ตู้หนังสือ : ประวัติศาสตร์ส้วม ที่ดินไทยต้องปฏิรูป

ตู้หนังสือ : ประวัติศาสตร์ส้วม ที่ดินไทยต้องปฏิรูป

ตู้หนังสือ : ประวัติศาสตร์ส้วม ที่ดินไทยต้องปฏิรูป

ตื่นมาอย่าลืมเด็ดขาด – เหลือเวลาเพียงวันนี้พรุ่งนี้เท่านั้น สำหรับงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ครั้งที่ 28 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่ซึ่งมีหนังสือนับล้านเล่มรอนักอ่านอยู่อย่างกระตือรือร้น

โดยหวังว่า บรรดานักอ่านทั้งขาจรขาประจำ จะกระตือรือร้นด้วย

• เป็นธรรมดาอยู่เอง แม้เวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ แต่คนร่วมสมัยที่ยังมีความทรงจำ
หวนนึกแล้วเหมือนเพิ่งเมื่อวานนี้เอง ขณะคนรุ่นหลังคิดถึงตัวเลขแล้ว อาจรู้สึกว่าเป็นเวลายาวนานราวจับต้องไม่ได้ กับช่วงเวลาตอนนั้นที่การเมืองกำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อ 52 ปีก่อน

Advertisement

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติตัวเองในเดือนพฤศจิกายน ปี 2514 ผู้ที่ผงาดขึ้นมาให้
ชาวบ้านจับตาก็คือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร นายพันเอกซึ่งนายพลก็ต้องนบนอบ ขนาดบริวารพังป้อมยามกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังไม่ได้ยินเสียงหือเสียงอือจากไหนออกมาสักแอะ

ที่ชาวบ้านครื้นเครงและสื่อทั้งหลายขำๆ แค้นๆ ตัวเองกันก็คือ กรณีดังกล่าวไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดรายงานเหตุการณ์เรื่องราวเลย ยกเว้นฉบับเดียวคือหนังสือพิมพ์ราชการของกระทรวงพาณิชย์ ข่าวพาณิชย์ ในขณะนั้น ที่ติดข่าวนี้ไว้ (ฮา – แหะแหะ)

Advertisement

นอกจากเป็นเลขาธิการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและคอรัปชั่นในวงราชการ (กตป.) แล้ว
พ.อ.ณรงค์พูดอะไรในตอนนั้น ทุกคนก็ต้องเงี่ยหูฟัง เรื่องหนึ่งซึ่งใหม่สำหรับคนยุค 2500 คือการพูดว่า เมืองไทยต้อง “ปฏิรูปที่ดิน” (Land Reform) ทำเอาครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา จับมาพูดถึงกันถ้วนทั่ว

แต่บัดนี้ 52 ปีผ่านไป เรื่องที่ดินที่คนได้ยินกันบ่อย แม้จะมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ก็มีเพียง ส.ป.ก.4-01 ได้ยินกันบ้างคือการปรับปรุงการเก็บภาษีที่ดิน ฯลฯ ขณะที่คนทั่วไปไม่น้อยรู้ว่า เจ้าที่ดินทั่วประเทศมีผู้ใดอยู่บ้าง

• ดังนั้น เพื่อเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างถี่ถ้วนจริงจัง เพื่ออนาคตของบ้านเมือง เพื่อคนได้มีที่ดินทำกิน เพื่อที่ดินจะได้ไม่ตกในมือนายทุนผูกขาด (แหะแหะ) ควรต้องอ่านหนังสือสำคัญสักเล่ม ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป ซี่งมีอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นบรรณาธิการ

เพื่อทบทวนสถานการณ์การกำกับดูแลที่ดิน กับปัญหาซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ ด้วยการประมาณการภาพทั้งหมดสู่อนาคต และเสนอแนวทางการปฏิรูป การกำกับดูแลที่ดินของไทย โดยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกับสถานภาพปัจจุบันของระบบกำกับดูแลที่ดินไทย ความเป็นมา พัฒนาการ ปัญหาที่เกิด ปัญหาใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ระบบทุนนิยม และความเหลื่อมล้ำที่เขม็งเกลียวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้หรือที่พากย์อังกฤษว่า “Getting Land Right” เป็นหนังสือวิชาการฉบับอ่านง่าย ไม่ต้องเกรงชื่อหนังสือหรือคร้ามปกไปก่อน ยกขบวนมาสังเคราะห์สกัดความรู้อธิบายให้กระจ่างโดยครูบาอาจารย์นักวิชาการชั้นนำเต็มพิกัด ตั้งแต่อาจารย์ผาสุกเอง ฟรานซิส คริปปส์, นเรศน์
ขุราษี, ดวงมณี เลาวกุล, นวลน้อย ตรีรัตน์, ภาคภูมิ วาณิชกะ, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, โอฬาร อ่องฬะ,
ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์, สร้อยมาศ รุ่งมณี, ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์, ชัยณรงค์ เครือนวน, จิตรา สมบัติรัตนานันท์, ประสิทธิ์ ลีปรีชา, เขมรัฐ เถลิงศรี

ประกันว่า อ่านแล้วต้องอยากปฏิรูปที่ดินเมืองไทยวันนี้พรุ่งนี้เสียเลย ให้สังคมและคน
ส่วนมากได้เงยหน้าลืมตาอ้าปากกันถ้วนทั่วทีเดียว

• และท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งทั่วโลก ท่ามกลางการปะทะของสามขั้วอำนาจที่พยายามจะเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ ไทยของเราควรจะอยู่ตรงไหน และที่สำคัญคือ จะอยู่อย่างไร

ต้องหยิบ สมรภูมิพลิกอำนาจโลก Amidst the Geo-Political Conflicts ซึ่งร่วมกันค้นคว้ามาเขียนโดย ปิติ ศรีแสงนาม กับ จักรี ไชยพินิจ

หนังสือทันเหตุการณ์ว่าด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบันในจุดปะทะทางการเมือง เช่น รัสเซีย-ยูเครน ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ คาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และดินแดนเทือกเขาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Zomia)

โดยจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า สามขั้วอำนาจ สหรัฐ จีน และโลกมุสลิม เข้าไปมีบทบาทกับการเมืองภายในอย่างไร และเพราะเหตุใด ทั้งสามฝ่ายจึงต้องการช่วงชิงการมีอิทธิพลเหนือพื้นที่เหล่านั้น

ผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจกับความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ผ่านเลนส์ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ ได้ร่วมขบคิดถึงการวางนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต เพื่อรู้เท่าทัน
ในวันที่ระเบียบโลกจะพลิกผันไปจากเดิม – เพราะถึงอย่างไร สภาพโลกวันนี้ ป่วยการฝันถึงวันที่ผ่านๆ มาแล้ว

• คนเมืองย่อมเคยชินกับความเป็นเมือง คนชนบทก็พยายามร่วมกันขยายสังคมที่ตนอยู่ให้เป็นเมือง แต่เมืองวันนี้หรือเมืองในอนาคต ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิสัยทัศน์สุดโต่ง หรือความ
ล้ำสมัย เพียงแต่ตั้งเป้ากับสุขภาพจิต ความเป็นอยู่ที่ดี กับคุณภาพชีวิตของผู้คน เป็นปัจจัยแรกสุดของการวางผังและออกแบบเมือง

ก็ใช้ได้แล้ว – ว่าไหม

ให้นครเยียวยาใจ Restorative Cities ร่วมกันเขียนโดย เจนนี โร กับ เลลา แมคเค แปลโดย ธาม โสธรประภากร จึงเป็นหนังสือน่าอ่านน่าฝันถึง

เมืองที่ร่มเย็นด้วยต้นไม้และสายน้ำ, เมืองที่หายใจได้เต็มปอด, เมืองที่สตรีไม่ต้องหวาดกลัวเมื่อสัญจรกลางดึก, เมืองที่คนชราและคนพิการเข้าออกหรือขึ้นลงอาคารได้สะดวก, เมืองที่มีลานกิจกรรมและสนามเด็กเล่นมากเพียงพอ

ในศตวรรษที่ความเหงาเกาะกุมทุกซอกซอย โลกเผชิญหน้ากับยาต้านอาการซึมเศร้า โรคระบาดครั้งใหญ่ เช่น โควิด ขีดเส้นแบ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้คนชัดเจนขึ้นกว่าเดิม คำถามสำคัญจึงไม่ใช่
แค่ว่า เราจะ “อยู่อย่างไร” แต่จะทำอย่างไรให้ “อยู่อย่างเป็นสุข”

มาช่วยกันร่วมสำรวจเมืองในฝันที่จะหล่อเลี้ยงความสุข ช่วยกันออกแบบทุกหัวมุมถนนเพื่อฟื้นฟูชีวิต และร่วมกันเขียนผังเมืองใหม่ที่จะชุบชูหัวใจทุกๆ คน

• สถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่อาจไม่เคยคิดเข้าใจว่า วัด วัง บ้านเรือน อาคาร อนุสาวรีย์ และพื้นที่สาธารณะ ที่ปรากฏกับตาอยู่ทุกวันนี้นั้น มีความหมายอุดมการณ์ทางการเมืองแสดงอยู่แบบใด

การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม หนังสือซึ่งค้นคว้ามาเขียนอธิบายให้เข้าใจเรื่องเหล่านั้นโดย ชาตรี ประกิตนนทการ และมีคำนำเสนอสำทับโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภายใต้การเปลี่ยนโลกทัศน์ของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 4 ความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์
เข้ามาแทนที่ไตรภูมิ ความต้องการศิวิไลซ์ทัดเทียมตะวันตก การปฏิรูปการปกครองภายใต้แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิกฤตอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทำให้เที่ยวหาความเป็นไทย ทั้งสับสนที่จะปรับรับรสนิยมตะวันตก จนถึงความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย กับการหวนกลับของกระแสอนุรักษนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. สมัยที่ 2

ล้วนส่งผลต่อความคิดผู้คน สะท้อนสภาพสังคม และความคิดในการออกแบบกับการสร้างสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น

จึงควรติดตามปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2394 ถึง พ.ศ.2500 ให้เข้าใจ

• โควิดซึ่งคร่าชีวิตพลโลกนับล้าน เป็นโรคระบาดร้ายแรงครั้งสุดท้ายหรือ – มีใครเชื่อเช่นนั้นบ้าง

พ่อมดแห่งวงการไอที ผู้ก่อตั้งองค์กรไมโครซอฟท์ กับ บิล แอนด์ เมลินดา ฟาวน์เดชั่น มูลนิธิที่ดำเนินโครงการต้านโรคร้ายแรง โครงการฉีดวัคซีนในเด็ก ตลอดจนมอบทุนวิจัยเพื่อการศึกษา บิล เกทส์ ได้บอกให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือการระบาดใหญ่ในอนาคต

ทั้งนี้ โดยถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิดที่ผ่านไปไม่พ้นดี โดยพิเคราะห์ประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมโรคในปัจจุบัน พร้อมเสนอแนวทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยโลกป้องกันระบาดภัยครั้งต่อไปให้ดีกว่าเดิม

อ่าน สู่โลกปลอดเชื้อ: คู่มือป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ของเจ้าแห่งไอที แปลโดย
ผู้ชำนาญเรื่องราว นำชัย ชีววิวรรธน์ รู้วิธีเตรียมพร้อม

• ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทแทบทุกส่วนของชีวิต ทั้งกายและใจ สิ่งล่อใจนานาดึงดูดชักจูงให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับสมาธิ (ที่ปกติแต่ละผู้คนก็อาจมีน้อยอยู่แล้ว) ตั้งแต่ลืมตาตื่นกระทั่งหลับตานอน ชวนให้ไขว้เขวกระทั่งกิจกรรมกิจการต่างๆ ไม่เป็นโล้เป็นพายไปได้ ทั้งจิตใจก็อาจฟุ้งซ่านจนคุณภาพการรับรู้สิ่งสำคัญตรงหน้าลดลง เพราะไม่สามารถจะจดจ่อได้อย่างแท้จริง

The Art of Noticing ศิลปะแห่งการสังเกต เขียนโดย ร็อบ วอล์กเกอร์ แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา จะช่วยฟื้นคืนสมรรถนะการรับรู้ให้ดีขึ้นได้

ทำให้รู้จักปล่อยวาง มีสติ รู้ตัวกับปัจจุบันมากขึ้น, สร้างกรอบความคิด มองสิ่งเคยชินด้วยบริบทใหม่ๆ, หาตัวช่วยจุดประกายแรงบันดาลใจจากทุกสิ่งรอบกาย, ใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบข้างโดยไม่หลงลืมใส่ใจตนเอง

เปลี่ยนความคิดใหม่ เลิกยึดติดอุปกรณ์ มาเป็นนัก “สังเกตโลกที่ดี” กัน

• กลับมาอีกครั้งในรอบ 2 ทศวรรษของ ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย โดย มนฤทัย ไชยวิเศษ

เมื่อมีชีวิต จะหลีกเลี่ยงการปลดทุกข์หนักทุกข์เบาไปได้อย่างไร จึงเกิดนวัตกรรมแห่งมนุษยชาติตั้งแต่โบราณขึ้นลักษณะหนึ่ง นั่นก็คือ ส้วม

มีเรื่องสนุกขำขันทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีเรื่องหนึ่งคือ เรามักพบโบราณวัตถุรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เจาะรูใหญ่ๆ ตรงกลางตามเทวสถานอยู่บ่อยๆ ซึ่งเห็นแล้วมักเข้าใจคล้ายคลึงกันประการหนึ่งว่า นี่คงเป็นฐานศิวลึงค์ แต่ครั้นที่ เมฆ มณีวาจา หรือ ไมเคิล ไรท์ (ที่เห็นมามากจากลังกา) มาพบเข้า ก็บอกว่า นี่, ฐาน หรือ “ส้วม” ต่างหาก – ใช่ที่ประดิษฐานศิวลึงค์เสียที่ไหน (ฮา)

หนังสือเล่มนี้เป็นงานคลาสสิก ที่จะนำผู้อ่านย้อนรอยกลับไปส่องส้วมและวิถีการขับถ่ายของคนในสังคมไทย ตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 2440 จนถึงทศวรรษ 2540 ร้อยปีของการอึ จากที่
อึเรี่ยราดในป่า ในทุ่ง ในท่า จนส้วมหลุม ส้วมถัง ส้วมราด ฯลฯ กระทั่งรับอิทธิพลอึจากตะวันตกที่มาเปลี่ยนวิถีขับถ่ายของผู้คน

ประวัติศาสตร์ส้วมกว่าหนึ่งศตวรรษนี้ สะท้อนภาพสังคมในหลายมิติ ทั้งวิถีชีวิต สถานะ ชนชั้น สุขอนามัย ความมั่นคง อารมณ์ขัน ไปจนสัญญะในโฆษณาหรือกระทั่งรอยขีดเขียน คำปรัชญา คำขวัญ คำคม บนผนังห้องส้วม (หึหึ)

ที่มากกว่าการปลดทุกข์ก็คือ การอยู่คู่กับวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ที่ส้วมให้ความโล่งอกโล่งใจ สบายเนื้อสบายตัวกับทุกๆ คนได้อย่างเสมอหน้าเท่าเทียม (ยิ่งกว่าระบอบประชาธิปไตยเสียอีก)

• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว รอบรู้และเข้าใจเรื่องการเมืองไทย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ “เพิ่มเนื้อหาพิเศษ” ว่าด้วย แสวงหาคำตอบวาระ 50 ปี ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ “อิน” 14 ตุลา – ทำไม พบคำตอบได้

อ่านภารกิจอพยพคนไทยกลับจากอิสราเอล บททดสอบสำคัญของรัฐบาล และเสียงสะท้อน “แรงงานไทย” แล้วฟังษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตั้งคำถามถึงความลำบากในต่างแดน ทำไมคนไทยต้องไปทำงานต่างประเทศ

ตามด้วยสงคราม “ยิว-ฮามาส” ชี้ขาดด้วย “ศึกในอุโมงค์”

อ่านนายกฯเศรษฐารับบทเซลส์แมน เดินสาย 1 เดือน 7 ประเทศ 2 ทวีป แล้วฟังศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ วิเคราะห์รัฐบาลกับการฟื้นสถานะไทยในเวทีโลก ต่อด้วยเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผู้คนสนใจมากๆ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใครได้ประโยชน์

ติดตามเรื่อง ครู “ป๊อก” (ต้อง) ใจร้าย ดับไฟสงครามพิศวาส “สีส้ม”

สมชัย ศรีสุทธิยากร แห่งศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ตามติดงบ 5.6 แสนล้าน “เก่งเท่าไหร่ ก็ไม่หมู : อุปสรรคของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”

แล้วติดตามเรื่องที่ต้องจัดการเด็ดขาด อาชญากรรม “เศรษฐกิจ” ชนวนฆ่าหัวหน้าด่านกักสัตว์ บุกยึดหมูเถื่อน-บานปลาย นายกฯสั่งกรมศุลฯคุมเข้ม ประกาศสงครามแก๊งนำเข้า

วงศ์ ตาวันชกคาดเชือก เมื่อต่อศักดิ์สั่งก็จบ – เลิกทรงผมขาว 3 ด้าน

ส่วนผี พราหมณ์ พุทธของคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง “กินเจ เจียะฉ่าย : พิธีกรรมหลากความหมายในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ตามด้วยหนังไทยกับ “การเมืองเดือนตุลา” มรดกภาพยนตร์ของชาติ 2566

แล้วดูมนต์รักนักพากย์ กับพลังไร้ขีดจำกัดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

• งานมหกรรมหนังสือระดับชาติยังเหลือเวลาให้รื่นรมย์ได้ 2 วัน แต่ความรื่นรมย์ในการอ่านนั้น ยังมีคำถามสำคัญเป็นโจทย์ใหญ่อยู่ เมื่อ กล้า สมุทวณิช จับประเด็นที่ทั้งนักอ่านและคนรักภาษา บ้างเข้าใจ บ้างยังไม่กระจ่าง โดยเฉพาะนักท่องสื่อสาธารณะที่เห็นการใช้ภาษาไทย
ของตัวเองในบรรดา “นักแสดงความเห็น” ดื่นดาษด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการ
“อ่านหนังสือไม่แตก”

ต้องอ่าน “งานหนังสือ (ยัง) แข็งแรง แต่ ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ นั้น…” ในมติชนออนไลน์ วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วจะเห็นว่า ควรแก่การคิดพิจารณาขนาดไหน

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image