ตู้หนังสือ : ตุลารำลึก บ้านเมืองของเราลงแดง โดย บรรณาลักษณ์

ถึงเดือนตุลาคมแต่ละครั้งแต่ละปี ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยที่ยังมิได้สะสาง ก็จะถูกนำมารื้อฟื้นเพื่อผู้ครองอำนาจรัฐจะได้ตระหนักว่า แม้วันเวลาล่วงไปนานเท่าไหร่ แต่ความทรงจำอันเจ็บปวดของประชาชนซึ่งถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกมิได้ถูกลบเลือน หรือสามารถบิดเบือน ฝังทับ ให้ไขว้เขวหรือสูญหายไปจากความทรงจำของสังคมหรือคนแต่ละรุ่นที่เติบโตตามกันมาได้ ด้วยความทรงจำเหล่านั้น ยังถูกจารอยู่บนหน้ากระดาษที่มิอาจแปลงเป็นอื่น นอกจากเป็นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ เป็นสัจจะข้อเท็จจริงที่มิว่าจะเพียรพยายามให้พ้นไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร ก็กระทำมิได้

ดังนั้น เดือนนี้จึงเป็นเดือนแห่ง “ตุลารำลึก” เป็นเดือนที่ข้อมูลเท็จจริงทั้งหลายพร้อมพรั่งออกมาตีแผ่ เริ่มด้วยหนังสือพิเศษ 3 ชุด ชุดแรกเป็นชุด “การเมืองของประชาชน” ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม เริ่มด้วย เผด็จการวิทยา ของอาจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หนังสือเล่มที่อาจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญการเมือง กองทัพไทย อาวุธยุทโธปกรณ์ กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่นักประชาธิปไตยไทยต้องสนใจเรื่องอำนาจนิยม ในทำนองเดียวกัน สำหรับคนที่นิยมระบอบอำนาจนิยมและเป็น ‘นักเผด็จการ’ หรือ ‘กองเชียร์เผด็จการ’ ก็ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อความเข้าใจในตัวตนของเราทั้งหลาย มิฉะนั้นฝ่ายขวาไทยจะเป็นเพียงพวก ‘หลับหูหลับตาเชียร์เผด็จการ’ อย่างหาสาระอะไรมิได้”

ขณะเดียวกัน ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ยิ่งน่าสนใจ ก็คือคำกล่าวถึงของอาจารย์ซึ่งกลายเป็นนักการเมือง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ว่า “มีอะไรหลายอย่างของประชาธิปไตยที่ผมชอบ และเคยต่อสู้ยื้อชิงเอามา แต่มีหลายอย่างที่ไม่ชอบ ไม่แน่ใจ ส่วนเผด็จการนั้นโดยทั่วไปผมไม่ชอบ แต่ก็เห็นข้อดีและจุดแข็งหลายอย่างของระบอบนี้ หลายปีมานี้ผมคิดคล้ายกับที่พิชญ์พูดถึง ‘ไฮบริด’ คือผมไม่แน่ใจว่าในไทยนั้น เผด็จการจำต้องเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ บ้านเมืองเราจะเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และไม่หวนคืนเป็นเผด็จการแน่นอนหรือไม่ แม้ว่าจะพยายามสร้างหรือเสริมประชาธิปไตยอยู่เสมอ”

และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นปฐม

Advertisement

เล่มต่อมาคือ When We Vote : พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่หากปราศจากการเรียนรู้จากสังคมอื่น ก็ยากที่เราจะเข้าใจประเทศตนเองอย่างถ่องแท้ และหากปราศจากการย้อนกลับไปมองที่มาที่ไปในอดีต ก็ยากที่เราจะเข้าใจปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน ดังนั้น ขณะที่การเมืองการเลือกตั้งไทยถอยหลังและชะงักงัน การเมืองการเลือกตั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สามประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในอุษาคเนย์ กลับเปลี่ยนแปลงอย่างสูงในเงื่อนไขที่ต่างกัน ราวกับยืนยันให้เห็นความเป็นไปได้ ของคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้หยุดนิ่ง และถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มเดิมจำนวนน้อยอีกต่อไป นี่เอง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ต้องเป็นที่สนใจในลำดับต่อมา

จากนั้นจึงเป็นเล่มที่สาม การเมืองภาคประชาชน โดย อุเชนทร์ เชียงเสน จากงานวิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาเป็นหนังสือการเมืองภาคประชาชน อันหมายถึงกระบวนการประชาชนที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล และคัดค้านนโยบายของรัฐซึ่งมีผลกระทบคนส่วนใหญ่ นับแต่การรณรงค์โหวตรับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง การรวมตัวของ “สมัชชาคนจน” การถือกำเนิดของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ที่ต่างมีบทบาทบนเวทีการเมืองมากขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะมีฐานการเมืองของตนเองหรือไม่ ล้วนเกิดจากรากความคิดของการเมืองภาคประชาชนทั้งสิ้น

กระทั่งถึงจุดหักเหสำคัญกับการมาถึงของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ” การต่อสู้เรียกร้องในฐานะการเมืองภาคประชาชนเริ่มแตกต่างไป ใช่การต่อสู้แบบอหิงสาสันติเช่นอดีตหรือไม่ เชิดชูการกระจายอำนาจตามปณิธานประชาธิปไตยหรือเปล่า ผู้ใดกำหนดกลเกมการเรียกร้อง และการต่อสู้กับระบอบทักษิณใช่การเมืองภาคประชาชนตามเจตนาเดิมหรือไม่ ที่ต้องการตรวจสอบ ถ่วงดุล และคัดค้านนโยบายรัฐที่ส่งผลกระทบสังคมรุนแรง

จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรอ่านทำความเข้าใจกับสภาพการเมืองที่แท้ในสังคม

หนังสือชุดนี้ซื้อได้เพียง 700 บาทจากราคาเดิม 950 บาท ก่อนสิ้นเดือนตุลาคมนี้

• หนังสือชุดถัดมาคือ “เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง” ซึ่งประกอบด้วย 3 เล่มเช่นกัน เริ่มด้วย ปลดแอกชาติ จากศักดินา-(ราชา)ชาตินิยม หนังสือรสเข้มเต็มคำโดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ผู้มาบอกให้เรารู้ว่า ก่อนจะปลดแอก ก็ต้องรู้จักแอกที่เราจะปลดเสียก่อน

เพราะว่าชาติก็เหมือนกับเรื่องหลอกลวงทั่วไป ที่ชนชั้นนำขี้โกหกสร้างขึ้น บอกว่าชาติสำคัญอย่างนั้น ชาติสำคัญอย่างนี้ แต่ไม่เคยให้เราได้เห็นว่าชาติที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่ชำแหละคำโกหกเหล่านั้นออกมา จากชาติที่ร่ำเรียนประวัติศาสตร์มามิได้บ่งความหมายว่าชาติคือประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในความหมายของชาติที่เอ่ยอ้างกันนั้น กลับมีสิ่งแปลกปลอมที่ฝังตัวแนบแน่นซึ่งทำให้ชาติมิได้เป็นของประชาชนตามที่อารยชนเข้าใจกัน

เราจึงต้องตามผู้เขียนไปพบปีศาจใต้พรม, ไปรู้จักกษัตริย์ ชาติ และอำนาจอธิปไตย, ไปดูการพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน, พบการทวงคืนชาติ และกษัตริย์ประชาธิปไตย, ติดตามราชประชาสมาสัยสู่ขวาพิฆาตซ้าย, เรียนรู้การปกเกล้าไม่ปกครอง ทรงราชย์ไม่ทรงรัฐ, เข้าถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กับคณะปฏิรูปอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, สู่เศรษฐกิจพอเพียงและทุนนิยมสามานย์ เป็นหนังสือที่เปิดฉากอย่างเข้มข้น และปิดท้ายอย่างเข้มข้นจนสลัดอย่างไรก็ไม่พ้น

ต้องหาอ่านให้ได้

เล่มถัดมาคือ สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว สำรวจปรากฏการณ์การเมืองไทยครั้งสำคัญในปี 2563 เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดอันซับซ้อนภายในความขัดแย้ง และฟังเสียงความคิดจากพื้นที่ชุมนุมจริง เพื่ออ่านโลกทัศน์จากตัวตนของคนต่างรุ่น ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม และต่างอุดมการณ์ทางการเมือง โดยผู้ตามติดและสังเคราะห์เหตุการณ์ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งร้อนระอุนั้น เป็นงานศึกษาชิ้นสำคัญของผู้เขียน ที่จะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจความต่างและความขัดแย้งที่คล้ายกับไม่มีวันลงรอยกันได้ ระหว่างผู้ใหญ่รุ่นสงครามเย็นกับด็กหนุ่มสาวรุ่นโบขาว ผ่านการทบทวนประวัติศาสตร์ กับเงื่อนไขรายล้อม ด้วยการเข้าไปฟังเสียงต่างมุมจากพื้นที่จริง ที่มีข้อเสนอถึงคน “รุ่น(ใน)ระหว่าง” ที่ติดอยู่กึ่งกลางยุคสมัยกับอุดมการณ์ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ในการเชื่อมประสานรอยร้าวและความขัดแย้งที่ดูเหมือนไม่มีทางออก กลายเป็นหนังสือสำคัญอีกเล่มของยุคสมัยที่คนร่วมเวลาต้องตามให้ทัน

อีกเล่มเป็นหนังสือเด็ดเกี่ยวกับการเมืองไทยที่ต้องออกปากว่าไม่อ่านไม่ได้คือ บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม โดยปูชนียาจารย์ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ของนักเรียนประวัติศาสตร์ไทยหลายรูปนาม และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ ที่สืบเสาะเจาะลึกเบื้องหลังการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีบรรดาอาจารย์ผู้แปลให้อ่านระดับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เขียนคำทรงจำถึงอาจารย์เบน, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่มาถามว่าใครจะลงแดงอีกไหม, เกษียร เตชะพีระ เขียนกบกระโดดออกจากกะลา ก่อนอาจารย์เบนจะทะลวงเหตุการณ์ 6 ตุลาทุกแง่มุมให้ผู้อ่านได้กระจ่างแจ้งแก่ใจ

หนังสือหนาเพียง 160 หน้าเล่มนี้ จะทำให้เรามองการเมืองไทยแบบปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป ซื้อได้ในราคาชุดละ 600 บาท จากราคา 820 บาท ภายในเดือนตุลาคมนี้เช่นเดียวกัน

• หนังสืออีกชุดว่าด้วย “ประวัติศาสตร์การเมือง” มีเพียง 2 เล่ม แต่เป็น 2 เล่มที่เชื่อมรอยต่อซึ่งคนไม่เคยเข้าใจไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาถึงปัจจุบัน เริ่มด้วย ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น โดย จิราภรณ์ ดำจันทร์ ที่วิเคราะห์หาคำตอบเส้นทาง “การเปลี่ยนแปลง” ประชาธิปไตยไทยที่ “ไม่เปลี่ยนแปลง” ครั้งแล้วครั้งเล่า ให้เห็นกันจริงจัง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เริ่มต้นด้วยความมุ่งหวังที่จะก่อร่างสร้างฐานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ยอมรับกันว่าชอบธรรมในระดับสากล แต่ความมุ่งหวังและความพยายามเหล่านั้นล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนังสือเล่มนี้เสนอเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย 4 ครั้งสำคัญ ในช่วง 85 ปีที่ผ่านมาของไทยจนถึงปี 2560 เพื่อตอบคำถามที่ว่า เหตุใดไทยจึงไม่อาจสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้มั่นคงได้ ทั้งที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเปิดเผยให้เห็นบทบาทของตัวละครการเมือง ไม่ว่าชนชั้นนำ กลุ่มเคลื่อนไหว และพลังฝ่ายอนุรักษนิยม เพื่อเข้าใจความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกร่วมกันกันเสียที

อีกเล่มเป็นหนังสือซึ่งแทบจะรู้จักกันดีแล้ว สำหรับผู้สนใจเมืองไทยทุกฝ่าย ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ ชาวต่างประเทศบ้านเขา และที่ทำงานในบ้านเรา ซึ่งอ่านฉบับภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กันมา ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเล่มล่าสุดที่ทันสมัย และครอบคลุมเนื้อหาครบถ้วนที่สุดเท่าที่เคยเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยกัน

ที่แตกต่างอย่างสำคัญจากตำรารุ่นก่อนคือ เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีประชาชน

หนังสือเล่มนี้คือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งปรับปรุงจาก A History of Thailand เธิร์ด เอดิชั่น, ของเคมบริดจ์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เพรส ซึ่งร่วมกันศึกษาค้นคว้าและเขียนโดย คริส เบเกอร์ นักประวัติศาสตร์กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ “ไฟแนนเชียล ไทม์ส” กล่าวว่า ผู้เขียนทั้งสองเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ผลิตงานประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยซึ่งมีชีวิตชีวา และน่าอ่านมาก “บีบีซี ฮีสตรี้ แมกกาซีน” กล่าวว่า การศึกษาประเทศไทยที่มีกรอบความคิดชัดเจนมาก “เซาธ์อีสต์ เอเชีย รีเสิร์ช” กล่าวว่า ข้อมูลเพียบ อ่านแล้ววางไม่ลง “ไทม์ ลิทเทอรารี่ ซัพพลีเมนต์” กล่าวว่า อธิบายได้อย่างครอบคลุม แสดงความเข้าใจในระดับที่ยอดเยี่ยมมาก

ส่วน “มัลคัม ฟัลคัส, บางกอก โพสต์” กล่าวว่า คริสกับผาสุก ได้ผลิตงานที่วิเศษจริงๆ ตีความเก่ง ท้าทายผู้อ่าน รวบรวมงานวิจัยล่าสุดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และวิเคราะห์แบบฉีกแนว น่าประทับใจที่สุด “เจอนัล ออฟ เดอะ สยาม โซไซตี้” กล่าวว่า เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเล่มแรก ที่เป็น “ประวัติศาสตร์” ในความหมายสมัยใหม่ ใครซึ่งอยากรู้ที่มาของสังคมปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน และศักยภาพ สู่อนาคตในโลกที่ไร้เสถียรภาพ ต้องอ่านให้ได้ “ฉลอง สุนทราวาณิชย์, เดอะ เนชั่น” กล่าวว่า สนองตอบความต้องการของทั้งผู้อ่านทั่วไป และนักศึกษาที่เรียนประวัติศาสตร์ หรือแง่มุมต่างๆ ของสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะสอนประวัติศาสตร์หรือไม่ จึงไม่อ่านไม่ได้ หากนักเรียนนักศึกษาอ่านไปก่อนแล้ว และนักเรียนนักศึกษาก็ไม่อ่านไม่ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะพ้นยุคที่คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตเนิ่นนานแล้ว ยังไม่เคยมีหนังสือประวัติศาสตร์ไทยซึ่งสมบูรณ์พร้อมเช่นนี้ สมบูรณ์ขนาดชาวต่างชาติยังบอกว่าไม่อ่านไม่ได้ หรืออ่านแล้ววางไม่ลง

ใครเคยได้ยินมาก่อนบ้าง ว่าหนังสือประวัติศาสตร์อ่านแล้ววางไม่ลง

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาอ่านกันให้เข้าใจที่มาของตัวเองกันเสียที อย่าปล่อยให้ความหลงชาติหลงอำนาจที่ครอบงำสังคมมานานกว่าครึ่งศตวรรษยังดำรงอยู่ได้ ช่วยกันไล่อสุรกายตายซากตนนี้ให้พ้นไปจากตำราวิชาการไทยได้แล้ว หลังจากเป็นกาฝากคอยดูดน้ำเลี้ยงสติปัญญานักเรียนไทยมาเกือบสองชั่วอายุคน เป็นหนังสือที่ควรอ่านตั้งแต่เรียนมัธยมต้นด้วยซ้ำ

หนังสือสองเล่มนี้ซื้อได้ในราคาเพียง 500 บาทจากราคาเดิม 685 บาทก่อน สิ้นเดือนนี้

เดือนหน้าก็จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว ระวังตัวกันให้ดี ประมาทไม่ได้ ทำมาหากินก็ต้องทำ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดโรคระบาดหมู่ด้วย จะหลีกเลี่ยงอย่างไรนั้น รู้กันอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image