ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
ตู้หนังสือ : อยากเข้าใจเรื่องวันนี้ ต้องรู้เรื่องวันวานวันก่อนโน้น
จากที่ประชาสัมพันธ์ไว้ยาวนาน เพื่อมิให้ผู้สนใจหรือนักชิมคนชอบทำอาหารพลาดโอกาส วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วของงาน “อัพสกิล ไทย 2023” งานฝึกทักษะด้านอาหารซึ่งดีที่สุดในไทย ถึงรสถึงชาติ ซึ่งจัดขึ้น ณ มติชน อคาเดมี ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาเช้าถึงเย็นทั้ง 3 วัน ยิ่ง วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน นักศึกษาต่อต้านเผด็จการตั้งแต่ 50 ปีก่อน สำทับความรู้เรื่องอาหารจีนที่ต้อง “ถึงไฟถึงควัน” ในมติชน ออนไลน์ พฤหัสบดีที่ผ่านมา นึกภาพแล้วยิ่งน้ำลายสอ
ผู้ผ่าน 9 เสวนาเบื้องหลังความสำเร็จ 8 การฝึกปฏิบัติทำอาหารจากพ่อครัวดัง และพบ 20 ร้านสุดปังอร่อยเว่อร์ในงานมาแล้ว คงฝันรอคราวหน้ามาเร็วๆ
• โลกหมุนไปเรื่อย ไม่ได้หมุนเปล่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ใครคิดฉุดรั้งเวลาให้คงที่ เพื่อตัวเองได้เสพสุขปลอดภัยกับสถานะปัจจุบัน คงเขลาเต็มที เพราะเพียง 3-4 ทศวรรษผ่านไป งานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งเคยมีชื่อเสียงรองจากงานประกาศรางวัลออสการ์ แต่ห่างกันหลายชั้น ที่เมื่อก่อนเป็นเทศกาลซึ่งหญิงใดอยากจะดัง หรือนักแสดงสาวอยากเป็นข่าว มักไปเปลื้องผ้าให้ช่างภาพถ่ายกันมือเป็นระวิงทุกปี วันนี้ งานก็เปลี่ยนภาพเปลี่ยนรสนิยมไปไกล
เพราะเพียง อิรินา เชย์ค นักแสดงสาว ใช้แผ่นหนังกว้างแค่ฝ่ามือไขว้คาดหน้าอกแบบตะเบงมาน เผยท่อนบนส่วนอื่น ก็เป็นข่าวถูกติงว่าไม่เหมาะสมไปเสียแล้ว ทั้งที่ไม่ได้เปลื้องหมดเช่นที่เคยทำเรียกตากล้องกันอย่างแต่ก่อน
• กระไรเลย การเมืองประเทศที่ยังไม่พัฒนาจะไม่ระหกระเหินในกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะสำหรับความคิดเผด็จการแล้ว เสียงประชาชนหรืออำนาจประชาชน ไม่ว่าจะประกาศให้ดังกึกก้องสักเท่าไร ก็ยากจะสั่นคลอนความคิดฉุดรั้งความก้าวหน้า ยากจะถอนความคิดเจ้าข้าวเจ้าของอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จให้หมดไป การก้าวข้ามอำนาจเผด็จการจึงไม่ใช่เรื่องผู้ใดคนเดียว
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเข้าใจเรื่องวันนี้ คือต้องรู้เรื่องวันวานและวันก่อนๆ ให้ชัดเจน ยิ่งย้อนไปไกลมากเท่าใด ยิ่งกระจ่างถึงการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่านั้น
การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ศึกษาค้นคว้ามาถ่ายทอดเหตุและผลให้เห็นโดยอาจารย์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นเล่มแรกที่ควรตั้งต้นอ่านเพื่อเข้าใจวันนี้ อย่างน้อยคำด้อยค่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มักได้ยินกันตลอดมาว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” นั้น ถูกครอบงำมายาวนานจากที่ใด และด้วยเหตุผลกลใด
กระทั่ง อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักเรียนรัฐศาสตร์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ก็ยังเพิ่งพูดในปาฐกถาเมื่อไม่นานเดือนมานี้เองว่า กว่าจะ “ตาสว่าง” (จากการครอบงำของตำรา การยัดเยียดจากการเรียนการสอนมานับทศวรรษ) หลังการไปเป็น “นักเรียนนอก” ก็ต้องกลับไปเรียนรู้เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีกหลายแง่มุม อีกหลายวาทกรรม
เพราะงานวิชาการ หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่เริ่มผลิตกันในทศวรรษ 2510 นั้น ถูกครอบมาด้วยความคิดชิงสุกก่อนห่ามดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการกระทำของนักเรียนนอกและทหารเพียง “หยิบมือ” เดียว ในนาม “คณะราษฎร”
ทำให้ระบอบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งตระเตรียมไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ ร.5 (ปฏิรูประบบราชการ) ร.6 (ตั้งดุสิตธานีเพื่อเรียนรู้ประชาธิปไตย) จน ร.7 (เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ) สะดุดลง และไม่เพียงเท่านั้น การชิงสุกก่อนห่ามยังก่อ “วงจรอุบาทว์ทางการเมือง” เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 7 ทศวรรษ
แนวคิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการฟื้นตัวและการเคลื่อนไหวของฝ่ายนิยมเจ้า โดยเฉพาะนับแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ชัยชนะของคณะเจ้าต่อคณะราษฎรเห็นได้จากการสถาปนา ร.7 เป็น “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ผ่านการตัดตอนพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติที่ทรงใช้ต่อรองกับคณะราษฎร ซึ่งนำมาเผยแพร่จนมักได้เห็นและได้อ่านกันทั่วไป
งานวิชาการที่อยู่บนฐานคิดเหล่านั้น ถูกจัดเป็นประเภท “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475” ซึ่งดำรงเป็นกระแสหลักในการกล่อมสังคมมาจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับงานที่พยายามตีแผ่ความคิดและข้อเท็จจริงอีกด้านของการเปลี่ยนแปลง ก็ถูกทำให้เล็กลงแค่ “รัฐประหาร” มิใช่การ “ปฏิวัติ” เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การอ่านหนังสือเล่มนี้ รสชาติเข้มข้นเริ่มตั้งแต่คำนำของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เห็นว่า “งานศึกษาชิ้นนี้เป็นความยิ่งใหญ่ จะอยู่ในสถานะที่สูงในวงวิชาการที่สนใจ 2475 ไปอีกนาน” เพราะอาจารย์ได้ชี้ประเด็นต่างๆ ของงานศึกษาชิ้นนี้เป็นแนวทางแก่ผู้อ่าน ได้พินิจพิเคราะห์ให้เห็นสภาพก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ชัดเจน ว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรคือที่มาของการเปลี่ยนแปลง
“…คำอภิปรายทั้งหมดนั้น นำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย มีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์จากรัฐแบบจารีตได้แล้ว รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไทยก็หมดพลังที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้น…
“ในช่วงท้ายๆ หลังรัชกาลที่ 5 ลงมา ชนชั้นนำทางอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเป็นอริกับอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษา, การแต่งกาย, แบบแผนพฤติกรรมของคนชั้นกลาง, คนจีน, หนังสือพิมพ์, วิชาเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ จนถึงที่สุด แม้แต่ ‘หลักวิชา’ หรือสำนวนของปัจจุบันคือ ‘วิชาการ’ ก็เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำรับไม่ได้…
“และพยายามทุกวิถีทางให้ ‘หลักวิชา’ ต้องเป็นรอง ‘หลักราชการ’ ซึ่งเน้นความเชื่อฟัง, จงรักภักดี ฯลฯ ทั้งโดยพระบรมราโชวาท และการปูนบำเหน็จในระบบราชการ”
น่าเรียนรู้ น่าอ่านพิลึกเลย ว่าไหม เพราะอาจารย์นิธิเองยังจบคำนำว่า
“ในท้ายที่สุด ควรกล่าวด้วยว่า อาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในงานชิ้นนี้ เลิก ‘เกร็ง’ เสียแล้ว ฉะนั้น การเขียนของท่านในงานชิ้นนี้ จึงอ่านสนุก ในบางตอนสนุกระดับ ‘วางไม่ลง’ ด้วย”
แล้วเราท่านทั้งหลาย คนรักเมืองไทย อยากเห็นเมืองไทยก้าวหน้า จะพลาดหนังสืออ่านสนุกขนาดวางไม่ลงเล่มนี้ไปได้อย่างไร
• เราเห็น “เนติบริโภค” นักชิมนักกฎหมายผู้สามารถ วิษณุ เครืองาม นำความรู้ประกอบสร้างนิยายประวัติศาสตร์มาแล้ว เช่น ข้ามสมุทร กับงานสองเล่มโต ชีวิตของประเทศ วันนี้ “ทูตนอกแถว” อดีตข้าราชการระดับสูงอีกผู้หนึ่ง ทูตโมซัมบิก ทูตคาซัคสถาน รัศม์ ชาญสงคราม หรือ “รัศม์ ชาลีจันทร์” เขียนเรื่องพิสดาร The Blues Cheaters เจ้าชายผู้โกงทุกข์ มาให้อ่านกัน
เรื่องการผจญไปในสามค่ำคืนแห่งปาฏิหาริย์ ความจริง ความเชื่อ ศรัทธา บาดแผล และดนตรีบลูส์
จากบาร์บลูส์ในพัทยา ข้ามมิติเวลาสู่มิสซิสซิปปี แอฟริกา ชมพูทวีป และเยรูซาเลม พาให้ได้สัมผัสความมืดในใจผู้คน ความโศกเศร้า ความหฤหรรษ์ และความลับ ซึ่งท้าทายทุกความเชื่อที่โลกนี้เคยยึดถือ เมื่อพระเจ้ามอบความทุกข์อันไม่อาจเลี่ยงได้ ให้เป็นชะตากรรม มนุษย์จึงทำทุกทางเพื่อจะกลายเป็นเผ่าพันธุ์ผู้โกงทุกข์
โห – ทูตลงมือเขียนหนังสือให้อ่านกันทั้งที ธรรมดาเสียที่ไหน อย่าพลาด
• มีโลกทั้งใบอยู่ในต้นไม้ทุกต้น จากสิ่งมีชีวิตน่าพิศวง เมล็ดพันธุ์กระจิริด งอกเงยด้วยกลไกมหัศจรรย์ซึ่งซุกซ่อนอยู่ทุกกิ่งใบดอกผล หยั่งรากสัมพันธ์กับสรรพสัตว์ และมนุษย์ ก่อนจะยืนหยัดหล่อเลี้ยงโลกใบนี้มาเนิ่นนาน
80 ต้นไม้รอบโลก ของ โจนาธาน โดรรี แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ นำเราเดินทางสำรวจเรื่องอัศจรรย์ของต้นไม้และถิ่นที่อยู่ทั่วโลก ตั้งแต่ไม้ออลเดอร์ซึ่งเป็นรากฐานค้ำจุนเวนิสทั้งเมือง โพธิ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งอินเดียที่รวมใจทั้งชาวพุทธและฮินดู ไม้ก๊อกที่หุ้มถังเชื้อเพลิงกระสวยอวกาศของนาซา ป่าเรดวูดที่ซ่อนความลับของต้นไม้สูงเสียดฟ้าไว้ในน้ำหยดเล็กๆ ต้นรักจีนกับตำนานชวนขนลุกของมัมมี่นักบวช
หรือการทิ้งใบของเชสต์นัตที่มอบความหวังแก่ “แอน แฟรงก์” ว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาถึงในสักวัน (เด็กหญิงที่หลบในผนังแอบทหารนาซีเยอรมันนานกว่า 2 ปีก่อนถูกจับ และไปเสียชีวิตในค่ายกักกัน แต่บันทึกของเธอปลุกโลกให้ตะลึงด้วยการนำไปแปลมากถึง 70 ภาษา ขายได้มากกว่า 30 ล้านเล่ม)
มาร่วมกันลัดเลาะกิ่งก้านประวัติศาสตร์ พฤกษศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเรื่องโรแมนติกชวนฝัน จนโศกนาฏกรรมเศร้าตรม ผ่านภาพประกอบตื่นตา เนื้อหาตื่นใจ ตลอดการเดินทางที่ไม่ควรพลาดนี้
• นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ประจำสังคมประชาธิปไตยจ๋า ไปไหนมา อย่าเถลไถล มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย ใหญ่กว่าคนคือพรรค ใหญ่กว่าพรรคคือประชาชน ใหญ่กว่าประชาชนคือ ส.ว. (ฮ่าฮ่าฮ่า – เอิ๊ก – ฮ่วย)
อ่านชนะเลือกตั้ง แต่ยังอยู่ใต้ระบอบอำมาตย์ ก้าวไกล เพื่อไทย ต้องสู้ไปด้วยกัน อ่านรัฐบาลประชาชนกลางสงคราม “ความหวัง ปะทะ ความกลัว” ข่าวลือ เฟคนิวส์ ข่าวเสี้ยม ท่วมเมือง เขย่า เอ็มโอยู ก้าวไกล เพื่อไทย
จับสัญญาณ 2 ป. แยกกันสู้ ลือสะพัดบ้านป่า บ้านจันทร์ ถอดรหัสกระแสไฟเขียว กก. 2 บิ๊กอำมาตย์ ฮา! เชียร์บิ๊กบี้ นั่งกลาโหม
ประกิต กอบกิจวัฒนา แห่งคอลัมน์ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง ส่งสัญญาณดังๆ “ขออนุญาตนะครับ ได้เวลาเพื่อไทยต้องกลับมารีแบรนด์พรรคแล้วล่ะ”
หลังผลเลือกตั้ง 2566 ปรากฏ อ่านอภิชาติ สถิตนิรมัย ส่ง “สองนคราประชาธิปไตย” เข้านอน และอ่าน “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” แต่ไฉน ธงทอง จันทรางศุ สะท้านในหัวอกเมื่อพูดถึงวุฒิสภา
อ่านษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ย้ำผ่าน “ฝนไม่ถึงดิน” ผีค่าจ้างขั้นต่ำ ปีศาจที่หลอกหลอนชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย ส่วนสุจิตต์ วงษ์เทศ ยั่วให้แย้ง ร.1 ไม่ได้เขียนกฎหมายตรา 3 ดวง (ต้องตามไปฟังเหตุผล ดูหลักฐานแล้วล่ะ)
แล้วพบกับธงชัย วินิจจะกูล ผู้คว้ารางวัลใหญ่ “ฟุกุโอกะ ไพรซ์ 2023”
อ่าน พ.ร.บ.อุ้มหาย ปัญหาหญ้าปากคอก ตร.ไร้ทางเลือกบนความขาดแคลน “คุ้มครองสิทธิ” คู่ขนาน “บังคับใช้” ก่อนจะฟังการเตือนภัยร้อนระอุ “พลโลก 2 พันล้าน เหยื่อของวิกฤตภูมิอากาศ”
ขอให้เพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ปลอดภัย ปลอดโรค ทั่วทุกตัวตน เทอญ
บรรณาลักษณ์