ตู้หนังสือ : สงครามรัสเซีย ยูเครน คนจรดาบกับคนบางกอก โดย บรรณาลักษณ์

สงครามรัสเซียกับยูเครนซึ่งกำลังรบราฆ่าฟันกันอยู่ท่ามกลางความเสียหายนานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชีวิตผู้คน หนนี้ มีที่แปลกไปอยู่บ้างคือ ทั้งสื่อหลักและสื่อสาธารณะต่างเผยแพร่ข่าวสารด้านรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายเริ่มการรุกรานอยู่ไม่น้อย แม้จะอยู่ในสถานะผู้ร้าย โดยพยายามให้ข้อมูลสาเหตุของสงคราม ว่าเป็นการโต้ตอบการปิดล้อมของสหรัฐและนาโต ขณะเดียวกันก็ยกอ้างการที่สหรัฐกับประเทศพันธมิตรสร้างสงครามรุกรานประเทศตะวันออกกลางมาเปรียบเทียบ ซึ่งมิได้หมายความว่าจะทำให้รัสเซียกลายเป็นฝ่ายถูกขึ้นมาได้ เป็นแต่ให้มองข้อมูลอีกด้าน เพื่ออย่างน้อยในฐานะปัจเจกชนผู้ติดตามสถานการณ์ จะได้รู้ทวนความคิดตัวเอง

ในการนี้เช่นเคย อยากเสนอความเห็นจากตรรกะเหตุผลของนักกฎหมายที่หมั่นอ่านคดีสังคม กล้า สมุทวณิช ในเรื่องนี้มาประกอบความคิด ด้วยหัวข้อ “ระหว่าง-ไข่-และ-กำแพง” ในมติชนออนไลน์
วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยกอ้างถ้อยคำของ ดังเต้ อาลีกีเอรี จาก “อินเฟอร์โน Inferno” กับสุนทรพจน์ของ ฮะรุกิ มุระคะมิ ในการรับรางวัลวรรณกรรมเยรูซาเลมเพื่อเสรีภาพแห่งปัจเจกและสังคมนั้น กินใจอย่างยิ่งทีเดียว

คนรักความเป็นกลางยิ่งต้องอ่านตรองให้เข้าใจ

•นิยายอิงประวัติศาสตร์มีรสชาติที่ผิดแผกไปจากนิยายประเภทอื่นชัดเจน ไม่ว่าการเดินตามพระราชพงศาวดารอย่างเรียบร้อย แต่รายละเอียดระหว่างทางได้สร้างเลือดเนื้อตัวละครในประวัติศาสตร์เหล่านั้น ให้ดำเนินบทบาทกระโดดโลดเต้นมีชีวิตชีวาขึ้นมา เพิ่มอรรถรสในแต่ละบรรทัดของพงศาวดารจนอาจชักจูงผู้อ่านให้คล้อยตามไปได้หากผู้เขียนสามารถ มิหนำซ้ำ ยังทำให้ผู้อ่านจดจำเส้นทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดีหรือแม่นยำกว่าตำราในห้องเรียนเสียอีก

Advertisement

เช่น เจ้าไล ฝีมืออาจารย์ คึกเดช กันตามระ อดีตนักเรียนโบราณคดี ศิลปากร, คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่จับเอาประวัติ “พระองค์ไล” โอรสลับสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปฏิสนธิระหว่างทางเสด็จฯทางชลมารคของพระองค์ที่ “บางปะอิน” เกิดเป็นนิยายพระราชประวัติเดินตามประวัติศาสตร์ “พระเจ้าปราสาททอง” ซึ่งปราบดาภิเษกเป็นต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นมา

ด้วยการเก็บรายละเอียดที่ปรากฏ ไม่ว่าจากแก่นพงศาวดาร พงศาวดารกระซิบ หรือเกร็ด มาอย่างถี่ถ้วน “เจ้าไล” จึงกลายเป็นนิยายสนุกสนาน เดินเรื่องกระชับ เคลื่อนไหวฉับไว มีสีสันอย่างภาพยนตร์ พร้อมกับจินตนาการที่วาดเติมให้ตัวอักษรโลดแล่นได้ด้วยแรงขับของรัก โลภ โกรธ หลง และผจญภัย จนอาจคิดว่าเกิดขึ้นได้อย่างนั้นจริง โดยไม่ทิ้งรสชาติร้ายดีของความเป็นนิยายครบถ้วน

นักอ่านประเภทเกรงใจพงศาวดาร ไม่อยากให้นักเขียนระบายสีนิยายให้ผิดเพี้ยนไปมากจากเนื้อพงศาวดารเดิม อ่านนิยายของคึกเดชอย่างสบายใจ เพราะทุกลำดับการดำเนินเรื่องเป็นไปตามบันทึกที่ปรากฏทุกอย่าง นอกเหนือการร้อยเหตุการณ์ด้วยจินตนาการส่วนตัวของผู้เขียน เช่น การสิ้นพระชนม์ชีพของเจ้าฟ้าสุทัศน์ รัชทายาท ด้วยยาพิษ หลังพระราชดำรัสของพระเอกาทศรถที่ว่าจะเป็นขบถหรือ เป็นการวางกลเม็ดผูกเงื่อนของผู้เขียนโยงการแย่งชิงอำนาจมาแต่ต้น ที่ย่อมไม่มีผู้ใดถือเอาว่าพฤติการณ์ช่วงนี้ในนิยาย (ที่อาจเป็นไปได้) เป็นข้อเท็จจริง

Advertisement

นี่จึงเป็นฝีมือของผู้เขียนที่รังสรรค์ให้เห็นชีวิตจากอดีตที่ผ่านไปนานช้าได้

อาจารย์คึกเดชยังเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์น่าอ่านไว้อีก 6 เล่มที่ล้วนสนุกสนานทั้งสิ้นเช่น ท้าวทองกีบท้า กับ ตำนานรักศรีปราชญ์ เป็นต้น

•แต่ผู้นิยมความแปลกใหม่ ที่ชอบความคิดว่า หากเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ล่ะ เหตุการณ์นั้นๆ จะเป็นไปอย่างไร ที่ต้องอาศัยจินตนาการและฝีมือเลิศล้ำเสกสรรปั้นแต่ง ก็ต้องอ่านนิยายแปลจีนกำลังภายในอาศัยฉากประวัติศาสตร์ สามก๊ก บันดาลเรื่องราวที่คิดไม่ถึงคาดไม่ได้ให้สนุกสนานตื่นเต้นยิ่งขึ้นมาได้ เพราะแม้ใช้ตัวละครในประวัติศาสตร์ที่โลกรู้จัก เรื่องราวเนื้อหาที่ผู้คนรู้ดี ชนิดที่ผู้อ่าน อ่านไปต้องใช้ความคิดสองชั้นสองเชิง เทียบเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่ที่กำลังอ่านอยู่ตลอดเวลา ส่วนคนไม่เคยอ่านสามก๊กก็รู้จักสามก๊กขึ้นมาไม่น้อย แถมหากหวนไปอ่านสามก๊กฉบับ หลอกว้านจง ได้ ก็จะพบรสอูมามิที่คาดไม่ถึงทีเดียว

นั่นคือ เจาะเวลาหาโจโฉ ของนักเขียนจีนแผ่นดินใหญ่นามระบือ เกิงซิน แปลโดยกระบี่เดียวดายหรือกระบี่เอกา (หลังผู้พี่จากไป) น.นพรัตน์ ซึ่งความจริงแม้ตัวเอกจะโรมรันพันตูกับโจโฉในที่สุด แต่เนื้อหาหรือเข็มมุ่งของเรื่องราวทั้งหมดน่าจะเป็นการ “เจาะเวลาหาสามก๊ก” มากกว่า

ที่ว่านักอ่านผู้นิยมความแปลกใหม่ของความคิด จินตนาการ และการสมมุติตีความประวัติศาสตร์ในอีกรูป จะชอบนิยายแปลเรื่องนี้ ก็ด้วยเหตุของเนื้อหาซึ่งเล่ารายละเอียดไม่ได้เพราะจะทำลายอรรถรสทั้งมวลไปนั้น ก็ด้วยการสร้างตัวละครใหม่ที่ย้อนเวลาไปเกิดหลังตั๋งโต๊ะเผาทำลายนครลั่วหยาง กองกำลังต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้น ตัวละครใหม่นี้กลับได้รับผลพวงของ เล่าปี่ ที่ปรากฏในสามก๊กมาเต็มๆ โดยเล่าปี่เองกลับเป็นผู้ร้ายไป จนผู้เคยนิยมชมชื่นอาจต้องมองตัวเอกในอดีตตัวนี้ใหม่ จากแง่มุมวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนของผู้เขียน ที่สอดแทรกความเห็นอันดุดันผ่านตัวละคร

นี่จึงเป็นนิยายที่อ่านอิ่ม สมใจผู้ที่คิดว่าถ้าไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ – จริงๆ

•ครั้นแล้ว วันนี้ก็มาถึงงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจจะสร้างนิยายกำลังภายในไทยขึ้น โดยฝีมือผู้นิรมิตความแปลกใหม่ขึ้นบนจอภาพยนตร์ไทยด้วย ฟ้าทะลายโจร ซึ่งใช้เวลาคิด ปั้น แต่ง ยาวนานนับทศวรรษ จนน้ำท่วมพัดเอางานที่สร้างไว้ราวครึ่งครึ่งหายไป คือหายไปทั้งต้นฉบับและเนื้อหาจากความทรงจำ ทำให้ต้องเขียนเรื่องระหว่างทางขึ้นใหม่ ก่อนจะนำมาจบลงอย่างที่ต้องการได้เหมือนเดิม นั่นคือ
คนจรดาบ ของผู้กำกับหนัง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเกิดกลียุค ผู้คนบูชาคมดาบด้วยเลือดแลกบารมีและเงินตรา มีเพียงดาบของคนจรเท่านั้นที่บูชาด้วยอัตตาของอธรรม

7 ขุนเวียงนาครบาลซึ่งตามล่าอ้ายดำท่าแพรกับพวก ด้วยต้องสงสัยว่าลอบสังหารเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี กลับถูกลวงไปฆ่าสิ้น ความลับถูกอำพราง และกรุงศรีอยุธยาอาจถึงกาลอวสาน จึงปรากฏนักเลงดาบนิรนามขึ้น พร้อมกับพราหมณ์ผู้เยี่ยมยุทธ์ในเชิงดาบ ได้รับคำสั่งจากขุนนางอยุธยาคนสุดท้ายที่ล่วงรู้ถึงภัยร้ายซึ่งกำลังคุกคาม ทั้งคู่จึงมุ่งมหานครเพื่อเปิดเผยแผนร้าย แต่กลับพบความจริงที่โหดร้ายยิ่งกว่า อะไรจะเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุที่มาของการล่มสลาย

ด้วยการเดินเรื่องแบบพงศาวดาร ภาพของนักเลงดาบในสภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อไร้แป จะทำให้นิยายเรื่องนี้เพิ่มมิติของฉากประวัติศาสตร์กว้างขึ้นกว่าเดิม

ต้องหาอ่านเพิ่มแรงบันดาลใจยามกลียุคยุคใหม่นี้

•จะชื่อบางกอกหรือกรุงเทพมหานครก็คือนครหลวงของไทย แต่คนไทยจะรู้จักนครหลวงแห่งนี้สักเท่าไหร่ ไม่แน่ว่าจะรู้มากพอ เอ็ดเวิร์ด ฟาน รอย เดินทางมาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2506 และทำงานภาคสนามในอำเภอเชียงดาวกับแม่แตง ในเชียงใหม่ เป็นวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยเท็กซัส จนกลายเป็นหนังสือสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาคเหนือของไทย จากนั้นจึงทำงานระหว่างประเทศในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ และศึกษาผู้คนกับเมืองบางกอกอย่างเข้มข้น

Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก หรือหม้อจับฉ่ายสยาม ที่แปลจาก “Siamese Melting Pot : Ethnic Minorities in the Making of Bangkok” โดยอาจารย์สังคมวิทยามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร ให้อ่านเข้าใจ

เพื่อบอกว่า เสน่ห์ของบางกอกมิได้อยู่ที่เอกลักษณ์แบบไทยๆ แต่เป็นดินแดนที่รวบรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นดินแดนซึ่งพบความแปลกใหม่ได้ทุกฉากทุกมุม จากการผสมผสานของอัตลักษณ์ข้ามนานาวัฒนธรรม บางกอกวันนี้คงไม่อาจเป็นกรุงเทพฯวันนี้ได้ หากปราศจากพลังสร้างสรรค์จากพหุชาติพันธุ์ที่แตกต่าง คนที่คิดถึงไทยในความหมายโดดๆ ต้องรู้จักศึกษาความจริงซึ่งเป็นอยู่หรือเกิดอยู่รอบตัวมาช้านานนับรุ่นๆ เสียที

จากงานด้านมานุษยวิทยาของนักวิชาการผู้เปี่ยมประสบการณ์ “สิ่งที่ผมคิดแต่แรกว่าไม่ได้มีความพิเศษใด นอกจากเป็นย่านกลางเมืองเรียบง่าย แท้จริงเต็มไปด้วยความหลากหลายอันโดดเด่นซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์อันลี้ลับ”

ลองดูว่าหนังสือมากคุณค่าเล่มนี้ เตรียมสิ่งใดไว้ให้เรา เพื่อเข้าใจไทยวันนี้

จากบางกอกดั้งเดิม – รัตนโกสินทร์ อัญมณีแห่งองค์อินทร์, ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง, กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย, บางกอกดั้งเดิมสู่ยุคใหม่ / ผู้บุกรุก ชุมชนศาสนิกชาวโปรตุเกส – พ่อค้า กองทหาร คณะธรรมทูต และลูกครึ่ง, ล่มสลายและการฟื้นฟู, การผนวกรวมสู่การกลืนกลาย / แดนสวรรค์อันปลอดภัย ผู้ลี้ภัยชาวมอญ – มอญดั้งเดิมและใหม่, ชุมชนมอญอยุธยาและธนบุรี, นิคมมอญในบางกอกดั้งเดิม, การถดถอยของชาติพันธุ์มอญ

ภายใต้การขู่เข็ญ เชลยศึกชาวลาว – ทั้งรักทั้งชัง, ลำน้ำด้านเหนือ เจ้านายลาว, ใต้ลำน้ำ ไพร่หลวง, ในตัวเมือง ทาสหลวงและนายช่าง, ทาสสงครามสู่ทาสค่าจ้าง / อัตลักษณ์ที่ช่วงชิง ชนกลุ่มน้อยมุสลิม – แขกอิสลามกองกำลังชาวจาม, ข้าราชการเปอร์เซีย, นักเดินทางอาหรับ, พ่อค้าอินเดีย, เชลยศึกมลายู, อินโดนีเซียผู้รอนแรม, สู่ความเป็นไทยอิสลาม

ปราบมังกรให้เชื่อง ชาวจีนผู้ขับเคี่ยว – จากจีนสู่สยาม, สำเพ็ง ที่ก่อตั้งขึ้นจากความทุกข์ยาก, ยุคเพิกเฉยยอมตาม, เปลี่ยนผ่านสู่การแทรกแซงแข็งขัน, จากชาติพันธุ์สู่อุดมการณ์ / บริเวณชายขอบ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ – แขมร์, เวียดนาม, ไทยวน, สิกข์, ฝรั่ง / มองย้อนอดีต บริบทของประเด็นที่ถกเถียง – ความเป็นชาติพันธุ์และสาระทางวัฒนธรรม, ศักดินานิยมในมุมเปรียบเทียบ, พหุสังคมของเมืองท่า, มณฑลในฐานะพิมพ์เขียวของเมือง

เห็นเนื้อหาแล้ว คนอยู่กับข่าวสารอยู่กับสังคม ย่อมตระหนักถึงความยอดเยี่ยมที่จำแนก “ไทย” ออกมาได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ที่มาทางประวัติศาสตร์ กระทั่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน จากวาทกรรมการเมืองซึ่งอยู่บนพื้นฐานอำนาจปกครอง มากกว่าจะสร้างเอกภาพหรือความเป็นหนึ่งเดียวขึ้นจากความหลากหลายที่กลมกลืนกันเหล่านั้น จนเกิดเป็นมายาคติที่สร้างอุปสรรคบาดหมางยิ่งกว่าส่งเสริมความเข้าใจดีให้เกิดขึ้นเป็นอนาคตอันสันติและเอื้ออารี

•พระพุทธพูดมานานแล้วว่า ต้องรู้เท่าทันตัวเอง รู้เท่าทันโลก โดยลด ละ เลิก วางอัตตาลง แต่เรามักเป็นพุทธแค่จุดธูปจุดเทียนไหว้พระกัน จึงต้องตะล่อมหา “คโนว์ ฮาว” จากที่ต่างๆ มาอ่าน มาศึกษา ซึ่งยังดีอยู่มากที่พยายาม

มองโลกเป็น ต้องเห็นตัวเองก่อน จากงานของ เมนทอลลิสท์ ไดโกะ นักเขียนจิตวิทยาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ที่เขียนหนังสือขายดีกว่าสี่ล้านห้าแสนเล่มมาแล้ว

ผู้เขียนกล่าวว่า คนที่สามารถเห็นตัวเองตามความเป็นจริง ย่อมมีระดับความพึงพอใจในชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานสูงตามไปด้วย นี่ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นทักษะที่ฝึกได้ เพื่อรู้จักตัวเองในมุมใหม่ รู้ว่าสิ่งที่ต้องการจริงๆ คืออะไร และจะเดินไปทิศทางไหนสู่สิ่งนั้น โดยผ่านการเข้าใจเรื่องเหล่านี้คือ

“การนึกถึงความผิดพลาดในอดีต” เป็นศัตรูตัวฉกาจของการมองโลกตามความเป็นจริง “ความถ่อมตนทางปัญญา” วิธีพัฒนาการตัดสินใจที่กูเกิลให้ความสำคัญ “เทคนิคทบทวนตัวเอง” เพื่อค้นหาว่าเราเป็นคนแบบไหน

นี่เป็นหนังสือซึ่งช่วยพัฒนาความคิดและบุคลิกภาพของตนเองได้จริง

•บ้านเราเป็นดินแดนซึ่งพร้อมมูลด้วยทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล อดีตแสดงให้เห็นว่าเราฟันฝ่าวิกฤตมาด้วยสติปัญญาอย่างไร น่าเสียดายที่เราเรียนน้อย คิดน้อย คอยแต่จะหาช่องโหว่ช่องว่างทางลัดเสียมากกว่าจะฝึกฝนกายและใจตนเอง ทั้งชอบใช้กำลังอำนาจ จ้องข่มเหงเอาเปรียบผู้อ่อนด้อยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

กระทั่งระบบการศึกษาสถาบันศึกษายังสร้างอุปนิสัยเจ้าขุนมุลนายไม่ลดละ เป็นดินแดนที่ไม่เห็นแก่เยาวชนลูกหลานอย่างที่สุด – รำพึงรำพันไปงั้นเอง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image