ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
ยุคชาวบ้านขำตำรา ต้องหาคนดีมาปกครอง
โพลเลือกตั้ง มติชนxเดลินิวส์ เข้มข้นขึ้นทุกรอบ โหวตกันทะลุ 6 หมื่นแล้ว ชาวบ้านสนใจการเลือกตั้งเต็มที่ เพราะเข้าใจซึ้งมานานแล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องของตัว ไม่สนใจการเมืองคือผลักประโยชน์ตัว ประโยชน์สังคม ไปให้กาฝากการเมืองสวาปาม ดังนั้น การเลือกตั้งหลังรัฐประหารครั้งนี้ จึงสำคัญสุดๆ
น่าเวทนาก็แต่นักเลือกตั้งซึ่งมีมากกว่านักการเมืองดีๆ ที่ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาประเทศชาติ ยังมะงุมมะงาหราอยู่กับประโยชน์ตน ประโยชน์พรรค หาแทบไม่ได้ที่คอยสำรวจตัวเองว่า ทำงานคุ้มเงินเดือนไหม จ้างคนเทกระโถนมามากๆ ทำอะไร พ้นตำแหน่งแล้วยังจะกินบำนาญเปล่าๆ อีก ฯลฯ
นักการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบอบ บ้านเรามีนักการเมืองจริงๆ ไหม
⦁ อ่านคน อ่านการเมือง อ่านสภาพแวดล้อมทุกประการของสังคม แล้วต้องอ่าน ขวาสุดขั้ว : ระบอบคนดีกับการเมืองยุคประชาธิปไตยกลับหลังหัน ค้นคว้าสำรวจติดตามสถานการณ์มาเขียนให้อ่านทบทวนสภาพที่แท้ของบ้านเมืองโดย วสุชน รักษ์ประชาไท เพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ทั้งคนอยากปกครอง และคนในปกครอง
การเมืองไทยเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา มวลชนฝ่ายขวาถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถพลิกกระดานการเมืองได้ ด้วยการเคลื่อนไหวแบบต่างๆ ตามแนวทางอนุรักษนิยม เพื่อต่อต้านนักการเมืองและรัฐบาลที่ถูกตีตราว่าเลวร้าย จนหันไปยกย่อง “วิถี” เชื้อเชิญ “คนดี” เข้ามาบริหารปกครองบ้านเมืองกันง่ายๆ
แต่ภายใต้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาที่ดูเหมือนเป็นกลุ่มก้อนอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ยังมีขวาที่สุดขั้วไปเสียยิ่งกว่าอีก ซึ่งสำหรับความคิดพวกเขาเหล่านั้น ภัยอะไรก็ไม่เลวร้ายเท่าภัยที่เกิดขึ้นกับสถาบันหลักของชาติ จึงควรติดตามความคิดของพวกเขาในวันที่ก้าวลงถนนประกาศอุดมการณ์ที่ต้องพิทักษ์
หนังสือที่จะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองสถานการณ์สังคมมากขึ้น
⦁ ศึกษาการเมืองในประเทศแล้ว ควรมองสถานการณ์รอบด้านของเพื่อนบ้าน เพื่อประมวลการก้าวไปในโลกพร้อมกัน ว่ามีดีมีด้อย มีเต็มมีพร่องต่างกันอย่างไร เพื่อเรียนรู้ที่จะประยุกต์ประสบการณ์จากรายละเอียด ซึ่งอาจเหมือนอาจต่างของสังคมเข้าหากัน ในอันจะเข้าใจและนำพาภูมิภาคไปอย่างสมประโยชน์กัน
The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ที่คุ้นเคยความคิดกันจากข้อเขียนนานา เพื่อย้อนมองโครงสร้าง รากฐาน แนวคิด การสะสมอำนาจ และการใช้อำนาจ ของกลุ่มชนชั้นนำต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคอาณานิคม ยุคปลายอาณานิคม สงครามเย็น โยงมาถึงศตวรรษที่ 21 โดยต้องการให้เข้าใจรายละเอียดจากภาพเล็กๆ จนสามารถมองและวิเคราะห์ภาพใหญ่ได้
เพื่อนำไปสู่การเห็นความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ขาด ในการรับมือและรู้ทันเกมการเมืองของบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้น
อ่าน 1.คติอำนาจ แนวคิดชนชั้นนำ–แนวคิดเรื่องชนชั้นนำและอำนาจ, แนวทางการศึกษาชนชั้นนำ 2.ประวัติศาสตร์ชนชั้นนำแห่งอำนาจ–สมัยโบราณ, สมัยอาณานิคม, ปลายอาณานิคม สงครามเย็น, โครงสร้างรัฐเอกราชภายใต้เกมอำนาจของชนชั้นปกครอง
3.กลุ่มก้อนชนชั้นนำในการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้–กษัตริย์ : จารีตประเพณี กับการปรับตัวในโลกสมัยใหม่, ทหาร : กำลังรบกับการควบคุมจัดระเบียบรัฐ, นักการเมือง : การเลือกตั้งกับกลยุทธ์บริหารบ้านเมือง, นักธุรกิจ : เงินตรากับสายสัมพันธ์ข้ามชาติ
4.ถกเรื่องชนชั้นนำในหลากหลายมิติ–มองชนชั้นนำผ่านชาติพันธุ์ ลัทธิการเมือง และกรณีศึกษา, เทคนิคการจัดกลุ่มจำแนกประเภทชนชั้นนำ–สรุป
อ่านเล่มนี้จบ ตาสว่างเห็นไกลขึ้นอีกจากบ้านตัวเองไปถึงเพื่อนบ้าน แล้วย้อนกลับมาแทงทะลุบ้านตนเองอีกว่า ระหว่างการเมืองกับชนชั้นนำ เราถูกชนชั้นนำจับวางอยู่ตรงไหน–เพราะจะทำอะไรได้ไม่ได้ ก็อย่าปล่อยให้ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นผีโม่แป้งให้คนอื่นกิน
⦁ ดังนั้น เล่มต่อไปที่ควรอ่านด้วยก็คือ When We Vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน ของอาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ขณะที่การเมืองการเลือกตั้งของไทยถอยหลังและชะงักงันเพราะอำนาจเผด็จการ การเมืองการเลือกตั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กลับเปลี่ยนแปลงอย่างสูง
เป็นสามประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในอุษาคเนย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยืนยันความเป็นไปได้ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งไม่หยุดนิ่ง และถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มเดิมจำนวนน้อยอีกต่อไป–เอ้า, เฮ
ร่วมวงเรียนรู้แนวทางศึกษาแบบสถาบันนิยม ทฤษฎีการสร้างประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยสำรวจความเป็นจริงในพื้นที่ ฟังข้อมูลการสัมภาษณ์ ดูตัวเลขสถิติที่แท้ และถกเถียงสนทนาโดยตรง ถึงโอกาส ความหวัง และความฝัน เพื่อให้ได้ความจริงจากการศึกษาเปรียบเทียบ
จากนั้นนำความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน กลับมาเทียบและทบทวนสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งของไทย ประเทศที่ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานกับเผด็จการทหารมากว่า 88 ปี ในอันจะสร้างกระบวนการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เพื่อรากฐานประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างจริงแท้แน่นอนต่อไป
⦁ สองทศวรรษที่ยากลำบาก ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย นักธุรกิจปรับตัว ข้าราชการทำงานประสานหามรุ่งหามค่ำถึงวันละสามสี่ทุ่ม ดูเหมือนญี่ปุ่นจะหายไป แต่ญี่ปุ่นไม่ได้หายไปไหนแน่นอน
ญี่ปุ่นใหม่ พลิกเกมธุรกิจพิชิตโลก งานของศาสตราจารย์ อูลริเก เช้ด ผู้คร่ำหวอดกับธุรกิจญี่ปุ่นมายาวนานแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก เขียนงานชิ้นสำคัญนี้ตอบคำถามที่โลกสงสัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ว่าฟื้นคืนมาหรือยัง ให้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพิมพ์เผยแพร่ ว่าญี่ปุ่นกำลังทำอะไร
เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐและจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่าหลายเท่า ซ้ำยังเจอวิกฤตนับครั้งไม่ถ้วน ญี่ปุ่นทำได้อย่างไร กับวันนี้ที่กลยุทธ์ธุรกิจปัจจุบันซึ่งญี่ปุ่นตอบโต้คู่แข่งขัน เช่น สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ด้วยการหนีการผลิตเทคโนโลยีพื้นๆ ไปสู่การผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้นอีก ในการจับตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มที่สำคัญมากต่อห่วงโซ่อุปทาน
โลกทุกวันนี้ แม้จะมองไม่เห็นป้าย “เมด อิน เจแปน” แต่อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่รอบตัวเรา ล้วนมีชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นอยู่ด้วยทั้งสิ้น
อ่านบทนำ การพลิกสร้างใหม่, สภาพแวดล้อม : การปรับองค์กรในวัฒนธรรมธุรกิจที่เข้มงวด, ย้อนภูมิหลัง : ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจ มั่นคงด้วยการจ้างงานตลอดชีพ, แนวคิดหลัก : กลยุทธ์รวมตลาดเฉพาะกลุ่ม, ผลกระทบ : บทบาทญี่ปุ่นในธุรกิจโลก, การเปลี่ยนแปลงด้านบริหารจัดการ : การกำกับดูแลและค่าตอบแทนผู้บริหาร, ตลาดการเงิน : หุ้นนอกตลาดกับการควบรวมและซื้อกิจการ, การบริหารการพลิกสร้าง : การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม, การจ้างงานและนวัตกรรม : การพลิกสร้าง ไคฉะ, ญี่ปุ่นเดินหน้า : พลิกสร้างเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล
นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปลให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงชัดเจน
⦁ โลกจะหนักลงเรื่อยๆ ทุกวันหรือเปล่า อาจทำให้วงโคจรเบี่ยงเบนไปได้หรือไม่ (ฮะฮ่า ว่ากันแบบกลศาสตร์ไสยศาสตร์ ไม่ใช่ฟิสิกส์) เพราะประชากรดูจะล้นโลกเข้าทุกที อาจขย่มให้โลกเหวี่ยงตัวรอบดวงอาทิตย์ช้าลงหรือเปล่า (หึหึ) เพิ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนี้เอง ที่ประชากรพุ่งขึ้นไป 5,000 ล้านคน แต่ชั่วพริบตาเดียววันนี้ กลายเป็น 8,000 ล้านคนเข้าไปแล้ว จะเอาอะไรกิน ถ้าไม่เร่งคิดแบบ คานธี ที่ว่า โลกนี้มีพอสำหรับทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภแค่คนเดียว–เพราะคนโลภไม่มีเพียงคนเดียวนะสิ ที่เป็นปัญหากับโลกใบเดียวนี้
เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน ว่าด้วย “8 พันล้าน” เพราะระหว่างการระเบิดขึ้นของประชากร หลายประเทศประชากรเพิ่ม แต่หลายประเทศประชากรลด เกิดอะไรขึ้น ประเด็นที่แท้ควรอยู่ตรงไหน
อ่านและชมภาพพิสดารของธรรมชาติซึ่งหาดูที่อื่นไม่ได้ ดูมดตัวน้อยสัตว์โลกผู้น่าทึ่ง, สัตว์ยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งอายุยืนจริงหรือ และที่สำคัญกับมนุษย์ก็คือ นาฬิกาธรรมชาติกำลังพลิกผัน–มีอะไรเกี่ยวข้องกับชีวิตกลางวันกลางคืนของคนซึ่งทำงานด้วยเวลากลับตาลปัตรหรือเปล่า
เล่มเดียวอ่านได้ทั้งครอบครัว เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่ยิ่งอ่านดี๊ดี ความรู้ล้วนๆ
⦁ อ่านนิตยสารมรดกโลกจากสยาม ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายนว่าด้วย “เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม” ชวนชมเครื่องทองอยุธยาอันงามอร่ามมลังเมลือง ตั้งแต่เส้นทางทองคำอยุธยามาจากไหน ตลาดค้าทองในกรุงอยู่ที่ใด และเครื่องทองที่เก็บกับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา สะท้อนความสัมพันธ์อยุธยากับโลกภายนอกอย่างไร
อ่านความรู้สนุกๆ สาระเพลินๆ ตามรอยระเด่นลันไดโดย ธนโชติ เกียรติณภัทร ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์โดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ แผนล้อมกวาง งานเย็บปักถักร้อยโดย พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
อ่านเพลงทำนองพื้นเมืองโดย บูรพา อารัมภีร ศรคีรี ศรีประจวบ เล่นเครื่องรางของขลัง ลงอักขระสักสาลิกาลิ้นทองที่ลิ้นและฟันโดย บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่เจ้าเก่า) วัดศรีโพธิ์ค่ายพม่าที่กระสุนปืนใหญ่โด่งข้ามไปโดย อชิรวิชญ์ อันธพันธ์
แล้วติดตามเรื่องพิเศษเครื่องทองอยุธยาโดย กำพล จำปาพันธ์ เรื่องเล่า “กษัตริย์ผู้ทรงประกาศอิสรภาพกับอริราชครู (ใหม่) นามคอมมิวนิสต์” โดย ปิยวัฒน์ สีแดงสุก โปสการ์ด ร.5 กับไกด์บุ๊กบางกอกฝีมือ เจ.อันโตนิโอ โดย ไกรฤกษ์ นานา วันขึ้นปีใหม่ วันมหาสงกรานต์ และวันตรุษของไทยโดยหมอ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล
อ่านอิ่มคุ้มค่าไฟแพงแน่นอน–แฮ่
⦁ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวและสังคมไทย มติชนสุดสัปดาห์ อ่านธนาธร ตัวตึง “ข้าง” สภา ปลุก “หัวคะแนนธรรมชาติ” สู้จัดตั้ง พบ “เรื่องลับเฉพาะ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในแง่มุม “นอก” การเมือง สัมพันธ์ครอบครัวชินวัตร ทักษิณ แพทองธาร
อ่านกัปตันประยุทธ์ งัดไพ่เก่าสู้ ตรึงฐานกลุ่มอนุรักษนิยม ชิงการนำรวมเสียงตั้งรัฐบาล อ่านวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประเมินหลังเลือกตั้ง วิวาทะ 112 จะเคลื่อนเข้าสภา แต่… ประจักษ์ ก้องกีรติ ส่องยุทธวิธีประวิตร ก้าว(ไม่)ข้ามความขัดแย้ง
ตามดูดอนเมืองกรุ่น วัดพลังอดีตแม่ทัพฟ้า กลยุทธ์ชิง “นภา 1” วัดดวง “หนึ่ง–ณะ–จ่า–ไก่–หลวย” กับทีมแม่บ้านทัพฟ้า ดับร้อน แล้วอ่านอาจารย์เกษียร มองผ่านคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม “ลิงหลอกเจ้า”
ปัญหาสิ่งแวดล้อม “ร้อน” อภิมหาโหด ไฟแพงพุ่งถล่มรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนไปพบแบบเรียนโรแมนติก “ภาษาพาที” ถึงดราม่าโภชนาการ ไข่ต้มเหยาะน้ำปลา แล้วฟัง “คำ ผกา” กังขา ทำไมทำโฆษณาชวนเชื่อได้ห่วยลงทุกวัน
เฮ้อ–สีฟยัดไส้ ไม่อยากรู้ก็ต้องไปรับรู้ – ปณิตาเปิดใจเจ็บๆ ขอหย่าจิน ธรรมวัฒนะ ก่อนจะกลับไปผ่าคดีฉาว สะเทือน ทบ. โวย พล.ท.เซ็กซ์ซาดิสต์ ทบ.แจงวุ่นเรื่องส่วนตัว แต่สังคมข้องใจปมเสพยา–ไม่ส่วนตัวละนะ
⦁ ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมานี้เอง คนเขียนตำราให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ ล้วนถึงพร้อมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และชาติวุฒิ เป็นขุน หลวง พระ พระยา ฯลฯ มีประสบการณ์ ชีวิตตกผลึก จนสามารถให้แนวทางแก่คนรุ่นหลังเจริญเติบโตด้วยวุฒิภาวะและสติปัญญาตามสังคมต้องการได้
แต่ทุกวันนี้ ใครเป็นคนเขียนตำราก็ได้อย่างนั้นหรือ เด็กๆ ก็เขียนได้หรือ หรือเด็กในร่างผู้ใหญ่ รัฐมีเป้าหมาย แนวทาง วิธีคิดใดแก่ผู้สร้างตำรา เพื่อสร้างเยาวชนตามที่สังคมต้องการ กระทรวงศึกษาฯมีปรัชญาการเรียนการสอนใดกำหนดแก่ครูผู้สอนและผู้เขียนตำรา รัฐมีวุฒิภาวะพอหรือ กระทรวงศึกษาฯมีวุฒิภาวะพอหรือ ที่จะสร้างสังคมซึ่งมีวุฒิภาวะ
หรือพอใจกับสังคมที่ร้องเล่น เต้นรำไปวันๆ พอเด็กคิดอะไรได้ขึ้นมาจึงรับไม่ไหว เข้าใจไม่ได้ ป้ายให้เป็นคนก่อกวน ป้ายให้เป็นผู้ทำลายโน่นทำลายนี่ มองไม่เห็นว่าตัวทำลายสังคมยับเยินมาตั้งแต่ไม่ยอมให้เด็กและผู้ใหญ่รู้จักคิด
ชอบให้เด็กกินไข่ต้มกับน้ำปลา แต่ตัวเองกินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว
บรรณาลักษณ์