ตู้หนังสือ : ผู้ทำให้ยากเป็นง่าย เรื่องสามัญประจำบ้าน

ตู้หนังสือ : ผู้ทำให้ยากเป็นง่าย เรื่องสามัญประจำบ้าน

ผ่านเวลายากลำบากจากปีใหม่เข้าเดือนห้าตามคติโบราณ จนปะลมมรสุมหน้าร้อน วัคซีนป้องกันไวรัสร้ายแรงก็คิดขึ้นได้แล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โรคระบาดถึงตายก็ยังไม่บรรเทาเบาบาง ตรงกันข้าม ยังแผลงฤทธิ์ผ่าเหล่าออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ให้น่าหวั่นเกรงขึ้นอีก จึงไม่อาจวางใจถึงกับประมาท เพราะหากพลาดพลั้งก็เรื่องใหญ่แล้ว

ใช้เวลาหาช่องทางทำกิน ฝึกปรือลับฝีมือรอโอกาสดีกว่า ท่องคาถาว่าไวรัสมาได้ก็ไปได้ มีโรคร้ายก็ต้องใช้สติปัญญาป้องกัน เพียงแต่ระมัดระวังรัดกุมอย่าเผอเรอเท่านั้น หาหนังสือดีๆ อ่านลับคม

๐ ปัจจุบันหนังสือไทยชื่ออังกฤษเป็นธรรมดาไปแล้ว คนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ก็มักใช้ภาษาแสดงความรู้ The Facilitator คู่มือคุณ “Fa” มืออาชีพ ช่วยกันเขียนโดย ปรารถนา หาญเมธี กับอาจารย์ จริยา วิไลวรรณ มีคำนิยมของอาจารย์หมอ วิจารณ์ พานิช กับ สุภาวดี หาญเมธี ยืนยันคุณประโยชน์ของความรู้
ตามศัพท์แล้ว “ฟาซิลิเถท-facilitate” หมายถึงความง่าย ทำให้ง่าย สะดวก หรือทำให้สะดวก แต่พอกลายเป็นผู้กระทำขึ้นมา ก็น่าจะหมายได้ว่า ผู้ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย หรือผู้ให้ความสะดวก แต่ศัพท์ไทยบัญญัติว่า “ผู้อำนวยการกลุ่ม”

ผู้อำนวยการกลุ่มนี้มีหน้าที่กว้างขวาง ให้สมาชิกกลุ่มได้มีวิธีทำงานที่เกิดผลที่สุด ในเวลาที่ไม่พร่ำเพรื่อเปล่าเปลือง ดูแลสมาชิก ให้ข้อมูล แนะขั้นตอนทำงาน การแก้ปัญหา การตัดสินใจ จนถึงกระตุ้นความเชื่อมั่นสมาชิกกลุ่ม ฯลฯ หนังสือเล่มนี้จึงจำเป็นต่อ facilitator, coach, mentor ทั้งหลาย (ทับศัพท์ฝรั่งอย่างนี้น่าจะเข้าใจว่าเป็นใครมากกว่าใช้ภาษาไทยเรียก) จนถึงบรรดาครูสอนหนังสือศิษย์ที่ต้องถือเป็นคู่มือ

Advertisement

ดังนั้น ผู้กำลังสนใจการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้รับกับโลกยุคใหม่ ผู้กำลังอยากพัฒนาตน สร้างกลุ่ม องค์กร ชุมชน หรือแม้แต่ครอบครัวให้เข้มแข็ง เกิดสายสัมพันธ์ที่ดี ลดความขัดแย้ง มีเป้าหมายชีวิตหรือการทำงาน คลี่คลายปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และหาวิธีสู่ความสำเร็จร่วมกัน ทั้งหมดรวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว อย่าพลาดไปทีเดียวเชียว


๐ งานของนักเขียนมือทองเปิดให้จองผ่านไปแล้ว สัปดาห์หน้าที่งานหนังสือแห่งชาติ “ฟาสท์ฟู้ดธุรกิจ เล่ม ๓๓” นี้ คงมีนักอ่านไปรอให้เขียนลายเซ็น หนุ่มเมืองจันท์ บนปกหลังปก กันแถวยาวตามปกติเพื่อจะได้อ่าน เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน

เพราะหลายคนให้ความสำคัญกับเรื่องใหญ่ๆในชีวิต ด้วยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องสนใจ จนไม่ตระหนักว่า ชีวิตคนต้องพบเรื่องเล็กๆ ที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาทุกวัน จนไม่เปลี่ยนมุมคิดว่า บางครั้งเรื่องธรรมดาสามัญอาจไม่ธรรมดาได้

Advertisement

เรื่องธรรมดาที่นำมาเสนอในเล่มนี้ ล้วนมาจากการดูหนังชุด อ่านหนังสือ ฟังเพลง ติดตามสื่อสาธารณะ คุยกับผู้คน จนถึงการเข้าคลับเฮาส์ ที่คนจำนวนมากล้วนประพฤติปฏิบัติ แต่ผู้เขียนได้อะไรจากการประพฤติปฏิบัติสิ่งเหล่านั้น ต้องตามไปดู เนื่องจากแต่ละวัน ผู้เขียนเองก็สาละวนอยู่กับเรื่องธรรมดาและไม่ธรรมดามากมาย มีสารพันปัญหานึกไม่ถึงที่จะสนทนากันให้เกิดความสว่างได้

ทั้งกลายเป็น “ตัวละคร” ในสารพันปัญหาเหล่านั้นเสียเอง

๐ หนังสืออ่านสนุกอีกเล่มที่ต้องมีผู้เขียนรอบรู้จำเพาะเท่านั้นจึงเขียนให้อ่านได้ นั่นคือ เล่า ชวน หัว ผู้ฉีกหน้ากาก ผ่าท้อง เปิดสมอง เผยโฉมตัวละครสำคัญๆ ของ สามก๊ก ให้นักอ่านทั้งหลายได้สำราญมาแล้ว คราวนี้มากับ นักปราชญ์จอมจี้เส้น ขุนนางผู้เลื่องลือชื่อสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง

จี้เสี่ยวหลาน นักปราชญ์อัจฉริยะผู้นี้ เป็นเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบผลงานบันลือโลกมหาสารานุกรม “ซื่อคู่ฉวนซู” ซึ่งโลกยอมรับว่ามหัศจรรย์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากำแพงเมืองจีน หรือกองทัพทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ เพราะเป็นอภิมหาตำราซึ่งบันทึกเรื่องราวของจีนตั้งแต่โบราณปรัมปราจนถึงรัชสมัยเฉียนหลงไว้ 10,255 ประเภท ยาว 39,309 บท ใช้ตัวอักษรจีน 840 ล้านตัว ใช้บัณฑิตทำงานร่วมกันถึง 5,000 คน ในเวลา 10 ย่อมใช้หมึกไหลหลั่งประดุจแม่น้ำ เนื่องจากเขียนด้วยลายมือแม้ยุคนั้นจะมีการพิมพ์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม

(ผู้สนใจอาจชมตัวอย่างที่หลงเหลือจากภัยสงครามหลายคราว ได้ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ)

จี้เสี่ยวหลานเป็นบุคคลสามรัชกาล รับใช้ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงโดยตรงสองรัชกาล ชีวิตโลดโผนตั้งแต่เล็กจนถึงวันเสียชีวิต ทิ้งความเปรื่องปราดฉลาดหลักแหลมไว้เป็นตำนาน

๐ พุทธศาสนิกชนย่อมใกล้ชิดวัดวาและรู้คติการบวชในศาสนา กระทั่งเดี๋ยวนี้กุลบุตรทั้งหลายก็ยังหาโอกาสบวชกันตามแต่ความสะดวกของกาลเทศะของเหตุ แต่น้อยลงแล้วกระมังที่ตั้งใจจะบวชทั้งพรรษา นอกจากบวชหน้าไฟหรือบวชแค่ได้ชื่อว่าบวชแล้วชั่วครั้งชั่วครู่

หากมีหนังสือสักเล่มเช่น บวชวัดบวร ที่อาจารย์ อุดร จารุรัตน์ นักเขียนเรื่องปริศนาตำนานโลกหรือเรื่องประหลาดร้อยแปดวงการซึ่งนักอ่าน ต่วย’ตูน รู้จักดี ที่ผ่านการบวชเรียนเต็มพรรษามาแล้ว เป็นผู้เล่าเรื่องต่างๆ ระหว่างการบวชเป็นพระให้ฟัง จะซาบซึ้งถึงแก่นการปวารณาตนในร่มกาสาวพัสตรขนาดไหน

หนังสือเล่มนี้ “ธีรธมฺโม” อุดร บันทึกเรื่องต่างๆ ที่ประสบในวัดบวรนิเวศวิหาร ที่จะช่วยให้ผู้เตรียมอุปสมบทและภิกษุในพรรษากาล ได้เรียนรู้การดำรงตนในสมณเพศ ทั้งเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ไม่เคยรู้หรือเข้าใจว่าพระภิกษุประพฤติวัตรปฏิบัติใดบ้าง ได้กระจ่าง

ตั้งแต่ก่อนเข้าโบสถ์ ท่ามกลางสงฆสันนิบาต วัตรพระใหม่ ออกบิณฑบาต ฉัน สวด บวชเรียน เรียงความแก้กระทู้ธรรม กลัวตายในวัด จนถึงก่อนลาสิกขา ล้วนเป็นความรู้น่าสนใจทั้งสิ้น

๐ หลายสัปดาห์มานี้มีแต่หนังสืออ่านเอาเรื่องมาเสนอ ยามที่ต้องอยู่บ้านและหวาดระแวงกับการติดโรคระบาด ควรมีหนังสือนิยายอ่านคลายประสาทบ้าง แต่การคลายประสาทมิใช่มีเพียงเรื่องสรวลเสเฮฮาเบาสมอง เรื่องลึกลับตื่นเต้นเร้าใจ หรือเขย่าขวัญสั่นอารมณ์ก็คลายประสาทได้

มีนิยายแปลเกาหลีใต้เล่มหนึ่ง ซึ่งได้รับรางวัล เชอร์ลีย์ แจ็คสัน (นักเขียนเรื่องลึกลับเขย่าขวัญสตรีอเมริกันผู้ได้รับการยกย่อง ซึ่งล่วงลับไปเมื่อปี 2508 ด้วยวัยเพียง 49 ปี) ทั้งถูกนำไปเทียบเคียงฝีมือกับ สตีเฟน คิง และ โยโกะ โอกะวะ นักเขียนสตรีญี่ปุ่นที่ชื่อเสียงโด่งดัง จึงประกันความน่าสนใจได้มาก

หลุมลับ (เดอะ โฮล-The Hole) ของ เพียนเฮยอง แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส ให้อ่านได้ระทึกถึงแก่น

เรื่องของอาจารย์มหาวิทยาลัยวัย 40 ที่ฟื้นจากโคม่าหลังอุบัติเหตุรถยนต์ที่ทำให้ภรรยาเสียชีวิต และกลายเป็นอัมพาตโดยขยับได้เพียงกระพริบตา แต่นั่นยังมิใช่ความเลวร้ายที่สุดของชีวิตที่เกิดขึ้น

แม่ภรรยาเข้ามาดูแลโดยอยู่ในบ้านกันเพียงสองคน เลิกจ้างพยาบาล เลิกจ้างนักกายภาพบำบัด กีดกันเพื่อนฝูงถอยห่าง วันๆ ขุดหลุมๆ หนึ่งในสวนโดยไม่บอกเจตนา พร้อมกับหลุมที่ลึกลงเรื่อยๆ ความหวาดกลัวค่อยๆ เกาะกุมจิตใจ พอจะคาดเดาได้ว่าคำตอบจะได้รับเมื่อหลุมนั้นขุดเสร็จ ขณะที่ชีวิตเหมือนถูกดูดลงหลุมดังกล่าวลึกล้ำดำมืดลงทุกที

นี่คือนิยายเรื่องเข้มเกี่ยวกับความสัมพันธ์และชีวิตจิตใจ ที่จะบีบรัดความรู้สึกนักอ่านให้หายใจไม่ออก จนกว่าถึงหน้าสุดท้าย


๐ นิตยสารความรู้และภาพชุดซึ่งหาชมได้ยาก เนชั่นแนล จีออกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน ว่าด้วย “ราคาของอากาศสะอาด” ต้องรู้ไว้ว่า มลภาวะทางอากาศเป็นเหตุให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ถึงปีละ 7 ล้านรายทั่วโลก แต่-แต่เราแก้ไขได้ แก้อย่างไรลองติดตามอ่านดู

เรื่องน่ารู้ที่ยังปรากฏอยู่บนโลก ความปลอดภัยในพิธีกรรม ไปดูต้นกำเนิดของพิธีกรรมในวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ อ่านเรื่องเซลฟี่บนยอดเขาหิมาลัย น่าประหลาดใจพิสดารคาดไม่ถึง

อ่านการท่องอะลาสกา อุทยานแห่งชาติสหรัฐซึ่งมีผู้ไปเยือนน้อยที่สุด ไม่ว่าจะด้วยความเหน็บหนาว เดินทางยากลำบาก หรือเหตุอื่นใด แต่เป็นสวรรค์ของนักผจญภัยทุกรูปนาม เป็นงั้นไป

คนรักธรรมชาติต้องไปรู้จักแมลงแห่งผืนน้ำอะเมซอน คนรักดนตรีเสียงเพลงต้องอ่านอัจฉริยะแห่งอรีธา แฟรงกลิน ส่วนคนชอบเรียนรู้เรื่องรอบตัว ต้องอ่านทำไมถึงต้องเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง มีแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น

๐ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับขัน-ไม่ขัน อ่านประเทศไทยต้องมีอนาคตกว่ารัฐบาล,ผวาโควิด คืนตั๋วรถไฟกว่า 8.8 แสนบาท,ผู้ประกอบการเกาะเสม็ดเศร้า โรงแรม รีสอร์ตถูกยกเลิกจอง 80%,อียูแนะเพิ่ม ลิ่มเลือดอุดตันแอสตราเซนเนก้า,จี้แก้ปัญหาวัคซีนไม่ใช่แก้ตัว,นโยบายวัคซีน คำถามถึงทางเลือกของไทย,

รายงานพิเศษเด็ด คอลัมน์ประจำเผ็ดถึงใจ ทวีมีชัย ไชโย


บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image