วงเสวนารุม ‘อิหยังวะ’ การศึกษาไทย เปิดตัวเล่มไฮไลต์ ‘เครื่องแบบ ทรงผมฯ’ ขยี้ปมลงทัณฑ์ใน ร.ร.

วงเสวนารุม 'อิหยังวะ' การศึกษาไทย เปิดตัวเล่มไฮไลต์ 'เครื่องแบบ ทรงผมฯ' ขยี้ปมลงทัณฑ์ในรร.

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงาน วันที่ 9 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีผู้เดินทางมาเลือกซื้อหนังสือไม่ขาดสาย ซึ่งงานครั้งนี้จัดขึ้นในธีม ‘อ่านผลิบาน’ (Blooming Readers) มีสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 100 แห่งเข้าร่วม รวมกว่า 170 บูธ โดยผู้เข้าร่วมงานส่วนมากจะเป็นเยาวชน นิสิต นักศึกษา ไปจนถึงผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาเลือกซื้อหนังสือในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้

บรรยากาศเวลา 14.00 น. ที่เวทีกลาง สำนักพิมพ์มติชนมีวงเสวนาเนื้อในหัวข้อ “เป็นนักเรียนไทยจึงเจ็บปวด เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว” ดำเนินรายการโดย นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว แอดมินเพจครูขอสอน โดยมีผู้สนใจร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ ว่าเอาเข้าจริงแล้ว มี 2 ประเด็นใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องการศึกษา คือ 1.มิติครู และ 2.มิตินักเรียน ตนคิดว่าเราทุกคนเติบโตมาในโรงเรียน ได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ มีความ ‘อิหยังวะ?’ ในโรงเรียนแตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ในฐานะ ‘ลูกครู’ ก็จะมีความสัมพันธ์ทางอำนาจมากกว่าคนชายขอบที่ถูกอำนาจกระทำมากกว่า

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ด้านหนึ่ง สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ต้องเขียน คือการลุกขึ้นสู้ของนักเรียน ในปี 2563 ซึ่งเราอยู่ในต่างจังหวัด ช่วยอะไรเขาไม่ได้ สิ่งที่ถนัดในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่พอทำได้คือการส่งเสียงออกไปสนับสนุน เชียร์อัพเหล่านักเรียน เพราะเด็กๆ ทำสิ่งที่เราอยากจะทำ แต่ทำไม่ได้

Advertisement

“หนังสือเล่มนี้บอกได้เลยว่า เกิดจากการจุดประกายการต่อสู้ของนักเรียนทั้งหลาย แน่นอนว่าเกิดจากงานวิจัยมาก่อน แต่ต้นตอจริงๆ เกิดจากประสบการณ์วัยเด็กของ ‘พวกเรา’ ขณะเดียวกันคือด้านที่เรารู้สึกอึดอัดแต่ไม่รู้จะไปอย่างไร ประสบการณ์ที่เด็กลุกขึ้นมายิ่งใหญ่มาก จนเราละเลยสิ่งเหล่านั้นไม่ได้” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าว

เมื่อนายธนวรรธน์ หรือครูทิว ถามว่างานเขียนชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น จากที่เรามองข้ามไปในระบบการศึกษา ใจความหลักของหนังสือที่พยายามบอกเล่า หรือทำความเข้าใจกับผู้อ่านคืออะไร?

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์เปิดเผยว่า ชื่อหนังสือ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ เหมือนจะเรียงตามบทด้วยซ้ำ ด้านหนึ่งคือเรื่องภายนอก อย่างระเบียบ ทรงผม การแต่งกาย แต่ความจริงแล้วถูกควบคุมไว้ ตนพยายามรวมไว้ในชื่อ ‘ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม’ ซึ่งย่อมาจาก รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม เราสงสัยมากว่า ในระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะพยายามออกระเบียบคำสั่งว่า ‘ผมไว้ยาวได้’ แต่บางโรงเรียนก็กล้าจะขัดคำสั่ง ขัดระเบียบกระทรวง ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนาน มันจริงหรือไม่ ตนว่าไม่จริง ปัญหาสำคัญคือ ‘ระเบียบวินัยเชิงวัฒนธรรม’ ที่เข้ามาเป็นแกนกลาง จัดการความชอบธรรมของครูและโรงเรียน ดังนั้น เครื่องแบบ-ทรงผม จึงเป็นวินัยภายนอกที่จะเข้ามาควบคุม

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าวต่อว่า เครื่องแบบ ทรงผม คือสิ่งที่ถูกจับต้องได้ง่ายสุด ผู้ชายผมยาวขึ้นมานิดเดียวก็เห็นชัดมาก วิธีควบคุมแบบนี้ทำให้ครูปกครองใช้อำนาจเข้ามาควบคุม ซึ่งไม่ได้ควบคุมอย่างเดียว แต่ตามมาด้วยการลงโทษ อย่างเบาคือ ตักเตือน อย่างร้ายแรงคือ ใช้ปัตตาเลี่ยนไถแล้วตีซ้ำ แสดงว่านักเรียนถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบ วันนี้เพื่อนโดน วันหน้าไม่รู้เราจะโดนหรือไม่ ระเบียบเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ผมอาจจะไม่ยาวมากในสายตาเรา แต่ครูหลายคนมีวิจารณญาณที่ต่างกันมากว่าแค่ไหนยาว ทุกคนมีสิทธิจะ ‘นั่งเก้าอี้ดนตรีแห่งการลงทัณฑ์ของครู’ ได้เสมอ ทำให้เด็กกล้า หรือกลัว ซึ่งเป็นการจับจ้อง

“สมัยผมก็คิดว่าอันนี้เป็นของนักเรียน อันนี้เป็นของครู เหมือนเราริบตัวตนของเราเข้าไปอยู่ใน ‘โรงงาน โรงเรียน’ ที่เข้าไปยึดกุมจิตใจ ทำลายความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อตัวเอง กรณีโฆษณายาสระผมของบริษัท ทรงพลังมาก”

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ‘สเปซ’ (Space) การยืนหน้าเสาธง ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ต้องไปเข้าแถวหน้าเสาธง มันคืออะไร โรงเรียนต่างจังหวัดจำนวนมากหน้าเสาธงคือที่ที่เด็กต้องไปกลางแดด กลางฝน หรือลมหนาว ไปรับเอาทุกอย่างที่ไม่เป็นผลดีกับนักเรียน แต่ครูอยู่ใต้ต้นไม้ ยืนกลางร่ม ยิ่งไปกว่านั้น หน้าเสาธงคือพื้นที่ของการประจาน ซึ่งการลงทัณฑ์สมัยใหม่ การประจานเขาไม่ทำกันแล้ว นี่คือการกลับไปยืนยันว่าเรายังอยู่ในยุคก่อนสมัย การลงทัณฑ์ไม่ได้คำนึงสิทธิมนุษยชน หรือความเป็นสมัยใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น

อยากพานักเรียนไทยไปเป็นพลเมืองโลก ถามจริง เอาอะไรมาโลก ครูยังไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนเลย คือปัญหามากๆ ที่หนังสือเล่มนี้จะทำให้ได้รู้ถึงประวัติศาสตร์การเข้าไปควบคุม กับบทสุดท้าย น้อยที่สุด แต่ชอบที่สุด คือบทที่เด็กลุกขึ้นมาสู้” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ระบุ

เมื่อถามว่าโรงเรียนคือภาพจำลองของสังคม ควรจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มองบริบทสังคมไทยมีส่วนออกแบบบระเบียบวินัย การลงโทษในโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน?

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าวว่า ตนว่าเป็นผลกระทบโดยตรง โรงเรียนคือแบบจำลองที่รัฐต้องการจะสร้างนักเรียนที่ตัวเองอยากได้ ถ้าเราดูวิธีฝึก หรือโครงสร้างทางการเมือง หลังปฏิวัติ 2475 เราอยู่ภายใต้การปกครองรัฐประหารกี่ปี? เราสลับระหว่างรัฐทหาร กับรัฐประชาชนมาตลอดเวลา เราอยู่ในพรมเผด็จการครึ่งใบ ดังนั้น เมื่ออุดมการณ์ของรัฐไม่จงรักต่อระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายก็ต้องกลับมาเป็นเผด็จการอยู่ดี เมื่อประชาธิปไตยไม่มีวันชนะ คิดว่าโรงเรียน หรือครู จะอยากอยู่ฝั่งแพ้ หรือชนะ

“นี่คือสิ่งที่สร้างสังคม ก่อนหน้านี้การเฆี่ยนตีเด็ก ก่อนปี 2475 คือเรื่องปกติ ตอนนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเขียนกลอนที่พูดถึงการใช้ไม้เรียว ว่าเป็นวิธีที่สิ้นคิด ทันสมัยมาก ซึ่ง อ.ท่านนี้จบอังกฤษมาด้วย หมายความว่าปี 2475 เริ่มมีไอเดีย การศึกษา การเรียนการสอน ว่าควรเลิกใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

(จากซ้าย) นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์, รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และนายธนวรรธน์ สุวรรณปาล
หนังสือ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’

ช่วงสำคัญคือ ปี 2515 ช่วงของ ‘พระถนอม’ ซึ่งมีการออกกฎหมาย พูดถึงเรื่องทรงผม ก่อนหน้านั้นทรงผมไม่เคยถูกระบุในราชกิจจานุเบกษา เป็นการสถาปนาระเบียบวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง ถามว่าเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร หลัง 14 ตุลา 2516 มีการเรียกร้องให้ไว้ผมยาวได้ ตอนนั้นพลังนักศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก ปี 2518 ก็มีการออกระเบียบว่าไม่ต้องตัดผมเกรียนแล้ว แต่ตอนนี้เรากลับไปยึดฉบับ ปี 2515 ที่ต้องกลับไปตัดเกรียน คือปัญหาสำคัญที่อย่างไรก็ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าว และว่า

ระเบียบวินัย หนีไม่พ้นกับ ‘รัฐบาลอำนาจนิยม’ โดยปี 2540 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปิดโลกใหม่ ไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ มีรัฐธรรมนูญ 40 กฎปี 2515 ถูกโละ เกิดกฎหมาย พ.ร.บ.เด็กและเยาวชน นี่คือหมุดหมายสำคัญที่สังคมไทยเริ่มเรียกร้องประชาธิปไตย พ่วงสิทธิมนุษยชน

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าวต่อว่า สังคมบ้านเราเอื้อให้คนมีอำนาจทำอะไรก็ได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ

“ถ้านักเรียนเป็นชนชั้นก็คงเป็นชนชั้นล่างสุดในโรงเรียนที่ครูเลือกจะลงโทษอย่างไรก็ได้ โดยอ้างว่าต้องการสร้างพลเมืองที่ดี ที่ผ่านมาผู้ปกครองก็คิดเช่นกันว่า ไม้เรียว คือความรุนแรงแบบเดียวที่จะทำให้เด็กดีขึ้นได้ เด็กต้องฝึกระเบียบวินัย ไปเรียนลูกเสื้อ ยุวกาชาด เรียน รด.

“ตำรวจ ทหาร เกรียน 3 ด้าน มีอำนาจนำในสังคม ซึ่งควรจะอยู่ในระเบียบที่สุด แต่กลับกลับกลายเป็นยกเว้น จนเป็นอาชญากรด้วยซ้ำ เราก็ตั้งคำถาม ซึ่งมันมีเหตุผลในการดำรงอยู่เหมือนกัน ด้านหนึ่งตามข่าวสารจะเห็นว่า มีเด็กเลว เด็กก่ออาชญากรรมก็มี เราต้องทำให้เด็กเข้ามาอยู่ในกรอบ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรมมี 2 ด้าน คือ 1.ด้านเหตุผล และ 2.ด้านอารมณ์ของสังคม ซึ่งเป็นความชอบธรรมของสฤษดิ์ในการควบคุม ด้านหนึ่งก็คือมรดก เป็นไอเดียการปกครอง สมัยสงครามเย็น ที่จะควบคุมเด็กด้วยการใช้ความรุนแรง

เราจะเห็นการใช้ ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’ ยุคนี้มี ‘ค่านิยม 12 ประการ’ รุ่นเราจะไม่เข้าใจ เพราะเพลงนี้เกิดขึ้นหลังมี คสช. ยึดอำนาจ 8 ปีผ่านไป นักศึกษาทุกคนร้องได้หมด เป็นอะไรที่ฝังในหัวเด็กแล้วว่าต้องมีวินัยอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นปัญหามาก นี่คือความชอบธรรมทางด้านอารมณ์ของสังคม ด้วยการมองว่าจะเข้ามาเป็นภัยร้ายแรง การใช้ความรุนแรงจึงกลายเป็นเหตุ เป็นผล” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ชี้

เมื่อนายธนวรรธน์ถามว่า ถ้าเราไม่ใช้ความรุนแรง จะควบคุมพฤติกรรมของคนอย่างไร จะมีวิธีการทำความเข้าใจความแตกต่างได้อย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์มองว่า เวลาเราพูดถึงระเบียบวินัย เรามองเฉพาะปัจเจกว่าควรมีวินัย ใส่ชุด ตัดผมให้เรียบร้อย แต่ถ้ามองในระดับสังคม คือ เราจะใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างไร เราอยากขับรถปาดก็ปาด หรือเอาเข้าจริง เราไม่ได้ถูกสอนระเบียบวินัยส่วนรวม อยู่แต่ในคอกว่าต้องดูหน้า-ผมให้เรียบร้อย

“ต้องมีระเบียบวินัยในสังคม จะซื้อของร้านนี้ เปิดไฟจอด รถติดเป็นแถบ ได้หรือไม่? หรือการไม่หยุดตรงทางม้าลาย การคิดถึงระเบียบวินัยในสังคม มีหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ใช่โยนบาปมาที่นักเรียน หรือครูที่ตั้งใจ

หนังสือเล่มนี้ถ้าถูกเผยแพร่ออกไปถือว่าเป็นบัตรเชิญให้เราลุกขึ้นมา ‘เปลี่ยนการศึกษา’ เพื่อลูกหลานของเราเอง ผมไม่เชื่อว่า นายกฯ คนไหนจะมาเปลี่ยนการศึกษาในเร็ววัน แต่ต้องช่วยกัน ใส่พลังเข้าไป เราต้องสนับสนุนให้สมาคมผู้ปกครองมาเป็นปากเป็นเสียง แต่ทุกวันนี้สมาคมผู้ปกครองเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับโรงเรียนให้เกิดการกดขี่นักเรียนด้วยซ้ำ เราต้องเปลี่ยนแปลงสมรภูมิโรงเรียน กระจายอำนาจการศึกษา ขอให้เล่มนี้เปรียบเสมือนบัตรเชิญให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาของเรา” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ด้าน นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ หรือกุ้ง อาจารย์ นักเขียน และบรรณาธิการบริหาร Hi-Class Media Group, ผู้ก่อตั้ง DP-Studio กล่าวว่า ตกใจ ไม่คิดว่ามีใครสนใจเรื่องพวกนี้ขนาดเอามาเขียนเป็นหนังสือ เกือบ 400 หน้า หรือเพราะว่าเราหลับๆ ตื่นๆ มาไม่รู้นานแค่ไหน บางเรื่องเราลืมความเจ็บปวด หรือไม่นึกถึงสิทธิ ไม่ตั้งคำถามตอนเป็นเด็ก เพราะเรารู้สึกสบายดี ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ สิทธิที่มีอยู่น้อยนิด เราไม่ได้เดือดร้อนอะไร

“เราได้ขึ้นเงินเดือน 5,000 ก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งได้รู้ว่า เพื่อนเงินเดือนขึ้น 10,000 และคิดว่าเราต้องการสิทธินั้นหรือไม่ อดีตทวงคืนไม่ได้ แต่อนาคตเราจะจัดการอะไรกับสิทธินี้หรือไม่ อย่าง ‘ลิง’ เวลาอยู่ว่างๆ ก็หาเห็บเหา เพราะขี้เกียจ ในความเชื่อ เมื่อมนุษย์เราได้สิ่งที่พอใจ ความก้าวร้าวก็จะลดลง ฉะนั้น ทำให้รู้ว่า ‘คุณมีสิทธิเท่าไหร่’ ก็ย่อมดีที่สุด

สิทธิที่เราถูกเบียดบัง ถูกปล้นไป ตอนเราไม่รู้ เราไม่เจ็บปวด พอเรารู้ คุ้มไหมที่จะไปเรียกร้อง ซี่งหนังสือเล่มนี้ปลุกให้เราสู้ อุดมการณ์อยู่ในกระเป๋า แต่หนังสือนี้ทำให้นอนไม่หลับ เพราะเก็บมาคิด และบอกลูกหลานว่า เราจะอยู่อย่างไรต่อไป

เราเห็นการเกิดขึ้นของเครื่องมืออำนาจ เพราะการปกครองคนหมู่มาก หรือเลี้ยงสัตว์ ไม่ต่างกัน คือเอาสิ่งที่กลัวมากดดัน การใช้ความกลัวเป็นตัวควบคุม ใช้ได้ง่ายกว่าการแบ่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียม เพราะนั่นถือว่าผู้ถือผลประโยชน์จะได้รับลดลง

นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

ขณะที่ใช้ความกลัวก็ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์อะไรมาก ทำให้เขารู้สึกว่า ‘เขาควรได้รับแค่นี้’ ความกลัวไม่ต้องใช้ระเบิดปรมาณู เหมือน ‘ช้าง’ ที่ใช้ไม้เรียวตีตั้งแต่เล็กๆ จนโตขึ้นก็กลัวจนสามารถกระโดดทับเราได้ เหมือนกัน เรากำลังพูดกันเรื่องของอำนาจ ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน เราโอเคกับการได้รับอะไรที่ไม่เท่ากัน จ่าฝูงย่อมได้กินเยอะกว่าลูกน้อง แต่โรงเรียนพยายามสอนว่า เราต้องโอเคกับสิทธิเท่านี้ โดยไม่มีการตั้งคำถามในกมลสันดาน ทุกครั้งที่ตั้งคำถามเพื่อนจะไม่คบ ไม่ถูกใจครู พ่อแม่เริ่มมองไม่น่ารัก อย่างการทำงาน คนที่มาขอเงินเดือนเพิ่มไม่น่ารัก ทั้งที่เขามีสิทธิที่จะขอ” นางวรรณศิริกล่าว และว่า

เรากำลังใช้ ‘อาวุธมนุษย์’ ในการปกป้องเรา ตอนเด็กๆ ใครเคยพูดมากแล้วโดนจดชื่อส่งครูบ้าง พูดมากผิดตรงไหน พูดตอนสอนอาจจะรำคาญ แต่ตอนที่ห้องเงียบๆ กลับโดนจดชื่อ พอโตขึ้นยิ่งพูดน้อยลงๆ เพราะไม้เรียวอันนั้นขยายขนาดในสมองเรา เราจะยิ่งระวัง ยิ่งเงียบลง ทำอันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ได้ เดี๋ยวโดนฟาด”

นางวรรณศิริกล่าวว่า เล่มนี้จะบอกว่า ลองจับไม่เรียวดูไหม มันหนักไหม เราผิดจริงไหม? สถานการณ์แบบนี้คือการมองประชาชนเป็นทรัพยากรที่สร้างอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเพื่อประโยชน์ของบางคน โดยแท้ด้วยคำว่า ‘ชาติ’ แต่ถ้าเรามองเป็นทรัพยากร ไม่มองความต้องการ หรือความใฝ่ฝันที่แตกต่างกัน โดยไม่ถูกมองว่าดี หรือเลว คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฟังดูดี แต่คุณตายเป็น ‘ตัวเลข’ ไม่ใช่ตายเป็นอนุสาวรีย์

เราอยู่ในสังคมที่บอกว่า ‘เรา วอนนาบี’ (Wanna be) แข่งบุญแข่งได้ แข่งวาสนาแข่งไม่ได้ แต่ย้อนแย้งกับการให้ลูกแต่งงานกับคนที่มีฐานะ คือระบบความคิดที่อยู่ทั้งในบ้าน และโรงเรียน แต่โรงเรียนจะหนักกว่า

นางวรรณศิริกล่าวต่อว่า สิ่งที่กลัวที่สุดของเด็กไม่ใช่การเจ็บ แต่คือการ ‘เสียหน้า’ ทำให้อับอาย มีเด็กหลายคนฆ่าตัวตายเพราะโดนเพื่อนล้อว่าไม่สวย อับอาย เจ็บจนตาย เจ็บไม่หาย เพื่อนๆ ก็กลัว เพราะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู วัยนี้รักสวยรักงามอยู่แล้ว คุณไปทำลายจุดที่อ่อนไหวที่สุด ถูกลดทอนอำนาจ ลดทอนความเป็นมนุษย์

(จากซ้าย) นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์, รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และนายธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เมื่อถามว่า สังคมไทยยังมีคนที่สนับสนุน เห็นด้วยกับการลงโทษอยู่?

นางวรรณศิริระบุว่า ควาจริงแล้ว ความรุนแรงคือสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต แต่ก็จะต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณ เมื่อเราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กติกาแบบคนทั่วไป ก็ใช้ความโกรธได้เต็มที่ ลงโทษได้อย่างสะใจ หรือมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้

ในฐานะแม่และครู ผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกันคืออะไร วิธีจะสร้างวินัยคือ ‘การพูดความจริง’ ให้รู้ว่าเขาจะได้หรือเสียอะไร มีของกองกลางเท่าไหร่ ถ้าเราทำไม่ได้จะเสียอะไร พูดให้เข้าใจ พูดเรื่องประโยชน์คนเข้าใจกันทั้งนั้น คนเราเมื่อขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ ทำได้หมด จงเอาความจริงมาสื่อสาร ถ้าเรารู้ว่าเรามีสิทธิในส่วนประโยชน์แค่ไหน คนจะทำเอง” นางวรรณศิริกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

ตอนนี้การศึกษาไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบเดิมๆ อีกต่อไป เราสามารถเรียนกับมืออาชีพที่เก่งที่สุด ที่ไหนก็ได้ในโลก นอนเรียนในส้วมก็ยังได้ การที่เราต้องไปเข้าแถว ตื่นแต่เช้าไปตากแดดหน้าเสาธง เราควรคิดเชิงวิเคราะห์ได้แล้วว่าทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร คิดและหาคำตอบ ทำไปตามที่ตัวเองเชื่อ ไม่ต้องกลัวเหมือนคนอื่น

“การศึกษา เป้าหมายคือเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรา หน้าที่เรา ไม่ไปใช่ดูถูกตัวเอง การศึกษาไม่ควรมากดทับเรา ขอให้เราตื่นรู้ว่า ถึงเวลาของเราแล้ว” นางวรรณศิริกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจบการเสวนา รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้เขียน “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” ได้มาร่วมแจกลายเซ็นพบปะนักอ่าน ที่บูธมติชน E3 จนถึงเวลา 15.30 น. อีกด้วย

สำหรับหนังสือใหม่ 2 เล่มไฮไลต์ ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง’ ลด 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 200 บาท เหลือเพียง 170 บาท ส่วน ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ จากราคา 350 ลดเหลือ 298 บาท ทั้งนี้ หากซื้อ 2 เล่มคู่กัน ลดพิเศษเหลือเพียง 440 บาท จากราคาเต็ม 550 บาท เฉพาะในเทศกาลหนังสือฤดูร้อนครั้งที่ 2 เท่านั้น

ผู้ที่สนใจ สามารถมาเลือกซื้อหนังสือได้ที่ “บูธมติชน E3” ภายในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ได้ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. จนถึงวันสุดท้าย 8 พฤษภาคมนี้

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image