24-7/1 และบางคำตอบของ ‘เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?’

 

ชื่อของ ภู กระดาษ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปกนิยายเรื่อง ‘24-7/1′ ไม่ใช่คนแปลกหน้าของวงวรรณกรรมไทย แต่เป็นชื่อที่การันตีผลงานที่เรากำลังจะหยิบขึ้นมาอ่านได้ในระดับหนึ่งเลยว่า คุ้มค่าแก่การใช้เวลาแน่ๆ

สารภาพตามตรงว่า ตอนที่เห็นเล่มนี้ครั้งแรก แอบท้อใจกับความหนาระดับที่เอามาหนุนหัวนอนได้เลย แต่หลังจากเปิดหน้าแรกและปิดหน้าสุดท้ายลงในระยะเวลาที่ห่างกันเพียงไม่นาน ก็รู้ว่าความหนาไม่ใช่อุปสรรค แต่คือเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลและร้อยเรียงได้อย่างสมบูรณ์แบบที่ถ้าตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป นั่นจะทำให้คำถามสำคัญที่เกิดระหว่างทางหายไปทันที เป็นคำถามที่ทำให้หลายครั้งระหว่างการอ่าน นำไปสู่ความรู้สึกเหมือนกำลังทะเลาะกับตัวเอง ทุ่มเถียงกับวิธีคิดบางอย่างที่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อตัวเราอยู่ แม้จะพยายามปฏิเสธก็ตาม

คำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

Advertisement

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่หลายคนบ่นอยากย้ายประเทศ หนึ่งในคำถามยอดฮิตติดแฮชแท็ก ที่มีทั้งถามจริงจัง ทั้งถามทีเล่นทีจริงคือ #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้นไม้แห่งความล้มเหลวทั้งมวลที่งอกงามอยู่ในปัจจุบัน คงไม่ได้อยู่ดีๆ ก็งอกเงยขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และเรื่องเล่าของตระกูลวงศ์คำดี คือ 1 ในคำตอบ

เรื่องเล่าที่มองเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงในสังคมต่างจังหวัด  ซึ่งแตกต่างจากงานที่มาของภู กระดาษ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ถ้าลองพิเคราะห์ดีๆ จะเห็นถึงสภาวะหนูถีบจักรที่แทบไม่แตกต่างกัน เป็นเรื่องเล่าจากเบื้องล่าง (stories from below) ที่ถีบจักร 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ใน 1 สัปดาห์ด้วยแรงบีบอัดของอำนาจ

กว่าทศวรรษที่ล่วงเลยมาบนพื้นฐานความขัดแย้งและการตั้งคำถามถึงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวในสังคมไทย  มีนิยายหลายเรื่องที่พยายามจะพูดถึงความบิดเบี้ยวดังกล่าวในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป และ ’24-7/1′ สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจผ่านประวัติศาสตร์เรื่องเล่าท้องถิ่นที่ผู้เขียนวางไว้ขนานกับประวัติศาสตร์กระแสหลักในนามของชาติ ตั้งแต่สร้างบ้านแปงเมือง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ในงานเขียนของภู กระดาษ และแทบจะเรียกเป็นลายเซ็นที่ถ้าปิดชื่อผู้เขียน เราก็ยังเดาได้แบบไม่น่าพลาดว่าคือวิธีเล่าของใคร

Advertisement

อย่างไรก็ตาม กลวิธีดังกล่าวไม่ใช่การเล่าล้อประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพราะบนความคู่ขนาน นี่คือการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสามัญชน แต่ไม่ว่าจะพยายามเขียนใหม่อย่างไร ก็ยังคงอยู่ภายใต้กรอบของระบบความสัมพันธ์แบบลำดับช่วงชั้น ช่วงชั้นหนึ่งกดทับอีกช่วงชั้น กดทับต่อกันไปเรื่อยๆ และกลายเป็นผู้ภักดีในแบบที่รัฐชาติพึงใจ

ครอบครัวและความรักกลายเป็นอำนาจสำคัญของสถาบันเชิงอำนาจ อย่างไม่สามารถตั้งคำถามให้เด็ดขาด เดินจากไปให้พ้นตา ตัดขาดแบบไร้เยื่อใยได้ แม้ว่าผู้เขียนจะวางคาแรคเตอร์ของตัวละครกลุ่มคนจนเมือง กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงในต่างจังหวัด ให้ทั้งมีการค่อยๆ ตั้งคำถาม ทั้งมีคำถามมาโดยทันที ท่ามกลางทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างคนละขั้ว จนนำไปสู่การปะทะกันทางความคิดของตัวละคร และการเลือกสรรความทรงจำมาเล่าขาน

ความเป็นครอบครัวที่ครอบทับ นำไปสู่สถานะแรงงานตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด  7 วันต่อสัปดาห์ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวผันแปรแห่งวันเวลา ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจอย่างล้นเหลือที่จะรักษาสถานะอันมั่นคงของตน หรือความแปลกแยก (alienation) ที่กล้ำกลืนจนต้องต่อสู้เพื่อพยายามยืนยันตัวตน และแสวงหาพื้นที่ของความฝันแห่งรัฐสวัสดิการในอุดมคติ ก็ตามที

เป็นนิยายเล่มหนาที่คุ้มค่าแก่การใช้เวลา และอาจนำไปสู่คำตอบของตัวเอง

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image