ตู้หนังสือ ​: ระบอบลวงตา ค้าบริการทางเพศข้ามชาติ โดย บรรณาลักษณ์

งานนิทรรศการและจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนและเพื่อนสำนักพิมพ์นานา คั่นไว้ในเจอ ที่เพิ่งผ่านมาที่ มติชน อคาเดมี มีบรรยากาศอบอุ่น ชวนประทับใจ ภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันในเครือ กับภาพการเมืองในความทรงจำ เช่น ภาพได้รับรางวัลจากการประจันหน้ากันระหว่างตำรวจกับทหารหน้าบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีเท้าสวมท็อปบู๊ต ยื่นพาดอยู่บนบานประตู บอกอารมณ์การเมืองยามนั้นได้เป็นอย่างดี

ผู้มาร่วมงานซึ่งออกจากชีวิตใน “ภาวะตามสาย” (ออนไลน์) กลับสู่ “ภาวะวิสัย” (ออนไซต์) ได้รื้อฟื้นบรรยากาศการเรียนรู้จากนิทรรศการ และพบกับหนังสือหลากหลายน่าตื่นเต้นบรรดามี ที่เมื่อเห็นแต่ละคนถือตะกร้าซึ่งหนักเต็มไปด้วยหนังสือ อันเป็นอาหารปัญญาแทนที่ผักหญ้าหมูหรือเนื้อ แล้วน่าชื่นใจชวนตื้นตันว่า โลกหนังสือยังยากจะสลายเป็นอากาศธาตุไปอยู่ในจอแก้ว (อี-บุ๊ก) ได้ง่ายๆ เสียโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าการที่สสารไม่สลายไปจากโลกจะมีนัยในรูปใดบ้างก็ตาม

นิทรรศการนี้ถือเป็นการลงหลักแรกของชีวิตในสังคมหลังโควิดระบาดได้หรือไม่ แม้สถานการณ์จะยังตกอยู่ในท่ามกลางก็ตาม แต่บ่งว่าการใช้ชีวิตต้องดำเนินต่อไปให้ได้

นักอ่านหรือผู้สนใจตัวเองสนใจสถานการณ์บ้านเมือง ควรอ่านเรื่อง “การจากไปของโรงหนังสกาลา กับภาพมายาของเมืองสร้างสรรค์” ของอาจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เมื่ออังคารที่ผ่านมาใน มติชน ออนไลน์ ซึ่งพูดถึงความคิดรอบด้าน ที่ต้องเรียนรู้และตระหนัก ไม่เพียงเจ้าของที่ดิน ผู้ลงทุน ผู้เช่าที่ รวมถึงประชาคมรอบที่ดิน และคนร่วมสังคม ที่ต้องเข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของปัจจุบันและอนาคตในแง่มุมต่างๆ ในทางสร้างสรรค์ นอกเหนือการแสวงกำไรแบบเดิมแต่ประการเดียว ซึ่งดำเนินต่อมาช้านาน โดยไม่สนใจว่าโลกและสังคมเปลี่ยนไปเช่นไร คนควรคิดและควรเปลี่ยนไปเช่นไร และสามารถจะร่วมจัดการให้สังคมและผู้คนเปลี่ยนไปในทางดีได้อย่างไร ไม่เพียงเพื่อเรา แต่เพื่อคนซึ่งมาทีหลังอีกรุ่นต่อรุ่นนับไม่ถ้วนด้วย

Advertisement

• สังคมทุกวันนี้ นอกจากชาวบ้านประชาชนจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำกินในยุคที่เทคโนโลยีวิทยาการกำลังเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการเลี้ยงชีพเป็นไปโดยยากลำบากขึ้น ยังต้องเสียเวลาอีกมากไปกับการทะลวงม่านมายาต่างๆ รอบตัว จากทั้งระบบการเมืองเห็นแก่ตัวที่พยายามหลอกล่อความคิดผู้คนให้หลงทิศ ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจโต้งๆ หรือ “เล่ห์กลข่าวสาร” (อินฟอร์เมชั่น โอเปอเรชั่น) และระบอบทุนที่เร่งเร้าการบริโภค ด้วยการสร้างความรู้สึกจำเป็นในสิ่งที่ไม่จำเป็น ล้วงกระเป๋าสตางค์ของเราให้ได้มากที่สุด

เราจึงต้องมองผ่านหรือมองให้ทะลุ Behind the Illusion ระบอบลวงตา ที่ค้นคว้ามาเขียนโดย สฤณี อาชวานันทกุล มาให้เราต้องรู้ให้ได้ ว่าหลังม่านลวงตา มีอะไร สิ่งใด แอบแฝงหรือซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง-จอมเผด็จการ นักการเมืองขี้โกง คนชั่วนานา ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้พยายามช่วยให้เรามองผ่านความพร่าเลือน บิดพลิ้ว ล่อหลอกคนไทยให้เห็น “ประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ” หรือเห็น “เผด็จการเป็นประชาธิปไตย” ให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ผ่านประเด็นการเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม และระบอบอำนาจฉ้อฉลของรัฐบาล ไม่ว่าเรื่อง รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตยมีจริงหรือ, กฎหมายกับความยุติธรรม, โซ่ตรวนที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, กับการฉ้อฉลเชิงอำนาจของระบอบประยุทธ์ ที่เราจะตัดสินใจได้เองว่า เราพอใจจะถูกหลอกล่อต่อไปตลอดกาลหรือไม่

ที่สำคัญที่สุดคือ อ่านเพื่อเห็นตัวเอง และเข้าใจสถานการณ์ที่ตัวเองประสบอยู่จริง

สั่งจองหนังสือเล่มนี้ล่วงหน้าได้ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ ในราคา 306 บาท จากราคา 360 บาท โดยหนังสือจะทยอยส่งตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน เป็นต้นไป – อย่าได้พลาด

• สัก 28 ปีที่แล้ว ราวเดือนกรกฎาคม 2536 ดิกชันนารี “ลองแมน” ฉบับว่าด้วยภาษาอังกฤษและวัฒนธรรม ระบุถึงไทยว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโสเภณีโลก สร้างความโกรธเกรี้ยวแก่ผู้คนทั่วไปอย่างมาก (ทั้งที่รู้ว่าบ้านเมืองมีโสเภณีอยู่มากจริง) จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โฆษกรัฐบาลขณะนั้น ออกมาตอบโต้อังกฤษอย่างรุนแรง

เวลาผ่านมาจนเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ราวกุมภาพันธ์ 2560 สื่ออังกฤษ “มิเรอร์” ก็รายงานถึงเมืองพัทยาว่า เป็นนครหลวงแห่งเซ็กซ์ของโลก มีโสเภณีมากถึง 2 หมื่น 7 พันคน ทั้งๆ ผิดกฎหมาย จนผู้นำออกมาแสดงความอับอาย (แต่ไม่พูดถึงปัญหาที่ปรากฏ แนวทาง และวิธีแก้ปัญหาจริงจัง) อ่านเรื่อง “โสเภณีในมุมกว้าง” ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชน ออนไลน์ เดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นทบทวนเรื่องนี้ได้

โสเภณีในเมืองไทยเป็นคนเล็กคนน้อยอีกกลุ่มชนหนึ่ง เหมือนคนเล็กคนน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เคยได้รับความสนใจเหลียวแลสารทุกข์สุกดิบ เยียวยา ช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจากรัฐบาลใดๆ อย่างยุติธรรมตรงไปตรงมาในฐานะคนร่วมสังคม ยิ่งด้วยเหตุที่เป็นธุรกิจซึ่งมีโครงสร้างกว้างขวาง ผลประโยชน์มากมาย ผู้เกี่ยวข้องหลากหลายรูปแบบ แต่จำเลยทุกครั้งตกกับโสเภณีอยู่ผู้เดียว ยิ่งกลายเป็นเรื่องที่บรรดาคนมีอำนาจมักหลับตาคร้านจะมอง

วันนี้ ธุรกิจบริการทางเพศได้กินอาณาบริเวณชัดเจนไปไกล หากทำความเข้าใจได้ ก็จะเห็นภาพกระจ่างยิ่งขึ้นเมื่อหันกลับมามองตัวจาก ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย : พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติในอาเซียน โดยอาจารย์ ธานี ชัยวัฒน์ นักเรียนปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จากโบโลญญา อิตาลี ปัจจุบันเป็นประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

จะนำนักอ่านพบงานวิชาการชิ้นสำคัญนี้ที่จะพาไปสำรวจโลกเลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง ของการค้าบริการทางเพศข้ามชาติในมิติวิชาการ ผ่านการรวบรวมข้อมูล สถิติ ข้อมูลการลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ดูภาพกว้างในระดับระหว่างประเทศ เพื่อเสนอแนวทางและเชิงนโยบาย เพื่อจัดการตลาดค้าบริการทางเพศที่ไม่อาจละเลยนี้ไปด้วย

หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เห็นอีกหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจที่มีความหมายหลายแง่มุม ไม่เพียงแต่เพื่อวางกลยุทธ์ควบคุมตลาดการค้าขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลจากชีวิตและเลือดเนื้อสตรี แต่เป็นการเปิดเผยพื้นที่ของผู้คนที่ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย และดำเนินไปอย่างไม่หยุดยิ่งตามสภาวะของโลก เราจะได้เห็นและเข้าใจที่มาอันเป็นปฐมบทของการค้า, การไหลไปตามโลกทุนนิยม, มองลอดกรอบกฎหมายเข้าไป, ได้เห็นแรงจูงใจในการทำงาน, เข้าใจสถานการณ์ตลาด, เข้าใจพลวัตที่ไม่หยุดนิ่ง กับการช่วงชิงอนาคตของธุรกิจ

เป็นสังคมและชีวิตผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งละเลยและละทิ้งไปไม่ได้

• หนังสืออีกเล่มที่ควรอ่านยามนี้ ยามที่การแสวงหนทางประชาธิปไตยยังถูกขัดขวางด้วยอำนาจซึ่งไม่ยอมคืนประโยชน์ดั้งเดิมแก่ประชาชนอย่างไม่ลดละ ได้เห็นการเกิดความคิด และวิถีต่อสู้เพื่อแนวทางส่วนรวมของนักคิดเพื่อปวงชน ในการยืนยันปัจจุบันว่ายังเดินอยู่บนเส้นทางถูกต้องไม่เฉไฉไป ไม่ว่าการขัดขวางจะรุนแรงขนาดไหน

สยามปฏิวัติ : จาก “ฝันละเมอ” สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นหนังสือรวบรวมบทบันทึกความคิดประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นธารปฏิวัติสยาม ตั้งแต่คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะ “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” ของเทียนวรรณ “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” ของขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะ ร.ศ.130 “มนุษยภาพ” โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนถึงประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 ที่เชื่อกันว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียน

ซึ่งคำประกาศเหล่านั้น ควรเรียนกันมาตั้งแต่มัธยมต้นเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วด้วยซ้ำ เป็นการยืนยันว่ากระบวนการศึกษาหรือการเรียนรู้ประชาธิปไตยในสังคมไทย เหลวไหลและไม่เป็นโล้เป็นพายขนาดไหน ทั้งเป้าหมาย ขั้นตอนการเรียนรู้ และผู้คนซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการ

ควรอ่านเพื่อเห็นความคิดของบรรพชน และความไม่เป็นโล้เป็นพายของธุรกิจชน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนคำนำ กษิดิศ อนันทนาธร บรรยายเปิดบท

• จากนั้นควรอ่านหนังสือหรือจุลสารฉบับเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในกระแสความคิดปฏิวัติฝรั่งเศส อันเป็นรากฐานความคิดในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสมัยใหม่ทั้งมวล ฐานันดรที่สามคืออะไร โดยนักเขียนและนักบวชฝรั่งเศส เอมมานูเอล โจเซฟ ซิเอเยส (2291-2379 ร่วมสมัยรัชกาลที่สาม 2331-2394) ซึ่งเขียนขึ้นในเดือนมกราคม 2332 โดยตั้งคำถามคำตอบต่อสาธารณชนว่า

ฐานันดรที่สามคืออะไร – ทุกสิ่งทุกอย่าง

ฐานันดรที่สามมีสถานะอะไรในโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน – ไม่มี

ฐานันดรที่สามต้องการเป็นอะไร – ทุกสิ่งทุกอย่าง

ดังนั้น ในสังคมดังกล่าวซึ่งฐานันดรแรกคือพระ ฐานันดรถัดมาคืออภิชนขุนนาง และฐานันดรสุดท้ายคือสามัญชน จึงเกิดระบาดความคิดอันนำไปสู่การปฏิวัติในที่สุด

และดังนั้น วันนี้ ลองฟังคำกล่าวเมื่อ 232 ปีที่แล้วดู เพื่อถามความคิดตัวเองวันนี้

“เหตุผลและความยุติธรรมไม่สามารถโอนอ่อนเพื่อเอาใจท่าน ไม่คู่ควรแม้กระทั่งคำถามว่า ในท้ายที่สุด ชนชั้นอภิสิทธิ์ควรมีที่ทางตรงไหนในระบบสังคม นั่นเปรียบเสมือนการตั้งคำถามว่า ธาตุเหลวที่เป็นพิษควรมีที่ทางตรงไหนในกายของคนป่วย ในเมื่อธาตุเหลวนั้นบ่อนเซาะและทรมานร่างกายที่มันอาศัย ธาตุเหลวนั้นต้องถูกสยบเพียงประการเดียว…

“แต่ดูเหมือนมีผู้บอกแก่ท่านว่า ท่านยังไม่พร้อมต่อการมีสุขภาพดี แล้วท่านก็น้อมรับฟังคติเตือนใจดังกล่าวจากภูมิปัญญาแห่งอภิชนอย่างว่าง่าย เชื่องเชื่อไม่ต่างจากชาวตะวันออกไกลยอมรับบุญทำกรรมแต่งเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ดังนั้นก็จงทนป่วยต่อไป…”

ช่างไม่ผิดอะไรกับคำที่ว่า “คนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” โดยแท้ ที่แม้ผ่านมาเวลาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมานานถึง 90 ปีเข้านี่ ก็ยังมีคนพร้อมจะพูดอยู่อีกว่า คนไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย อยู่ดี – คงคิดว่าคนไทยกินหญ้ากันหมด

คนเกิดปัจจุบันที่ยังติดปัญหาคิดต่างวันนี้ จึงเมื่อฟังคำกล่าวของคนสองร้อยกว่าปีก่อน แล้วยังคิดอะไรไม่ตก อย่างน้อยควร “ละอายใจ” บ้าง หากยังไม่สามารถมองเห็นเส้นทางที่ถูกต้องที่สาธารณชนต้องเดิน แม้ตัวเองจะยังไม่กล้าเดินก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อคนตะวันตกสองร้อยกว่าปีก่อน อุตส่าห์เห็นคนตะวันออกไกลยอมรับบุญทำกรรมแต่ง และยังอุตส่าห์ยอม “ทนป่วย” ต่อไป โดยมิได้ติดใจคิดใคร่ครวญถึงสำนวนจีนที่ว่า “ฟ้าให้เรามาเกิด ฟ้าย่อมเห็นว่าเรามีประโยชน์อยู่บ้าง” แต่อย่างใด

ต่อให้เถียงว่า ก็เรามีสิทธิคิดต่างเหมือนกันนี่นา แต่คิดต่างแบบยอมตัวเป็นฟอสซิล แล้วต่อต้านอย่างรุนแรงต่อความคิดต่างที่จะก้าวตามโลกไปข้างหน้านั้น – โถๆๆ ยังหลับตาทะลุ่มทะลุยเถียง

• อย่างนั้นไม่ว่าจะคิดต่างแบบไหนลองอ่านเล่มนี้น่าจะเข้าที เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข โดย โกะโด โทคิโอะ และแปลโดย อาคิรา รัตนาภิรัต เพื่อจะรู้ว่า ทำไมต้องเลิกเป็นคนดีแล้วถึงมีความสุข ด้วยการลด ละ เลิกนิสัยบางอย่างที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นเหตุขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิต และยากลำบากต่อการดำเนินชีวิต

พูดตามสำนวนยุคโควิดก็คือ ถอดหน้ากาก หรือปลดล็อกตัวตนตัวเองเสีย

ทุกคนต้องการเป็นคนที่ผู้คนชื่นชอบ แต่หลายๆ คราว เรามักเอาตัวเองไปผูกกับความคิดความต้องการของคนอื่นๆ จนขาดอิสระในการตัดสินใจเรื่องราว หรือการดำเนินชีวิต แสร้งทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อมิให้ถูกรังเกียจ หรือสามารถเข้าพวก ทั้งที่ไม่แน่ว่าอีกฝ่ายจะสนใจสิ่งที่เราทำอย่างจริงจังหรือไม่ แต่เราต้องทนกับการไม่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ

ต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รู้การปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม เข้าใจเรื่องความเชื่อ ไม่ประเมินตัวเองต่ำหรือขาดเหลือเกินจริง กระทั่งการเป็นคนขวานผ่าซาก หรือทุ่มเททุกอย่างถึงที่สุดไม่ถูกเรื่อง และต้องรู้จักคุณค่าที่แท้ของตัวเอง ฯลฯ ล้วนต้องเรียนรู้

เปลี่ยนจากคนดียอดนิยมกลวงๆ เป็นผู้ใหญ่ที่แท้ดีไหม

• และเมื่อพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแล้ว ก็มาถึงหนังสือน่าอ่านอีกเล่มที่สนุก อ่านง่าย แต่ให้ประโยชน์ตรงด้านปฏิบัติ ด้วยแบบแผนความสัมพันธ์ที่ให้ไว้ชัดเจน

เอ็นเนีย (ennea) เป็นภาษากรีกแปลว่า 9 ส่วนแกรม (gram) แปลว่าจุด เอ็นเนียแกรมจึงแปลว่า 9 จุด ซึ่งใช้กันในความหมายว่า 9 แบบ อันหมายถึงบุคลิกภาพ 9 ประการของคน ที่เรียกกันโดยศัพท์ไทยว่า นพลักษณ์ จากหนังสือที่ใช้แพร่หลายกันมาแล้วหลายเล่ม แต่ในเล่มนี้ ต่างเธอ ต่างฉัน เอ็นเนียแกรมสานสัมพันธ์ ลองพิจารณาคน 9 แบบซึ่งแตกต่างไป เพื่อพิจารณาตนเอง และคนรอบข้างที่ต้องร่วมงานหรือปฏิสัมพันธ์ด้วย

คนสมบูรณ์แบบ, ผู้ช่วยเหลือ, คนใฝ่สำเร็จ, คนโรแมนติก, นักสังเกตการณ์, นักปุจฉา, นักผจญภัย, ผู้ปกป้อง, นักประสานไมตรี ลองศึกษาเพื่อเรียนรู้ปรับตัวข้าหากัน

เรนนี่ บารอน กับ อลิซาเบ็ท เวเกิล เขียน และแปลโดย วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช ที่จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อการมองกลับไปสู่บุคลิกภาพของคนที่ไม่เคยเข้าใจ

• เปิดประเทศแล้ว ที่พักถูกจองเป็นส่วนมากแล้ว นักท่องเที่ยวมาแล้ว และจะยังไงต่อไป เปิดลิ้นชักเก็บเงิน เตรียมเครื่องคิดเงิน หรือเครื่องสแกนบัตรเก็บเงินหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image