ฌาปนกิจ ‘ส.พลายน้อย’ วงวรรณกรรมร่วมอาลัย ผู้ช่วยบก.ศิลปวัฒนธรรมกราบลา เล่าถึง ‘การโทรหาครั้งสุดท้าย’

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่วัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีฌาปนกิจ นายสมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2553 ซึ่งถึงแก่กรรมในช่วงเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาจากโรคโควิด 19 สิริอายุได้ 93 ปี  (อ่านข่าว โควิดคร่า ‘ส.พลายน้อย’ นักปราชญ์คนสำคัญของไทย)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.47 น. รถตู้นำร่างนายสมบัติจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพฯ มาถึงเมรุวัดอนงคารามฯ โดยมีญาติและบุคคลใกล้ชิด รวมถึงบุคคลในแวดวงหนังสือร่วมเดินทางมาไว้อาลัย โดยมีการประชุมเพลิงอย่างเรียบง่ายในเวลาประมาณ 12.30 น. บุคคลในวงการหนังสือเดินทางร่วมอาลัย อาทิ นายธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม, นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพรบุ๊คส์, และนายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี เป็นต้น

นายธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า นายสมบัติเป็นนักเขียนที่โทรศัพท์พูดคุยกับตนบ่อยที่สุด ในขณะเดียวกันตนก็โทร.หานายสมบัติบ่อยมากเช่นกัน เนื่องจากนายสุจิตต์ วงษ์เทศ อดีตบก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มักมอบหมายให้สอบถามประเด็นต่างๆ เมื่อติดขัดด้านข้อมูล ส่วนตนก็สอบถามเรื่องงานเขียน รวมถึงสุขภาพ สารทุกข์สุกดิบของท่าน นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปพบที่บ้านย่านคลองสานเป็นประจำ

Advertisement

“ทุกครั้งที่นั่งคุยกับอาจารย์จะได้ความรู้ข้อคิดที่ยิ้มได้เสมอ และอาจารย์ก็ดูตื่นเต้นเช่นกันเมื่อผมเล่าถึงความรู้หรือข่าวต่างๆ ที่ร่วมสมัยในปัจจุบัน เมื่ออาจารย์ย้ายไปบ้านใหม่ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา โทรคุยกันน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์โควิดไม่สามารถไปเยี่ยมได้เลย ครั้งสุดท้ายที่อาจารย์ติดต่อมาคือการโทรสอบถามเรื่องบทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผมรับปากว่าจะส่งนิตยสารไปให้อ่าน ผมขอกราบลาอาจารย์สมบัติ และขอบพระคุณที่เมตตาตลอด 19 ปีที่ได้รู้จักท่าน”  นายธัชชัยกล่าว

(อ่าน เปิดตู้หนังสือ ‘ส.พลายน้อย’ 91 ปี ของชีวิต ‘ผมยังอยากเขียนอะไรอีกเยอะ’)

Advertisement

นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพรบุ๊คส์ กล่าวว่า นายสมบัติ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่เก็บรักษาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทยในอดีตไว้มากมาย การสูญเสียครั้งนี้ เปรียบเสมือนการสูญเสียห้องสมุดขนาดใหญ่มาก ผลงานของท่านอ่านง่าน เหมาะกับคนทุกวัย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย และคนทั่วไป

“สถาพรบุ๊คส์พิมพ์งานของอาจารย์มากอย่างต่อเนื่อง เรื่องล่าสุดคือ นามานุกรมพุทธประวัติซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ออกมา อาจารย์ไม่ทันได้เห็น และมีงานเก่าหลายเรื่องที่เตรียมนำมารีไรท์ใหม่ เช่น เรือพระราชพิธี กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ซึ่งทางบรรณาธิการกำลังตรวจงาน จะออกภายใน 2-3 เดือนนี้ ทุกปีมีโอกาสพาท่านไปทานข้าว ชมงานหนังสือ  ได้พบปะ พูดคุยกัน แต่โควิดทำให้ขาดหายไป 2-3ปี จังหวะนี้คิดว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่กลับมาเกิดเรื่องนื้ เมื่อวานทราบข่าว ยังตกใจอยู่ ขณะนี้กำลังทำงานเรื่องใหม่ของท่าน ซึ่งปกติจะมีการส่งงานให้ท่านตรวจ ตอนนี้ไม่มีคนตรวจแล้ว ต้องตรวจกันเอง จะต้องทำอย่างดีที่สุด ขอให้ท่านไปสู่สุคติ” นายวรพันธ์กล่าว

นายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี กล่าวว่า นายสมบัติถือว่าเป็นรุ่นบุกเบิกในด้านการรวบรวมค้นคว้าองค์ความรู้ต่างๆขึ้นมาเขียนในเชิงสารดคี ทั้งศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ หาอ่านได้เป็นร้อยปก เป็นต้นแบบงานสารคดีที่ต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียดยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เนตที่ช่วยให้สืบค้นได้ง่ายดังเช่นปัจจุบัน

“อาจารย์สมบัติเป็นที่ปรึกษานิตยสารสารคดีด้วย เวลากองบก.มีปัญหาอะไรในด้านความรู้ก็ปรึกษาท่าน เพราะเราต้องคำนึงถึงความถูกต้อง นอกจากนี้ ท่านยังเขียนบทความในนิตยสารซึ่งมีการนำมารวมเล่มหลายเรื่อง เช่น เกิดในเรือ ซึ่งให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำลำคลองผ่านประวัติชีวิตของท่านซึ่งเกิดในเรือจริงๆ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” นายสุวัฒน์กล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image