อนที่จะกลายเป็นรัฐ เห็นพัฒนาของสังคมมนุษย์เริ่มจากอดีตเมื่อภูมิประเทศว่างเปล่า แล้วตามลูกศรของเวลาดูว่ามนุษยชนใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากิน สร้างสังคม จัดตั้งสถาบันได้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคม-สามัญชน จนกระทั่งเป็นรัฐ-อาณาจักร การสงคราม การค้าซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำรงความยิ่งใหญ่ของอยุธยา ความสัมพันธ์กับจีน เพื่อนบ้าน และชาติตะวันตก การล่มสลาย และการกำเนิดกรุงเทพฯ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 500 ปี ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ผู้อ่านจะได้เห็นภาพทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกของอาณาจักรอยุธยาได้สมบูรณ์แบบและครบถ้วนที่สุด

Advertisement

อีกนัยหนึ่ง การเขียนประวัติศาสตร์เช่นนี้จะไม่ได้กล่าวถึงแต่เพียงเรื่องราวของกษัตริย์เฉกเช่นที่ปรากฏในประวัติศาสตร๋ชาตินิยมที่ไม่ให้พื้นที่ใดๆ กับสิ่งที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าความเป็นชาติ หลักฐานที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้จึงมีความหลากหลายทั้งจากเอกสารของไทย เอเชีย และตะวันตก ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า “เราไม่สันนิษฐานว่าสิ่งใดปรากฏอยู่ในอดีตจนกว่าจะเห็นได้ในหลักฐาน”

ผู้เขียนอธิบายไว้ว่า การเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ใช้ 3 วิธีหลัก คือเขียนประวัติศาสตร์สังคม แบ่งตามยุคสมัย และตามลูกศรของเวลา โดยตั้งใจจะให้เป็นประวัติศาสตร์สังคม ที่ไม่ได้เขียนเพียงเรื่องราวของผู้ปกครองเท่านั้น แต่เน้นการพัฒนาของสังคมมนุษย์ที่ผู้เขียนประกอบร่างสร้างขึ้นได้จากข้อมูลต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งสมัยอยุธยาที่มีระยเวลายาวถึง 500 ปี หรือประมาณ 20 ชั่วอายุคนนั้น ทำให้เห็นได้ว่าสังคมอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด

Advertisement

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังกล่าวด้วยว่า การวิจัยตามลูกศรของเวลา “time’s arrow” ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ ไม่เคยย้อนกลับ จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมไม่ไปตามลูกศรของเวลา แต่เขียนกลับหัวกลับหาง เริ่มจากปัจจุบันเมื่อมีชาตินิยมและประเทศชาติแล้ว โคจรกลับเข้าหาอดีตเพื่อแสวงหารากเหง้าของชาติ ประเทศชาติ และส่วนประกอบอื่นๆ ของโลกปัจจุบัน อะไรที่ไม่เกี่ยวกับการแสวงหารากเหง้านี้ จะไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์แบบนี้ นอกจากนั้นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมยังมีส่วนผลักดันให้หลายสิ่ง เช่น เมือง รัฐ สถาบัน แนวคิด ย้อนกลับไปไกลในอดีต เพื่อให้ชาติและประเทศชาติมีรากเหง้าที่ลึกกว่า ซึ่งในทางตรงข้าม หากเริ่มจากอดีตเมื่อภูมิประเทศว่างเปล่า แล้วศึกษาตามลูกศรของเวลา ก็จะเห็นได้ว่ามนุษยชนใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากิน สร้างสังคมได้อย่างไร

ซึ่งขอย้ำว่า หนังสือเล่มนี้จะไม่สันนิษฐานว่าสิ่งใดปรากฏอยู่ในอดีต จนกว่าจะได้เห็นหลักฐาน

เป็นอีกเล่มที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ “อยุธยา”
….

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image