ตู้หนังสือ : สุโขทัย อยุธยา ไม่ได้สืบทอดต่อกันมา

ตู้หนังสือ : สุโขทัย อยุธยา ไม่ได้สืบทอดต่อกันมา

เป็นประโยคประชดประเทียดเสียดสีมานานหลายทศวรรษ เกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของคนทำงาน ไม่ว่าจะแค่ในองค์กร หน่วยงาน ร้านค้า หรือใหญ่ถึงระดับประเทศ ว่าที่คนกลัวกันที่สุดคือ “โง่แล้วขยัน” อันตรายไม่ว่ากับงานใดๆ สุดสุด

ถ้าในบริษัทก็อาจวินาศไปทั้งแผนก หรือพังไปทั้งองค์กร แต่หากระดับปรเทศละก็ ไม่รู้ชาวบ้านประชาชนจะตกทุกข์เลือดตากระเด็นสักขนาดไหน

อย่ากระนั้นเลย มาศึกษา โง่ศาสตร์ กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา กันหน่อยท่าจะดี หนังสือเล่มนี้ คาร์โล เอ็ม.ชิปอลลา  เขียนในชื่อ The Basic Laws of Human Stupidity หรือกฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่ของคน-ความโง่ก็ต้องมีกฎพื้นฐานด้วย ไม่ใช่โง่เฉยๆ ก็ได้นะ

Advertisement

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปลให้เข้าใจเพื่อให้เห็นว่า มีคนโง่อยู่รอบตัวเรา แถมมีจำนวนมากมหาศาลเกินกว่าจะคาดคิดด้วย และคนโง่เหล่านั้นกำลังจะครองโลกใบนี้ – น่ากลัวไปหน่อยหรือเปล่า

แต่ก็น่ารู้ด้วย ว่าจะโง่กันไปแบบไหน และหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า

มาดูกันว่า คนโง่ป่วนโลกโดยไร้ผู้นำอย่างไร ไร้กฎหมายควบคุมแบบไหน ไร้ระเบียบแบบแผนและไร้เหตุผลอย่างไร เพื่อหยุดยั้งความก้าวหน้า และความผาสุกทุกหัวระแหง ไม่ว่าจากในไลน์กลุ่มครอบครัว ห้องประชุมสำนักงาน ในสื่อสาธารณะ กระทั่งบนเก้าอี้ผู้นำประเทศ (ฝรั่งเขาคงพูดถึงโดนัลด์ ทรัมป์ น่ะนะ – แหะๆ)

Advertisement

แถม เรา (คนฉลาด หรือคนเฉลี่ย ไม่โง่ไม่ฉลาด อิอิ) ก็ไม่มีทางที่จะต่อกรกับพวกเขา (คนโง่เหล่านั้น) ได้ เพราะจริงไหมที่ว่า สู้กับคนโง่เหนื่อยหนักกว่าสู้กับโจรผู้ร้ายหลายเท่านัก สาหัสกว่านั้น โลกทั้งใบอาจหมุนลงนรกไปได้ง่ายๆ เพราะ “เหล่าผู้นำโง่ๆ”

เอาละซี หนังสือเล่มนี้ท่าจะไม่ล้อเล่น

ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ใช้แว่นตาเศรษฐศาสตร์มองคนโง่ และปรากฏการณ์ความโง่ ที่เป็นมหาภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ แล้วลำดับความคิดกับข้อมูลอันแสบปฤษฎางค์ทวาร (ประตูหลัง) ออกมาเป็นหนังสือระดับ “คัลต์ คลาสสิก” (cult classic) เฉพาะกลุ่มสนใจที่น่าหาอ่านเล่มนี้ อย่าเผลอพลาดทีเดียวเชียว

ไม่งั้น ไม่ “คัลต์” นะ ขอบอก

มีคนดังหรือบุคคลสาธารณะไม่น้อย ที่รู้จากสัมภาษณ์ว่า เขาหรือเธอนั้น ชอบ อยากหรือพยายามจะเป็นคนที่ “สมบูรณ์แบบ” หรือ “เพอร์เฟกชั่นนิสต์” ให้ได้ ดังนั้น เมื่อพลาดพลั้งหรือเผอเรอ ทำอะไรอ่อนด้อยพลาดพลั้งไปก็จะไม่มีความสุข คนอ่านซึ่งเอาจริงเอาจังไม่น้อยคน พยักหน้าเห็นด้วย เพราะชอบจะเป็นคนสมบูรณ์แบบด้วยเหมือนกัน ไม่กลัวเหนื่อย

จะว่าไป เป็นคนสมบูรณ์แบบ (ถึงขนาดไหนก็ไม่รู้) ได้ก็น่าจะดี แต่มีสักกี่คนเทียว ที่เป็นคนอย่างนั้นได้ คนปกติมักมีดีมีด้อยมิใช่หรือ ถ้างั้นคนสมบูรณ์แบบก็ไม่ปกตินะซี – ว้า, ยุ่งล่ะทีนี้

ลองอ่าน วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต กันดูสักเที่ยวดีไหม จากงานของ เบธ เคมพ์ตัน ผู้เขียนหญิงต่างชาติที่ยอมรับกันว่า เป็นคนเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นลึกซึ้งอย่างหาคนเทียบได้ยาก เธอแกะรอย “วะบิ ซะบิ” ว่าเป็นสิ่งใด และเราหยิบฉวยมาใช้อะไรได้

เธอตามหาความหมายของคำนี้ ตั้งแต่บ่อน้ำในวัดศักดิ์สิทธิ์ในตำนานซามูไร ในชาเขียวขมๆ ในถ้วยระคุ (เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ) จนถึงแนวทางออกแบบของนักออกแบบชื่อดัง ฯลฯ เพื่อสะกัดวิถีปรัชญาเก่าแก่นี้ออกมาเป็นวิธีคิดวิธีปฏิบัติ เพื่อนำมาใช้ในโลกสมบูรณ์แบบอย่างรู้เท่าทันว่า แท้จริงแล้ว ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ (เอาละซี นักเพอร์เฟกชั่นนิสต์จะคิดยังไง) และเราจะทำอย่างไรให้ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตเรานั้น เปล่งคุณค่าออกมาได้ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปลนวลๆ

อยากให้อีกเหตุผลที่น่าอ่านก็คือ หากถามคำนี้กับคนญี่ปุ่นเอง ก็แทบหาคนให้ความหมายออกมาตรงๆ ไม่ได้ ถ้าไม่ลอยอยู่ในสายลม ร้อนอยู่ในแสงแดด สดชื่นอยู่ในดอกซากุระ ตรึงใจอยู่ในใบเมเปิลแห้ง ในสุขและทุกข์ ในรูปและนาม ก็คือไม่เที่ยง อนิจจังนั่นเอง

เรียนกันมาเพราะเป็นตำรากว่าครึ่งศตวรรษ ว่าราชธานีแห่งแรกคือ ราชธานีแห่งที่สองคือ จนถึงราชธานีแห่งที่สาม รัตนโกสินทร์ กว่าจะค่อยๆ คลี่คลายข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ให้ถูกต้องตรงไปตรงมาตามหลักฐานทฤษฎีได้ มิใช่ด้วยความคิดชาตินิยมเป็นเกณฑ์กำหนดทิศทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น จากหนังสือ ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา ฉบับปรับปรุง ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร สุโขทัย อยุธยา จึงมิใช่รัฐที่สืบทอดต่อกันมาเช่นนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมบอกไว้

แท้จริงแล้ว “แคว้นสุโขทัย” กับ “อาณาจักรอยุธยา” เป็นคู่สงครามกันด้วยซ้ำไป รบราช่วงชิงอำนาจ แสวงโอกาสผ่านนโยบายการเมืองและการศาสนา (เห็นไหมว่า ศาสนาก็คือการเมือง หนีหรือหลีกเลี่ยงไม่พ้นการเมือง)

ทั้งสองรัฐต่างขับเคี่ยวต่อสู้กันอย่างเข้มข้น และสลับซับซ้อน ยังทิ้งปมปริศนาให้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังคลี่คลายอีกหลายประเด็น

ไม่ว่าการหายไปของตระกูลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองสุโขทัยเก่า เมืองราดของพ่อขนผาเมือง ระบบสืบราชบัลลังก์ของแคว้นสุโขทัย ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหาธรรมราชาลิไทกับขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิ ยังมีเมืองซึ่งหายไปในประวัติศาสตร์ให้ค้นหาอีก

การกลับมาอีกหนเป็นครั้งที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้ บอกถึงความสนใจของผู้คนที่ต้องการรู้เห็นข้อเท็จจริง

หรือข้อสันนิษฐานจากหลักฐานที่ปรากฏในมุมมองซึ่งแตกต่างไป งาน 9 เรื่องอันสุดแสนคลาสสิกของผู้เขียนในเล่มนี้ จึงเป็นประเด็นพูดคุยหรือคำถามตอบที่ต้องสนใจถกเถียงไปอีกนาน

ทั้งอธิบายหน้าประวัติศาสตร์ที่หายไป อธิบายสิ่งที่เคยเข้าใจผิด และบอกสิ่งที่ยังไม่เคยรู้

รอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง, บทบาทขุนหลวงพ่องั่วต่อราชวงศ์สุโขทัย, พระร่วงไปเมืองจีน, เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์ (มิใช่ชาวสุโขทัย), บทบาทพระมหาธรรมราชาลิไท ศาสนาหรือการเมือง, จากสองแควเป็นพิษณุโลก, กำแพงเพชรสมัยสุโขทัย, กำแพงเพชรมิใช่ชากังราว เมืองชากังราวอยู่ที่ไหน นักเรียนนักศึกษาเห็นหัวเรื่องแล้วอยากรู้ทั้งนั้น

เรียนประวัติศาสตร์สนุกอย่างนี้เอง

ถึงตอนนี้ หากต้องการความเข้าใจหรืออยากเห็นภาพให้ชัดเจนขึ้นเรื่องศาสนากับการเมือง ว่าเกี่ยวข้องกันขนาดไหน เกี่ยวข้องกันอย่างไร ถ้าได้มองภาพเต็มจากศาสนาร่วมโลกอื่นๆ ก็น่าจะเห็นภาพได้ดีขึ้น

ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ โดย ริชาร์ด ฮัลโลเวย์ หนังสือที่รวบรวมเกร็ดประวัติศาสนาทั่วโลก ที่เขียนขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาให้เห็นว่าศาสนาทับซ้อนกับมิติต่างๆ ทางสังคม การเมือง และวัฒธรรมอย่างแยกไม่ออก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชัดเจนล่ะทีนี้

นี่คือการเดินตามรอยการเดินทางของทุกศาสนาจากทุกมุมโลก ตั้งแต่ฮินดูที่เริ่มแนวคิดเรื่องเวียนว่ายตายเกิด การปฏิรูปศาสนาคริสต์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของราชวงศ์ยุโรป ปัญหาผู้สืบทอดอำนาจอันนำไปสู่การแตกนิกายของศาสนาอิสลาม จนสารพันลัทธิน้อยใหญ่ เช่น วิถีแห่งเต๋าที่มุ่งสอดสานกับธรรมชาติ หรือไซเอนโทโลยีกับแนวคิดสุดโต่งซึ่งดึงดูดใจดาราฮอลลีวู้ด ฯลฯ

ทำให้ชวนคิดถึงบทบาทของศาสนาต่อมนุษย์ เมื่อศาสนาไม่เป็นเพียงเครื่องยึดมั่นหรือประโลมจิตใจ แต่ยังเป็นชนวนสงครามฆ่าฟันมายาวนานไม่เคยหยุดยั้ง เป็นดาบสองคมที่มนุษย์ต้องรับมืออย่างไร มิให้ใช้ทิ่มแทงตัวเอง

หาคำตอบในเล่มว่า ผู้เขียนมองศาสนาพุทธอย่างไร ท่ามกลางศาสนาอื่นๆ จากเจ้าชายสู่พระพุทธเจ้า, จงอย่าเบียดเบียน ฯลฯ สุนันทา ผู้แปล “โง่ศาสตร์” แปลให้อ่านอีกเล่ม

ว่าถึงศาสนากับการเมืองติดกันมาสองเล่มแล้ว จากศาสนาพุทธดินแดนสุวรรณภูมิในอดีตไปถึงนานาชาติ น่าจะอ่านศาสนาที่ว่าด้วยธรรมแท้ๆ อีกสักเล่ม ที่อยู่เหนือการเมือง

หนึ่งศาสดา หลายสายธรรม โดย ทะไลลามะ และ ทุปเทน โชตรอน ช่วยกันพากย์ไทยโดย นัยนา นาควัชระ กับ สมหวัง แก้วสุฟอง ว่าด้วยความแตกต่างและรายละเอียดปลีกย่อยอันหลากหลายในพระพุทธศาสนา และหัวใจคำสอนของพระบรมศาสดาที่เป็นหนึ่งเดียว

ทะไลลามะและภิกษุณีทุปเทนชาวอเมริกัน ได้พูดอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เหมือนกันและต่างกันระหว่างพุทธศาสนาสองสายธรรมหลัก คือสายธรรมสันสกฤตของทิเบตและเอเชียตะวันออก กับสายธรรมบาลีของศรีลังกากับดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยบรรยายถึงหลักปฏิบัติ กับหลักคำสอนที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ การปฏิบัติภาวนา การเจริญเมตตา กรุณา และความรัก จนถึงความหมายของนิพพาน ทั้งแง่มุมที่เหมือนกันและต่างกันในการตีความ โดยแจกแจงสายธรรมทั้งหลายด้วยความเคารพ ว่าถึงจะต่างกันมากมายในรายละเอียด แต่ทุกสายธรรมก็รับมาจากสายธรรมของพระบรมศาสดาเดียวกัน และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

(ที่แม้แต่การเมืองก็เข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ นอกเสียจากนักการเมืองเองเข้าใจที่จะเจริญธรรมอยู่เป็นนิตย์)

น่าอ่าน น่าศึกษา

หนังสือเล่มที่คนไทยวันนี้น่าหาอ่าน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน รวมบทความว่าด้วยตุลาการภิวัฒน์ ตุลาการพันลึก และตุลาการธิปไตย โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่มอบแว่นสายตาใหม่แก่ผู้อ่าน เพื่อเรียนรู้ข้อถกเถียงใหม่ในการศึกษาตุลาการ

เพราะตุลาการศึกษาเป็นดินแดนลี้ลับอันศักดิ์สิทธิ์ จากการเป็นกลางในโลกของตรรกะกฎหมาย กลายสภาวะเป็นสภาพที่ยากจะอธิบาย “ความจริง” เกี่ยวกับการดำรงอยู่และปฏิบัติการต่างๆ ที่ปรากฏต่อสังคมอยู่เรื่อยๆ

เมื่อสถาบันตุลาการมิใช่ “มอรอล บีอิ้ง” (moral being) หรือองค์กรบริสุทธิ์ แต่เป็น “โพลิติคอล บีอิ้ง (political being) ที่มีจุดยืนและผลประโยชน์เช่นสามัญชนทั่วไป

อย่างไรเรียกว่าตุลาการพันลึก อย่างไรเรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ อย่างไรเรียกว่าตุลาการธิปไตย เมื่อสถาบันตุลาการรับใช้ระบอบอำนาจนิยม ผ่านการรับรองความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร เมื่อสถาบันตุลาการขยายอำนาจสู่พื้นที่การเมือง มีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง ลองช่วยกันศึกษาดู

ท้ายสุดหลงลืมไม่ได้คือ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ปกอองซานซูจีประทับคำมั่นจากกองทัพ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 1 ปี”

อ่านรัฐประหารพม่า ธุรกิจไทยกุมขมับ ค้าขายชายแดนชะงัก หวั่นถูกปิดกิจการ, รัฐบาล ฝ่ายค้าน งัดกลยุทธ์ทั้งในและนอกสภา สู้ศึกซักฟอก, ศึกในรัฐบาล เมื่อ พปชร.ส่งเลือกตั้งซ่อมเมืองคอน ปชป.ร้องหามารยาทการเมือง, คำพิพากษาคดี พล.อ.ร่มเกล้า ศาลยกฟ้อง 3 นปช. ชี้พยานโจทก์มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ,

อ่าน 200 ส.ส.ร.เลือกตั้ง ชนะศึกแต่ยังไม่จบสงคราม, เฟซบุ๊กลดเนื้อหาการเมือง จะลดความเกลียดชัง แบ่งขั้วได้ไหม, เราชนะเยียวยาเศรษฐกิจ แต่เข้าไม่ถึงประชาชน,

อ่านคุณหมอนักปฏิวัติ จากหมอซุนยัดเซนถึงหมอเหล็ง ศรีจันทร์ กับหมออัทย์ หะสิตะเวช, เมื่อสถาปัตยกรรมส่งผลต่อสมอง, จีนอพยพใหม่ในไทย ยังต้องติดตาม, วิกฤตนิเวศเมื่ออากาศแปรปรวน, และอย่าพลาด กวีนิพนธ์มุฮัมมัด อิกบาล และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนแอนตี้โควิด ฯลฯ น่าอ่านทั้งเล่ม

อย่าพลาด

_______________________

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image