ขรรค์ชัย ปลื้ม ‘สยามพิมพการ’ คนจองพรึบ ย้อนเล่าไอเดีย 17 ปีก่อน สุจิตต์ โอด เซ็นหนังสือจนปวดแขน แต่ยังไหว

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสำนักพิมพ์มติชนเปิดให้จองหนังสือ ‘สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศ’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ว่า ล่าสุดมีผู้สนใจจองเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประกาศเปิดจอง 100 เล่มโดยจะได้รับหนังสือพร้อมลายเซ็นนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในฐานะ ‘บรรณาธิการอำนวยการ’ และ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ หนังสือสยามพิมพการ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีผู้ทยอยสั่งจองอย่างต่อเนื่องมากกว่าเท่าตัว (อ่านสกู๊ป เปิดเบื้องหลัง กว่าจะเป็น‘สยามพิมพการ’ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย)

นายขรรค์ชัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คนให้ความสนใจ จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว มานั่งคิดว่า ต้องทบทวนประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง มีการเริ่มต้นมาอย่างไร จึงคุยกับนายสุจิตต์ ว่าควรสังคายนา เหมือนกับที่มติชนจัดทำพจนานุกรมมติชนขึ้นมา แต่ไม่เคยคิดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในรูปแบบหนังสือเล่มใหญ่ขนาดนี้

“อยากทบทวนว่า การพิมพ์ในไทยเริ่มต้นมาอย่างไร เกาะกลุ่มกันมาอย่างไร จนเกิดหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงมติชน ส่วนหนึ่งเพื่อพิจารณาว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรค จะได้ร่วมกันแก้ไข เช่น ประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ตอนนั้นคิดว่า ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆเก็บหอมรอมริบข้อมูลไป แต่ปรากฏว่าคณะทำงานทำออกมาได้ดี รวดเร็ว และขายดีด้วย ใครจะไปรู้ว่าจะขายดี เพราะเราทำแบบไม่คิดถึงอนาคตอยู่แล้ว (หัวเราะ) เป็นหน้าที่ปกติของสื่อมวลชน ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงเรื่องอื่นด้วย เครือมติชน ต้องการให้คนรักการอ่าน เราทำเพราะต้องทำ ไม่ได้คิดเรื่องยอดขาย” นายขรรค์ชัยกล่าว

นายขรรค์ชัยกล่าวด้วยว่า ทางสำนักพิมพ์มติชนส่งหนังสือให้ตนเซ็นชื่อเป็นจำนวนมาก จึงนั่งเซ็นบนโต๊ะในห้องทำงาน หนังสือเต็มโต๊ะ เซ็นจนเป็นตะคริวที่นิ้ว แต่ก็ดีใจที่สยามพิมพการได้รับความสนใจมากในการพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่าน

Advertisement

“เซ็นจนตะคริวกินนิ้วจริงๆ (หัวเราะ) ก็เป็นไปตามวัย” นายขรรค์ชัยกล่าว

ด้านนายสุจิตต์ กล่าวว่า ตนรวบรวมคณะทำงานตามดำริของนายขรรค์ชัยที่อยากให้ชำระสะสางความเป็นมาพื้นฐานเกี่ยวกับการพิมพ์ในประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงยุคร่วมสมัย จึงทำการทบทวนวรรรกรรมด้วยการอ่านเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับนายปรามินทร์ เครือทอง เสรีชนนักค้นคว้า พร้อมชวนนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

Advertisement

สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ตนได้รับการบอกกล่าวจากสำนักพิมพ์ให้มาเซ็นชื่อถึง 2 ครั้ง รู้สึกปวดแขน แต่ยังไหว เซ็นไปพักไป เซ็นอย่างมีความสุข ขอบคุณทุกคนที่สนใจ

ทั้งนี้ สยามพิมพการ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2548 โดยฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการเพิ่มเติม ‘คำบอกเล่า’ จากบรรณาธิการเล่มเมื่อ 17 ปีก่อน นั่นคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในประเด็น ‘พลังของข้อมูลความรู้จากการพิมพ์’ และ ‘ดัชนีค้นคำ’ ที่จัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาค้นคว้า

สั่งซื้อสยามพิมพการ คลิก ที่นี่ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02-589-0020 ต่อ 3350-3360

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image