ตู้หนังสือ : สมรภูมิวัคซีน เพื่อนจีนต้องเท่าทันจีน โดย บรรณาลักษณ์

ดูตัวเลขจำนวนวัคซีนที่ค่อยๆ ทยอยเข้ามา โดยระลอกหลังๆ ที่มาก่อนนี้เป็นการบริจาคจากเพื่อนร่วมทุกข์ประเทศต่างๆ ส่วนที่รัฐบาลซื้อหามาจำนวนเท่าไหร่ มาเมื่อไหร่ ฉีดให้ใครก่อน ยังต้องติดตาม ไม่ใช่อะไร เงินทองที่รัฐบาลใช้ไปเป็นภาษีอากร เงินของเราเองที่ต้องสนใจรับรู้ เงินกู้อีกเป็นแสนล้าน กู้ไปใช้อะไรไม่สนใจไม่ได้ บ้านเมืองของเราจะให้คนไม่กี่คนปู้ยี่ปู้ยำได้ไง

อีกอย่างระยะนี้ เริ่มมีหมออกมาให้ข้อมูลความหนักเบาของโรค ไม่ให้ชาวบ้านกลัวจนกังวลเครียดไปหมด แม้จะป้องกันตัวเข้มงวดได้ แต่ติดตามข้อมูลให้ดีว่าการใช้วัคซีนมีประโยชน์อย่างไร วัคซีนไหนก็บรรเทาโรคได้ ช่วยไม่ให้ป่วยหนักหนา เพราะเกรงจะถูกบริษัทยาที่กำลังขึ้นราคาวัคซีนปั่นใจให้ทรุดเสียก่อน

ปัญหาโรคระบาดทั่วโลกเที่ยวนี้ยืนยันให้เห็นเลยว่า รัฐแต่ละรัฐ หรือรัฐบาลแต่ละคณะต้องใช้เงินภาษีอากรไปทางใด

ต้องอุดหนุนวิชาความรู้และงานวิจัย ตั้งแต่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมต่างๆ ไปพร้อมๆ กับดุลยภาพทางสุนทรียะ เพื่อความพร้อมและความมั่นคง ของประชากรทั้งกายและใจ ซื้ออาวุธนั้นเป็นรายการหลังๆ

Advertisement

ลองตรวจสอบทบทวนดูก็ได้ ย้อนไป 20 ปีถึงปี 2000 (2543) แล้วย้อนทวนไปอีกครึ่งศตวรรษถึงปี 1950 (2493) กองทัพใช้อาวุธกับอริราชศัตรูนอกประเทศเพื่อป้องกันประเทศเท่าไหร่ ใช้กับชาวบ้านในประเทศเท่าไหร่ เอาสัดส่วนมาแสดงให้ประชาชนดู แล้วบอกกับประชาชนหรือขอกับประชาชนอีกที ว่าจะซื้อมาใช้อะไร สมควรที่ชาวบ้านจะให้ซื้ออาวุธหรือไม่ อธิบายเหตุผลให้หมดจดหน่อย จากพื้นฐานข้อมูลตรวจสอบในรอบ 70 ปีที่ผ่านมานั่นเอง

• ดังนั้น ตอนนี้ เราควรต้องสนใจกับ สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 (Vaccine War) กันอย่างจริงจัง ว่าในวิกฤตโรคระบาดใหญ่คราวนี้ ปราการสำคัญคือวัคซีนที่จะช่วยชีวิตประชากรโลก และป้องกันภัยได้ระยะยาว เกิดขึ้นมาอย่างไร มีเบื้องหลังซับซ้อนขนาดไหน และกลายเป็นตลาดการค้าที่มีเงินสะพัดระดับแสนๆ ล้านได้เห็นๆ ชนิดไม่ต้องใช้ความคิดมากมายก็มองออกได้ไง เงินแสนๆ ล้านกับชีวิตมนุษย์ และอนาคตของโลกเป็นเดิมพัน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น
โควิดแม้ยังสำคัญ แต่วัคซีนกับราคาวัคซีนอาจเป็นเรื่องสำคัญกว่าขึ้นมาก็ได้

อาจารย์ ป๋วย อุ่นใจ ผู้เชี่ยวชาญอณูพันธุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล กับ นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการ ผอ.กองผลิตวัคซีนจากชีววัตถุ ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม ช่วยกันเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเปิดหูเปิดตา ให้เข้าใจกระบวนการ “วาร์ปสปีด” เพื่อพัฒนาวัคซีนต้านโรคระบาดนี้ ให้เห็นกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน แนวทางการกระจายวัคซีน รวมทั้งต้องรู้วิวัฒนาการของไวรัสที่ปรับตัวเพื่อต่อต้านวัคซีน เข้าใจการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชากร และต้องรู้การตีความประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของวัคซีน ที่เราๆ ท่านๆ อ่านโพสต์กันทุกวันจนปวดหัวตอนนี้ ไม่รู้จะเชื่อผู้ใดดี ไปจนถึงการงัดข้อกันทางการค้าระหว่างมหาอำนาจในสมรภูมิ ที่ตอนนี้ชักจะเริ่มเห็นๆ กันแล้ว จากที่ผู้ผลิตขอขึ้นราคากับอียู

Advertisement

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่เราสมควรรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่การแข่งขันเริ่มต้น, เร่งความเร็วพลิกโฉมวงการยา,

ม้ามืดสตาร์ตอัพที่โด่งดังชั่วข้ามคืนคือ.., เอ็มอาร์เอ็นเอ-จับสารพันธุกรรมมาทำวัคซีน อ่านให้เข้าใจ, วัคซีน ดีเอ็นเอ กับเทคโนโลยีเก๋ๆ ที่เรียกว่าปืนนำส่งวัคซีน, ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม เชื้อตายจากจีน อ่านเพื่อรู้ว่าควรด้อยค่าหรือไม่, กำเนิดวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ คืออะไร, สมรภูมิวัคซีน ไวรัสเวกเตอร์, มหากาพย์วัคซีนดาวรุ่งจาก ม.ออกซฟอร์ด, แอสตร้าเซนเนก้า กับดราม่า ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อ่านเอาความรู้จริงๆ,

แล้วไปรู้จักโปรตีนหนามสังเคราะห์ จากโนวาแวกซ์ กับอาวุธลับ “แมททริกซ์-เอ็ม”, แล้ววัคซีนสันถวไมตรีในอินเดียคืออะไร,

ทีนี้ต้องมารู้จักกับ “โคแวกซ์” ที่รัฐบาลถูกโจมตีอยู่ว่า ทำไมไม่ไปเข้าร่วมด้วยแต่แรก เพราะเป็นโครงการการจัดการวัคซีนที่ทุกคนต้องชนะไปด้วยกัน, จากนั้นไปดูว่า อย่างไรที่เรียกว่า เมื่อประสิทธิภาพไม่เท่าประสิทธิผล, แล้วก็ไปดูวิวัฒนาการของไวรัส ต่อไปก็ต้องเข้าใจภูมิคุ้มกันหมู่ ที่ผู้เชี่ยวชาญต้องการให้เกิดขึ้น ก่อนจะปิดท้ายด้วย “ภาคต่อ (ที่ยังรอตอนจบ)” ในการมองอนาคต

หนังสือเล่มนี้ ควรต้องอ่านตอนนี้จริงๆ

• อีกเรื่องที่คนไทยควรสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐ หรือนักการเมืองซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนและบ้านเมือง ไม่ใช่นักเลือกตั้งที่เข้ามาเป็นคราวๆ แล้วร่ำรวยกลับไป ก็คือการเข้ามาของคนจีนรุ่นใหม่ สนใจเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเกิดอคติ หรือเกลียดชัง จากการที่นายทุนจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็งกำไร ซื้อเพื่อยอดกิจการต่างๆ ซื้อมหาวิทยาลัย สร้างชุมชนค้าขายรอบด้านที่หมุนเวียนเงินในหมู่คนกันเอง เป็นเยาวราชแห่งใหม่ๆ จากการตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่ราชการต้องจับตา ไม่ใช่ร่วมแสวงหาประโยชน์ และเราท่านทั้งหลายเองต้องสนใจเช่นกัน

แต่มิใช่สนใจอย่างคนตะวันตกรังเกียจคนตะวันออก สนใจการใช้กฎ กติกา ร่วมสังคมกันอย่างถูกต้อง ทำกินเอื้อกันและกัน

หนังสือสำคัญที่จะอ่านเพื่อเข้าใจการเข้ามาของคนจีนวันนี้คือ สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ จากการค้นคว้ายาวนานของผู้เขียนคือ จี.วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการอเมริกันที่เข้ามาศึกษาคนจีนในเมืองไทยตั้งแต่ช่วง 2490 ทั้งรวบรวมเรื่องของคนจีนถอยไปตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอ่าวไทย มาจนถึงไทยยุคสงครามเย็น (2500) แล้ววิเคราะห์ จำแนก คนจีนในไทยซึ่งเวลานั้นกำลังเป็นที่สนใจของสหรัฐอเมริกา

หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่า คนจีนถูกกลืนเป็นไทยได้อย่างไร นอกเหนือข้อมูลประวัติศาสตร์สำคัญมากมาย ไม่ว่าตัวเลขสถิติคนจีนในไทย ข่าวหนังสือพิมพ์จีนในไทย การกระจายตัวและชุมชนคนจีนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ช่วยให้เห็นภาพเต็มของคนจีนในไทยทั้งด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้บทบาทของคนจีนในไทยกระจ่างชัดเจนขึ้น

หนังสือเล่มนี้มีอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ โดยมีคณาจารย์ร่วมแปลถึง 6 คน กับบทความพิเศษไม่อ่านไม่ได้ของอาจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล กับ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงศ์ ที่ต่างกล่าวถึงว่าเป็นหนังสือทรงคุณค่ายิ่ง

• บ้านเมืองซึ่งเต็มไปด้วยปัญหา ชีวิตซึ่งตกที่นั่งคอขาดบาดตาย หันไปทางไหนก็เจอแต่คนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่น้อยคนคงเหงา หา วิทยาศาสตร์แห่งความเหงา อ่านท่าจะเข้าที หนังสือซึ่งจะบอกเหตุผลที่สายสัมพันธ์สำคัญต่อมนุษย์อย่างไร และเป็นหนังสือซึ่งนักเขียน โตมร ศุขปรีชา แปลเองจากงานของ จอห์น ที.คาสิออปโป กับ วิลเลียม แพทริค

พูดได้ว่าความเหงาเป็นสิ่งสากล ไม่ใครก็ใครต้องเคยเหงามาบ้าง แต่ความเหงาไม่ใช่เรื่องของคนเมืองยุคใหม่เท่านั้น ความเหงาอยู่กับเรามาตั้งแต่บรรพกาล ฮ้า, ไม่เชื่อล่ะซี ความเหงาอยู่มาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนมนุษย์จะมีสังคมเช่นปัจจุบันอีก

ผู้เขียนจากมหาวิทยาลัยชิคาโก จะนำเราไปรู้จักความเหงาจนลึกซึ้งถึงแก่น ด้วยการศึกษาความเหงาในแง่วิทยาศาสตร์และประสาทศาสตร์มานานหลายสิบปี หนังสือเล่มนี้จึงเป็นงานบุกเบิกการศึกษาเรื่องความเหงาเล่มแรกๆ ของโลกก็ว่าได้ ที่จะช่วยให้เรารู้จักความเหงามากกว่าความรู้สึก

จาก “หัวใจอ้างว้าง” เราจะรู้จักความเดียวดายในสังคมโลก, เห็นตัวแปร การควบคุม และบังเหียนที่ยืดหยุ่น, จนถึงการสูญเสียการควบคุม จาก “ยีนเห็นแก่ตัวสู่สัตว์สังคม” เราจะรู้จักสายใยแห่งการเชื่อมโยง, สิ่งมีชีวิตที่ขาดสังคมไม่ได้, ต้องรู้จักตัวเอง มิใช่ใครอื่น และจากการ “แสวงหาความหมายในสายสัมพันธ์”

เราจะพบการปรับตัวสามแบบ, การกระทำให้ถูกต้อง และพลังของสายสัมพันธ์ทางสังคม

จากนั้นเราจะเห็นความเหงาเป็นวิทยาศาสตร์ และเข้าใจตัวเอง

• หายเหงาแล้วอ่านหนังสือเล่มนี้กันหน่อยไหม สำคัญจริงๆ สำคัญทั้งต่อชีวิตของแต่ละบุคคล หน่วยงาน องค์กร และต่อสังคม ความถูกต้องอยู่ข้างใคร ของ โจนาธาน ไฮด์ท แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ พร้อมกับคำถามตัวอย่างที่สำคัญคือ ทำไมคนดีๆ จึงต้องแตกแยกกันด้วยเรื่องการเมืองและศาสนา

ขณะที่สังคมทั่วโลกถลำลึกลงสู่การแบ่งฝักฝ่าย ความตึงเครียด โกรธแค้นกันและกัน ก็ฉุดลากเอาผู้คนไม่เป็นอันต้องทำอะไรอื่น นักจิตวิทยาสังคมชื่อดังผู้นี้จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้คือ ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม (ความถูกผิด ดีเลว) การเมือง (อนุรักษนิยม เสรีนิยม) และศาสนา ในแบบที่ไม่โน้มเอียงไปฝ่ายใด หากแต่อ้างอิงผลการวิจัยอันเป็นกลาง ดังนั้น ไม่ว่าผู้คนฝ่ายใด ก็สามารถอ่านเข้าใจเนื้อหาได้ไม่ต่างกัน

จากงานวิจัยจิตวิทยาศีลธรรมใหม่ล่าสุด ซึ่งทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 25 ปี ไฮด์ทจะแสดงให้เห็นว่าการตัดสินทางศีลธรรม เช่น อะไรถูกอะไรผิด หรือดีเลว ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลอย่างที่เราคิดกัน แต่มาจากความรู้สึกและการคิดเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น-ไหมล่ะ ซึ่งทำให้การตัดสินศีลธรรมของคนเราแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ ผู้เขียนยังอธิบายด้วยว่า ทำไมพวกเสรีนิยม อนุรักษนิยม อิสรนิยม จึงมีสัญชาตญาณเกี่ยวกับความถูกผิดทางสังคมแตกต่างกันอย่างมากด้วยเช่นกัน และยังแสดงให้เห็นด้วยอีกว่า เอาเข้าจริงแล้ว ทุกฝ่ายต่างมีส่วนถูกอยู่ด้วยกันเสมอ-นั่นปะไรล่ะ

หนังสือที่ลงลึกแต่เข้าใจง่ายเล่มนี้ จึงเป็นกุญแจอันมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้เราที่คิดแตกต่างกันทั้งหลาย ไขวิธีการร่วมก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้ ที่สำคัญอีกประเด็นคือ จะชี้ให้เห็น “คำสาป” ที่คอยทำให้เราต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและขัดแย้งกันตลอดกาล

เป็นหนังสือเพื่อความเข้าใจ และการก้าวไปข้างหน้าโดยแท้

• แต่หากจะอ่านบทความ ที่อาศัยทั้งความรู้ ความคิด จินตนาการ ที่ให้รสชาติของการเมือง ยุคสมัย และการใช้หัวคิด (ที่อาจผสมปนเปกันระหว่างการคิดกับการไม่ยอมคิด) ก็ต้อง นี่เลย น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก ใครจะเขียนให้อ่านได้หากมิใช่อาจารย์ ไชยันต์ รัชชกูล แซ่บหลายๆ

ต้องแนะนำด้วยคำนำของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์เอง ว่า “งานเขียนชุดนี้ตีพิมพ์ในวารสาร อ่าน ทศวรรษ 2550 ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่มิใช่เป็นเพียงสงครามระหว่างสี ดังที่มักเรียกกัน หากยังเป็นสมรภูมิโรมรัน ระหว่างฝ่าย ‘ซาบซึ้ง’ น้ำตาไหล กับฝ่ายน้ำตาเหือดแล้วเลือดไหล อันเป็นปัจจัยให้ต้องอาศัยการประหวัด มาช่วยทำให้ความหมายของสิ่งที่พูดได้บ้างไม่ได้บ้าง ในระหว่างสงครามนั้น แจ่มชัดแหลมคมขึ้น…”

ความบันเทิงทางความคิดจากนักเขียนระดับโลก กับงานเขียนอันเป็นวรรรกรรมระดับโลก ถูกนำมาสาธกการเมืองไทย

ไยจะไม่น่าหาอ่าน

• และยามนี้ มองไปมองมา หากจะหานิยายเหมาะแก่กาลเทศะอีกเล่มมาให้ถูกบรรยากาศ ก็น่าจะเป็นงานเล่มโตของนักเขียนรางวัลโนเบล กาบริเอล การ์ซิอา มาร์เกซ ชาวโคลอมเบีย เรื่องดัง รักเมื่อคราวห่าลง (2528) ร่วมกันแปลโดย รัชยา เรืองศรี กับ ชนฤดี ปลื้มปวารณ์

เรื่องรักในวัยแรกแย้มของหนุ่มสาวที่ร้อนแรง แต่เมื่อเสน่หาเริ่มราความร้อนลง

ฝ่ายหญิงกลับไปแต่งกับนายแพทย์ผู้มั่งคั่ง ก่อให้เกิดเรื่องรักหลายรูปแบบในเมืองท่าอาณานิคมเก่าแก่แห่งทะเลแคริบเบียน ทั้งดูดดื่ม โหยหา ทั้งต้องฟันฝ่ามรสุมชีวิตการแต่งงาน ความซื่อสัตย์มั่นคงและการทรยศนอกใจ ท่ามกลางการระบาดของอหิวาตกโรคระลอกแล้วระลอกเล่า

มาร่วมพินิจแง่มุมอันหลากหลายของสัมพันธ์รักผ่านเวลาห้าสิบเอ็ดปีเก้าเดือนกับสี่วัน ที่อาศัยการนำทางอันสว่างด้วยพระเมตตาของพระจิต ในนิยายรักแวดล้อมด้วยสถานการณ์โรคระบาดเรื่องนี้ เป็นหนังมาแล้วด้วยนะ ใครเคยดูบ้าง เลิฟ อิน เดอะ ไทม์ ออฟ คอเลอรา (Love in The Time of Cholera-๒๕๕๐) แสดงโดย ฮาเวียร์ บาเด็ม กับ จิโอวานนา เมซโซจิออน

อีกสัปดาห์หนึ่งกำลังจะผ่านไป ชีวิตก็หายไปอีกหลายชีวิต ขอคุณพระคุ้มครองผู้ที่ยังอยู่สู้ชีวิตด้วยความระมัดระวังยิ่งยวด แคล้วคลาด-แคล้วคลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image