เปิดตัวหนังสือตามรอย “จอร์จ ออร์เวล” นักปวศ.ชี้ช่วยเข้าใจ “พม่า” ยุคปัจจุบัน

มื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 พ.ย. สำนักพิมพ์มติชนจัดงานเสวนา “ย่ำรอยจอร์จ ออร์เวลล์ จิบชา… ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา” ซึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” ผลงานของ เอ็มม่า ลาร์คิน นักเขียน-นักข่าวสาวชาวอเมริกัน โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ นายสุเนตร ชุตินทรานนท์ อดีต ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่า น.ส.สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล ดำเนินรายการโดย นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ มีผู้ให้ความสนใจร่วมฟังเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย

นายสุเนตร กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามตามรอยนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษ 20 คือ จอร์จ ออร์เวลล์ แต่ถ้าอ่านในรายละเอียดจะพบว่าเป็นมากกว่านั้น ผู้เขียนใช้การตามรอยเหมือนเป็นพาหนะเพื่อที่จะพาไปพูดเรื่องสำคัญกว่า นั่นคือ สภาวะสังคมพม่าในช่วงที่ได้ไปสัมผัส และตีแผ่ภาพออกมาอย่างน้อยใน 3 เรื่องคือ 1.ตามรอยออร์เวลล์ ในยุคที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ 2. การเดินทางไปตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียน และ 3. ได้รับรู้ประวัติศาสตร์บอกเล่าโดยมีร้านน้ำชาเป็นสื่อ ให้ภาพของพม่า ช่วง ค.ศ.1997 ที่ปกครองในยุคเผด็จการทหาร
“หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ประวัติศาสตร์พม่าในกรอบที่เป็นจุดพลิกผันสำคัญ 2 จุด คือ ช่วงอาณานิคม ซึ่งเปลี่ยนโลกของพม่าในเชิงโครงสร้าง อีกจุดหนึ่งคือ ยุคเผด็จการทหาร หนังสือให้ภาพสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของ 2 ช่วงเวลาใหญ่ ซึ่งกำหนดความเป็นตัวตนพม่าทุกวันนี้ ผู้เขียนเป็นนักวิจัยและนักอ่านวรรณกรรมตัวยง เป็นคนที่มองเห็นความหมายระหว่างบรรทัด ข้อมูลที่เก็บจากภาคสนามเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นเรื่อง ทำได้อย่างสนุก ละเมียดละไม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องนับถือผู้เขียน ส่วนภาษาแปลของคุณสุภัตรา ก็เลือกใช้คำได้ลงตัว ไม่หรูหรา แต่สื่อความที่ซ้อนกันสองอย่าง คือ 1.ตรงกับสิ่งผู้เขียนต้องการ และ 2.ลื่นไหล เหมือนได้อ่านหนังสือภาษาไทยดีๆ” ดร.สุเนตรกล่าว

สุเนตร ชุตินธรานนท์
สุเนตร ชุตินธรานนท์

น.ส.สุภัตรา กล่าวว่า ตนเองสนใจพม่าทุกบริบท ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เล่มนี้เป็นหนังสือในดวงใจ เหตุการณ์ในเล่มเป็นช่วงรัฐบาลทหาร ซึ่งผู้เขียนเดินทางตามรอยจอร์จ ออร์เวลล์ ชาวอังกฤษที่รับราชการเป็นตำรวจในพม่า มีหมุดหมายสำคัญได้แก่เมืองต่างๆ ที่ออร์เวลล์เคยไป ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะเยือนพม่า แนะนำให้อ่านและต้องไปร้านน้ำชาเช่นเดียวกับผู้เขียน เพราะประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีเวอร์ชั่นเดียว แต่ในร้านน้ำชามีเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่ถูกห้ามพูดถึง ผู้เขียนซึ่งเป็นนักข่าวสามารถนำสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ดี

“สำหรับตัวเองก็เป็นนักข่าว จึงมีหลายตอนที่เหมือนได้ตามผู้เขียนไปด้วย สิ่งที่ใกล้ตัวมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ ปัญญาชน และสื่อ รัฐบาลพม่ามีชื่อนักเขียนดัง รู้ว่าบรรณาธิการมีพฤติกรรมอย่างไร มีการเซ็นเซอร์หลายวิธี เช่น ไม่ชอบหน้าไหนก็ขีดๆออก หรือฉีกหน้านั้นทิ้งก่อนวางตลาด แม้แต่หนังสือภาษาอังกฤษตามโรงแรมใหญ่ๆก็เช่นกัน เป็นเรื่องตลกร้าย แต่ก็เกิดขึ้นจริง อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือเรื่องของห้องสมุด คนพม่าอ่านหนังสือเยอะมาก ถ้าไปพม่าจะเห็นคนขับสามล้อถีบอ่านหนังสือตลอดตอนว่างๆ ในคุกก็มีห้องสมุด เอ็มม่าได้ไปห้องสมุดของเพื่อนที่เจอในร้านน้ำชา บางคนเก็บหนังสือเป็นพันๆเล่ม” น.ส.สุภัตรา กล่าว

Advertisement
สุพัตรา ภูมิประภาส
สุพัตรา ภูมิประภาส

ด้าน นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพม่าเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ ในช่วง 2 ปีมานี้ หนังสือแปลเกี่ยวพม่าที่พิมพ์ในไทยมียอดขายดีมาก เป็นกระแสความสนใจ ซึ่งประกอบกับการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้ จอร์จ ออร์เวลล์ อยู่ในพม่าปลายรัชกาลที่ 6 ส่วนเอ็มม่าไปพม่าในปี ค.ศ.1995 ยุคนายพลตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นเผด็จการ ชาวต่างชาติหลายคนตั้งใจไปพม่าเพื่อเปลี่ยนพม่า แต่ว่าพม่ากลับเปลี่ยนเขา เช่นเดียวกับจอร์จ ออร์เวล ผลงานชิ้นนี้ผู้เขียนตามรอยออร์เวลล์ ส่วนตนเองตามรอยเธอไปอีกที และกลับได้เจอชีวิตและสังคมตัวเองในปัจจุบัน อ่านแล้วเหมือนเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัว หนังสือสนุกและเชื่อมโยงกับเราได้

สมฤทธิ์ ลือชัย
สมฤทธิ์ ลือชัย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image