‘มหกรรมหนังสือ’ การต่อสู้ของสำนักพิมพ์

แป๊บๆ งานมหกรรมหนังสือก็จะกลับมาเป็นครั้งที่ 21 แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 ตุลาคมเป็นต้นไป

งานแฟร์ที่ว่าด้วยหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นสัปดาห์หนังสือช่วงต้นปี งานหนังสือในภูมิภาคต่างๆ งานหนังสือย่อยๆ ที่สำนักพิมพ์จัดเอง รวมถึงมหกรรมหนังสือนั้น นอกจากจะเป็นสวรรค์ของคนรักหนังสือแล้ว ยังเป็นพื้นที่ชุบชูใจต่อชีวิตของสำนักพิมพ์หลายแห่งทั้งเล็ก กลาง ใหญ่อีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างทุกวันนี้

และปีนี้เป็นปีที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด เพื่อที่จะสามารถประคองตัวให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะเมื่อสายส่งรายใหญ่รายหนึ่งขอขึ้น ค่าจัดจำหน่าย จาก 40% มาเป็น 42% และล่าสุดก็คือ 45% โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะยอดขายหน้าร้านหนังสือลดลงทำให้ขาดทุนจึงจำเป็นต้องขอขึ้นค่าจัดจำหน่าย จริงอยู่ที่ส่วนนี้เป็นเงินที่ถ้าหนังสือขายได้ก็จะหักเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวไป ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่หัก แต่ก็ถือว่าเยอะมากสำหรับ สนพ.โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็กๆ

การขายหนังสือจากงานที่ได้มาเป็นเงินสด จึงถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญมากที่จะช่วยหมุนเวียนเงินทุนของสำนักพิมพ์โดยมีการปรับตัวในการผลิตหนังสือเพื่อลดความเสี่ยง

Advertisement

แหล่งข่าวจากสำนักพิมพ์ขนาดกลางรายหนึ่งเปิดเผยว่า “ในงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 21 นี้ พยายามที่จะพิมพ์หนังสือปกใหม่ให้ได้ตามเป้าที่โฆษณาล่วงหน้าไว้ เพราะจะสามารถกำหนดยอดพิมพ์ได้คร่าวๆ โดยวัดจากกระแสในหน้าเพจ การพรีออเดอร์ และกลุ่มคนอ่านที่เป็นฐานลูกค้าประจำ เหตุผลที่ต้องออกหนังสือให้ได้ตามเป้า เพราะจะทำให้รู้อุปสงค์อุปทานในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการพิมพ์ล้นตลาดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ที่นำไปสู่การเพิ่มภาระสต๊อกได้ โดยจะไปเน้นในการทำโปรโมชั่นเรื่องราคาเป็นหลัก เพราะภาวะแบบนี้สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือการจ่ายเงินให้คุ้มค่า ไม่ใช่ของแถมใดๆ

งานมหกรรมหนังสือจะช่วย สนพ.ได้ในแง่ของการได้เงินสด เพื่อมาเป็นทุนหมุนเวียน เพราะสำนักพิมพ์ขนาดเล็กสายป่านไม่ได้ยาวมาก การที่ได้ออกงานขายครั้งใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ช่วยได้ในแง่ของการได้ทุนหมุนเวียนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถนำทุนก้อนนี้ไปต่อยอดอีกได้ นอกจากนี้ การพบปะกับลูกค้าโดยตรงยังทำให้รู้ฟีดแบ๊กและทิศทางที่จะพัฒนาแนวหนังสือได้ด้วย

มีคนบอกว่าปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง คิดว่าคำพูดนี้ค่อนข้างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาว คุยกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็บอกว่ายอดจำหน่ายตามหน้าร้านลดลงอย่างมาก แสดงว่าปริมาณปกหนังสือไม่ได้ลดลงเยอะ แต่ผู้อ่านเลือกมากขึ้น เราจึงตัดสินใจว่าจะมาพิจารณาเรื่องตารางการออกหนังสือใหม่สำหรับปีนี้และต้นปีหน้า จากที่เคยคิดว่าจะออกปีละ 8-10 ปก เราลดมาเหลือ 6-7 ปกที่มั่นใจและลดยอดพิมพ์แต่ละเล่มลงเพื่อลดภาระเรื่องสต๊อก”

Advertisement

ด้านสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอีกแห่งก็บอกว่า สภาวะตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กแทบทุกสำนักพิมพ์จะคล้ายกันหมดคือออกหนังสือหลายปกพร้อมๆ กันไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูง สิ่งที่ทำได้คือเลือกออกหนังสือใหม่น้อยลง และเน้นหนังสือที่เป็นแนวตลาดที่คาดว่าจะขายได้มากกว่าเล่มอื่นๆ ที่มีอยู่ ส่วนตัวมองว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนทั่วไปหันไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่เพราะแค่สะดวกขึ้น แต่ราคาถูกกว่ามาก รวมถึงข่าวสารต่างๆ ก็เรียลไทม์มากกว่าอีกด้วย

“ในส่วนของคนทำหนังสือ งานมหกรรมหนังสือเป็นงานที่นอกจากจะได้พบปะกับเหล่าแฟนคลับของนักเขียน ลูกค้าตัวจริงที่มักจะแวะมาพูดคุยทักทาย ให้ความเห็นต่อหนังสือแต่ละเล่มเพื่อเป็นแนวทางในการทำเล่มต่อๆ ไปแล้ว ยังเป็นการขายแบบได้รับเงินทันที แม้จะต้องลดราคาหนังสือบ้างเพื่อจูงใจลูกค้า เพราะถ้าไม่มีงานมหกรรมหนังสือ และต้องพึ่งสายส่งฝากขายตามร้านต่างๆ หลังสรุปยอดขายรายเดือนก็ต้องรอเครดิตอีก 90 วัน รวมๆ แล้วหนังสือใหม่ถ้าไม่ขายดีขนาดต้องพิมพ์ซ้ำภายใน 3 เดือนแรก ก็ต้องรอเงินงวดแรก 120 วันกันเลยทีเดียว ดังนั้น ใครกระโดดลงมาทำหนังสือหรือเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ในช่วงนี้ ต้องถามว่ากินดีหมีหัวใจเสือมาหรือเปล่า

ที่สำนักพิมพ์มีหนังสือใหม่ขาย 2 ปก และเน้นหนังสือปกเดิมที่ยังขายได้อยู่ โดยลดราคาลงอีกหน่อย เพื่อจะได้มีเงินสดเข้าสำนักพิมพ์ คงต้องอดทนจนกว่าสภาวะแบบนี้จะผ่านไป และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างอื่นควบคู่กันไป แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่เลิกล้มความตั้งใจในการทำหนังสือแน่นอน”

จรัญ หอมเทียนทอง

ด้าน จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พ่องานครั้งนี้ก็บอกว่า การถามถึงสภาวะธุรกิจหนังสือและคำถามที่ว่าทำไมเราต้องมางานมหกรรมหนังสือ เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดในช่วงนี้

“ผมตอบได้แต่เพียงว่า หากเราพูดว่าเสียใจและเสียดายเมื่อได้ยินข่าวว่าหนังสือปิดตัวไป เราก็ต้องกลับมาทบทวนว่า แล้วก่อนหน้าที่เขาจะปิดตัว เราได้บอกเขาหรือไม่ เราได้สนับสนุนเขาหรือยัง เราได้ให้กำลังใจเขาหรือเปล่า

โปรดใช้งานมหกรรมหนังสือในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบปะพูดคุยกับนักเขียน ผู้คนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมหนังสือ สำนักพิมพ์ต่างๆ ไปให้กำลังใจพวกเขา ไปอุดหนุนผลงานของพวกเขา ไปช่วยกันยืนยันว่าคนไทยรักการอ่าน และสร้างความมั่นใจให้คนทำหนังสือว่าจงเชื่อมั่นในการสร้างสรรค์หนังสือของเขาต่อไป

หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุดและอยู่กับเราในทุกช่วงอารมณ์ ไม่ว่าจะช่วงที่ดีที่สุด หรือร้าวรานที่สุด อกหัก รักคุด เหงาเศร้า เราก็มีหนังสืออยู่เป็นเพื่อน เพราะฉะนั้น เมื่อเพื่อนที่ดีที่สุดของเราจะมารวมตัวกันในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 นี้ พวกเราจึงต้องชวนกันมา “เสนอหน้า” ให้ “หนังสือ” รู้ว่า พวกเรารัก “หนังสือ” แค่ไหน” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 จะเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ถึงวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2559 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปีนี้มี สนพ.ที่เข้าร่วมงาน 406 ราย รวมทั้งสิ้น 934 บูธ พร้อมนิทรรศการไฮไลต์ “เสนอหน้า” เปิดเผย “เบื้องหลัง” การผลิตหนังสือสู่ “เบื้องหน้า” ผ่าน 6 สาขาอาชีพสำคัญในการสร้างสรรค์หนังสือ พร้อมชมผลงานปกหนังสือและรูปเล่มที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ 100 Annual Book and Cover Design (100 ABCD) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ส่วนบูธสำนักพิมพ์มติชนอยู่ที่โซนพลาซ่าเช่นเดิม ขนหนังสือใหม่ๆ เจ๋งๆ มาเพียบ ไม่น่าพลาดเลยสักเล่ม

“แล้วมาเจอกันเถอะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image