ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

ยามที่ขั้วอำนาจโลกเปลี่ยนแปลง คนมีความคิดต้องรีบใคร่ครวญ ปรับเปลี่ยนสภาวะทรรศนะให้ทันโลกได้ทันท่วงที คนในโลกถูกน้อมนำความคิด ทั้งจากเหตุการณ์รอบด้าน โฆษณาชวนเชื่อ และการขายสินค้าวัฒนธรรม มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกและหลังสงครามโลก ว่าตะวันตกโดยสหรัฐและยุโรปเป็นพระเอก คอมมิวนิสต์ตะวันออกเป็นผู้ร้าย (ทั้งๆ เพิ่งผ่านยุคล่าอาณานิคมจากอำนาจตะวันตกมาไม่นาน) พอถึงวันนี้ จีนผงาดด้วยการเมืองและเศรษฐกิจขึ้นมา รัสเซียทำสงครามกับยูเครน คนไม่น้อยยังไหวความคิดไม่ทัน ตามเหตุการณ์แท้ไม่เห็น อิหลักอิเหลื่ออยู่กับข้อมูลที่คนไม่น้อยขี้เกียจศึกษา จึงมองข้อมูลไม่ออก นอกเหนือจากที่ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่เชื่อข้อมูล เพราะติดข้องความคิดเดิมๆ อยู่

อ่าน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก จากมติชนออนไลน์ 6 มีนาคมที่ผ่านมาเรื่อง “พลังอำนาจของจีนในแอฟริกา” เป็นตัวอย่างก็จะเห็น การช่วยเหลือให้มีกินมีอยู่แทนการรุกรานด้วยกำลังอาวุธแตกต่างกันขนาดไหน แม้มีเสียงบิดเบือนว่า ประเทศแอฟริกาที่รับความช่วยเหลือจากจีนเป็นหนี้จากดอกเบี้ยแพงมหาศาล แต่ข้อเท็จจริงของตัวเล็กที่สถาบันตรวจสอบในยุโรปเอง ดอกเบี้ยจีนยังน้อยกว่าเป็นครึ่งๆ ของที่ประเทศแอฟริกันเป็นหนี้ยุโรปสหรัฐ ทั้งจีนยังยกหนี้จำนวนมากให้อีกหลายครั้งหลายงวดแก่ประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเหล่านั้น

มิใช่ต้องการให้เปลี่ยนมุมมองต่อการเป็นพระเอกผู้ร้าย เพียงต้องการให้ศึกษาข้อมูลเท็จจริง มองโลกอย่างที่โลกเป็น มิใช่เชื่อเอาง่ายๆ ทางใดทางหนึ่ง

Advertisement

ให้สมกับที่เป็นศิษย์ตถาคตผู้มอบวิธีคิดวิธีศึกษาด้วย “กาลามสูตร” ให้

อ่าน ประกิต หลิมสกุล หรือที่รู้จักกันในนาม “กิเลน ประลองเชิง” หนึ่งในนักหนังสือพิมพ์สื่อกระดาษที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน พูดถึงงาน พูดถึงเพื่อนหนังสือพิมพ์ “ครึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักข่าว” ในมติชนออนไลน์ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ภาพสังคมคนทำงานอีกแวดวงในยุคที่วันนี้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้จากกล้องโทรศัพท์มือถือ ว่าเส้นเลือดการทำข่าวสาร ทำความจริงให้ปรากฏ อยู่ด้วยกันอย่างไร ทำงานกันอย่างไร เต้นเป็นชีพจรจรรยาบรรณอย่างไร

Advertisement

⦁ เมื่ออ่าน เจ้านครอินทร์ กษัตริย์ผู้ทำการค้า เปิดหูเปิดตา เปิดมุมมองประวัติศาสตร์มุมใหม่แล้ว หลายคนอาจนึกไม่ถึงอีกเช่นกันว่า พระเจ้าตากยอดนักรบผู้ปลดแอกพม่าเพียง 7 เดือนหลังเสียกรุง ก็มิได้ทรงวิริยะอุตสาหะเพียงสถาปนาราชธานีขึ้นใหม่ แต่เป็นผู้ติดต่อค้าขายทำกินเพื่อความเป็นอยู่ของผู้คนในราชอาณาจักรด้วย

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร งานค้นคว้าของ กัมพล จำปาพันธ์ จะแสดงภาพและเรื่องพระเจ้าตากที่สัมพันธ์กับยุคการค้าทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนการล่าอาณานิคมปลายศตวรรษที่ 19 จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการค้าและสังคมยุคเหล่านั้นไป

พระองค์มิได้เป็นเพียงผู้กอบกู้แผ่นดิน ยังทรงเป็นนักการค้าในโลกสากล ใครจะนึกว่าเส้นทางเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออก คือเส้นทางเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน อ่านพระเจ้าตากจากหลักฐานฮอลันดา (ไปจันทบุรีตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา?), พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดฝั่งทะเลตะวันออก, เส้นทางการค้าลุ่มแม่น้ำบางปะกงและชายฝั่งทะเลตะวันออก กับการสถาปนากรุงธนบุรี, การเมืองเรื่อง “กอสซิป” เมื่อพระเจ้าตากขอเป็นราชบุตรเขยเฉียนหลงฮ่องเต้, พ่อค้าเอกชนกับพ่อค้าหลวง การค้าทางทะเลกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์

จะได้เห็นภาพของพระเจ้าตากในอีกด้านที่พึงต้องสำรวจให้ถี่ถ้วน

⦁ ความสนุกในการเรียนประวัติศาสตร์ คือการได้พบหลักฐานใหม่ๆ หรือการได้คิดได้ฟังแง่มุมพิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ว่ามีความน่าเชื่อหรือความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด การนำข้อมูลหลักฐานต่างๆ วิธีคิดที่แตกต่าง มาเปรียบเทียบเพื่อมองหาความเป็นไปได้มากที่สุด ทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวา เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีใครรู้เท็จจริง กระทั่งหลักฐานบันทึกก็ยังต้องค้นหาความโน้มเอียงหรืออคติต่างๆ ของผู้บันทึกอีกต่างหาก

นักเรียนนักศึกษาหรือผู้เรียนรู้ จึงต้องเปี่ยมโยนิโสมนสิการ เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง เผื่อแผ่รองรับความเห็นรอบด้าน จึงสมเป็นปัญญาชนผู้คงแก่เรียนที่แท้

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

ไขตำนานพระนเรศวร โดย ยอดมนู เบ้าสุวรรณ กับ ธีระวุฒิ ปัญญา ช่วยกันไขปริศนาตำนานสำคัญของพระนเรศวรที่มิได้บันทึก ทั้งพระโอรสที่หายจากหน้าประวัติศาสตร์ พระมเหสีชาวพม่า สถานที่กระทำยุทธหัตถี สถานที่เสด็จสวรรคต ฯลฯ อ่านตำนานที่ 1 – ความน่าเชื่อถือเรื่องพระโอรส ข้อมูลจากพงศาวดารไทย, ข้อมูลเรื่องพระโอรสจากพงศาวดารต่างประเทศ, พระอัครมเหสีและพระชายาในสมเด็จพระนเรศวร

อ่านตำนานที่ 2 – ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ กาญจนบุรี, สาเหตุการสิ้นพระชนม์ในพระมหาอุปราชา, ข้อขัดแย้งเรื่องสถานที่การทำยุทธหัตถี, ข้อยุติเรื่องที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถี อ่านตำนานที่ 3 – ปริศนาสถานที่เสด็จสวรรคต

ลองพิจารณาใคร่ครวญดู

⦁ สยามกับอาหรับเปอร์เซียมีความสัมพันธ์ยาวนานมาแต่อดีต หากเรามีอิสระทางความคิด ไม่ยึดติดกับขั้วการเมือง เพียงรักษาตัวรักษาประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมิให้ลักลั่น เช่นที่มีมาแต่โบราณ การต่างประเทศของเราย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้า แต่เมื่อหันข้างตั้งแต่ก่อนยุคสงครามเย็น เราก็รักษาอิสระ (จริงๆ) ไว้ไม่ได้ เป็นแต่ตามตะวันตก “ซุนยัดเซ็น” มาสยาม “โฮจิมินห์” อาศัยสยามเพื่อนบ้านพักพิง แต่การเมืองเราสายตาสั้นกว่าการต่างประเทศ

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโปรตุเกส กับญี่ปุ่น กับสหรัฐ กับเปอร์เซีย จึงแตกต่างไม่เกิดพลวัตที่สมดุล วันนี้มี กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม ของอาจารย์ กุสุมา รักษมณี ให้อ่าน จึงควรอ่านเพื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์อีกครั้ง

ผู้เขียนซึ่งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางวรรณคดีเปรียบเทียบ กล่าวถึงประวัติศาสตร์สัมพันธ์ระหว่างเปอร์เชียกับไทย การรับวัฒนธรรมด้านภาษา วรรณคดี เครื่องแต่งกาย อาหาร เครื่องใช้ต่างๆ ที่มาจากด้านตะวันตกของอนุทวีป มีคำอธิบาย ที่มา ผลวิเคราะห์ กับตัวอย่างชัดเจนให้เข้าใจวัฒนธรรมเปอร์เซียซึ่งผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยอย่างลึกซึ้ง (ชนิดที่คนส่วนมากยังไม่เห็นไม่รู้สึก) หนังสือเล่มนี้จึงยังประโยชน์ยิ่งต่อวิชาการด้านภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรม

อ่าน 1.กุหลาบจากเมืองเทศ : วัฒนธรรมเปอร์เชียที่เดินทางสู่สยาม 2.เมื่อกุหลาบไร้พรมแดน : การรับและปรับแปลวรรณคดีเปอร์เชีย 3. แม้เรียกอย่างอื่นก็หอมรื่นเหมือนกัน : คำเปอร์เชียในภาษาไทย 4.บทส่งท้าย : กุหลาบของวันวาน หนังสือน่าอ่าน รูปเล่มน่าจับต้อง ประกอบด้วยภาพสี่สีตลอดเล่ม

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

⦁ หนังสือประวัติศาสตร์ที่แปลกพิสดารอีกลักษณะซึ่งหาได้ยาก และไม่ควรพลาดอย่างยิ่งเล่มหนึ่งก็คือ ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านภาชนะเครื่องลายครามเขียนโดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ที่สืบร่องรอยเรื่องราวของอยุธยาที่แฝงในพยานวัตถุเช่นเครื่องกระเบื้อง ซึ่งบรรดานักสะสมไทยสงวนรักษาสืบทอดกันมานับสิบชั่วคน กลายเป็นหลักฐานการเรียนรู้สำคัญ

ประกอบกับบทความทรงคุณค่า “การเดินทางของเครื่องกังไส” ของ เศรษฐพงษ์ จงสงวน ประกอบกับชุดภาพล้ำค่าหาชมยาก “ประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร คอลเล็กชั่น” ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้เปี่ยมความหมายการเรียนรู้ยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากปกผ้าปักไหม “โกวต้ง อยุธยา” ของ จักกาย ศิริบุตร ซึ่งมาช่วยเปิดกรุกรุงเก่าที่หายสาบสูญไปกว่า 250 ปี ทำให้หนังสือเล่มนี้พิเศษขึ้นทวีคูณ จนอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ต้องกล่าวว่า “…เครื่องเคลือบจีนที่พบในเมืองไทยกลายเป็นพาหะให้รู้ถึงความสัมพันธ์ไทยจีน จากราชวงศ์ทั้ง 5 ของกรุงศรีอยุธยา… ควบคู่ไปกับราชวงศ์ของจีน… จากยุคสมัยของเครื่องลายครามกระทั่งถึงเบญจรงค์ที่สีสันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ ทั้งเจ้านายและขุนนาง… จากสมัยอยุธยา ผ่านธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น “

บอกให้รู้ว่า หนังสือเล่มนี้น่าซื้อหา น่าอ่าน และน่าเก็บสะสมเพียงไร

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

⦁ เมื่อเอ่ยคำนามเมืองหลวงเก่าของสยามขึ้นมา คนส่วนมากแม้อาจไม่รู้รายละเอียดประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่ ก็คงไม่คิดว่ามีอะไรหลักๆ เกี่ยวกับอยุธยาที่ตนไม่รู้สักกี่มากน้อย ดังนั้น เมื่อเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปวัตร์ นวะมะรัตน เขียนหนังสือ อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย ขึ้น จึงชวนให้สนใจใคร่รู้ว่า อยุธยายังมีอะไรที่ไม่คุ้นเคยอีก

เราท่านทั้งหลายอาจรู้จักโบราณสถานสำคัญซึ่งมีชื่อเสียงในอยุธยามากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็มีอีกไม่น้อยเช่นกันซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่น้อยคนไม่รู้จัก ผู้เขียนจึงได้รวบรวมโบราณสถานภายในพระนครอีก 59 แห่ง จัดรวมไว้เป็นหมวดหมู่น่าสนใจ ที่ควรแก่การศึกษาสืบเนื่องอย่างยิ่ง
เช่น พระตำหนักสวนกระต่าย, ท้องสนามหน้าจักรวรรดิ, หอพระมณเฑียรธรรม พระคลังสุพรัต และพระคลังพิเศษ, ศาลาสารบัญชีและประตูดิน, ศาลาลูกขุน, ประตูมงคลสุนทร, ประตูมหาโภคราช, ท้ายจระนำพระมหาวิหาร วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดระฆังหรือวัดวรโพธิ์, ตะแลงแกง ฯลฯ

ไม่ใช่ชื่อที่คุ้นเคยสักเท่าไหร่เลยใช่ไหม

⦁ การศึกษาประวัติศาสตร์ในสุวรรณภูมิและอาคเนย์ยังมีช่องว่างรอยโหว่อีกมากมาย กระทั่งชื่อสุวรรณภูมิก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่ากินแดนใกล้ไกลขนาดไหน ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยก็เพิ่งเริ่มต้นเรียนอย่างจริงจังมาไม่กี่ปี หลังนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่พยายามแหวกขอบเขตการศึกษาเก่าออกมาตั้งแต่กว่าสี่ทศวรรษที่แล้ว ก็เพิ่งพูดกันเป็นเรื่องเป็นราวว่า สุโขทัยมิใช่อาณาจักร และมิได้เป็นราชธานีแรกของไทยสยาม ที่ยังต้องวางหลักหมายการเรียนรู้กันต่อไปอีก

ดังนั้น อยู่ๆ อยุธยามิได้เกิดขึ้นทันทีทันใดที่พระเจ้าอู่ทองอพยพหนีโรคห่ามาสถาปนา สุโขทัยมีอยู่แล้ว ล้านนายิ่งมีมานาน ลพบุรี สุพรรณบุรี ก็มีชุมชนเมืองโบราณลงหลักปักฐาน แล้วปักษ์ใต้เล่า เราเคยได้ยินชื่อตามพรลิงค์ ราชวงศ์ศรีธรรมโศกราชมิใช่หรือ มิใช่ว่าดินแดนด้ามขวานจะรกร้างไร้ผู้คนเสียเมื่อไหร่

ประชุมพงษาดารปากใต้ในสยามประเทศ ฉบับชำระใหม่ ปกแข็ง สันโค้ง มีบรรณาธิการต้นฉบับคืออาจารย์ พรชัย นาคสีทอง บรรณาธิการประจำฉบับคือ พินิจ หุตะจินดา รังสรรค์หนังสือสำคัญ 544 หน้าเล่มนี้ขึ้นมา

เป็นหนังสือรวบรวมพงศาวดารภาคใต้ทั้งหมดที่ควรค่าแก่การศึกษายิ่งยวด ดังนี้ 1.พงษาวดารเมืองถลาง 2.พงษาวดารเมืองสงขลา 3 ฉบับ 3.พงษาวดารเมืองพัทลุง 2 ฉบับ 4.พงษาวดารเมืองปัตตานี ฉบับพระยาวิเชียรคีรี (ชม) 5.พงษาวดารเมืองกลันตัน 6.พงษาวดารเมืองตรังกานู 7.พงษาวดารเมืองไทรบุรี 8.พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว) 9.พงษาวดารเมืองไชยา 10.ตำนานเมืองระนอง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์

เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยแท้

ตู้หนังสือ : พระเจ้าตากนักการค้า กุหลาบเปอร์เชียในสยาม

⦁ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ที่คนติดตามข่าวสารบ้านเมืองต้องอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วยภูมิใจไทยในสนามเลือกตั้ง อย่าเด่นจะเป็นภัย “พูดแล้วทำ ทำแล้วโดน” อ่านประยุทธ์สายมู เข้าวัดโยงมือบวม “แอดมิต” โรงพยาบาล จับตาฤกษ์ยุบสภาหวังคัมแบ๊ก

ตรวจแผงหลัง “พี่วิตรน้องยุทธ์” ทันเกมทันกัน จับทาง “ผู้กองนัส-เสธ.หิ” ถอดรหัสอีลีทกับปฏิบัติการของ “ท่านใหม่”

ทีดีอาร์ไอจี้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่ทำได้จริง ไม่สร้างภาระการคลัง ฟังคุยกันกับนักการเมือง “เศรษฐา ทวีสิน” เข้ามาเพื่อทำให้ได้ ทำไม่ได้ก็ลาออกไป อ่านพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผ่านสายตานักวิชาการด้านกฎหมาย “รัฐบาลประยุทธ์กับการออกพระราชกำหนด”

อ่าน 74 ปีสุเทพ เทือกสุบรรณ ชวนทักษิณกลับเมืองไทย ย้ำความรู้สึกดีๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงกับประยุทธ์ อ่านประจักษ์ ก้องกีรติ ในกระแส “กาลเปลี่ยนแปลง” วาทกรรมคนดีในเมืองไทย

และติดตามการทลายอาณาจักร “สารวัตรซัว” นายบ่อนสีกากีเหนือกฎหมาย “บิ๊กก้อง” ปรับขนาด L เป็น XL (อย่าคลาดสายตา)

⦁ การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์สังคม หากอยู่รวมกลุ่มแล้วต่างไม่คิดถึงผู้ใดเลย เห็นเพียงประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึง “ใจเขาใจเรา” เลยนั้น สังคมย่อมอยู่เย็นเป็นสุขได้ยาก ที่นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยพากันมาเยือนเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็มิใช่เพียงสมบัติธรรมชาติที่มี หรือสมบัติวัฒนธรรมที่สืบทอดมา แต่ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะ “คนไทย” เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่บีบรัด การเมืองที่ไม่เอื้อโอกาสการทำกินที่เท่าเทียม “น้ำใจไทย” จะถูกสิ่งเหล่านั้นดูดกลืนให้เหลือน้อยลงทุกขณะไหม นักศึกษาหนุ่มสาวที่ประท้วงวิถีการใช้อำนาจบริหารบ้านเมือง ใช้ชีวิตแลกความหวังที่จะได้คืนสิทธิที่ถูกอำนาจริบไป หากกระทั่งคุณค่าของชีวิตยังไม่เท่าเทียม ชีวิตหนึ่งมีราคากว่าอีกชีวิต ชีวิตหนึ่งสำคัญกว่าอีกชีวิต การได้เกิดเป็นมนุษย์ย่อมมิใช่การได้รับพรอันประเสริฐแล้ว

จะประเสริฐได้อย่างไร ถ้าเพียงแต่เกิดมาเพื่อเป็นทาสอำนาจ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image