อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง มองหน้า แลหลังในความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ผ่านตัวตนและผลงานของ ‘เวียงรัฐ เนติโพธิ์’

หากพูดถึงงานศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองท้องถิ่น เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ เชื่อแน่ว่า ‘เวียงรัฐ เนติโพธิ์’ เป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ในฐานะนักวิชาการที่ให้ความสนใจศึกษาประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เพียงศึกษาอย่างต่อเนื่อง หากแต่งานของเวียงรัฐมักนำมาซึ่งข้อเสนอและประเด็นขบคิดใหม่ๆ ในแวดวงวิชาการและสังคมในทุกฤดูกาลของการเมืองไทยเสมอ แม้ในช่วงยามที่สังคมไทยอยู่ก้ำกึ่งระหว่างการมีความหวังและความสิ้นหวังเช่นวันนี้ ผลงานเล่มล่าสุดของเธอก็กำลังเดินทางออกมาสร้างบทสนทนาต่อสังคมเช่นกัน

.

“อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” คืองานศึกษาที่จะชวนทุกคนสำรวจการก่อร่างและแปรเปลี่ยนของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ภายใต้ระบอบ คสช. กับเส้นทางประชาธิปไตยไทยที่ก้าวถอยหลัง มาพร้อมกับข้อเสนอและข้อถกเถียงใหม่ ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเดิมของใครหลายคน!

.

Advertisement

ก่อนไปทำความรู้จักกับเรื่องราวในหนังสือเล่มใหม่นี้ ชวนผู้อ่านรู้จัก ตัวตน การเดินทางของ ‘เวียงรัฐ  เนติโพธิ์’ สู่การก่อร่างขึ้นของหนังสือ “อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” ที่จะเดินทางสู่สายตานักอ่านครั้งแรกที่งาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในวันที่ 29 เมษายน-8 พฤษภาคม 2565 นี้

1

แรกเริ่มความสนใจในการศึกษา ‘ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์’ 

 “ตอนเป็นเด็กวัยประถม ได้ไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นลูกข้าราชการ ย้ายตามครอบครัวไป อย่างน้อยๆ ก็ 3 จังหวัด ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มโต ประสบการณ์แปลกใหม่เก็บในความทรงจำได้ละเอียด พอมาศึกษาการเมืองท้องถิ่น ศึกษาอำนาจรัฐก็ทำให้เก็ตประเด็นเลย ไม่ยากเลยที่จะทำความเข้าใจ เพราะในความทรงจำ เราสามารถสัมผัสได้ถึงการอยู่ในจังหวัดเล็กๆ ที่อำนาจของข้าราชการล้นฟ้า ไปไหนคนยกมือไหว้ แต่มีจุดยกเว้น คือจุดเชื่อมต่อระหว่างข้าราชการกับผู้มีอิทธิพลที่มีการยำเกรงกัน ต่อรองกัน และประนีประนอมกัน” 

เวียงรัฐเล่าย้อนถึง ‘ชีวิตวัยเด็ก’ จากพื้นฐานครอบครัวข้าราชการที่เป็นส่วนสำคัญขับเน้นการเรียนรู้ สัมผัส และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดเล็กๆ หลายจังหวัด  การได้เห็นภาพความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นตั้งแต่วัยเด็ก คือรากฐานสำคัญที่ทำให้เติบโต

เธอเล่าต่อถึง ‘ผู้มีอิทธิพล’ ที่ได้พบเจอในขณะเดินทางไปกับครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า

“ผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น เขาไม่ได้เรียกว่าผู้มีอิทธิพลนะ เขาเรียก กำนัน โก เฮีย พ่อเลี้ยง เสี่ย นายหัว พวกเขามีบุคลิกบางอย่างที่น่ายำเกรง แต่ก็อัธยาศัยดี สุภาพ ใจกว้าง ไม่ใช่ภาพแบบที่สื่อทำให้เราเห็นเมื่อโตขึ้น ทำให้ชอบลักษณะสองด้านของคนพวกนี้ เมื่อมาศึกษาดูทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุก น่าศึกษา มีด้านมืด ด้านสว่าง ด้านชอบธรรมและด้านไม่ชอบธรรม ซึ่งน่าสนใจมาก”

ชีวิตในวัยเด็กอาจไม่ใช่ช่วงเวลาในการตั้งหมุดหมายแรกเริ่มในการเป็น ‘เวียงรัฐ  เนติโพธิ์’  นักวิชาการที่ศึกษาความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยอย่างเข้มข้นที่หลายคนรู้จักในวันนี้ หากแต่ชีวิตวัยนี้เองที่หล่อหลอมความเข้าใจบางประการที่อยู่นอกเหนือกรอบทฤษฎี หากแต่เป็นทฤษฎีชีวิตที่หลอมหล่อผ่านตัวตน…

 แรกเริ่มศึกษา…เพราะคำถามต่อยุคสมัย

เวียงรัฐเล่าถึงการตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางการศึกษาอย่างจริงจังในประเด็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ซึ่งขับเน้นจากยุคสมัยที่ประสบพบเจอ นำมาสู่ ‘คำถาม’ ที่การศึกษาและเรื่องเล่าในสังคมขณะนั้นให้คำตอบไม่ได้

“จุดเริ่มต้นเลย ต้องเริ่มตอนตัดสินใจว่าอยากเป็นนักวิชาการ ตอนนั้นสิ้นสุดยุคที่พลเอกเปรมเป็นนายกฯพอดี ตอนที่เรียนต่อปริญญาโท แล้วตามด้วยปริญญาเอก หลังยุคพลเอกเปรม ก่อนยุคทักษิณ (คือตลอดทศวรรษที่ 1990 นั่นเอง) ในทศวรรษนั้นมีปรากฏการณ์สำคัญ ที่พื้นที่สื่อฯ ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ก็คือเรื่องของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลที่มีบทบาททางการเมืองไทย ทั้งใช้อำนาจทางการเมือง และมีบทบาทชี้ขาดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ตนเองมีอิทธิพลอยู่ โดยที่ปัจจัยพรรคหรือผู้สมัครยังไม่สำคัญเท่าตัวผู้มีอิทธิพล และภาพที่ออกมามันเป็นเรื่องของความรุนแรง มีการยิงถล่มเจ้าพ่อ ลอบสังหารลูกน้องผู้มีอิทธิพล ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งก็มีการข่มขู่หัวคะแนน หลังการเลือกตั้งมีการฆ่าหัวคะแนน แต่ละเคสไม่ธรรมดา เป็นข่าวหน้าหนึ่งตลอด นอกจากนี้ ยังมีนักเขียนแนวสารคดีที่นำเรื่องเหล่านี้แต่งเติมให้มีสีสัน ทั้งตัวเจ้าพ่อเองก็น่าสนใจ เพราะมีบุคลิกที่โดดเด่น มีความเป็นนักเลง น่าเกรงขาม มีลูกน้อง ทั้งยังมีถิ่นของเขา จนมีฉายาที่คนตั้งให้ เช่น เจ้าพ่ออีสานเหนือ เจ้าพ่ออีสานใต้ เจ้าพ่อภาคตะวันออก และเจ้าพ่อจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ดูเป็นเอกลักษณ์ มีความคัลท์แบบไทยๆ”   

…เมื่อจะศึกษาการเมืองไทยร่วมสมัย(นั้น) ก็เกิดคำถามว่า เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เพราะคิดว่าเรื่องเล่า หรือเรื่องที่มีคนศึกษาไว้ยังอธิบายได้ไม่พอ…

ขยายความสนใจและลงลึก 

ความสนใจของเธอเข้มข้นและลงลึกมากขึ้นจากการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกียวโต โดยอาจารย์คนสำคัญที่เวียงรัฐกล่าวถึงคือ อาจารย์โยชิฟุมิ ทามาดะ ผู้เขียน ‘คำนำเสนอ’ ในผลงานเล่มใหม่ล่าสุดของเธอนี่เอง

“ความสนใจยังถูกทำให้ขยายและลงลึก เมื่อไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต  ได้เรียนกับ อาจารย์ทามาดะ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยคนสำคัญของญี่ปุ่น อาจารย์ก็ยิ่งไล่ถามไปถึงรากฐานความเป็นมาของเรื่องเหล่านี้ และความสนใจของ อาจารย์ตอนนั้นก็เป็นเรื่องอำนาจรัฐ พัฒนาการรัฐสมัยใหม่ และระบบราชการ ตามเทรนด์การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในญี่ปุ่นช่วงนั้น แต่เมื่อมาดูเรื่องเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลของไทยในมิติที่ย้อนไปถึงการสร้างรัฐสมัยใหม่ก็พบว่าเป็นเรื่องหยุดนิ่งมาก แทบไม่มีพลวัตเลย 

ส่วนในสายวิชารัฐศาสตร์นั้น อาจารย์ที่ปรึกษาสนใจศึกษาเรื่องการพัฒนารัฐ บทบาทของระบบราชการ ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงการเมืองไทยที่ตัวเองสนใจกับงานด้านรัฐศาสตร์ในสาขาที่เรียน” 

ยุคของการกระจายอำนาจกับความสนใจใหม่ 

ด้วยความสนใจสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ไปของสังคม เมื่อเข้าสู่ยุคหนึ่งที่เธอใช้คำว่า “ยุคของการกระจายอำนาจ” เป็นยุคที่นำมาสู่การลดบทบาทของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในยุคก่อนหน้า ทำให้เธอหันไปศึกษาประเด็นอื่นๆ ก่อนจะกลับมาพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งเมื่อเห็นว่า ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ยังคงมีพลวัตในยุคสมัยที่การเมืองเปลี่ยนไป

“พอกลับมาสอนที่เมืองไทย เป็นยุคของการกระจายอำนาจ เรื่องเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล ไม่ได้พื้นที่ข่าวแล้ว แถมเราได้สรุปไปแล้วว่าผู้มีอิทธิพลนี่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่มีพลวัต ไม่น่าสนใจละ ความสนใจเราก็ไปอยู่ที่การเมืองท้องถิ่น การกระจายอำนาจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจท้องถิ่น อุปสรรค การถ่ายโอนอำนาจ และประชาชนได้อะไรในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ เรื่องเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ก็เหมือนทิ้งๆ ขว้างๆ ไปละ  เพราะมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับการเมืองไทยอีกต่อไป 

ปรากฏว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา ในหมู่นักรัฐศาสตร์ระดับนานาชาติที่ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ ให้ความสนใจกับเรื่องความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ หัวคะแนน และเงินในการเลือกตั้งอีก เราก็เลยเอาเครื่องมือใหม่ๆ กลับมามองอีก ปรากฏว่าการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของไทยกับความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มันมีพลวัต น่าสนใจขึ้นมาอีก” 

ผลงานล่าสุด กับ “ความใหม่” หลากมิติ

ในความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์

 

เส้นทางการศึกษาของเวียงรัฐ เริ่มต้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สู่ผลงานใหม่ล่าสุดที่ยืนยันต่อสังคมว่า เธอยังคงเดินบนเส้นทางนี้ในบทบาทและพันธกิจของนักวิชาการ

          ในสายธารการเปลี่ยน(ไม่)ผ่านของการเมืองไทย เรามักคุ้นหูกับคำว่า ‘ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์’ อยู่เสมอในแง่ใดแง่หนึ่ง และหลายครั้งคำคำนี้ก็มักได้รับการอธิบายในชุดความหมายแบบเดิมจากผู้คน จนเสมือนว่าในความสัมพันธ์นี้ไร้พลวัต หยุดนิ่ง และไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีกแล้ว

ในความคุ้นชินต่อคำอธิบาย มุมมอง ความหมายของ ‘ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์’ ที่ได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งนี้ อะไรคือประเด็นในเรื่องนี้ที่จะพาเราไปสู่บทสนทนาใหม่ และอะไรคือ “ความใหม่” ที่ อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง พยายามจะเสนอต่อสังคม เวียงรัฐให้คำตอบเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

‘ความใหม่’ ของหนังสือเล่มนี้ คือการอัปเดตการศึกษาของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ใหม่ที่ประเด็นนี้อย่างเดียว เราต้องการรื้อและทำความเข้าใจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยให้ใหม่ 

ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (ที่เปลี่ยนไม่ผ่านสักที) ในบริบทการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ในเดือนมีนาคม ปี 2562 ตามมาด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับ อบจ. เทศบาล อบต. และกำลังจะมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ตามมาในปี 2565 นี้ เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจใหม่บางประการ” 

สำคัญกว่านักการเมืองหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ 

คือ ‘ประชาชน’ ได้อะไรจากการเมือง 

นอกจากการรื้อและทำความเข้าใจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยใหม่อีกครั้งดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เวียงรัฐยังได้ชี้ชวนให้เห็นข้อสังเกตที่น่าขบคิดจากงานศึกษาครั้งนี้เอาไว้อย่างแหลมคม 2 ประเด็นด้วยกัน

“เรื่องแรก การเลือกตั้งครั้งนี้มีนักการเมืองหน้าใหม่และโหวตเตอร์ใหม่จำนวนมาก ทำให้เกิดการมอง “การเมืองใหม่” ซึ่งมีนัยถึงการก้าวไปข้างหน้า และความพยายามไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ส่วนการเมืองเก่าคือตัวปัญหา แต่การศึกษาเรื่องนี้ช่วยชี้ให้เห็นว่าเรามีคลื่นของการเปลี่ยนแปลง ถ้ามองในแง่สถาบันทางการเมืองและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ เราจะเห็นได้ว่า การเมืองเก่าเคยมีช่วงที่เราเกือบจะวางใจได้ว่าจะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้นไป แต่แล้วระบอบเผด็จการผ่านการรัฐประหารกลับทำให้การเรียนรู้ทางการเมืองชะงักงัน ขาดความต่อเนื่อง การเข้าใจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จึงชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่คนหน้าใหม่หรือคนหน้าเก่า แต่อยู่ที่ลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจ สิ่งตอบแทนในความสัมพันธ์นั้น  และการกระจายทรัพยากรไปสู่ประชาชน”  

.

เรื่องที่สอง เมื่อมีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ทั้งคนทั่วไป สื่อมวลชน และนักวิจัย มักจะกล่าวว่าการเมืองไทยไม่เปลี่ยนเลย บ้านใหญ่ได้เข้ามาครองอำนาจอีก ทำให้เราคิดว่า เอ๊ะ อะไรคือปัญหาของคนหน้าเดิมในทางการเมือง? การได้รับเลือกตั้งและเข้ามาบริหารงานภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องการประสบการณ์และการเรียนรู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่อง คุณภาพของประชาธิปไตยจึงจะพัฒนาไปได้ อย่าให้การรัฐประหารมาลบการเรียนรู้ทางการเมืองและประสบการณ์ทางการเมือง งานชิ้นนี้จึงขยายให้เห็นภายในสายสัมพันธ์ของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และตรงนั้นแหละสำคัญกว่าเรื่องนักการเมืองหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ สายสัมพันธ์นี่แหละที่จะกำหนดว่าประชาชนทั่วไปจะได้อะไรจากการเมืองบ้าง” 

…ความใหม่ของหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นการทำความเข้าใจกันใหม่ สำหรับทั้งคนรุ่นเก่าที่เข้าใจเรื่องเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลตามเรื่องเล่าหลัก กับการทำความเข้าใจเส้นทางขึ้นลงทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่… 

เข้าใจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ = เห็นทางออกของการเมืองไทย?  

ใน ‘คำนำ’ ของหนังสือเล่มนี้ เวียงรัฐได้กล่าวไว้ในประโยคหนึ่งถึงเหตุผลสำคัญของการศึกษาบันทึกเส้นทางการทำลายประชาธิปไตยของระบอบอำนาจนิยมในหลากหลายมิติ รวมถึงมิติความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ว่าเป็นไป “เพื่อเราได้รู้ว่าสังคมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และจะเดินไปในจุดที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร”   

ดูเหมือนว่าการศึกษาความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จะไม่เพียงทำให้มองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเท่านั้น หากเมื่อมองลอดม่านของเรื่องนี้ เราอาจเข้าใจและเห็นทางออกที่ดีกว่าของการเมืองไทยด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่า ทำไมการเข้าใจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์จะทำให้เราเข้าใจสังคมและมองเห็นทางออกของการเมืองไทยอย่างไร เวียงรัฐก็ได้เสนอมุมมองและชวนหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มนี้

“การศึกษาความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้จะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เพราะเวลาเรามองไปทางไหนก็เจอปัญหาทั้งนั้น มีประชาธิปไตยก็เจอนักการเมืองโกง ในการกระจายอำนาจก็มีผู้มีอิทธิพลเข้ามามีบทบาท พอเจอรัฐประหารอยู่ภายใต้เผด็จการมาหลายปีทุกคนก็ถึงกับจุก บ่นไม่ออก เพราะปัญหามันมีทุกๆ แง่มุม แถมยังมีปัญหาที่พูดไม่ได้อีก

หนังสือเล่มนี้จึงบอกว่า ใจเย็นๆ มาดูเรื่องความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กัน จะทำให้มองภาพกว้าง มองพัฒนาการในระยะยาวหน่อย และมองสิ่งที่มองไม่เห็นบ้าง จะได้เห็นว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง (ตรงนี้ไม่เฉลย ผู้อ่านต้องไปซื้อหนังสืออ่านเอง) และอะไรคือสิ่งที่เราต้องส่งเสริมให้มันเกิดขึ้นต่อไป แม้ว่าระหว่างทางจะเกิดปัญหาขึ้นบ้างก็ตาม

3

พันธกิจในฐานะนักวิชาการ

บนถนนประชาธิปไตย 

          ในบรรยากาศสังคมการเมืองไทยที่หมุนเวียนอยู่ในแอ่งอ่างความไม่แน่นอนและผลพวงของระบอบอำนาจนิยมมายาวนาน นำมาสู่คำถามมากมายของผู้คน การออกมาเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรม รวมถึงนักวิชาการหลายคน

เวียงรัฐเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ตั้งคำถามต่อระบอบอำนาจนิยมเสมอมาผ่านงานศึกษาของเธอ การกลับมาของผลงานศึกษาครั้งนี้ก็ยังคงทำงานในหมุดหมายเช่นนั้น โดยเฉพาะในเล่มนี้ที่มุ่งศึกษาลงลึกไปที่ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในยุค คสช. โดยเวียงรัฐได้ให้เหตุผลสำคัญในการเลือกศึกษาการเมืองการเลือกตั้งไทยในยุค คสช. นี้เอาไว้ว่า

เราศึกษาเพื่อยืนยันกรอบทฤษฎีที่ตัวเองใช้ ที่ว่าการเลือกตั้งและการกระจายอำนาจทำให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มันกระจายตัวและอ่อนแอ เรามองว่าถ้ามีพัฒนาการของการกระจายอำนาจและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง อำนาจแบบอุปถัมภ์ก็จะค่อยๆ หมดความหมายและหมดความสำคัญลงไป แต่ตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบนี้ยั่งยืนก็คือการรวมศูนย์อำนาจ การถืออำนาจนำ และการใช้งบประมาณของระบบราชการ ยุค คสช. นี่ชัดเลย รวมศูนย์อำนาจ ให้ระบบราชการเป็นใหญ่ ทำให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เข้ามามีบทบาทสำคัญอีก ทั้งยังมีการดึงทุนผูกขาดระดับชาติให้มีบทบาทเหนือทุนท้องถิ่น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปล่อยไปแบบนี้จะสร้างปัญหาต่อเนื่องแน่นอน ประชาชนทั่วไปจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ”

ด้านหนึ่ง การศึกษาลงลึกประเด็นนี้ในยุคสมัยของ คสช. อย่างเข้มข้นจนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ เวียงรัฐมองว่าเป็นหนึ่งใน ‘หน้าที่’ ของนักวิชาการ โดยได้แสดงทัศนะเอาไว้อย่างกระชับและชัดเจนว่า

“เป็นหน้าที่ของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ที่ปรารถนาให้ประชาธิปไตยมันพัฒนาต่อไปได้ จะต้องบันทึกการเปลี่ยนแปลงในทางถดถอย เรารู้ ทุกคนรู้ว่าระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านมาทำอะไรกับประชาธิปไตยบ้าง เรารู้สึกหดหู่สิ้นหวังอย่างไรบ้าง แต่การลงมือบันทึกเรื่องเหล่านี้จากมุมมองและข้อมูลที่ตัวเองชำนาญเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อสังคมพังทลายในหลายๆ ส่วน พวกเขาจะได้เห็นว่ามันถูกทำลายในส่วนไหนบ้าง และเราจะกอบกู้ส่วนไหนขึ้นมาได้บ้าง เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น”

ส่งท้าย นัก(อยาก)อ่าน… ‘อ่าน’ เพื่อฝันถึงโลกที่ดีกว่านี้

.

“อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” โดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ กำลังจะออกเดินทางสู่สายตานักอ่านในงาน Summer Book Fest 2022 เป็นครั้งแรก ในบูธมติชน E3 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในวันที่ 29 เมษายน-8 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้

“ดีใจที่ได้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เพราะเข้าถึงผู้อ่านได้กว้างขวาง โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา น่าจะได้ประโยชน์จากงานชิ้นนี้”  เวียงรัฐเผยความรู้สึกที่ผลงานเล่มใหม่ใกล้จะเดินทางสู่สายตานักอ่าน

สำหรับใครที่สนใจและอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเคยอ่านงานสายรัฐศาสตร์มาก่อนหรือไม่ เวียงรัฐกล่าวว่าล้วนสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ และเชื่อว่าคนที่อ่านจะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ทางการเมืองของตัวเองได้หลายมิติ

“ยิ่งอ่านเยอะยิ่งเข้าใจเยอะ อ่านรัฐศาสตร์เบื้องต้น การเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เจ้า ทุน ทหาร ได้หมด จริงๆ ถ้าเขาอ่านการเมืองยุโรป การเมืองสหรัฐ และแม้แต่เขาสนใจสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครน เขาก็จะเห็นภาพการต่อสู้ของการยืนหยัดประชาธิปไตยกับพลังในการต่อต้านและทำลาย แต่ไม่ต้องอ่านอะไรมาเลยก็เข้าใจได้ หนังสือเล่มนี้อ่านไม่ยาก และเชื่อว่าคนอ่านจะเอาไปเชื่อมโยงอธิบายประสบการณ์ทางการเมืองของตัวเองได้ในหลายมิติเลย” 

ในตอนท้าย เวียงรัฐยังได้ทิ้งท้ายถึงผู้อ่านเอาไว้ว่า

“สิ่งที่อยากฝากถึงนักอ่าน ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนก็คือ เมื่อเราบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสังคม บางครั้งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเห็นในหน้าข่าว หรือเป็นเรื่องที่เราเคยชิน แต่เมื่อประกอบเข้ามันคือกระบวนการทำลายการเมือง ทำลายความหวังของคนอย่างต่อเนื่อง การอ่านบันทึกเพื่อเข้าใจแต่ละขั้นของการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ และการอ่านเพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ยิ่งสำคัญ”

…อยากให้นักอ่านฝันถึงโลกที่ดีกว่านี้ แต่ต้องเริ่มจากเข้าใจโลกว่ามาถึงจุดตกต่ำนี้ได้อย่างไร

และลงมือทำในส่วนที่แต่ละคนทำได้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image