ตู้หนังสือ : ฉลอง 44 ปี ‘มติชน’ ลดราคาหนังสือดีถึง 40%

ตู้หนังสือ : ฉลอง 44 ปี ‘มติชน’ ลดราคาหนังสือดีถึง 40%

แล่นกองเรือสิ่งพิมพ์ฝ่าคลื่นลมที่เอาแน่นอนไม่ได้มานานถึง 44 ปี วันนี้แม้จะยังจอดเทียบท่าประชาธิปไตยไม่ได้นิ่งสนิท ก็ควรจะฉลองกันได้บ้างประสาผู้ส้องเสพสารแห่งปัญญาเลี้ยงชีวิต จึงได้ลดราคานิตยสารสำคัญซึ่งอยู่คู่สัมมาทิฏฐิและสัมมาชีพ ช่วยให้ดำเนินตนได้ในวิถีอันควร 3 ฉบับถึง 40 เปอร์เซนต์ ตอบแทนคุณอุดหนุนทั้งบรรดาผู้คิดเหมือนและคิดต่าง ที่ได้ร่วมเส้นทางค้นหาแสงสว่างปลายขอบฟ้าอนาคตกันมา

มติชนสุดสัปดาห์ รายสัปดาห์ ปีหนึ่ง 52 ฉบับ จากราคา 3,692 บาท รวมค่าส่งแต่ละฉบับ เหลือเพียง 2,700 บาท

นิตยสารซึ่งครบทุกรส จนเรียกได้ว่าเป็นนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ทั้งที่มีเนื้อหาสารพันไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในชีวิตความเป็นอยู่และศิลป นอกเหนือเรื่องทหาร การต่างประเทศ บันเทิงในและนอกประเทศ วิเคราะห์วิจารณ์รอบด้าน ด้วยสติปัญญาระดับนักวิชาการชั้นนำของสถาบันต่างๆ ในประเทศ
เป็นนิตยสารซึ่งมีชีวิตอยู่ยาวนานมาพร้อมๆ กับเครือมติชน จึงสมบุกสมบันพรั่งพร้อมด้วยประสบการณ์ที่จำเป็นต้องอ่านเอาข้อมูลรายละเอียดที่ตรงไปตรงมา เพื่อประกอบการพิจารณาโลกแวดล้อม
อ่านเพื่อเข้าใจ เพื่อตั้งมั่นเตรียมพร้อมรับมือปัญหา และเพื่อตระหนักรู้ในอุเบกขา

Advertisement

ศิลปวัฒนธรรม รายเดือน ปีละ 12 ฉบับ ซึ่งมีอายุยืนยาวมาถึง 42 ปีด้วยเนื้อหาคมเข้ม ปีละ 1,692 บาท รวมค่าส่งแต่ละฉบับ ลดเหลือเพียง 1,200 บาท ถูกกว่าบุฟเฟต์อาหารทะเล แต่อิ่มความคิดและภูมิรู้ไปชั่วชีวิต
นิตยสารอันเป็นที่ชื่นชอบของทั้งนักวิชาการซึ่งใช้เป็นพื้นที่ถกเถียงทฤษฎีกับข้อมูลเท็จจริงกันได้อย่างเสรี นายธนาคารที่อยากรู้ภูมิหลังของบ้านเกิดเมืองนอนกับทบทวนความรู้แท้ที่ได้ร่ำเรียนมา หรือนายทหารผู้สนใจประวัติศาสตร์นอกตำรา

ฯลฯ นอกเหนือนักเรียนนักศึกษาประชาชนที่อยากรู้เกี่ยวกับตัวเอง

เป็นนิตยสารที่ทั้งอ่านข้อมูลเดิมด้วยมุมมองใหม่ วิธีคิดใหม่ รวมถึงวิธีคิดที่เคยตั้งใจข้ามไปไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด เพื่อตีความสันนิษฐานความเป็นไปได้ในประวัติศาสตร์ให้ใกล้เคียงความจริงได้มากที่สุด ทั้งอ่านเป็นประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ประชาชน มิใช่เพียงประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือประวัติศาสตร์ชนชั้นนำตามพงศาวดารบันทึก

จึงเป็นนิตยสารประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ให้มุมมองกว้าง หลุดพ้นจากกรอบอันคับแคบที่เคยตีปิดไว้ สร้างทัศนวิสัยใหม่ไม่หยุด

เทคโนโลยีชาวบ้าน นิตยสารรายปักษ์ วางตลาดทุกวันที่ 1 กับ 15 ปีละ 24 ฉบับ 1,704 บาท ลดเหลือปีละ 1,300 บาท

นิตยสารซึ่งผู้อยู่นอกเขตความสนใจคาดไม่ถึง เนื่องจากเหมาะกับยุคสมัยการแสวงทำมาหากินอย่างที่สุด ยิ่งสังคมต้องปิดพื้นที่ระวังตัวโรคระบาด ยิ่งเป็นหนังสือชี้ช่องทำอาชีพ ไม่ว่าการเลี้ยงไม้ดอก ไม้ประดับ ปลูกผักปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ การเกษตร ความรู้ในการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่ว่าใหญ่ล็ก แม้แต้ในบ้าน

ชาวบ้านแต่ละแห่งแต่ละชุมชนล้วนมีภูมิปัญญาเลี้ยงดูตัวเองมา มีเทคโนโลยีของตัวเอง บ้างสืบทอดบรรพบุรุษ บ้างดัดแปลงประยุกต์ เลี้ยงครอบครัวมาได้ ประสบการณ์ของใครสักคนในแต่ละฉบับ หรือเรื่องๆ หนึ่งอาจช่วยให้ใครฟื้นตัวสร้างฐานะขึ้นได้

เป็นนิตยสารซึ่งคนทำกินพลิกอ่านแล้วชอบ

หากบอกรับเป็นสมาชิกทั้ง 3 ฉบับ ยังจะลดให้อีกเป็นเลขกลมๆ ถ้วนๆ 5,000 บาท จากที่ลดรวมกันแล้ว 5,200 บาท ระหว่างระมัดระวังตัวจากโรคระบาด เหมาะจะอ่านที่สุด

หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านสนุกได้ โดยนักเขียนเกาหลี ๐ปักจองโฮ๐ สอนเศรษฐศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัว โดยนำปัจจัยในชีวิต เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย มาเป็นประเด็นใส่ กิน สร้าง ให้ความรู้ที่ซ่อนกับชีวิตประจำวันหรือประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจง่ายขึ้น

อาจเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ปัจจัย 4 ก็ได้ แต่นี่มีแค่ 3

เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาดให้เป็นเรื่องปกติ แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส แค่พลิกดูก็รู้แล้วว่าแต่ละเรื่องต้องสนุก เช่น เศรษฐศาสตร์การใส่ ที่มาของสีฉูดฉาดบนเครื่องแบบทหารสมัยนโปเลียน, เหตุผลที่ซิปใช้เวลานานกว่าจะมาแทนที่กระดุม, ทำไมชุดแต่งงานจึงเป็นสีขาว ฯลฯ หรือเศรษฐศาสตร์การกิน ต้นกำเนิดแฟนต้ามาจากฮิตเลอร์จริงหรือ, ทำไมถึงลดน้ำหนักล้มเหลวกันอยู่เรื่อย, การเกิดหมูทอดราดซอสเปรี้ยวหวาน, อะไรคือจุดเหมือนของมันฝรั่ง ปลาทูนา ผักโขม ฯลฯ หรือเศรษฐศาสตร์การสร้าง คนสวยแต่งงานกับใคร, ทำไมต้องให้แหวนเพชรตอนแต่งงาน, มีภาษีต้องจ่ายตามจำนวนหน้าต่างด้วยหรือ ฯลฯ
เรื่องรอบตัวเราล้วนมีหลักเศรษฐศาสตร์กำกับอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น อ่านแล้วจะทำให้มองชีวิตได้กว้างขวางและคิดได้รอบด้านยิ่งขึ้น

จากคุณหมอเจ้าของเพจ “ทฤษฎีแห่งรัก” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 80,000 บัญชี และได้ชวนทดลอง “36 คำถามที่ทำให้คนตกหลุมรัก” ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมเต็มทุกครั้ง คุณหมอ ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์ เขียน เหตุเกิดจากความเหงา ให้อ่านมองตัวเองและคนรอบข้างด้วยปรารถนาดี

ให้เข้าใจถึงปฐมบทแห่งความเหงา, อยู่คนเดียวก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ได้, ความเหงาเป็นโรคติดต่อ (ง่ายกว่าติดหวัดเสียอีก-ฮ้า), สมองของความเหงา, เสียงเพลง ยาบรรเทาความโดดเดี่ยว,

หรือเพราะเธอเลือกมากใช่ไหม ถึงได้โสด, ลมหนาวมาเมื่อไหร่ใจฉันคงยิ่งเหงา จริงไหม, เราคงเจอมนุษย์ต่างดาวก่อนเจอเนื้อคู่, หาคนที่ใช่ใช้คณิตศาสตร์ช่วยได้, สมการแห่งชีวิตคู่คืออะไร ฯลฯ

มีการทดลองแล้วว่า ตอนเหงาเราจะรู้สึกหนาวกว่าตอนปกติจริงๆ แล้วถ้าเป็นคนเหงา ก็มีโอกาสตายเร็วกว่าคนปกติถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ไม่ว่าคนเหงาหรือคนไม่เหงา หากอยากเข้าใจเรื่องนี้ก็ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจช่วยตัวเองหรือคนรอบข้างได้

เจ้าของงานระดับโนเบลไพรซ์ปี 2525 ที่คนส่วนมากรู้จักจาก ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เล่มโต กาบริเอล การ์ซิอา มาร์เกซ ซึ่งเขียนเรื่อง เมืองโสมม ด้วยความหลงใหลที่เชื่อมโยงความเป็นนักรักอันเปี่ยมสีสันของวีรบุรุษ ที่ทำให้ผู้นำบางคนมองว่า ทำลายชื่อเสียงของหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดของภูมิภาค โดยแสดงภาพที่เสื่อมเสียต่อชาวโลกของ

ซีโมน โบลิวาร์ นักปฏิวัติผู้ปลดปล่อยแผ่นดิน 1 ใน 3 ของทวีปอเมริกาใต้ให้เป็นอิสระจากสเปน ผู้ให้กำเนิดประเทศต่างๆถึง 6 ประเทศ

แต่จาก นายพลในเขาวงกต ที่แปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ เล่มนี้ มีผู้เปรียบเหมือนยาชูกำลังอันสดชื่นแก่วัฒนธรรมละตินอเมริกัน จนได้รับความนิยมชมชื่นจากบรรดาสื่อวรรณกรรมหลายต่อหลายราย

“เขียนได้อย่างเทพผู้พร่ำอำนวยพรแก่เราอีกครั้ง ด้วยการสำแดงสิ่งอัศจรรย์” ยูเอสเอ ทูเดย์ ว่า

“หนังสือแห่งความรุ่มรวยหลากหลาย ท้าทายและทรงคุณค่าในระดับแตกต่างกันไป” เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ไทม์ ยกย่อง

“มาร์เกซแสดงพลังของถ้อยคำ ใช้จินตภาพบรรยายพื้นทวีปซึ่งมีภูมิทัศน์เศร้าหมองชวนคำนึงถึงไม่รู้จบสิ้น และสุดแสนอัศจรรย์ล้นเหลือ” บอสตัน ซันเดย์ โกลบ นิยมชมชื่น

นักเลงวรรณกรรมคงต้องหาอ่านพิสูจน์กันแล้ว


อ่านงานระดับนักเขียนรางวัลโนเบลปี 2511 อีกเล่ม ของ ยาสึนาริ คะวะบะตะ ซึ่งเป็นนิยายสุนทรสังวาสหรืออีโรติคระดับมาสเตอร์พีซ ยิ่งแปลโดยนักเขียนมือเอกเช่น แดนอรัญ แสงทอง ยิ่งน่าอ่านสาหัส ดังผู้แปล (ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ เอดเวิร์ด ไซเดนสติคเกอร์) ว่า ตัวเนื้อหาของนิยายเป็นความอุกอาจ ที่กล่าวถึงการเสพสังวาสอย่างถึงพริกถึงขิงด้วยภาษาอันสุภาพ กล่าวถึงกลิ่นอายอันเกิดจากการเสพสังวาสด้วยภาษาอันแสนสุภาพ ในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่ง

ทั้งเป็นหนังสือเล่มที่กวีและนักเขียนจากตระกูลซามูไรซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลถึง 3 ครั้ง ยูกิโอะ มิชิมะ ผู้คว้านท้องตัวเองเสียชีวิตในปี 2513 เพื่อกู้เกียรติสมเด็จพระจักรพรรดิและเกียรติภูมิของประเทศที่มีกองกลังป้องกันตนเอง แต่มิใช่กองทัพ กล่าวถึงงานเล่มนี้ว่า

“การอ่าน เคหาสน์เทวีนิทรา (House of the Sleeping Beauties) นั้น เหมือนกับการลงไปอยู่ในเรือดำน้ำกับบรรดาตัวละครในเรื่อง และเจ้าเรือดำน้ำผีบ้าลำนั้นก็เหลืออากาศให้หายใจได้จำกัดจำเขี่ย เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงตอนเข้าด้ายเข้าเข็ม เราผู้เป็นคนอ่านอาจถึงแก่นัยน์ตาพร่า และเหงื่อกาฬแตกพลั่ง เพราะอยู่ดีๆคนเขียนก็บอกเราว่า แรงเกรี้ยวของดำฤษณาอันชวนพรั่นนั้น ถูกเสือกไสไล่ส่งมาด้วยความกระชั้นชิดของความตาย”

ชวนอ่านดีไหม


สุดสัปดาห์อีกแล้ว มีอะไรแตกต่างไหม ระหว่างวันหยุดเมื่อตอนปกติกับวันหยุดช่วงไวรัสระบาด เพียงแต่หาหนังสือดีๆอ่านแล้ว ก็อย่าลืมนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ๐มติชนสุดสัปดาห์๐ เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจในการเข้าใจโลกและสังคมติดบ้านไว้ด้วย

ขอคุณพระคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากโรคระบาดร้ายแรงทุกคน.

————————————

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image