‘ดร.ตามไท’ ตื่นเต้น งานเขียน 2475 ขยายตัวมาก ย้ำสำนึก ปวศ.นำมาสู่ ‘การเปลี่ยนแปลง’

ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

‘ดร.ตามไท’ ตื่นเต้นงานเขียน 2475 ขยายตัวมาก ย้ำสำนึก ปวศ.นำมาสู่ ‘การเปลี่ยนแปลง’ อดีตยังเคลื่อนไหว เหมือนอนาคต

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคม การเมืองไทยในปัจจุบัน

บรรยากาศเวลา 13.00 น. ที่ห้องริมน้ำ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “90 ปี คณะราษฎร” เนื่องในโอกาส 90 ปีคณะราษฎร ความเป็นมาและความสำคัญของการทบทวนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากอดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า

ดร.ตามไทกล่าวว่า ตอนที่ได้รับติดต่อให้มาพูดก็ถามกลับไปว่าจะให้ตนพูดอะไร ถ้าดูจากวิทยากรวันนี้และองค์ปาฐกถาอย่างอาจารย์ชาญวิทย์ มีความรู้ลึกกว่าตนมาก จึงขอสรุปภาพกว้างของการศึกษา อภิวัฒน์สยาม 2745 ในปัจจุบัน มีประเด็นใดบ้างที่นักวิชาการศึกษาไปแล้ว และต้องศึกษาในอนาคต เพราะไม่เพียงอนาคตที่เคลื่อนไหว อดีตก็ยังเคลื่อนไหวเช่นกัน เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ โดยการศึกษา เริ่มตั้งแต่หลังปี 2500 คนที่สนใจอาจจะบอกว่าเป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์ หลัง 2500 ทุกคนทราบดีว่าเป็นยุคเผด็จการและเศรษฐกิจด้อยพัฒนาเช่นกัน คนจึงย้อนไปศึกษาว่าสังคมก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่คืออะไร ซึ่งนั่นคือการเปลี่ยนแปลงปี 2745

ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

ดร.ตามไทกล่าวต่อว่า ในแรกเริ่ม คนมองในแง่ลบว่ามีความล้มเหลวบางอย่าง นำมาซึ่งความล้มเหลวหลัง ปี 2500 มีความผิดพลาดใดที่นำมาสู่เผด็จการและด้อยพัฒนา งานศึกษาแยกเป็นแบบนั้น จากนั้นงานศึกษา 2745 เริ่มขยายตัว นับจนถึงวันนี้ 40 ปี มีหลายอย่างเปลี่ยน องค์ความรู้ขยาย จากการทำงานของนักวิชาการ อย่าง ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ รู้เกี่ยวกับ 2475 ดี และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ 2745 ในสังคมไทย ซึ่งตลอด 40 ปี มีงานที่เพิ่มขึ้นเยอะ แบ่งเป็น 2 ประเด็นกว้างๆ คือ 1.งานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของระบอบเก่า ก่อนหน้าเรามักเน้นว่าคนที่ทำการอภิวัฒน์ 2475 คือใคร คณะราษฎรมาจากไหน แต่อันนี้ศึกษาว่าระบบเก่ามีปัญหาอะไร คนซึ่งเป็นผู้นำของระบอบเก่าเองก็รู้สึกว่ามีปัญหา เช่น งานของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ไชยันต์ รัชชกูล เป็นต้น

Advertisement

ดร.ตามไทกล่าวว่า 2.ศึกษากลุ่มคนซึ่งเกี่ยวข้องกับ 2475 ในระยะหลัง คนมีความสนใจศึกษาคนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ และมีส่วนร่วมกับ 2475 เช่น งานศึกษา ข้าราชการ รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ เช่น กลุ่มปรปักษ์ปฏิวัติขยายตัว ทำให้ภาพ 2475 ไม่ได้อยู่เฉพาะคณะราษฎร แต่รวมคนกลุ่มอื่นๆ ทำให้เห็นในแง่มุมที่ต่างกัน 3.งานที่ศึกษาผลกระทบ 2475 ไม่เฉพาะเหตุการณ์ แต่ศึกษานโยบายคณะราษฎร ต้องการเปลี่ยนสังคมไปทิศทางไหน

ดร.ตามไทกล่าวด้วยว่า สำคัญเพราะคนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง มีภาพในอนาคต อุดมคติของสังคมที่อยากสร้าง ไม่สามารถปฏิเสธว่าความพยายามนี้มีอยู่จริง ชี้ว่าเขาพยายามทำอะไร เรามีภาพในใจ และมีนโยบายอะไรบ้าง เป็นคุณูปการอย่างมากที่เปลี่ยนแปลงความรับรู้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยและ ‘สำนึกทางประวัติศาสตร์’ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต

ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

“ในฐานะที่ผมดูวิทยานิพนธ์ ทั้งของ ม.ธรรมศาสตร์ และหลายมหาวิทยาลัย งานที่ศึกษาผลพวงของ 2475 มีเยอะมาก นี่เป็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้นมาก ทำให้เห็นว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเยอะมาก และคณะราษฎรมีคุณูปการอย่างสูง ซึ่งคนปัจจุบันอาจไม่ทราบว่าเป็นโปรเจ็กต์ของคณะราษฎร

“นอกจากจะชื่นชมนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ ต้องขอบคุณมติชนอย่างมากที่ผลิตงานเหล่านี้สู่สังคม นอกเหนือจากภาพกว้างการศึกษา ขอถือโอกาสขอบคุณมติชนและอีกหลายสำนักพิมพ์ ในการสร้างสำนึกประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ดร.ตามไทกล่าว

ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image