ตู้หนังสือ : ภาวะสมองบอด ชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวก โดย บรรณาลักษณ์

ปกติเรื่องของอาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ต้องอ่าน เพราะได้ความรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ อยู่ๆ เรื่องล่าสุด ผุดมุขให้ขำก๊ากขึ้นมาดื้อๆ ไม่ทันตั้งตัว แถมหน้าตายอีกต่างหาก ไม่รู้เล่นหรือจริง

มติชน ออน ไลน์ พุธที่ผ่านมา อาจารย์เขียนเรื่องเรือดำน้ำปรมาณู ซึ่ง 6 ประเทศในโลกเท่านั้นที่มี ว่าเรือพลังงานนิวเคลียร์นี้ ดีอย่างไร ใครมีกี่ลำ แต่ก่อนหน้านั้น อาจารย์ย้อนเรื่องกลุ่มพันธมิตร “ออกุส” (AUKUS) อันเป็นไตรภาคีด้านความมั่นคง 3 ประเทศระหว่าง สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านจีนจากการที่จีนอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมดเป็นของตน โดยจากสนธิสัญญานี้ สหรัฐ อังกฤษ บอกว่าจะช่วยสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ทวีปใต้

ทำให้ออสเตรเลียที่ตั้งใจสร้างเรือดำน้ำนี้ 8 ลำที่เมืองอดิเลด และจ้างฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำธรรมดา 12 ลำ ไปเป็นเงินกว่า 56,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ต้องรีบแจ้งไปยกเลิกสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งชนะการประมูลเหนือเยอรมันกับญี่ปุ่น ที่ต้องเสียหายหนักเพราะลงทุนไปแล้ว แม้จะได้ค่าปรับบ้าง สร้างต่อก็ไม่เกิดประโยชน์ “นอกจากจะเกลี้ยกล่อมขายต่อให้ประเทศไทยได้บ้าง”

ฮ่าฮ่าฮ่า

Advertisement

• ใครเคยดูหนังไทย กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (2534) ของผู้กำกับ มานพ อุดมเดช อาจได้คำตอบแล้วว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงพฤติกรรมมนุษย์จากสมองน้ำหนักเฉลี่ย 1 กิโล 3 ขีดที่กะโหลกหุ้มอยู่ต่างหากเป็นตัวกำหนด จะว่าจากสมองซีกซ้ายที่ชอบคิดเลข เรียนวิทยาศาสตร์ และคิดค้นวัคซีน หรือซีกขวาที่ชอบร้อง รำ เขียนกวี ช่างคิดฝันปฏิวัติสังคม หรือไรก็ต้องไล่การกระทำดู เพราะสมองเป็นธรรมชาติอันพิสดารพันลึกนัก

ชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวก ของหมอระบบประสาทเลื่องชื่อ ผู้ที่ “นิวยอร์ค ไทม์ส” ยกย่องว่าเป็น “กวีผู้ทรงเกียรติทางการแพทย์” ได้สร้างงานชิ้นสำคัญที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อสมองมนุษย์ จากหนังสือกรณีศึกษาโรคทางสมองอันคลาสสิกเล่มนี้ ที่จะนำผู้อ่านไปพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัว เหลือเชื่อ และงดงาม น่าสะเทือนใจ ทั้งจากคนที่ขาดหายและคนที่ล้นเกิน หรือบ้างที่หลงละเมออยู่ท่ามกลางภาพหลอนไม่สิ้นสุด ไม่ว่าชายที่มองไม่เห็นใบหน้าซึ่งคิดว่าภรรยาคือหมวก หญิงที่เห็นรอบตัวเพียงด้านขวา ชายผู้มีภาวะแขนขาล่องหน นักเรียนแพทย์ที่ไวต่อกลิ่นราวสุนัข หญิงชราที่ได้ยินเสียงเพลงจากวันวาน กับฝาแฝดออทิสติคอัจฉริยะที่หลงใหลจำนวนเฉพาะ

อะไรจะพิสดารน่าอ่านขนาดนี้ หมอ โอลิเวอร์ แซคส์ เขียน ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แปล

• เมื่อสมองสำคัญหนักหนาขนาดนี้ มีความรู้ให้เราศึกษาได้ ย่อมไม่น่าพลาดอีกเล่ม ภาวะสมองบอด (พร้อมวิธีรักษา) ของนักคิดนักโฆษณาที่ได้รับการยกย่องระดับตำนาน เดฟ ทรอทท์ แปลให้เข้าใจโดย พราว อมาตยกุล ที่จะนำเราไปพบความมืดบอด ความมืดบอดที่เป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ ตาบอดทำให้มองไม่เห็น ใจบอดเพราะมีอคติ แล้วหากสมองบอดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ร้ายแรงระดับไหน เราอาจเพิ่งเคยได้ยิน และไม่คิดมาก่อนว่า สมองก็บอดได้เช่นกัน

นักอ่านจะถูกนำไปสำรวจกับดักทางความคิดซึ่งทำให้สมองตีบตัน พร้อมคำแนะนำที่จะช่วยหาทางออก ให้กลับมาคิดได้เฉียบคม สร้างสรรค์ได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ซึ่งมืดมิดที่สุด

ทั้งนี้ จากเนื้อหา 7 ส่วนคือ 1.ความคิดสร้างในจุดที่คาดไม่ถึง 2.การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ 3.ผลลัพธ์ของการคิดอย่างสร้างสรรค์ 4.การคิดสร้างสรรค์ที่ใช้ได้จริง 5.เรื่องเหลือเชื่อของความคิดสร้างสรรค์ (ต้องตั้งใจพิจารณามากๆ ผู้อ่านด้วยกันขอเชิญชวน) 6.ภาพลวงตาของการสร้างสรรค์ (นี่ยิ่งสำคัญพลาดไม่ได้) 7.การคิดสร้างสรรค์ในชีวิตจริง

หนังสือที่ช่วยบริหารสมอง และบริหารการดำเนินชีวิต (แน่นอน ในวิถีสร้างสรรค์)

• ถึงวันนี้ เราอาจคิดว่าเราเข้าใจอำนาจดีแล้ว ว่าอำนาจคืออะไร อำนาจเกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ จากรายละเอียดนานาที่เกิดขึ้นทางการเมืองต่อเนื่องกันยาวนานเกือบศตวรรษแล้วในบ้านเรา แต่อำนาจเห็นชัดเจนแค่จากการเมืองเท่านั้นหรือ แท้แล้ว อำนาจคืออะไร มาจากไหน ยังต้องเรียน

วันนี้เช่นกัน ที่เราจะมองอีกมุมหนึ่ง จากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำคัญเกี่ยวพันกันระหว่างมนุษย์กับอำนาจ โดยผ่านเพศสภาพด้วยหนังสือเล่มดังของ แมรี่ เบียร์ด เรื่อง ผู้หญิง/อำนาจ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องอำนาจได้กว้างขวางขึ้น และเห็นเรื่องอำนาจในมิติต่างๆ ได้ชัดเจนกว่าเก่า เราอาจจะได้ “นิยาม” อำนาจใหม่ด้วยจากประเด็นผู้หญิง เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้คือ “อำนาจ” ไม่ใช่ “ผู้หญิง” ฮะฮา-ความคิดกำลังวิ่งเร็วจี๋ล่ะสิ เมื่อได้ยิน ไม่ใช่ตัวผู้หญิงหรือ จะเปลี่ยนแปลงอำนาจในเรื่องนี้อย่างไร

นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน แปลให้เราได้เห็นว่า เหตุใดเสียงผู้หญิงจึงถูกทำให้เงียบงันในที่สาธารณะ ตั้งแต่มหากาพย์โอดิสซีเป็นต้นมา จนถึงห้องประชุมปัจจุบัน ทำไมผู้นำระดับมหาอำนาจเช่น พระนางเอลิซาเบธที่ 1 หรือนางฮิลลารี คลินตัน ต้องพูดหรือแต่งกายอย่างชาย ราวกับเป็นคนสองเพศ หรือกระแส #MeToo ที่ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นเปิดเผยการล่วงละเมิดทางเพศนั้น จะสามารถท้าทายโครงสร้างอำนาจซึ่งกดทับมานานนับพันปีได้จริงหรือไม่

งานชิ้นเอกของผู้เขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์อารยธรรมกรีก-โรมันโบราณ จากเคมบริดจ์เล่มนี้ จะนำเรากลับไปค้นรากเหง้าความคิดและวัฒนธรรมที่อยู่หลังแนวคิด “เกลียดชังเพศหญิง” ผ่านตัวอย่างตื่นตาตื่นใจ ทั้งเทพปกรณัมกรีก งานของเชคสเปียร์ ภาพเขียน ประติมากรรมชิ้นเอก จนเหตุการณ์ร่วมสมัย ถึงประสบการณ์ตรงของตัวผู้เขียนเอง น่าอ่านอีกเล่มแล้ววว” ขอบอก

•ไหนๆ ก็ไหนๆ คุยกันปัญหาผู้หญิงกับอำนาจแล้ว ก็เลยไปอีกเรื่องได้ แม้เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ของผู้หญิง แต่ศตวรรษนี้ ทศวรรษนี้ วันนี้แล้ว ผู้หญิงก็ยังมีเรื่องสงสัยเรื่องอวัยวะสำคัญของตัวเองไม่ผิดกับปลายศตวรรษที่แล้วเลย ให้หมอ “น้ำอ้อย” คุณหมอ ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ จากโรงพยาบาลรามา เจ้าของห้อง “น้องสาว” ซึ่งมีผู้ติดตามถึงกว่า 200,000 คนตอบดีกว่า

เพราะจากคำถามหรือข้อสงสัยที่มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งน่าจะคลี่คลายไปได้บ้างแล้ว แต่วันนี้ ยังมีคำถามจากผู้หญิงว่า สาวบริสุทธิ์ต้องมีเลือดออกจากเพศสัมพันธ์ครั้งแรกใช่ไหม หรือเอากางเกงในคนอื่นมาใส่จะท้องไหม หรือโดนจุ๊จู๋ถูไถภายนอกจะท้องหรือเปล่า ฯลฯ ไปจนรูปร่างหน้าตาของอวัยวะว่า ถ้าหน้าตาแบบนี้ใครเห็นจะว่ามีเซ็กซ์มาโชกโชนแล้วหรือไม่ หรือไม่กล้าไปตรวจภายในเพราะกลัวหมอจำหน้าตาน้องสาวได้

หรือบางคนเคยดูหนังลับเฉพาะซึ่งหาดูได้ง่ายดายวันนี้ แล้วเห็นว่าของตัวเองไม่ได้สวยน่ามองเหมือนนักแสดงในหนังที่กำลังดู แปลว่าของเราผิดปกติไปจากคนอื่นหรือเปล่า

กระทั่งเรื่องอารมณ์หรือความสุขทางเพศที่ว่า มีอะไรกับแฟนแล้วไม่เคยเสร็จสักที จะทำอย่างไร หรือใช้ไข่สั่นแล้วจิ๋มจะพังหรือเปล่า ฯลฯ จะดีหรือไม่ หากเราหรือผู้หญิงจะคุยกันถามกันเรื่องเพศได้ธรรมดาสามัญอย่างเรื่องอื่นๆ

คุณหมอเขียน Sister to sister คุยเรื่องจิ๋มของน้องสาว เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ของตัวเอง จนถึงเรื่องการดูแลด้านสุขภาพ และเพศสัมพันธ์มิให้กังวลใจ

• การอ่านงานวรรณกรรมนั้น เป็นเรื่องบันเทิงและบำรุงสมองชั้นเอก วรรณกรรมดีๆ ยังสามารถชี้ทางชีวิตได้หลายๆ ทาง ทั้งบำเรออารมณ์ความรู้สึกให้เห็นว่าการมีชีวิตนั้นทรงคุณค่า งานซึ่งอยากแนะนำวันนี้เป็นงานของนักเขียนระดับบรมผู้หนึ่ง ซึ่งแม้รู้จักนามกันดี ก็ไม่หมายว่าจะมีผู้ส้องเสพงานได้ถ้วนทั่ว เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เจ้าของงานชุด เหมืองแร่ อันลือลั่น เล่มนี้จึงพิเศษยิ่ง ถือเป็นการรวมงานเรื่องสั้นของผู้เขียนซึ่งครบสมบูรณ์ที่สุดในรอบ 60 ปีทีเดียว

เนื่องจากเป็นการค้นหาเรื่องสั้นซึ่งอยู่นอกเหมืองแร่ และนำรวบรวมไว้อย่างเป็นทางการ โดยให้ผลการสืบค้น “หมายเหตุการพิมพ์ครั้งแรก” ไว้ได้เกือบทุกเรื่อง

ดังนั้น ในงานเล่มโตนี้ นักอ่านจะได้พบผู้คนอันหลากหลาย ผ่านสายตาและประสบการณ์ของผู้เขียนตั้งแต่ครั้งค้นหาตัวเอง ไปสู่งานเขียน ผ่านการทำสำนักพิมพ์ ปั้นนักเขียน ด้วยเรื่องเล่าที่หยอกล้อชีวิตอย่างรื่นเริง ให้เห็นผู้คน เห็นชาวบ้าน และเห็นลีลาการเล่าเรื่องหักมุมแบบฉกาจ

พลาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปร่วมในประสบการณ์และชีวิตเหล่านั้น

• เรารู้จักเมืองลพบุรีกันมากน้อยแค่ไหน นอกจากเมื่อก่อนรู้ว่ามีพระปรางค์สามยอด ตอนหลังรู้ว่ามีงานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง (ที่เดี๋ยวนี้อาจอดอยากกันมากอยู่) หรือรู้จักประวัติศาสตร์ว่าเกี่ยวข้องกับพระนารายณ์ หรือรู้ว่ามีชื่อเป็นวัฒนธรรมโบราณจาก “เมด อิน ไทยแลนด์” ของ “คาราบาว” หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบมากกว่านั้น อาจบอกได้ถึงกับว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากไหนเสียด้วยซ้ำ

ลพบุรีหลังวัฒนธรรมเขมร ของอาจารย์ ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ให้ภาพพื้นที่ลพบุรีซึ่งแต่เดิมจะมีอิทธิพลของวัฒนธรรมขอมอยู่มาก แต่หลังจากวัฒนธรรมขอมหมดไป ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ยุคที่เราเรียกว่าอาณาจักรละโว้ เป็นช่วงเวลาที่ลพบุรีพัฒนารูปแบบศิลปกรรมเป็นของตนเอง จาก “ปราสาทขอม” สู่ “ปรางค์ไทย” อาจารย์ผู้เขียนได้วิเคราะห์หลักฐานศิลปกรรมที่เมืองลพบุรีระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 23 ทำให้รู้ว่า ช่วงสมัยต้นอยุธยา ทั้งงานช่าง และชุมชน กลุ่มผู้คน มีส่วนได้รับทั้งอิทธิพล และมาจากลพบุรีกันเป็นหลัก

รวมไปถึงพระเจ้าอู่ทองด้วยเช่นกัน – นั่นไง

ศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ภายในเล่ม ล้วนครอบคลุมงานช่างลพบุรีอย่างครบถ้วนที่สุด ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และเกี่ยวเนื่องไปตลอดกระทั่งปลายอยุธยา น่าอ่านให้เข้าใจ

• กินกันอยู่แทบทุกวัน แต่เคยรู้เรื่องเหล่านี้ไหม หรืออยากรู้เรื่องเหล่านี้ไหม “ผัดพริกขิง” ใส่หรือไม่ใส่ขิง, ข้าวมัน ส้มตำไทย แกงไก่ ฯลฯ มาจากไหน, ขนมจีน(ยี่)ปุ่น หรือเมี่ยงข้าวปุ้น, อะไรคือแกง “บวน”, ก๋วยเตี๋ยวทำไมต้อง “เลียง”, แกงแคไม่ใช่แกง “ดอกแค”, ซุปหน่อไม้ไม่ใช่ Bamboo shoots soup, ขนมจีน “ซาวน้ำ” ปริศนาของนามและรส, ผัดไทไม่ใช่นวัตกรรมจอมพล ป. ฮะฮ่า อะไรกันล่ะนี่, ผัดพริกใบกะเพราเก่าแค่ไหน, “เจียว” ไข่ เมื่อคำจีนกลายเป็นไทย, “เกี่ยมโก่ย” (เคยเค็ม) ผัดหมู, สืบหาปลาทู “ซาเตี๊ยะ”, “ซานเปยจี” ไก่สามถ้วยในครัวไทย ฯลฯ

กับอีกสารพัดเรื่องราวที่อ่านไปน้ำลายสอไป อยากรู้ตามไปด้วย – ถ้าสนใจมากไปกว่านี้

ต้องหา ต้นสาย ปลายจวัก ของ กฤช เหลือลมัย มาอ่านให้หิวมากขึ้นไปอีก

สัปดาห์ไหนๆ ก็ยังไม่ขาดหนังสืออ่าน อ่านไปทำมาหากินไป ไม่ประมาท ไม่ขาดสติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image