เปิดตัวห้องสมุด ‘1932’ รวมเล่มหายาก-ถูกแบน ส.ศิวรักษ์-ชาญวิทย์ คนเดือนตุลาร่วม

ส.ศิวรักษ์ ร่วมเปิดตัว ‘1932 People Space’ – แหล่ง ปวศ.กระแสรอง ‘ห้องสมุดของ ปชช.’ มุ่งยืนยันเสรีภาพวิชาการ

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่หอสมุดภัทรานุสรณ์ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ มีการจัดงานเปิดตัวห้องสมุด “1932 People Space” ซึ่งรวบรวมหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองหายากในเมืองไทย โดยเวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมงานภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19

จากนั้น เวลา 10.00 น. นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือ “บอล” แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ นายศรัณย์ สัชชานนท์ หรือนัท นักศึกษานิติศาสตร์, รองประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รับหน้าที่พิธีกรกล่าวต้อนรับสู่งานเปิดตัวห้องสมุด 1932 People Space

นายศรัณย์ หรือ นัท กล่าวถึงที่มาของการก่อตั้งห้องสมุด 1932 People Space ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เราตามหาสถานที่ทั่วกรุงเทพฯ และที่นี่เหมาะมากจึงใช้สถานที่นี้ปักหลัก สั่งหนังสือมาเพื่อเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ที่เราทำ ตอนแรกก็ใจเต้นว่า สิ่งที่เราทำจะสื่อไปถึงคนภายนอกและประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งทุกคนที่ร่วมก่อตั้งห้องสมุด ต่างมีไฟ

สำหรับหนังสือในห้องสมุด “1932 People Space” เน้นประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม โดยเฉพาะในรัฐที่เราถูกป้อนข้อมูลจากรัฐฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เราต้องเผยแพร่ข้อมูลส่วนอื่นที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์กระแสหลักให้ผู้คนได้รับรู้ จึงกลายเป็นว่า ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดประวัติศาสตร์กระแสรอง ที่เราจะเผยแพร่ไปให้ประชาชนได้รับทราบ

Advertisement

นายศรัณย์กล่าวเสริมว่า หนังสือที่วางอยู่ในตู้ ในชั้นนั้น ไม่ใช่ของเราคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หนังสือของทางวัด หรือหนังสือเฉพาะของคนในชุมชนแห่งนี้ แต่เป็นหนังสือของทุกคน ของคนที่มีความรู้อยู่แล้ว ของบัณฑิต นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ของคนหาเช้ากินค่ำ หนังสือในที่แห่งนี้เป็นของทุกคนที่มีโอกาสอันเท่าเทียมกัน ที่จะเข้ามาในที่แห่งนี้และเปิดอ่านหนังสือทุกเล่มที่อยู่ที่นี่

“เพราะการศึกษาไม่ควรถูกจำกัดไว้เฉพาะแค่ผู้ที่มีโอกาสหรือมีทรัพยากรเท่านั้น แต่การศึกษาควรเป็นของทุกคน เราลองเดินไปรอบๆ ชุมชน เราเห็นเด็กตาดำๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เราเห็นการที่ทรัพยากรอยู่แค่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตกลงมาไม่ถึงคนข้างล่าง ดังนั้น ห้องสมุดแห่งนี้คือการกระจายทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรทางปัญญา ที่จะเป็นอาวุธและขับเคลื่อนประเทศชาติได้ในอนาคต ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน” นายศรัณย์กล่าว

ด้าน นายชนินทร์ หรือ บอล กล่าวว่า เราออยู่ในสังคมพัฒนา เราต้องการยืนยันในเสรีภาพทางวิชาการ ความรู้หลายอย่างไม่ควรถูกปิดกั้น ไม่ว่าจะเรื่องใด ประเด็นใด ทุกคนมีสิทธิที่ย่อมจะได้รับการเรียนรู้ รับการศึกษาในเรื่องที่เราสนใจ

“ประเทศไทยมีหนังสือต้องห้ามมากมายหลากหลายเล่ม หลายเล่มก็ถูกแบน เช่น หนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งทรงคุณค่ามากเราที่มาร่วมพัฒนาห้องสมุดแห่งนี้ ต้องการจะยืนยันว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการต้องมีอยู่ในประเทศไทย’ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องขอยืนยันต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคม ผ่านการจัดทำห้องสมุด

ห้องสมุดแห่งนี้ ไม่ได้หวังเพียงเปิดให้คนเข้ามาศึกษาเท่านั้น แต่เป็นห้องสมุดที่เราอยากจะทำงานร่วมกับชุมชน สังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น เราต้องการสร้างความเป็นธรรม ผลักดันประเด็นหลายอย่าง เช่น สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และประเด็นสังคมต่างๆ ที่สร้างสรรค์และนำไปสู่การพัฒนาสังคมในอนาคต

การพัฒนาห้องสมุดนี้ ได้คุยกับคนหลายฝ่าย และได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์และอีกหลายองค์กรทั้งภาคประชาชน แรงงาน ที่ร่วมก่อตั้งห้องสมุดแห่งนี้ ซึ่งเป็นห้องสมุดสังคมศาสตร์ ที่จะไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าคุณฝักใฝ่ฝ่ายใด ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ ถกเถียงกัน ใช้เสรีภาพทางวิชาการร่วมกันได้ และหวังว่าห้องสมุดแห่งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เป็นธรรมมากขึ้น” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์กล่าว ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานห้องสมุด 1932 People Space ด้วยว่า โปรเจ็กต์แรก จะรวบรวมหนังสือหายาก หนังสือเก่า ประวัติศาสตร์ราษฎร นักเรียน นิสิตนักศึกษาทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม พฤษภาประชาธรรม (พฤษภาทมิฬ) จนถึงหนังสือร่วมสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2553 ขบวนการเสื้อแดง และขบวนการต่างๆ จะพยายามรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ได้มากที่สุด

โปรเจ็กต์ต่อมา ต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยอาจจะมีการจัดการอบรมเพื่อเรียนรู้ร่วมกันเป็นรายเดือน ขึ้นอยู่กับว่าคนสนใจประเด็นไหน เป็นการพูดคุยทางวิชาการ เรายืนยันว่าเป็นประเด็นที่เราสามารถพูดคุยได้ การเรียนรู้ต้องเป็นสิทธิที่เข้าถึงได้

การต่อมาเรา อยากให้ 1932 ทำ Art Space มีงานศิลปะสร้างสรรค์เข้ามา ซึ่งมีหลายโปรเจ็กต์ แต่เบื้องต้นต้องการรวบรวมหนังสือหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันก่อน

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายชนินทร์ และนายศรัณย์อ่านแถลงการณ์เปิดห้องสมุด 1932 People Space ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีใจความว่า การสร้างห้องสมุด 1932 People Space เพื่อที่จะให้เป็นห้องสมุดสาธารณะ เพื่อให้การเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์สังคมโดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา จัดการเรียนในวิชาต่างๆ เป็นตลาดวิชาให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน โดยคณะทำงานไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินตรา แต่หวังผลตอบแทนเป็นสังคมที่ดีกว่า

สำหรับชื่อของโครงการ คำว่า 1932 มาจากปีอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่ประชาชนเริ่มมีสิทธิมีเสียง มีการจัดการระบบการแพทย์ สาธารณสุข การคมนาคมให้ครอบคลุม เสมอภาคมากขึ้น จึงเอาปี 2475 มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อห้องสมุด

คำว่า People Space ต้องการให้เป็นพื้นที่ของประชาชน เป็นความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

“เราเห็นการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ เห็นการพรากเสรีภาพจากผู้คน และความไม่เป็นธรรมของสังคม เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้เกิดการเรียนรู้ ขอประกาศเปิดห้องสมุด ณ บัดนี้” นายชนินทร์กล่าว

บรรยากาศเวลา 10.34 น. นายกิตติวัฒน์ หรือ หยก กล่าวนำชมโซนต่างๆในห้องสมุด ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือหายาก และหนังสือที่ไม่ได้มีวางขายทั่วไปในท้องตลาด จากนั้น ตัวแทนทีมงานคณะผู้ก่อการ กล่าวต้อนรับ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมงาน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกล่าวถึงห้องสมุด 1932 People Space

กระทั่ง เวลา 11.40 น. เข้าสู่ช่วง People Talk นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการ เจ้าของฉายาปัญญาชนสยาม เปิดพื้นที่เล่าเรื่อง “ยุวชนสยาม อุดมการณ์คนรุ่นใหม่ในอดีต” ซึ่งวัดทองนพคุณ คือสถานที่ประวัติศาสตร์ของกลุ่ม “ยุวชนสยาม” กลุ่มนักเรียนหัวก้าวหน้าที่เสนอแนวคิดปฏิวัติการศึกษาไทย

นายสุลักษณ์ เริ่มต้นกล่าวถึงผู้ก่อตั้งยุวชนสยาม จากนั้นกล่าวว่า ดีใจที่ท่านทั้งหลายสนใจยุวชนสยาม ถ้าจะพูดให้เข้าใจยุวชนสยาม ต้องกลับไปพูดถึงกลุ่มแรกคือ “ปริทัศน์เสวนา” กลุ่มนี้เกิดขึ้นเวลานั้น พ.ศ.2505-2506 ตนออกนิตยสาร ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ กระตุ้นให้เขียน แต่เผอิญเมืองไทยเป็นเผด็จการ ปี 2501 รุนแรงมาก หนังสือพิมพ์ออกใหม่ไม่ได้ หนังสือพิมพ์ดีๆ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องหนีไปตายที่เมืองจีน เพราะเอาโซ่มาล่ามเข้าคุกเป็นแถว ตอนนั้นมหาลัยมี 5 แห่ง คือ จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตร ศิลปากร และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วขยายมาที่บางแสน ฉะนั้น พวกนักเรียนมหาลัยเหล่านี้เขาอยากออกหนังสือของเขาเอง แต่ไม่มีสตางค์

“บางทีอะไรแรงก็ถูกจับ เลยบอกพวกนักศึกษา เรื่อง ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ว่าจดทะเบียนรายเดือน แล้วมีตังค์ให้ด้วย ผมบอกว่าถ้าถูกจับ ผมถูกจับเอง จึงเกิดฉบับนิสิตนักศึกษาขึ้นมา ผมยังจำได้ คนที่เขียนฉบับแรก ดัง 2 คน คนแรกชื่อ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ที่ยังอยู่ อีกคนหนึ่งเสียดายตายแล้ว ‘ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ’ สรุปคือการทำหนังสือพวกนี้เป็นเหตุ และมีเรื่องเกิดขึ้น” นายสุลักษณ์กล่าว

จากนั้น นายสุลักษณ์ กล่าวถึงการตั้งสำนักการคริสเตียน ที่สะพานหัวช้าง ซึ่งก่อให้เกิดความคิดที่จะก่อตั้งบ้าง แต่มุ่งหมายให้เป็นบรรยากาศแบบไทยพุทธ จึงเข้าไปขอเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร เพราะเป็นวัดหลวง ตำรวจคงไม่เข้ามาจับ แต่ก่อนนี้วัดบวรฯ (ธรรมยุต) อยู่ติดกับวัดรังสี (มหานิกาย) ต่อมาขยายวัด จึงยุบวัดรังสี ไปรวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร

“ผมขอให้โบสถ์เก่าเป็นที่ประชุม ตั้งกลุ่ม ‘ปริทัศน์เสวนา’ เด็ก 4-5 คนคุยกัน เชิญ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็มาให้ เชิญ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็มาจากแบงก์ชาติ ม.ธรรมศาสตร์เอาอย่าง ไปตั้งสภาหน้าโดม เกษตรศาสตร์เอาอย่าง ไปตั้งสภากาแฟ แล้วขยายไป 14 ตุลามีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ ตรงนี้

นายสุลักษณ์ กล่าวอีกว่า ต่อมา ประชา หุตานุวัตร, วิศิษฐ์ วังวิญญู สันติสุข โสภณสิริ, ธงชัย วินิจจะกูล, ยงยุทธ วงษ์ภิรมย์ศานต์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, กัญญา ลีลาลัย คิดตั้งรุ่นใหม่ คือ ‘ยุวชนสยาม’

“ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่อง เพราะทำสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อม เป็นเลขาฯ อยู่ ซี่งยุวชนสยามทำดี ครั้งแรกประชุมแถวประธุมธานี เขาอยากรู้จักกำพืชพวกมอญ ก็เชิญคนไปสอน ปรากฏว่ามีคนรุ่นใหม่มาร่วม” นายสุลักษณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีช่วง People Space เปิดพื้นที่เสวนาประชาชน โดยมีประชาชนจากหลากหลายอาชีพ ร่วมวงสนทนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image