ตู้หนังสือ : กษัตริย์กับกงสุล สู่ราชสำนักสยาม

ตู้หนังสือ : กษัตริย์กับกงสุล
สู่ราชสำนักสยาม

อีกเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยยุคล่าอาณานิคม-เฉียดสงคราม
ในปี 1856 (พ.ศ.2399) ไม่กี่เดือนหลังอังกฤษกับสยามบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาการค้าครั้งประวัติศาสตร์ ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นการล่าอาณานิคม มรณกรรมสุดสลดของเจ้าหน้าที่ชาวสยามคนหนึ่งของสถานกงสุลอังกฤษ กลายเป็นชนวนที่เกือบนำไปสู่การฉีกสัญญาและก่อสงคราม
กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง ค้นคว้าเขียนโดย ไซมอน แลนดี้ แปลโดย สุพัตรา ภูมิประภาส สำรวจแหล่งข้อมูลสำคัญๆ ของไทยและอังกฤษ เพื่อให้เห็นจุดหักเห จุดเปลี่ยน และความตึงเครียดของเหตุการณ์ซึ่งแทบไม่เป็นที่รับรู้นี้ ที่สร้างปมขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 4 กษัตริย์
ผู้เลื่องลือ กับกงสุลอังกฤษคนแรก-ชาร์ลส์ ฮิลเลียร์
แม้วิกฤตการณ์นี้คลี่คลายลงได้โดยปราศจากสงคราม แต่สำหรับบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบชวนสลดโดยมิได้เจตนาแล้ว ใช่ว่าจะไม่มีราคาที่ต้องจ่าย
มาดูกันว่า เหตุการณ์นี้กลายเป็นต้นเค้าการสร้างทัศนคติของทางการไทยที่มีต่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวต่างชาติตราบจนปัจจุบันได้อย่างไร – ก่อนจะไปดูภูเก็ต ดูแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติใช้ชื่อคนไทยถือครองกันอย่างจริงจัง
ต้องอ่าน

เอดเวิร์ด แวน รอย ผู้เขียน “หม้อจับฉ่ายสยาม – ไซมีส เมลติ้ง พอต” หรือ ก่อร่างเป็นบางกอก ที่แปลโดยอาจารย์ ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวถึงหนังสือกษัตริย์และกงสุลเล่มนี้ว่า “เรื่องราวเหลือเชื่อของสารพัดปัญหาในพันธกิจของเบาว์ริงและผลสำเร็จสูงสุด ทิ้งภาพประทับไว้
อ่านได้เหมือนนวนิยายคลาสสิกสักเล่ม (ดิกเกนส์?) พร้อมเชิงอรรถอ้างอิงบันทึกร่วมสมัยในฐานะสิ่งเตือนใจว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นจริง”
ส่วนอาจารย์ คริส เบเกอร์ เจ้าของงานเขียนร่วมกับอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร หลายเล่ม โดยเฉพาะ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่มระบือ ก็พูดถึงหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า
“หนังสือที่มีลูกล่อลูกชนระดับนี้ ต้องได้นักเขียนที่พำนักอาศัยในกรุงเทพฯมาเป็นเวลานาน และรอบรู้เรื่องกฎหมายที่ดินของประเทศไทย ทั้งกระตือรือร้นในเรื่องประวัติศาสตร์ “ไทรมั่น ลัญฉน์ดี” เล่าเรียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์กฎหมายและการทูต โดยให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อมิติต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ ทั้งอ่านสนุกและเหนือธรรมดา”
ต้องรีบหาอ่านแล้ว

⦁ ส่วนอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดเช่นกันก็คือ สู่ราชสำนักสยาม บันทึกการเดินทางของคณะทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดีย ถึงราชสำนักสยามและญวน ของตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์โลกและไทย จอห์น ครอว์เฟิร์ด แปลอย่างพิถีพิถันโดย สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์
“ยอน การะฝัด” ชื่อที่ชาวสยามรู้จักนี้ เป็นแพทย์ชาวสก๊อต ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออก ในฐานะศัลยแพทย์ ประจำอยู่ ณ เมืองเดลีกับอักรา ระหว่างปี 2346 ถึงปี 2351 จากนั้นถูกส่งตัวไปเมืองปีนัง เพื่อศึกษาภาษามาเลย์อย่างจริงจัง จนปี 2364 มาร์ควิสแห่งเฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย ก็แต่งตั้งให้เป็นทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามและราชสำนักญวน
มาถึงสยามเดือนมีนาคม 2365 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เพื่อเจรจาการค้ากับเรื่องเมืองไทรบุรี และมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมมหาราชวังด้วย
แม้ภารกิจครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จดังตั้งใจ แต่ครอว์เฟิร์ดก็บันทึกเรื่องการเดินทาง การปฏิบัติภารกิจไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่เริ่มต้นจนออกจากสยาม ดังตอนหนึ่งว่า “ภารกิจในสยามได้ข้อสรุปแล้ว พวกเราควรดีใจที่ได้เดินทางออกนอกประเทศโดยเร็ว เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกระทั่งกับชาวสยาม”
เป็นหนังสือน่าอ่านอีกเล่ม

Advertisement

⦁ โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่ยากลำบาก เนื่องจากเกิดเหตุโรคระบาดทำลายล้างชีวิตคนนับล้านไปทั่วประการหนึ่ง กับการก้าวหน้าแบบกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้สภาพการดำเนินชีวิตกับการเลี้ยงชีพเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง
จึงจำเป็นที่เราทั้งหลายต้องศึกษาทุกเหตุเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้นอย่างแท้จริง
Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม โดย สันติธาร เสถียรไทย จะนำทุกคนไปสำรวจ “จุดหักเห” ทั้งหลายในปัจจุบัน พร้อมคำแนะนำว่าเราควร “เปลี่ยน” ตัวเองอย่างไรให้เท่าทัน และหันไปถูกทางในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม
อ่าน “จุดหักเห” ดิจิทัลคืออนาคตจริงหรือ, โลกจากนี้เป็นของคนหรือ เอไอ, งานในโลกที่ไม่มีคน คนในโลกที่ไม่มีงาน (อือ, แย่จริงๆ นั่นแหละ), เขียวหรือดำ กระแสความยั่งยืน จะยั่งยืนจริงหรือไม่, เอเชีย เซนจูรี่จะมาจริงหรือ, จากดาวรุ่งสู่สูงวัย, จากท่องเที่ยวในแบบเก่า สู่ตัวเอกในบทใหม่, จากดึงทุนมาเป็นดูดทาเลนต์, จากให้ปลาเป็นให้ที่ตกปลา, จากจบด้วยดีไซน์เป็นเริ่มต้นด้วยดีไซน์
อ่าน “ต้องเปลี่ยน” ชีวิตคือทางแยก, วันนี้ วันหน้า หรือวันหนึ่ง, ฮาว ทู ทำนายอนาคต, สเตย์ ฮัมเบิล ที่ไม่ใช่อ่อนน้อมถ่อมตน, เข้าใจเศรษฐศาสตร์จากทุกศาสตร์ และเข้าใจเศรษฐศาสตร์ในทุกกิจ, 6 พลังพิเศษของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง, ต่างรุ่น ต่างโลก, เราทำงานไปเพื่ออะไร, อย่าลืมมีความสุข, หาสมดุลในโลกหักมุม
วันนี้ ไม่เตรียมพร้อมไม่ได้แล้ว มองตาลูกเข้าไว้ จะอยู่วันหน้าอย่างไร

⦁ สำหรับยี่ห้อ “ฟาสต์ ฟู้ด ธุรกิจ” ของ หนุ่มเมืองจันท์ แล้ว ไม่มีคำว่าผิดหวัง ต้องได้ความคิดความอ่าน แรงบันดาลใจ อิ่มอกอิ่มใจ กลับไปเสมอทุกครั้งที่จบหนังสือแต่ละเล่ม คราวนี้มากับ ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส ด้วยปกงามคลาสสิกราวกับโปสเตอร์หนัง
ชั้นดีของผู้กำกับชั้นยอด
28 บทของเรื่องที่จะให้เข้าใจว่า โอกาสซึ่งไม่มีครั้งสุดท้ายหน้าตาเป็นอย่างไร ด้วยมุมมอง ข้อคิดดีๆ จากประสบการณ์จริงของบรรดาผู้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวังวนการดำเนินชีวิตเพื่อเลี้ยงชีพชอบ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยตนเอง
เป็นงานอีกชิ้นที่พลาดไม่ได้ของหนุ่มเมืองจันท์ ผู้ไม่เคยพลาดโอกาสไม่ว่าครั้งไหน และไม่มีครั้งใดเป็นครั้งสุดท้าย
หาอ่านเพื่อกุมความคิดและความประทับใจได้ทันที

Advertisement

⦁ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัวและทุกองค์กร มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย “เดอะ ไฟร์แมน” จากดับไฟป่าเผชิญไฟการเมือง สยบเปลวเพลิงตำรวจ อ่านประกาศิตหย่าศึกสีกากี “เด้งทั้งคู่” ทั้งต่อทั้งโจ๊ก ส้มหล่นใส่ “ต่าย”
สปอตไลต์ฉายส่องที่เชียงใหม่ พะเยา ธรรมนัสกระชับอำนาจ การันตีเก้าอี้ รมต. ปึ้ก ตามด้วยศึกชิงเมืองเชียงใหม่ เพื่อประกาศชัยทางยุทธศาสตร์
ส่วน “ก้าวไกล” นับถอยหลังถูกยุบพรรค เร่งเดินเกม ในและนอกสภา “พิธา” ลุยหลายบทบาท และชีวิตหลังจากนี้ที่จะบวชให้แม่, เลขาฯยูเอ็น กับน้อง “พิพิม”
ตามดูโผทหารเอฟเฟ็กต์ พลัง ตท. 24 ยึดกลาโหม ฐานที่มั่นใหม่ของ “หนุ่ม” ส่วนสุทินรอมชอม ดู “อ๊อบ” อุ่นเครื่องทัพไทย
“หนุ่มเมืองจันท์” พาสัมผัสตัวตน “เจ๊ศรี” เมืองเชียงใหม่ ฮักทักษิณแต้ๆ นักๆ ก่อนไป “ภูเก็ต” อีกแล้ว 2 พี่น้องกีวี กร่างล็อกคอ แย่งปืนตำรวจ ฉุนจับขี่ จยย. ไม่มีใบขับขี่ ฟัน 5 ข้อหา ชวดประกัน
ส่วนกระแสต่างประเทศต้องจับตา ประชากรเอเชีย “หดตัว” ปัญหาที่ยังไร้ทางแก้ ด้านวลาดิมีร์ ปูตินก็ได้รับชัยชนะที่ไม่เหนือความคาดหมาย
“ป๋วย อุ่นใจ” พาทะลุกรอบ สัมผัส “เทคโนโลยีอัณฑะจิ๋วกู้โลก” แหะแหะ ก่อนเปิดตัว 5 นางฟ้ารุ่นใหม่ลูกยางไทย มุ่งยกระดับสู่ตัวหลักทีมชาติ

⦁ อาชีพใหม่ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด นั่นคือ “ธุรกิจมิจฉาชีพ” ที่เรียนรู้ความก้าวหน้าเพื่อลักขโมยเงินออมของชาวบ้านทั่วโลก ในปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าเงินของสุจริตชนถูกดูดขโมยไปด้วยเทคโนโลยีมากกว่าพันๆ ล้าน (หรือแสนล้าน?) ทั่วโลก
ขนาดนี้แล้ว ยังไม่เป็นวาระแห่งชาติ วาระแห่งโลก ที่ต้องจับมือร่วมกันฟาดฟันเหล่ามิจฉาชีพให้สิ้นไปได้อย่างไร จะแค่งอมือรับโทรศัพท์แจ้งความเงินที่ชาวบ้านหามาเลือดตากระเด็นถูกขโมยไปวันๆ อย่างนั้นหรือ
แค่งบประมาณแผ่นดินถูกโกงก็หนักหนาสาหัสแล้ว ยังเรื่อยเฉื่อยปล่อยให้เงินเก็บเงินออมชาวบ้านถูกลักขโมยไปดื้อๆ ซึ่งๆ หน้าง่ายๆ อย่างทุกวันนี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image