ตู้หนังสือ : ทาสไท(ย) นเรศวรนิพนธ์
เตือนกันตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ว่าหลังสงกรานต์ระวังโควิดระลอกใหม่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่ว่ารุนแรงกว่าเดิม หลบภูมิป้องกันคล่อง ลงปอดทันที อันตรายถึงตายเร็ว ทำให้ตระหนกกันอยู่หลายวัน กระทั่งมีหมอกับผู้รู้หลายรายออกมาคลายกังวลให้น้อยลง หมอบอกว่า ยังไม่ได้มีรายงานว่าร้ายถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะผู้มีภูมิจากวัคซีนหลายเข็ม จะผ่อนหนักเป็นเบาอย่างที่เห็นกัน ส่วนผู้รู้บอกว่า เป็นการสร้างข่าวเพื่อระบายขายวัคซีน ขายหยูกยาหน้ากากที่ค้างโกดัง – อ้าว
จนสุดท้าย รัฐมนตรีสาธารณสุขต้องออกมาประกาศเองว่า สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ลือกัน ขอให้หาวัคซีนฉีดป้องกันกันไว้เท่านั้น
สังคมทุนนิยมผูกขาดนี่ดูจะเหลวไหลเลื่อนเปื้อนแต่สั่งสมวัตถุเงินตราเข้าทุกที ถ่างความเหลื่อมล้ำกว้างออกไปเรื่อยๆ จะจริงไม่จริงก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ ต้องฟังหูไว้หูอย่ารีบตกใจ ฟังแล้วนึกถึงครั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถกกับ พุทธทาสภิกขุ ที่ว่าต้องทำงานด้วย “จิตว่าง” จึงเจริญ หม่อมขำว่า ถ้าคนไม่มีกิเลสตัณหาจะมีอะไรเป็นแรงขับให้ทุ่มเทสร้างตัว แต่ต่อมาก็เข้าใจ กล่าวขออภัยต่อพระ ประสา “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ว่าค้านไปด้วยนัยคนละขั้ว
เครื่องมือสื่อสารทำให้ทุกคนเป็นสื่อ แต่ทุกคนเข้าใจ “จรรยาบรรณ” ของสื่อไหม เช่นหมอที่ต้องเข้าใจ “จรรยาแพทย์” หรือทนายต้องรู้จัก “มรรยาททนายความ” ดูท่าว่า “ระบบมั่งคั่ง” หรือข่าวเชิดชูคนรวย ข่าวจัดอันดับมหาเศรษฐี จะล้างสมองคนทั้งสังคมหรือทั้งโลกไปแล้ว
⦁ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตำรา แบบเรียน ก็พูดเรื่อง “เลิกทาส” กันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมุ่งตรงที่น้ำพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 5 เป็นหลัก แต่มิเคยได้ให้รายละเอียดนักเรียนนักศึกษาเลยว่า ด้วยความจำเป็นเช่นไร ที่พระองค์ต้องทรงใช้กุศโลบายอันแยบยล ชาญฉลาด ในการเลิกทาส
ดังนั้น การศึกษาซึ่งกลายเป็นหนังสือ ทาสไท(ย) : อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ ของอาจารย์ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ ญาณินี ไพทยวัฒน์ จึงเป็นงานที่เหมาะสมแก่กาลในการศึกษาวันนี้
ในการย้อนกลับไปดูการรับรู้เรื่องทาสและการเลิกทาส ว่าเกิดมาได้อย่างไร โดยเชื่อมโยงกับบริบททางการเมืองแต่ละยุค ตั้งแต่หลังเลิกทาสในปี 2448 จนถึงวาระ 100 ปีการเลิกทาสในสยามปี 2548 ในทศวรรษก่อน
ให้เห็นว่า ภาพจำในพระราชกรณียกิจเลิกทาสที่สั่งสมมายาวนาน จนเป็นวาทกรรมกระแสหลัก แม้บางช่วงจะมีคำอธิบายใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่หลักความเชื่อที่คงอยู่ก็หนักแน่น ต้องติดตามอ่านให้เข้าใจ
อ่าน 1.ปฐมบทการผลิตซ้ำเรื่องทาสกับการเลิกทาสในไทย-ร่องรอยความรู้เรื่องทาสกับการเลิกทาส, วาทกรรม “ทาสไทย” 2.ก่อนทาสจะเป็นไท-การรับรู้เรื่องทาสไทยจากหลักฐานชั้นต้น, “ยอมรับ” ปะทะ “ไม่ยอมรับ” การมีทาสช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศิวิไลซ์ 3.กำเนิดวาทกรรม “ทาสไทย” ใต้พระบารมีพระปิยะฯ – การเลิกทาสแรกปฏิรูปประเทศ, การเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านวันปิยะฯ และพระที่นั่งอนันตฯ, งานเขียนสนับสนุนพระราชกรณียกิจเลิกทาส
4.ท้าทายวาทกรรมเก่า สร้างสำนึกพลเมืองใหม่-สำนึกพลเมืองหลัง 2475, นักคิดสังคมนิยมกับการรื้อถอนสังคมศักดินา, คำอธิบายเรื่องทาสจากพระบิดาประวัติศาสตร์ไทย, แบบเรียนเทิดพระเกียรติจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่
5.การหวนคืนพระราชกรณียกิจเลิกทาสกลางกระแสอนุรักษ์-ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์กับการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์, วิชาการเทิดพระเกียรติเลิกทาส, เมื่อระบอบสฤษดิ์-ถนอมสิ้นสุด การหันเหคำอธิบายเก่าหลัง 14 ตุลาคม 2516 6.สู่ศตวรรษเลิกทาสในสังคมไทย-การเทิดพระเกียรติ “มหาราช” ในยุค “เปรมาธิปไตย”, ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 กับวัฒนธรรมบูชาของชนชั้นกลาง, 100 ปีการเลิกทาสในไทย กับการผลิตซ้ำในพื้นที่สื่ออันหลากหลาย และ 7.บทสรุป
อ่านเล่มนี้จบ คนหลังสงครามโลกครั้งหลังเป็นต้นมาจนปัจจุบัน เข้าใจเรื่องเลิกทาสในสยามกระจ่างชัดเจน
⦁ เรื่องราวของมหาราชองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะวีรบุรุษผู้ปลดแอก ที่ยังมีเรื่องให้ค้นคว้าศึกษาอีกมากมาย นเรศวรนิพนธ์ : การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง ศึกษามาเขียนเสนอโดยนักเรียนประวัติศาสตร์ ที่เปิดร้านหนังสือในอุบลราชธานี ปิยวัฒน์ สีแตงสุก
มหาราชพระองค์นี้ส่งผลเช่นไรต่อคนไทยปัจจุบัน จากเรื่องเล่าเพียงชิ้นเดียวอันเป็นงานเขียนในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เป็นพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนประกาศอิสรภาพ ทำยุทธหัตถี กระทั่งเสด็จสวรรคต ซึ่งถูกนำไปต่อยอดแปรรูปโดยสื่อต่างๆ เป็นอนุสาวรีย์ หนังสือ เรื่องเล่าชาวบ้านภาพยนตร์ ฯลฯ และถูกรัฐไทยใช้เป็นเครื่องมือหล่อหลอมความรักชาติ กับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมแก่สังคม ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนหลังรัฐประหาร 2557
อ่าน 1 “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ของพระนเรศวร ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์” พระนเรศวร-ก่อนเข้าเรื่องเล่า, พระนเรศวรศึกษา, แนวคิดกับการประกอบสร้าง 2.จากกษัตริย์อยุธยาสู่กษัตริย์อยุธยาของรัตนโกสินทร์-ร่องรอยเรื่องเล่าจากอยุธยา, การชำระพระราชพงศาวดารกับการเปลี่ยนสู่ “กษัตริย์อยุธยาของรัตนโกสินทร์”, ขยายปริมาณเรื่องเล่า สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
3.ประวัติศาสตร์ฉบับ “ดำรงราชานุภาพ”-เศษเสี้ยวหลากหลายก่อนปรากฏเรื่องเล่า, พระประวัติพระนเรศวร เรื่องเล่าหลักกับการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่, สงครามยุทธหัตถี จากร่างแรกสู่ฉบับสมบูรณ์
4.สองนครายุทธหัตถี เรื่องเล่าจากหน้ากระดาษสู่อนุสาวรีย์-กษัตริย์ผู้ทรงคชาธารกับทหารประจำการรถถัง, ปักหมุดแรกพื้นที่ชนช้าง, วิวาทะข้ามทศวรรษ เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน, ประนีประนอมหักล้างคำอธิบายรัฐที่ไม่เกิดขึ้น
5.หลั่งทักษิโณทกกลางสนามรบ วีรมหาราชกับ “คอมมิวนิสต์” อริราชศัตรู-พิษณุโลก หน้าแรกของเรื่องเล่า, การเดินทัพซึ่งยังไม่ถึงจุดหมาย กับการแย่งชิงมวลชนอีสาน, ชาติพันธุ์อื่นใต้ร่มเงาวีรบุรุษชาติพันธุ์ไทย, เมื่อศาสนานำทางอิสรภาพใกล้ฐานที่มั่น, บทเพลงการเมืองกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์
6.สู่พื้นที่ใหม่หลังสงครามเย็น กับการผลิตซ้ำผ่านวัฒนธรรมมวลชน-โครงการใหญ่ในราชธานีแห่งที่ 2 ตามแนวพระราชดำริ, อิทธิปาฏิหาริย์อันบดบังมิได้ของดวงพระวิญญาณแบบพุทธไทย, จากนิยายไตรภาคของ “ทมยันตี” สู่ละครทวิภาค, ตำนานพระนเรศวร การฉายเรื่องเล่าซ้ำบนแผ่นฟิล์ม, ปลายทางสุขนาฏกรรม 7.บทสรุป(ไม่)ท้ายสุด
อ่านเล่มนี้จบ รู้ทั้งเรื่องพระนเรศวร และการโดยเสด็จฯพระนามพระนเรศวรในบริบทต่างๆ
⦁ อ่านประวัติศาสตร์รายละเอียดที่แสนจะเพลิดเพลิน จากการค้นคว้าของนักเขียนนักเรียนประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย 3 เล่มรวด ขายดี จนต้องพิมพ์ใหม่ทั้งหมดเป็นระยะๆ ลูกแก้วเมียขวัญ พิมพ์ครั้งที่ 8 แล้ว เรื่องของสตรีคู่พระทัยในราชสำนัก “ลูกแก้ว” กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักพระนารายณ์, เจ้าจอมมาดาฉิมใหญ่ พระราชธิดา ร.1 พระราชชายาพระเจ้าตาก, กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เทพธิดาราชสำนัก ผู้ทรงเป็นที่พึ่งยอดกวี, กรมหลวงวรเสรฐสุดา ราชนารีผู้เมินคุณสมบัติกุลสตรี, กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ พระอภิบาลสยามมกุฎราชกุมาร, กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ปทานุกรมแห่งบรมมหาราชวัง, พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก ร.5, เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ผู้งามเหมือนเทวดา, เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร ผู้นำสตรีสู่โลกใหม่, เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยานารี พระธิดาคู่พระทัย ร.5
“เมียขวัญ” พระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชินีพระองค์แรกในจักรีวงศ์, พระศรีสุริเยนทรามาตย์ ผู้มีชะตาพลิกผัน, พระศรีสุลาไลย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชชายาเชื้อวงศ์เวียงจันท์, เจ้าจอมมารดาอำภา “สายหยุดพุดจีบจีน” บรรพบุรุษสกุลปราโมช, พระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ราชินีเมื่อพระชนม์ 19 พรรษา, เจ้าจอมมารดาเที่ยง ใน ร.4, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าจอมมารดาแพ, พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์-พระศรี
สวรินทิรา-พระศรีพัชรินทรา สามพระราชมเหสีพี่น้อง, กรมพระสุทธาสินีนาฏ สุดยอดการครัวคาวหวาน, พระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี, เจ้าดารารัศมี ครองรักครองเมือง
อ่านเพลินเห็นภาพราชสำนักฝ่ายใน ครอบครัวใหญ่ในราชสำนัก
⦁ เล่มน่าอ่านถัดมา ลูกท่านหลานเธอ พิมพ์ถึงครั้งที่ 9 แล้ว อ่านเรื่องของเจ้าจอมแว่นใน ร.1 มาจากเวียงจันท์, เจ้าหญิงปรางในพระเจ้าตาก ชีวิตพิศวง, เจ้าคุณนวล เจ้าจอมมารดาตานี สองผู้กระชับสัมพันธ์บุนนาคกับจักรีวงศ์, เจ้าจอมมารดาน้อย องค์แรกใน ร.4, เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เชื้อสายพระยาเจ่ง ขุนนางมอญ, เจ้าจอมช้อย ตำรับทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา ฯลฯ,
คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ผู้อยู่นอกกรอบ, แฟนนี่ นอกซ์ เมียฝรั่งพระปรีชากลการ เหยื่อขัดแย้งวังหลวง วังหน้า, พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา นราธิราชบุตรี มเหสีแรก ร.5, พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อัครราชสุดา เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง, พระองค์เจ้าผ่องประไพ ราชธิดาองค์แรก ร.5, เจ้าจอมมารดาวาด ผู้ขับกล่อมบรรทม “แมวอิเหนา”, หม่อมคัทริน เดสนิตสกี้ รัสเซียผู้ทลายกำแพงฐานันดร
หม่อมศรีพรหมา ปฏิเสธเจ้าจอมเป็นชาวนาชาวไร่, เจ้าจอมเอิบ ก๊ก อ. คนโปรดตลอดรัชกาล, เจ้าจอมเอี่ยม ฝีมือนวดล้ำเลิศ, เจ้าจอม ม.ร.ว.แป้ม มาลากุล, เจ้าจอมมารดาทับทิม, พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระคู่หมั้นองค์แรก ร.6, พระนางเธอลักษมีลาวัณ ชะตาไม่คาดคิด, หม่อมเจ้าฉวีวาด, เจ้าจอม ม.ร.ว.สลับ, พระองค์เจ้าเฉลิมเขตมงคล, ราชประดิพัทธ์ ร.5, สามพระพี่เลี้ยงนางนมในสามกษัตริย์
อ่านเพลินกับความรู้ที่ค้นคว้ามาเสนอเช่นเล่มที่แล้ว
⦁ เจ้าฟ้า เจ้าชาย ในพระพุทธเจ้าหลวง พิมพ์ครั้งที่ 4 เล่มนี้แสดงให้เห็นการเลี้ยงดูด้วยสายพระเนตรยาวไกลในพระองค์ ที่ตั้งพระทัยจะให้พระราชโอรสทั้งหลายได้มีส่วนในการปฏิรูปพัฒนาประเทศเพื่อทัดเทียมนานาชาติยุโรปตะวันตก
อ่านการศึกษาของพระราชโอรส, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช, พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์, จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน, จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
เล่มนี้กล่าวถึงบรรดาพระราชโอรสซึ่งมีส่วนหรือบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์กาลเทศะต่างๆ ที่ผู้เขียนค้นหาเบื้องหลังเหล่านั้นมาแจ่มชัด
⦁ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวเพื่อรู้โลกและรู้ตัวเอง มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วยกระแสเสรี “นิยม” วันนี้ “ก้าว” ไป “ไกล” ฟังพรรณิการ์อ่านโพล “มติชน-เดลินิวส์” ก้าวไกลกำลังระเบิดกระแส
เกิดอะไรขึ้น พรรคประวิตรเข็นไม่ขึ้น พรรคประยุทธ์แพ้ห่าง เพื่อไทย ก้าวไกล เลือกตั้ง’66 จุดเปลี่ยนการเมือง คนไทยไม่เอาสืบทอดอำนาจ
อ่าน “ประยุทธ์ พีระพันธุ์” ไม่โดดเดี่ยวกลางกระแสข่าวลือ “การกลับมา” ของ “บิ๊กแดง” อ่านบัตรเลือกตั้งสำคัญไฉน พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย มีคำตอบ
อาจารย์ “นิธิ” มาแล้ว ส่องนโยบาย “10,000 บาท” แล้วอ่านด้วยความกังวลและห่วงใยจากอดีต กกต. พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ตลาดนัดการเลือกตั้ง ยาหอม ยาลม ยาอม ยาหม่อง?
ขณะที่ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ชี้เมืองอโยธยาต้นแบบกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วอ่านอยุธยาควรมีรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ควรสร้างรางรถไฟทับพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา
อ่าน “Hunger” เกมหิว คนกระหาย หนังไทยติดอันดับยอดฮิตของเน็ตฟลิกซ์ แล้วอ่านมิเชล โหย่ว กระตุ้น “มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน” ถึงเวลาร่วมสร้างสรรค์ “ภาพยนตร์ระดับโลก”
⦁ ยิ่งการสื่อสารโทรคมนาคมย่อโลกเล็กลงเท่าไหร่ เราต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างใกล้ชิด จากสังคมเกษตรกรรม ถึงสังคมอุตสาหกรรม แรงงาน มาสังคมสารสนเทศ เทคโนโลยี วิทยาการ ทั้งหมดในระบอบทุนนิยมผูกขาด คนเปลี่ยนไปอย่างไร ดีหรือร้ายกว่ากัน
นักวิชาการตรวจสอบ ข้าราชการตรวจสอบ นักการเมืองตรวจสอบ เพื่อรักษาสังคมที่ดีไว้ นี่มิใช่เป้าหมายของการศึกษา การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์หรือ – เมื่อการเลี้ยงชีพชอบ กลายเป็นการเลี้ยงไม่ชอบเสียอย่างเดียว ระบบทั้งหลายก็พังทลายหมด
เงินกลายเป็นพ่อเป็นปู่ย่าตาทวดพระเจ้าที่ต้องสั่งสม จนเหนือกว่ากฎหมาย-ถูกผิด-
ศีลธรรมจรรยาหรือ
ลองถามทุกคนที่ทำมาหาเงิน
บรรณาลักษณ์